“ตะนาวศรี” หรือ “ตะนิ่นตายี” (Tanintharyi) ในภาษาพม่า ปัจจุบันเป็นอำเภอหนึ่งที่ขึ้นกับจังหวัดมะริด ประเทศเมียนมา ในหน้าประวัติศาสตร์ เมืองตะนาวศรีซึ่งมีแม่น้ำตะนาวศรีและแม่น้ำตะนาวศรีน้อย (แม่น้ำสิงขร) ไหลมาบรรจบกัน เคยเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรสยามในสมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ทุกวันนี้ยังปรากฏร่องรอยโบราณสถานและหลักฐานทางโบราณคดีที่เชื่อมโยงกับสมัยกรุงศรีอยุธยาอยู่มาก ทั้งยังพบว่ามีหมู่บ้านชาวไทยที่อาศัยอยู่บริเวณรอบนอกของเมืองอยู่บ้าง
ด้วยความเป็นเมืองปลายเขตของเมียนมายุคปัจจุบัน จึงเป็นพื้นที่ซึ่งประกอบด้วยผู้คนหลายหลายกลุ่มนอกจากคนพม่าและไทยแล้ว ยังมีชาวกะเหรี่ยง มุสลิม แขกอินเดียตะวันออก และจีน ตั้งรกรากอาศัยอยู่ในเมืองแห่งนี้ และด้วยเป็น เมืองแห่งสายน้ำ ผู้คนชาวตะนาวศรีจึงพึ่งพาสายน้ำในการสัญจรและอุปโภคบริโภคมาช้านาน
ย่านตลาดใจกลางเมืองตะนาวศรี ระหว่างที่เรือสินค้าขนาดใหญ่กำลังจอดเทียบท่า
ปัจจุบันยังพบเห็นการสัญจรทางเรือ ทั้งการใช้เรือเล็กเพื่อเดินทางมาตลาดยามเช้า เด็กๆ ยังใช้เรือเป็นพาหนะเดินทางไป-กลับระหว่างบ้านกับโรงเรียน นอกจากนี้ยังมีเรือขนสินค้าประเภทต่างๆ โดยเฉพาะสินค้าการเกษตร โดยเฉพาะ “หมาก” ซึ่งเป็นสินค้าสำคัญของเมืองตะนาวศรี เรือประมงพื้นบ้านลำเล็กๆ เรือแพขนานยนต์ที่บรรทุกผู้คนสินค้า ตลอดจนรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ข้ามลำน้ำตะนาวศรีไปยังหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ในบริเวณที่ไม่มีสะพานข้ามถึง
เรือเล็กของชาวบ้านที่เดินทางมาจับจ่ายสินค้าที่ตลาดเช้า เมืองตะนาวศรี
เรือแพขนานยนต์ ลำเลียงผู้คน ยานพาหนะ และสิ่งของต่างๆ มุ่งสู่หมู่บ้านที่อยู่อีกฟากฝั่งของลำน้ำ
ชาวตะนาวศรียังคงใช้เรือเป็นพาหนะในการสัญจร
เรือประทุนบรรทุกสินค้า
ภาพหนึ่งที่เห็นกันจนชินตา หากใช้ชีวิตอยู่ที่เมืองตะนาวศรีก็คือ ทุกเช้า-เย็นจะมีผู้คนเดินลงมายังท่าน้ำใกล้บ้านเพื่ออาบน้ำชำระร่างกายเป็นกิจวัตรประจำวัน ซึ่งสายน้ำอันกว้างใหญ่นี้ยังคงใสสะอาด บางบ้านยังใช้ดื่มกิน นับเป็นภาพวิถีชีวิตชาวน้ำที่ยังคงความเป็นสังคมแบบดั้งเดิมอยู่ ต่างจากสภาพสังคมเมืองที่พบเห็นในจังหวัดมะริดที่อยู่ห่างจากเมืองตะนาวศรีออกไปราว 70 กิโลเมตร ซึ่งมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไปมากแล้ว
เรือบรรทุกหมาก สินค้าขึ้นชื่อของเมืองตะนาวศรี
ชาวบ้านออกหาปลาและกุ้งในแม่น้ำตะนาวศรี
นักเรียนยังคงใช้เรือในการสัญจรไปมาระหว่างหมู่บ้านกับโรงเรียน
ก่อนตะวันจะพลบ ชาวตะนาวศรีทั้งเด็กและผู้ใหญ่จะใช้พื้นที่หาดริมลำน้ำตะนาวศรีซักทำความสะอาดเสื้อผ้าและอาบน้ำไปด้วย
ชาวบ้านผูกแพซุงล่องไปตามลำน้ำ
(หมายเหตุ : บันทึกภาพเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2562)
ติดตามเรื่องราวที่น่าสนใจอื่นๆ เกี่ยวกับเมืองตะนาวศรี-มะริด ในวารสารเมืองโบราณ ฉบับ 45.4 คลิก http://www.muangboranjournal.com/post/MBJ-45-4