เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2561 วารสารเมืองโบราณได้จัดกิจกรรม “แกะกล่องความทรงจำ… ตะกั่วป่า” ณ ย่านตลาดใหญ่ เมืองเก่าตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในโครงการคืนความรู้สู่ท้องถิ่นกับวารสารเมืองโบราณ ครั้งที่ 2 ประจำปี พ.ศ. 2561
วงเสวนา "แกะรอยภาพเก่า" ในภาคเช้า
ในภาคเช้าเป็นงานเสวนาเรื่อง “แกะรอยภาพเก่า” เพื่อแลกเปลี่ยนเรื่องเล่าจากความทรงจำและข้อคิดเห็นต่าง ๆ ผ่านชุดภาพถ่ายของศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ที่กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลในบริเวณเมืองตะกั่วป่า เมื่อราวปี พ.ศ. 2520-2521 นำการเสวนาโดย ครูประวิทย์ ลิ่มสกุล และคุณรักชาติ บุญญานุวัตร ซึ่งเป็นคนเก่าแก่ในย่านตลาดใหญ่ เมืองเก่าตะกั่วป่า ดำเนินรายการโดย ครูกมล แซ่ตั้ง และคุณเมธินีย์ ชอุ่มผล นอกจากนี้มี พระสิริธรรมาจารย์ เจ้าอาวาสวัดคีรีเขต ขึ้นกล่าวเปิดงาน
พระสิริธรรมาจารย์ เจ้าอาวาสวัดคีรีเขต กล่าวเปิดงาน
ครูประวิทย์ เริ่มต้นกล่าวถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมเหมืองแร่ดีบุกที่ส่งผลต่อความเจริญของเมืองตะกั่วป่าว่า กลุ่มชาวจีนถือเป็นผู้มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการขยายตัวของธุรกิจการทำเหมืองแร่มาตั้งแต่ยุคเริ่มแรก โดยกลุ่มชาวจีนที่เข้ามาบุกเบิกการทำเหมืองแร่คือ จีนโพ้นทะเลที่โยกย้ายมาจากเมืองปีนัง
“ในอดีตมีการประมูลภาษีตามระบบเหมาเมือง ภูเก็ต ระนอง พังงา ตะกั่วป่า… ในขณะที่เจ้าเมืองภูเก็ตและระนองเก่งในด้านการทำการค้าและเหมืองแร่ แต่เจ้าเมืองพังงาและตะกั่วป่าไม่มีความรู้ด้านการทำเหมืองและค้าขาย จึงไปติดต่อกับทางเมืองปีนัง เอากลุ่มพ่อค้ามาลงทุน รวมถึงกุลีที่มีความสามารถในการทำเหมืองด้วย… ซึ่งในแต่ละเหมืองจะต้องเลี้ยงดูคนงานเหล่านี้ มีข้าว มีที่พักอาศัย เป็นระบบกงสีเหมือง… ”
ครูประวิทย์ ลิ่มสกุล
คนจีนส่วนใหญ่ในเมืองตะกั่วป่าเป็นจีนฮกเกี้ยน นอกจากนี้มีจีนไหหลำและจีนแคะที่เข้ามาทำธุรกิจอื่น ๆ ต่อมาเมื่อธุรกิจเหมืองแร่ดีบุกเจริญรุ่งเรือง ก็เริ่มมีฝรั่งเข้ามาทำบริษัทเรือขุดแร่ ขณะเดียวกันคนงานจีนที่เคยทำงานในเหมืองแร่ เมื่อสะสมทุนได้แล้ว ก็เริ่มขยับขยายเปิดกิจการเหมืองแร่ของตนเองขึ้นเป็นจำนวนมาก ทำให้แรงงานจากต่างถิ่นเข้ามาเพิ่มมากขึ้น กระทั่งราวทศวรรษที่ 2520 กิจการเหมืองแร่ในตะกั่วป่าเริ่มซบเซาลง ครูประวิทย์เล่าว่า
“... จนกระทั่งในยุค ปี 2521 การทำเหมืองแร่เริ่มลดน้อยลง เปลี่ยนมาเป็นยุคของการหาขี้ตะกรัน เนื่องจากในตะกั่วป่ามีโรงถลุงแร่อยู่หลายโรง เช่น ด้านหลังโรงแรมเกษมสุข หรือโรมแรมสามชั้น เป็นของตระกูลบุญสูง อีกแห่งหนึ่งอยู่ทางตลาดเหนือ ด้านหลังโรงแรมตะกั่วป่า เป็นต้น นอกจากนี้พื้นที่ด้านหลังจากบริเวณตลาดนี้ไป จะมีขี้ตะกรันอยู่เยอะแยะ โรงถลุงแร่เอามาถมทิ้งไว้”
บรรยากาศภายในงานเสวนาภาคเช้า มีคนในท้องถิ่น คณะครูและนักเรียนให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก
เช่นเดียวกับคำบอกเล่าของคุณรักชาติที่ว่า “... ช่วงปี 2520 การทำเหมืองแร่บนบกเริ่มน้อยลง จนไปสิ้นสุดเมื่อราวปี 2529 แต่คนตะกั่วป่ายังคงทำมาค้าขายอยู่ในย่านนี้ โดยเฉพาะถนนศรีตะกั่วป่า ซึ่งเป็นถนนสายหลักที่มีความเจริญมาก ส่วนคนต่างถิ่นที่เข้ามา โดยมากเป็นพวกที่ตั้งใจเข้ามาทำมาหากิน ในอดีตเมืองตะกั่วป่าค่อนข้างเป็นเมืองปิด เพราะการเดินทางยากลำบาก”
คุณรักชาติ บุญญานุวัตร
นอกจากนี้ระหว่างการเสวนา ยังเล่าถึงสภาพความเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองและร้านค้าต่าง ๆ ตั้งแต่อดีต-ปัจจุบัน เช่น อาคารตึกแถวเก่าแก่ยุคแรกบนถนนอุดมธารา ความคึกคักของถนนศรีตะกั่วป่า ซึ่งเป็นถนนสายหลักของเมือง แต่เดิมมีโรงแรมและธุรกิจห้างร้านต่าง ๆ เปิดทำการอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเป็นการบอกเล่าจากความทรงจำผ่านภาพถ่ายเก่า ซึ่งปรากฎห้างร้านต่าง ๆ ที่น่าสนใจหลายแห่ง เช่น "ร้านไทยวัฒนา" ขายหนังสือแบบเรียน เครื่องเขียน และเครื่องใช้ไฟฟ้า "ร้านฮัวหลอง" ร้านโชห่วยที่ยังเปิดกิจการอยู่ในปัจจุบัน เป็นต้น
ส่วนหนึ่งของภาพเก่าเมืองตะกั่วป่าที่นำไปจัดแสดงในงาน
บรรยากาศในงานเสวนา
ส่วนในภาคบ่ายเป็นกิจกรรม “เยี่ยมบ้าน เยือนศาลเจ้า ชีวิตและศรัทธา” เดินเท้าทัศนศึกษาศาลเจ้าและสมาคมจีนต่าง ๆ ในบริเวณย่านตลาดใหญ่ เมืองเก่าตะกั่วป่า อาทิ ศาลเจ้าพ่อกวนอู (ซิ่นใช่ตึ๋ง) ฮกเกี้ยนโฮ้ยก้วน(สมาคมฮกเกี้ยน) ศาลเจ้าท่ามก๋งเอี๋ยในสมาคมกวางตุ้ง ศาลเจ้าบ้านสี่สกุล “อ๋อง เอียบ อิ๋ว ซิ้ม” ศาลเจ้ากู่ใช่ตึ๋ง และศาลเจ้าเค่งจิ่วโหยก้วน(สมาคมจีนไหหลำ) วิทยากรโดย อ. เศรษฐพงษ์ จงสงวน ผู้เชี่ยวชาญด้านจีนศึกษา
อ. เศรษฐพงษ์ จงสงวน นำชมภายในศาลเจ้ากู่ใช่ตึ๋ง ถนนศรีตะกั่วป่า
ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทัศนศึกษา "เยี่ยมบ้าน เยือนศาลเจ้า ชีวิตและศรัทธา" ในภาคบ่าย