“มัวแต่ งุ่มง่าม อยู่นั่นแหละ”
วลีนี้ อาจารย์ยูร (ประยูร อุลุชาฎะ หรือ น. ณ ปากน้ำ) ใช้ดุข้าพเจ้าเสมอเวลาทำการทำงานทุกอย่างชักช้า อืดอาด ไม่ทันใจท่าน ชีวิตวัยทองคำที่สุดของข้าพเจ้าคือการได้มีโอกาสทำงานใกล้ชิดกับอาจารย์ผู้ใหญ่ของแผ่นดินไทย 2 ท่าน คือ อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม และอาจารย์ยูร ตั้งแต่เมื่อเริ่มทำงานที่เมืองโบราณครั้งแรกราว พ.ศ. 2520 ตอนนั้นเป็นภาคหลังของปีการศึกษาจึงยังเหลือวิชาให้เก็บอีก 6 หน่วยกิต ก็จะจบปริญญาตรี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร พี่จิ๋ม (วิยะดา ทองมิตร) รุ่นพี่ที่ภาษาสมัยใหม่เรียกว่าพี่รหัส ชักชวนให้มาทำงานที่เมืองโบราณ ที่มุมอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย (ปัจจุบันคือร้านหนังสือริมขอบฟ้า) งานแรกคือคัดเลือกข่าวด้านศิลปวัฒนธรรมจากหนังสือพิมพ์รายวัน ออกมาตัดแปะและเก็บลงแฟ้ม นานๆ จึงจะได้พบอาจารย์ยูรเสียที
อาจารย์ประยูรที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อเดือน พ.ย. 2526
(ที่มา : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์)
ยอมรับว่าตอนนั้นไม่ค่อยประทับใจอาจารย์ยูรนักเพราะดูเป็นผู้ใหญ่เจ้าอารมณ์ สิ่งสำคัญคือถูกสแกนสมองมาตั้งแต่ตอนเรียนว่า อะไรที่เป็นความรู้ใหม่และฉีกกรอบจากความรู้กระแสหลัก เช่น อาณาจักรอโยธยา หรือการกำหนดอายุจากลวดลายศิลปะที่แตกต่างจากที่เราเคยเรียนเบื้องต้น ย่อมเป็นภัยต่อความมั่นคงต่อวงการประวัติศาสตร์โบราณคดี
ต่อเมื่อกาลเวลาผ่านไป ความเคารพนับถือศรัทธาในตัวอาจารย์ค่อยๆ ก่อรูปขึ้น และเรื่องหนึ่งที่ข้าพเจ้าเห็นว่าน่าจะสำคัญไม่น้อยคือดวงชะตาของข้าพเจ้าน่าจะถูกโฉลกกับอาจารย์อยู่บ้าง ต้องยอมรับว่าศาสตร์ด้านโหรของท่านมีความโดดเด่นไม่แพ้เรื่องอื่นๆ เหนือสิ่งอื่นใดข้าพเจ้าเห็นความมีเมตตาของท่านอย่างสม่ำเสมอ จริงใจ ไม่แอบแฝง ไม่เคลือบแคลง พิสูจน์คำพูดที่ว่า “การให้คือความสุขของผู้ให้” อาจารย์ให้ไม่เฉพาะสิ่งของ แต่ยังให้ความรู้ด้านต่างๆ ธรรมะการมองโลก และความเมตตา
อาจารย์ประยูรลงสำรวจกับทีมงานวารสารเมืองโบราณที่เมืองนครชัยศรี เมื่อ พ.ศ. 2525
(ที่มา : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์)
ความรู้ด้านต่างๆ ที่ครอบคลุมตามหลักการศึกษาไทย คือ สุ (ฟัง) จิ (จินตนาการ) ปุ (ถาม) ลิ (เขียน,จดบันทึก) เวลาฟังสาระต่างๆ ที่ดีที่สุดคือการออกทำงานภาคสนามกัน เพราะมีเรื่องพูดสิ่งละอันพันละน้อยมากมาย ส่วนใหญ่ผู้พูดคุยด้วยคืออาจารย์ศรีศักร พวกเราเป็นผู้ฟัง นานๆ ก็จะตั้งคำถามแทรกบ้าง เนื่องจากอาจารย์ยูรเรียนและทำงานฝักใฝ่มาทางด้านศิลปะ แน่นอนจินตนาการของท่านย่อมบรรเจิดโดยไร้ขีดจำกัด ลูกศิษย์อย่างเราก็เลือกจดในสิ่งอันน่าประทับใจ หลายสิ่งหลายอย่างที่ข้าพเจ้านำมาเขียน นำมาขยายความในภายหลังโดยเฉพาะเมื่อมาสอนหนังสือแนวมนุษยศาสตร์-สังคมศาสตร์ ฝึกฝนการมองสังคมในแนวลึกและแนวกว้าง ตามสติกำลังของข้าพเจ้า
อาจารย์ประยูรถ่ายภาพใบเสมาที่วัดศิริจันทนิมิต จ.จันทบุรี ขณะร่วมสำรวจกับกองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณเมื่อเดือน พ.ค. 2518
(ที่มา : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์)
มรดกมีค่าอีกหลายสิ่งที่อาจารย์ยูรมอบให้คือ หนึ่ง การอ่านหนังสือ แม้ข้าพเจ้าจะชอบอ่านหนังสือแต่ไม่เคยคิดว่าจะต้องอ่านพงศาวดารหรือจดหมายเหตุ ซึ่งอ่านยากแสนยาก จะอ่านก็ต่อเมื่อจำเป็นต้องค้นคว้าเฉพาะเรื่องเป็นคราวๆ ไป แต่ทั้งข้าพเจ้าและแอน (สุดารา สุจฉายา) ถูกอาจารย์บังคับให้อ่านอย่างเข้มงวด อ่านแบบตะพึดไป หนังสือหลายเล่มที่ข้าพเจ้ายังต้องอ่านอยู่จนทุกวันนี้จึงมีหลากประเภททั้งคำให้การชาวกรุงเก่า จดหมายเหตุลาลูแบร์ จดหมายเหตุสมัยหลังๆ ลงมา ตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี รัชกาลที่ 1 มาเรื่อยๆ หรือแม้ชุดนิยายผีแสนสนุกของครูเหม เวชกร ที่อาจารย์แนะนำว่าต้องอ่านให้ได้ จนเดี๋ยวนี้ข้าพเจ้าก็ยังหยิบมาอ่านบ่อยๆ และแนะนำให้ใครๆ อ่านด้วย
สุดารา สุจฉายา (ซ้าย) และแสงอรุณ กนกพงศ์ชัย (ขวา) ภาพถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2525
(ที่มา : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์)
สอง เรื่องที่เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์อันน่าประทับใจอย่างยิ่งคือการทำอาหาร ไม่น่าเชื่อว่าอาจารย์ยูรเป็นนักทำอาหาร มีความรู้เรื่องอาหารดีมากทั้งในแง่วัตถุดิบ กรรมวิธี ภาชนะหรือเครื่องมือที่ใช้ทำอาหาร สาระน่ารู้เกี่ยวกับอาหารการกินทั้งของไทย เอเชีย ฝรั่ง ข้าพเจ้ารู้จากอาจารย์อย่างหลากหลาย แม้แต่การดื่มชาที่สามารถใช้ทำนายทายทักได้จากรูปลักษณ์ของใบชาที่นอนอยู่ก้นถ้วย
ขออนุญาตเล่าเป็นประวัติศาสตร์ชีวิตของท่านไว้ ณ ที่นี้ว่า ครั้งหนึ่งอาจารย์ยูรบอกให้ข้าพเจ้าตั้งนามปากกาให้ เมื่อท่านต้องเขียนหนังสือเกี่ยวกับอาหารตามคำร้องขอของสำนักพิมพ์หนึ่ง ตอนแรกข้าพเจ้าก็ไม่กล้าจะอาจเอื้อมขนาดนั้น จนท่านยืนยันจะให้ตั้งให้ได้ เมื่อใคร่ครวญถึงคำบอกเล่าเกี่ยวกับนามปากกา "น. ณ ปากน้ำ" อันโด่งดังว่า “น.” มาจาก “รัชนี” ที่คุณพ่อตั้งชื่อไว้ล่วงหน้าเพราะฝันหวานว่าจะได้ลูกคนโตเป็นผู้หญิง แต่อาจารย์เห็นว่าเป็นมงคลนามจึงนำมาใช้เป็นนามปากกาในที่สุด ข้าพเจ้าจึงตั้งนามปากกาให้อาจารย์ยูรว่า “วงศ์แข” โดยคำว่า “วงศ์” มาจากชื่อ “ประยูร” อันหมายถึง เผ่าพันธุ์ เชื้อสาย ส่วนคำว่า “แข” มาจากชื่อ “รัชนี” ที่แปลว่าพระจันทร์ นามปากกานี้ใช้เพียงครั้งเดียวเมื่อหนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ครั้งแรก จนเมื่อพิมพ์ครั้งต่อมาจึงใช้ชื่อผู้เขียนว่าประยูร อุลุชาฎะ ซึ่งทำให้ขายดีมากขึ้นจนน่าจะพิมพ์ซ้ำอีกหลายครั้ง
ข้าพเจ้ารับปากจะเขียนเรื่องนี้ตั้งแต่เมื่อปีใหม่ มกราคม 2562 จนมาเสร็จก็ตอนนี้ เพราะเกรงว่าอาจารย์ยูรจะดุเอาอีกว่า “มัวแต่งุ่มง่ามอยู่นั่นแหละ”
7 กุมภาพันธ์ 2562
แสงอรุณ กนกพงศ์ชัย
รู้จักนักเขียน :
รศ. แสงอรุณ กนกพงศ์ชัย เป็นกองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณในยุคแรก ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านจีนศึกษา มีผลงานวิชาการตีพิมพ์เป็นจำนวนมาก อาทิ หนังสือ บ่ บั๊ด บ่ ย้ง ก้ง วัฒนธรรมไทย-จีน : ไม่รู้ต้องแสวง, หนังสือ กงเต๊กในกตัญญูและกตัญญูในกงเต๊ก : พิธีกงเต๊กในสังคมไทยและสังคมโลก
แสงอรุณ กนกพงศ์ชัย เมื่อครั้งทำงานกับวารสารเมืองโบราณ ขณะลงพื้นที่เก็บข้อมูลที่ จ. ลำปาง เมื่อ พ.ศ. 2521
(ที่มา : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์)