หนังสือ : ชุมชนรอบวัดในเชียงใหม่ : ประวัติศาสตร์ชุมชน
ผู้เขียน : สมโชติ อ๋องสกุล
จัดพิมพ์โดย ศูนย์ล้านนาศึกษา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2562
530 หน้า, ราคา 500 บาท
หลังจากเกษียณชีวิตราชการที่ผู้เขียน--รองศาสตราจารย์สมโชติ อ๋องสกุล อดีตอาจารย์คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ล้านนา อุปมาว่า เดินทางมาถึงสถานี “ปลายราง” เมื่อ พ.ศ. 2556 ก็ได้ผลิตงานเขียนและงานวิจัยพิมพ์เผยแพร่ออกมาจำนวนมาก หนังสือ ชุมชนรอบวัดในเชียงใหม่ : ประวัติศาสตร์ชุมชน เล่มนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของผลงานการวิจัยทางประวัติศาสตร์ในโครงการประวัติศาสตร์ชุมชนในเชียงใหม่ : การสร้างประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ที่สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ช่วง พ.ศ. 2544-2546 ซึ่งผู้เขียนได้นำงานบางส่วนมาปรับปรุงทยอยตีพิมพ์เป็นหนังสือออกมาแล้วก่อนหน้านั้น เช่น ชุมชนช่างในเวียงเชียงใหม่ : ประวัติศาสตร์ชุมชน ชุมชนสงฆ์ในเชียงใหม่ : ประวัติศาสตร์ชุมชน เป็นต้น
สำหรับหนังสือเล่มนี้ ผู้เขียนทำการศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชน 6 ชุมชน คือ 1. ชุมชนวัดเชียงมั่น 2. ชุมชนวัดเจ็ดยอด 3. ชุมชนวัดเกต 4. ชุมชนวัดป่าเป้า 5.ชุมชนบ้านฮ่อม และ 6. ชุมชนวัดท่ากระดาษ โดยก่อนจะเข้าสู่เนื้อหาของแต่ละชุมชน ผู้เขียนได้ให้กรอบคิดในการศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชนว่า...
ประวัติศาสตร์เป็นทุกสิ่งที่คนได้ทำ ได้คิด และได้รู้สึก
ประวัติศาสตร์คือบทสนทนาอันไม่สิ้นสุดระหว่างปัจจุบันกับอดีต
ประวัติศาสตร์คือความทรงจำร่วมกันของสังคม
และเพื่อให้การศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชนมีคุณค่ามากกว่าการเป็นเรื่องเล่าของคนในชุมชนหรือนอกชุมชน การศึกษาในทุกชุมชนจึงควรมีอย่างน้อย 3 ส่วน คือ 1. พัฒนาการของชุมชนในบริบททางประวัติศาสตร์ 2. สมบัติชุมชนหรือสมบัติสาธารณะของชุมชน และ 3. การสร้างประวัติศาสตร์ของชุมชน ซึ่งทุกชุมชนจะให้เส้นเวลา (Timeline) แต่ละช่วง ทั้งที่เป็นลายลักษณ์อักษร ตำนาน และข้อสันนิษฐานต่างๆ ตลอดจนคำบอกเล่าของคนในชุมชนเอง ทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงทั้งที่เป็นทัศนะจาก “คนนอก” อันเกิดจากปัจจัยการเปลี่ยนแปลงของเหตุการณ์บ้านเมือง ทั้งจากส่วนกลาง เช่น การจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาล ผลจากสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือในยุคที่พม่าปกครองเมือง และข้อคิด อารมณ์ความรู้สึก และความเชื่อของ “คนใน” ที่มองชุมชนหรือการเปลี่ยนแปลงภายในท้องถิ่นของตน อาทิ
กรณีหัวหมวดอุโบสถหรือหัวหมวดวัด อันเป็นระบบการปกครองสงฆ์ในล้านนาแต่โบราณ ที่พระอุปัชฌาย์รูปหนึ่งจะมีวัดขึ้นอยู่ในการดูแลจำนวนหนึ่ง สัมพันธ์กับชุมชนชาวบ้านที่จะมีหน้าที่ในรูป “หมวดส่งข้าววัด” ถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ตามที่นัดหมายกัน อย่างวัดเจ็ดยอดอยู่ในหมวดอุโบสถวัดเก้าตื้อในเวียงสวนดอก ที่มี 13 วัดสังกัดอยู่ในหมวดอุโบสถแห่งนี้และยังประกอบไปด้วยนิกายต่างๆ ตามความนับถือของกลุ่มเชื้อชาติต่างๆ เช่น วัดเจ็ดยอดเป็นนิกายเชียงใหม่ วัดป่าแดงเป็นนิกายเชียงแสน วัดป่ากล้วยเป็นนิกายเขิน เป็นต้น โดยในหมวดอุโบสถนี้มีวัดเจ็ดยอดเป็นวัดหัวหมวด ด้วยมีเจ้าอาวาสวัดเป็นเจ้าอุปัชฌาย์หัวหมวด ขณะที่เจ้าอาวาสวัดอื่นๆ ยังไม่ได้เป็นพระอุปัชฌาย์ การบรรพชาอุปสมบทจึงต้องประกอบพิธีที่วัดเจ็ดยอด อันเป็นการสร้างเครือข่ายในระบบครูกับศิษย์
จนกระทั่งถึงสมัยเทศาภิบาลที่อำนาจจากส่วนกลางเข้ามาจัดการปกครองท้องถิ่น ส่งข้าหลวงเทศาภิบาลมาดูแลต่างพระเนตรพระกรรณ เช่นเดียวกับการปกครองคณะสงฆ์ได้มีการเปลี่ยนแปลงภายใต้พระราชบัญญัติการปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. 121 (พ.ศ. 2445) วัดถูกแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ 1. ประเภทอารามหลวง 2. ประเภทอารามราษฎร์ และ 3. สำนักสงฆ์ โดยมีเจ้าคณะมณฑล เจ้าคณะเมือง เจ้าคณะแขวง เป็นผู้ควบคุม ขึ้นตรงต่อส่วนกลาง ส่งผลให้วัดที่เคยเป็นศูนย์กลางของชุมชนถูกลดบทบาททางการปกครอง ความผูกพันระหว่างวัดกับชาวบ้านเริ่มน้อยลง การดูแลวัดตกเป็นหน้าที่ของสงฆ์ฝ่ายเดียว เกิดปรากฏการณ์การลักลอบขุดหาสมบัติอันมีค่าของวัด โดยเฉพาะในช่วงสงครามโลกและหลังสงคราม
เช่นเดียวกับชุมชนวัดป่าเป้าแถบประตูช้างเผือก ซึ่งเป็นถิ่นอาศัยของชาวไทใหญ่หรือเงี้ยวที่เข้ามาค้าขายแต่โบราณ เป็นพ่อค้าวัวต่างม้าต่าง แล้วมาลงหลักปักฐานตั้งบ้านเรือนประกอบอาชีพหลากหลาย เช่น การทำหนังพองขาย การปั้นหม้อ การทำรองเท้ากาบโปก ค้าอัญมณี หรือแม้แต่เป็นสล่า ช่างไม้ ช่างคำ (ทำทอง) หมอยา หมอสมุนไพร และสมัยที่มีการทำสัมปทานป่าไม้ ชาวไทใหญ่ได้เข้ามาเป็นลูกจ้างทำไม้ให้กับเจ้าอาณานิคม รวมถึงพวกที่มีฐานะเป็นคนในบังคับต่างก็กระจายไปทำการค้าขายในบริเวณท่าแพ ช้างม่อย ดอยสะเก็ด ทำให้ในเวียงเชียงใหม่มีชาวไทใหญ่อยู่ไม่น้อย อีกทั้งยังมีวัดของกลุ่มตนกระจายอยู่ เช่น วัดอุปคุตพม่า วัดทรายมูล วัดหนองคำ เกิดความสัมพันธ์ผ่านคณะศรัทธาวัดต่างๆ และยังมีการไปมาหาสู่ระหว่างชาวไทใหญ่ที่อาศัยอยู่ในเมืองต่างๆ ทางภาคเหนือ เช่น ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน แม่ฮ่องสอน จนอังกฤษ-เจ้าอาณานิคมต้องให้ชาวไทใหญ่ปกครองดูแลกันเอง โดยมี Head Man หรือที่ชาวไทใหญ่เรียก “ปู่แมน” เป็นหัวหน้าในการดูแลทุกข์สุข ซึ่งตำแหน่งดังกล่าวดำเนินเรื่อยมากระทั่งรัฐบาลส่วนกลางได้เข้ามาจัดการปกครองท้องที่ใหม่ มีการตั้งนายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เข้ามาแทนที่ ตำแหน่งปู่แมนจึงสิ้นสุดลง ขณะเดียวกับที่เหตุการณ์กบฏเงี้ยวเมืองแพร่ ได้ส่งผลให้รัฐบาลส่วนกลางวางนโยบายให้มีการสอนหนังสือภาษาไทยกลางทั่วประเทศ และเมื่อออก พ.ร.บ. การประถมศึกษา พ.ศ. 2464 บังคับให้เด็กที่มีอายุเข้าเกณฑ์ต้องเข้าศึกษาในระบบโรงเรียน ส่งผลให้ลูกหลานชาวไทใหญ่ไม่สามารถอ่านเขียนภาษาไทใหญ่ได้ แม้จะยังพอฟังรู้เรื่อง และเมื่อมีโอกาสศึกษาสูงขึ้น คนไทใหญ่รุ่นหลังที่มีฐานะดีจะนิยามตัวเองว่าเป็น “คนเมือง” ไปเลยก็มี
ในเรื่องสมบัติชุมชน ซึ่งก็คือของดีของเด่นที่คนในชุมชนภาคภูมิใจ ไม่ว่าจะเป็นวัด พระพุทธรูป เจดีย์ ฯลฯ ที่เป็นศูนย์รวมจิตใจและชาวบ้านให้ความเคารพนับถือ ตลอดจนประเพณีและงานช่างฝีมือต่างๆ ที่ในบางชุมชนสะท้อนถึงเอกลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ และยังนำมาสู่การเป็นเครื่องมือในการสร้างประวัติศาสตร์ของชุมชน การสร้างพื้นที่เพื่อบอกถึงตัวตนและบทบาทของกลุ่มตนที่มีต่อการเติบโตของเมืองเชียงใหม่ ดังตัวอย่างชุมชนวัดเกต ซึ่งเป็นชุมชนค้าขายของพ่อค้าทางเรือขึ้นล่องระหว่างเชียงใหม่กับกรุงเทพฯ โดยเฉพาะพ่อค้าชาวจีนที่มีการค้าขยายตัวอย่างมากในต้นทศวรรษ 2440 มีเรือขึ้นล่องปีละประมาณ 1,000 ลำ และเดินเรือได้ตลอดทั้งปี คนจีนรุ่นแรกๆ ที่อพยพมาเชียงใหม่จึงนิยมตั้งบ้านเรือนในย่านวัดเกตและต่อมาได้พัฒนาขึ้นเป็นนักธุรกิจตระกูลสำคัญๆ ของเชียงใหม่ เช่น ตระกูลชุติมา-นิมมานเหมินทร์ (แซ่แต่-แซ่ฉั่ว) ตระกูลศักดาทร (แซ่เอง) ตระกูลชินวัตร (แซ่คู) เป็นต้น
ในระยะต่อมาชุมชนวัดเกตยังเป็นถิ่นฐานอยู่อาศัยของชนกลุ่มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นชาวตะวันตก อย่างกลุ่มมิชชันนารีที่เข้ามาเผยแผ่ศาสนา ได้สร้างความเจริญให้กับชุมชนมีการสร้างโรงพยาบาล โรงเรียน สะพานข้ามแม่น้ำ (ขัวหมอชีค) และโบสถ์ กลุ่มบริษัททำไม้ที่มาตั้งที่ทำการริมน้ำปิง เช่น บริษัทบริติชบอร์เนียว (บริเวณเบนนิวาสในปัจจุบัน) บริษัทบอมเบย์เบอร์ม่าร์ (ริมปิงซุปเปอร์สโตร์) กลุ่มมุสลิมเชื้อสายอินเดียและจีน ที่ขยายตัวมาจากสันป่าข่อยและบ้านฮ่อ ชุมชนแขกซิกข์และฮินดู ที่ขยายตัวมาจากฝั่งกาดหลวง สมบัติของชุมชนแห่งนี้จึงมีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นศาสนสถานของแต่ละกลุ่มชน อย่างวัดเกตุที่มีอาคารสำคัญๆ ที่สร้างโดยพ่อค้าตระกูลสำคัญ เช่น ศาลาเจ๊กอุยหรือศาลาบาตรด้านหลังวัด ที่มีภาพจิตรกรรมลวดลายแบบจีน ซึ่งได้มีการบูรณะอาคาร รักษาภาพจิตรกรรม และใช้เป็นพื้นที่ห้องสมุดกับพิพิธภัณฑ์ต่อมา อาคารโรงเรียนพระปริยัติธรรม ศิลปะล้านนาประยุกต์ที่จีนอินทร์และนางจิบ ภรรยาสร้างถวาย ได้รับการบูรณะและจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ เช่นเดียวกับโรงตุ๊เจ้าหลวง ซึ่งเดิมเป็นกุฏิอดีตเจ้าอาวาส บรรดาลูกหลานคนจีนย่านวัดเกตุได้ร่วมกันบูรณะและในปี พ.ศ. 2543 คณะศรัทธาของวัด นำโดยแจ๊ค เบน หรือจรินทร์ เบน ทายาทของผู้จัดการบริษัทบริติชบอร์เนียวคนสุดท้ายได้ปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์วัดเกตุ โดยได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านทุกระดับและทุกกลุ่มมอบสมบัติมีค่าต่างๆ ให้จัดแสดง เพื่อบอกเล่าถึงประวัติความเป็นมาของย่าน
นอกจากนี้อาคารบ้านเรือนร้านค้าในชุมชน ที่มีลักษณะสถาปัตยกรรมโดดเด่นได้รับการอนุรักษ์และปรับปรุงแปลงเป็นร้านค้าและโรงแรมที่พัก กลายเป็นแหล่งที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว และยังได้รับรางวัลอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่นจากสมาคมสถาปนิกสยามฯ ถึง 4 อาคาร รวมถึงคนในชุมชนวัดเกตได้เป็นแกนนำในการเรียกร้องให้ทางราชการเปลี่ยนแปลงประเภทการใช้ที่ดินของย่านในการร่างผังเมืองรวมเมืองเชียงใหม่ จากแหล่งพาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัยหนาแน่น มาเป็นที่ดินอนุรักษ์เพื่อการอยู่อาศัยได้สำเร็จอีกด้วย นอกจากนี้ในบทที่ว่าด้วยชุมชนวัดเกตยังให้รายละเอียดสาแหรกของตระกูลสำคัญๆ ในย่านแห่งนี้ ผิดกับชุมชนอื่นที่มีปรากฏไม่มากนัก
ปิดท้ายเล่มด้วยบทปาฐกถาของผู้เขียนเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชุมชนที่ได้นำเสนอต่อที่ประชุมประจำปีของสมาคมประวัติศาสตร์ฯ เมื่อ พ.ศ. 2552 เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้สนใจประวัติศาสตร์ชุมชนได้ทำการศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชนที่แต่ละคนสนใจต่อไป รวมถึงภาคผนวกที่รำลึกถึงผู้ให้ข้อมูลในชุมชนต่างๆ
หนังสือเล่มนี้เป็นผลงานวิชาการของผู้เขียนที่ตีพิมพ์เล่มที่ 15 ในช่วงก้าวสู่ปีที่ 7 หลังจากเดินทางต่อจาก “สถานีปลายทาง” โดยมีบริษัทสุเทพ จำกัด สนับสนุนการตีพิมพ์ ผู้ที่ต้องการอยากรู้เรื่องเมืองเชียงใหม่หรือสนใจจะศึกษาทำวิจัยหรือวิทยานิพนธ์ สามารถใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานที่ให้รายละเอียดได้อย่างดีมากเล่มหนึ่งทีเดียว ในกรุงเทพฯ มีจำหน่ายที่ศูนย์หนังสือจุฬาฯ ส่วนที่เชียงใหม่ น่าจะหาได้จากศูนย์ล้านนาศึกษา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่