งานบูชาอินทขีล : ประเพณีของชาวเชียงใหม่ที่ไม่จางหาย

งานบูชาอินทขีล : ประเพณีของชาวเชียงใหม่ที่ไม่จางหาย

 

ช่วงบ่ายแก่ๆ ของวันที่ 18 พฤษภาคม 2558 ผู้เขียนมีโอกาสได้เดินเที่ยวชมวัดต่างๆ ในบริเวณกลางเมืองเชียงใหม่ ก่อนจะแวะที่วัดเจดีย์หลวง ซึ่งเป็นช่วงที่กำลังมีงาน  “ใส่ขันดอก บูชาเสาอินทขีล”  อันเป็นประเพณีที่จัดขึ้นทุกปีในช่วงเดือน 8 ต่อเดือน 9 ของทางเหนือ

 

ผู้คนหลั่งไหลมาร่วมงานบูชาอินทขีลกันอย่างเนืองแน่น

 

“อินทขีล” เป็นชื่อของเสาหลักเมืองเชียงใหม่ ตามตำนานกล่าวว่า ชาวลัวะที่เป็นชนพื้นเมืองในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำปิงเชิงดอยสุเทพ ได้ก่อตั้งชุมชนในระดับเวียงขึ้นหลายแห่งในบริเวณนี้ และเมื่อตั้งเวียงนพบุรี ฤาษีได้แนะนำให้ตั้งเสาอินทขีลขึ้น พร้อมทั้งยักษ์กุมภัณฑ์ 2 ตน เพื่อปกป้องคุ้มครองเวียงและเป็นศูนย์กลางของชาวเมือง โดยชาวเมืองจะต้องทำพิธีบูชาเสาอินทขีลและเลี้ยงยักษ์ภุมภัณฑ์ หากละเลยเมืองจะพินาศ เดิมเสาอินทขีลประดิษฐานอยู่ที่วัดสะดือเมือง กระทั่งในสมัยกระยากาวิละครองเมืองเชียงใหม่ จึงย้ายเสาอินทขีลมาอยู่ที่วัดเจดีย์หลวง 

 

วิหารอินทขีล ภายในวัดเจดีย์หลวง

 

ศาลกุมภัณฑ์ เป็นอีกจุดสำคัญที่ต้องมาสักการบูชา

 

ประเพณีการบูชาเสาอินทขีลในอดีตที่ยังมีเจ้าครองนครกับสมัยปัจจุบันมีความแตกต่างกันอย่างมาก  ในอดีตเจ้าผู้ครองนครจะเริ่มด้วยพิธีการเซ่นไหว้เทวดาอารักษ์และบูชากุมภัณฑ์ ก่อนจะเชิญผีเจ้านายมาลงทรงเพื่อไถ่ถามถึงชะตาของบ้านเมือง หากผลการทำนายออกมาไม่ดี จะต้องทำพิธีสืบชะตาเมือง อันเป็นพิธีกรรมทางไสยศาสตร์ ประเพณีการบูชาเสาอินทขีลเช่นนี้ทำสืบต่อกันมา ก่อนยกเลิกไปในสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพา จนมาในสมัยหลังเมื่อไม่กี่สิบปีมานี้ ทางเทศบาลได้มีดำริรื้อฟื้นประเพณีไหว้เสาอินทขีลขึ้นอีกครั้ง โดยนำพิธีทางพระพุทธศาสนาเข้ามาผสมผสาน และมีการแห่พระเจ้าฝนแสนห่า ก่อนนำมาประดิษฐานที่บริเวณด้านหน้าพระวิหาร วัดเจดีย์หลวง เพื่อให้ประชาชนได้สรงน้ำและใส่ขันดอก ส่วนภายในวิหารอินทขีล พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์บูชาเสาอินทขีลที่ถูกฝังอยู่ใต้ดิน ด้านบนทำเป็นบุษบกประดิษฐานพระพุทธรูปประทับยืน ซึ่งภายในวิหารอินทขีลจะไม่อนุญาตให้ผู้หญิงเข้าไปด้านใน

 

 ผู้คนนำดอกไม้มาบูชาพระเจ้าแสนห่า บริเวณลานด้านหน้าพระวิหารหลวง

 

 

เมื่อตะวันเริ่มคล้อยลง ผู้คนทุกเพศทุกวัยเริ่มหลั่งไหลเข้ามายังที่วัดเจดีย์หลวงมากขึ้น บ้างมาเป็นครอบครัว ตลอดจนพวกนักท่องเที่ยวก็มีจำนวนไม่น้อย ทุกคนต่างมีจุดมุ่งหมายเหมือนกันคือมาร่วมสักการบูชาเสาอินทขีล  ผู้ที่มาร่วมงานจะพากันไปสักการะจุดธูปเทียนบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ภายในวัด และมี “พิธีใส่ขันดอก” โดยผู้ที่มาร่วมงานจะนำดอกไม้ที่จัดไว้เป็นช่อๆ มาวางไว้บนพานที่ทางวัดจัดเตรียมไว้ในจุดต่างๆ เช่น โดยรอบวิหารอินทขีล ศาลกุมภัณฑ์  

 

ร้านขายดอกไม้ตั้งเรียงรายอยู่ที่ถนนด้านหน้าวัด

 

ภาพบรรยากาศดังกล่าวนี้ สะท้อนอีกมุมหนึ่งของเมืองเชียงใหม่ในปัจจุบัน ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่ถาโถมเข้ามาสู่เชียงใหม่อย่างไม่หยุดยั้ง เรายังคงเห็นการยึดมั่นในจารีตประเพณีที่สืบมาแต่ดั้งเดิม ขณะเดียวกันมีความพยายามที่จะสืบสานไปสู่รุ่นลูกหลาน  

 

แหล่งอ้างอิง

สุดารา สุจฉายา, บรรณาธิการ. เชียงใหม่.  (กรุงเทพฯ : สารคดี), 2540.    


อภิญญา นนท์นาท

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ