จากทณบุรีศรีมหาสมุทรถึงกรุงธนบุรี

จากทณบุรีศรีมหาสมุทรถึงกรุงธนบุรี

 

กรุงธนบุรีเป็นเมืองหลวงที่ก่อตั้งขึ้นในยามที่สยามประเทศตกต่ำถึงขีดสุด บ้านเมืองอยู่ในสภาพบ้านแตกสาแหรกขาด ผู้คนส่วนใหญ่ถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลยศึก ที่ยังหลงเหลืออยู่ก็แตกฉานซ่านเซ็นและหวาดผวาภัยสงคราม ผู้สถาปนาราชธานีแห่งใหม่ของสยามประเทศ คือ สมเด็จพระบรมราชาที่ 4 หรือพระราชสมัญญานามที่คนทั่วไปกล่าวขานถึงก็คือ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี หรือสมเด็จพระเจ้าตากสิน ผู้กอบกู้บ้านเมืองหลังจากการเสียกรุงศรีอยุธยาเมื่อปี พ.ศ. 2310 นับได้ว่าทรงเป็นวีรกษัตริย์สามัญชนโดยแท้ แม้กรุงธนบุรีแห่งนี้ดำรงความเป็นราชธานีในช่วงระยะเวลาสั้นๆ เพียง 15 ปี แต่ก็เป็นโซ่ข้อกลางที่เกี่ยวกระหวัดเรื่องราวของบ้านเมืองในสมัยกรุงศรีอยุธยาที่เจริญรุ่งเรือง และส่งต่อมายังราชธานีแห่งใหม่ คือกรุงรัตนโกสินทร์ ให้ดำรงความเป็นไทยมาตราบเท่าทุกวันนี้  

 

จาก “เมืองท่าหน้าด่าน” สู่ความเป็น “เมืองราชธานี         

เมืองธนบุรีตั้งอยู่บริเวณที่ราบลุ่มภาคกลางตอนล่างของดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นดินแดนที่เกิดจากการทับถมของโคลนตะกอนของแม่น้ำเจ้าพระยา ท่าจีน  แม่กลอง และบางปะกง บริเวณนี้จึงเป็นเขตทะเลตมที่อุดมสมบูรณ์ด้วยตะกอนน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม มีแม่น้ำเจ้าพระยาที่คดโค้งไหลหล่อเลี้ยงสองฟากฝั่งลำน้ำ บริเวณใดเป็นหัวโค้งแม่น้ำหรือคุ้งน้ำก็จะถูกกัดเซาะ ขณะที่พื้นที่หัวแหลมอันเป็นที่ราบน้ำท่วมถึงมีตะกอนใหญ่น้อยจากลำน้ำพัดพามาทับถม จนเกิดเป็นคันดินธรรมชาติริมฝั่งสูงขึ้นทุกที กลายเป็นที่ดอนอันเหมาะแก่การตั้งถิ่นฐานบ้านเรือน ชุมชนแรกเริ่มของธนบุรีจึงเกิดขึ้นบนที่ดอนริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาสายเดิม โดยในช่วงแรกนั้นยังไม่ปรากฏนามบ้านนามเมืองอย่างเป็นทางการ หากแต่เรียกหมู่บ้านริมฝั่งน้ำต่างๆ ว่า “บาง” ดังปรากฏใน โคลงกำสรวลสมุทร เช่น บางระมาด บางจาก บางฉนัง บางนางนอง เป็นต้น ทั้งยังพบโบราณวัตถุ โบราณสถาน (วัดร้าง) เก่าแก่สมัยอยุธยาตอนต้น ตามชุมชนริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาสายเก่าและลำคลองสาขาเป็นประจักษ์พยานยืนยันอยู่

 

สภาพความเป็นเมืองน้ำของธนบุรี ที่มีลำคลองหลายสายเชื่อมโยงถึงกันและผู้คนตั้งบ้านเรือนริมลำคลอง โดยทำสวนผลไม้ลึกเข้าไปทางด้านหลังของเรือน

 

ด้วยชัยภูมิที่ตั้งซึ่งอยู่ไม่ห่างไกลจากทะเลมากนัก อีกทั้งมีคลองที่เชื่อมออกสู่ทะเลและบ้านเมืองภายในภูมิภาคต่างๆ ได้หลายทาง จึงเป็นจุดพักเรือและสินค้าที่ดีที่สุดหลังจากรอนแรมในทะเล ก่อนผ่านเข้าสู่ลำน้ำคดเคี้ยวที่ขึ้นไปยังกรุงศรีอยุธยา ดังนั้นในราวปี พ.ศ. 1976 สมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ (เจ้าสามพระยา) ชุมชนบางกอกได้กลายเป็นด่านขนอนของกรุงศรีอยุธยา ดังปรากฏใน พระไอยการอาชญาหลวง ระบุตำแหน่งนายพระขนอนทณบุรี นายด่านผู้มีหน้าที่ตรวจและเก็บภาษีจากเรือสินค้าที่จะขึ้นไปค้าขายยังกรุงศรีอยุธยา และยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้นใน พ.ศ. 2085 เมื่อสมเด็จพระไชยราชาธิราชโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองลัดขึ้นในพื้นที่ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่เรือสินค้านานาชาติที่เฟื่องฟูขึ้นในสมัยของพระองค์ การขุดคลองลัดดังกล่าวส่งผลให้แม่น้ำเจ้าพระยาเปลี่ยนทางเดิน เกิดเป็นลำน้ำสายใหม่ขึ้น ขณะเดียวกับที่ลำน้ำสายเก่าก็เปลี่ยนสภาพกลายเป็นคลองไป พร้อมกับเกิดคำเรียกขานชุมชนริมลำน้ำเจ้าพระยาสายใหม่ว่า ย่านบางกอก

 

ภาพถ่ายดาวเทียมจำลองการขุดลัดบางกอก ตั้งแต่ปากคลองบางกอกน้อยมาจรดปากคลองบางกอกใหญ่ จึงทำให้เกิดเป็นเกาะรูปกระเพาะ

อันเป็นที่มาของคำว่า “บางเกาะ” แล้วกร่อนคำกลายเป็น “บางกอก”

 

คำว่า “บางกอก” นั้น มีผู้รู้และนักวิชาการหลายท่านให้ข้อคิดเห็นว่า อาจจะมาจากการขุดลัดแม่น้ำในสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช ที่ทำให้เกิดเป็นเกาะมีแม่น้ำล้อมรอบ จึงเรียกว่า “บางเกาะ” แต่ภายหลังอาจมีการกร่อนคำจนกลายเป็น “บางกอก” แล้วชาวต่างชาติเพี้ยนเสียงเป็น Bangkok มาจนทุกวันนี้ บ้างก็ว่าแถบนี้เคยเป็นท้องถิ่นที่มีต้นมะกอกน้ำชุกชุม เลยเรียกชื่อย่านนี้ว่า “บางมะกอก” และกร่อนคำจนเหลือเพียงบางกอกในภายหลัง ซึ่งยังปรากฏชื่อวัดเก่าแก่ในย่านนี้คือ วัดมะกอกนอก (วัดอรุณราชวราราม) และวัดมะกอกใน (วัดนวลนรดิศ) ทั้งยังอาจมีคลองบางมะกอกที่เป็นเส้นทางเชื่อมแม่น้ำด้านเหนือและด้านใต้ให้ทะลุถึงกัน โดยมีวัดมะกอกเป็นศูนย์กลางของชุมชน เมืองบางกอกจึงตั้งอยู่สองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาที่ขุดลัดขึ้นใหม่ และอยู่ในตำแหน่งที่สามารถควบคุมเส้นทางน้ำจากภายนอกที่จะเดินทางเข้าไปยังอยุธยาได้ จนถึงสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ อันเป็นช่วงเวลาของการแข่งอำนาจระหว่างอยุธยากับหงสาวดี มีการยกฐานะบ้านขึ้นเป็นเมือง ยกฐานะเมืองเล็กขึ้นเป็นเมืองใหญ่  เมืองบางกอกหรือทณบุรี เมืองท่าสำคัญทางตอนใต้ของอยุธยาจึงได้รับการยกฐานะจากเมืองด่านขนอนขึ้นเป็นเมืองทณบุรีศรีมหาสมุทร คู่กับเมืองนนทบุรีซึ่งมีชื่อในบท พระไอยการอาชญาหลวง ว่า เมืองนนทบุรีศรีมหาอุทยาน  

 

อ่านบทความ "จากทณบุรีศรีมหาสมุทรถึงกรุงธนบุรี" โดย วิยะดา ทองมิตร ฉบับเต็มได้ที่ คอลัมน์ "เรื่องจากปก" ใน วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 43.4 (ตุลาคม - ธันวาคม 2560)  


Tags

กองบรรณาธิการ

"วารสารเมืองโบราณ" นิยามไทย เข้าใจถิ่น