เมื่อวันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กลุ่มบริหารกลาง กรมศิลปากร ได้ร่วมกับสำนักศิลปากรที่ 2สุพรรณบุรี จัดสัมมนาวิชาการเรื่อง “ข้อมูลใหม่จากโบราณสถานวัดพระงาม จังหวัดนครปฐม” ณ ห้องประชุมใหญ่สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร เพื่อเผยแพร่ข้อมูลทางวิชาการและประชาสัมพันธ์ความก้าวหน้าในการดำเนินงานทางโบราณคดีและการอนุรักษ์โบราณสถานวัดพระงาม ซึ่งเป็นแหล่งโบราณคดีสมัยทวารวดีที่สำคัญแห่งหนึ่งในจังหวัดนครปฐม
หลักฐานจากการขุดค้น
การสัมมนาในภาคเช้าเริ่มด้วยปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ทวารวตีวิภูติ จากจารึกวัดพระงาม จังหวัดนครปฐม” โดย คุณประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร ซึ่งเป็นการทบทวนองค์ความรู้และพัฒนาการการศึกษาทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีสมัยทวารวดีจากอดีตถึงปัจจุบัน ก่อนจะเข้าสู่การนำเสนอข้อมูลใหม่ที่ได้จากการขุดศึกษาทางโบราณคดีในครั้งนี้
ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ทวารวตีวิภูติ จากจารึกวัดพระงาม จังหวัดนครปฐม” โดย คุณประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร
ต่อมาเป็นการเสวนาในหัวข้อ “หลักฐานทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์จากการขุดค้นแหล่งโบราณสถานวัดพระงาม จังหวัดนครปฐม” โดยคณะทำงานประกอบด้วย คุณพิมพ์พรรณ ไพบูลย์หวังเจริญ นักอักษรศาสตร์ทรงคุณวุฒิ คุณพยุง วงษ์น้อย ผู้อำนวยการกลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี คุณสรรินทร์ จรัลนภา นักวิทยาศาสตร์ปฏิบัติการ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โดยมีคุณอัจฉรา แข็งสาริกิจ ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี ร่วมพูดคุยและดำเนินรายการ
วงเสวนา “หลักฐานทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์จากการขุดค้นแหล่งโบราณสถานวัดพระงาม จังหวัดนครปฐม”
คณะวิทยากรได้ให้ข้อมูลถึงกระบวนการทำงานและแผนแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาโบราณสถานวัดพระงาม ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่าย ผลจากการขุดค้นทางโบราณคดีและศึกษาในเบื้องต้น ประกอบด้วยการศึกษาทางด้านสถาปัตยกรรม การศึกษาโบราณวัตถุชิ้นสำคัญที่พบโดยเปรียบเทียบกับแหล่งอื่นๆ เช่น พระพุทธรูป พระพิมพ์ดินเผา ประติมากรรมดินเผารูปอสูร ภาชนะดินเผา และที่สำคัญคือศิลาจารึกที่พบบริเวณพื้นที่ฐานด้านทิศเหนือของสถูปวัดพระงาม ซึ่งต้องนำไปเก็บรักษาและดำเนินการอนุรักษ์ด้วยขั้นตอนทางวิทยาศาสตร์ต่อไป
ไขจารึกวัดพระงาม
การเสวนาในหัวข้อ “ศิลาจารึกสมัยทวารวดี จากโบราณสถานวัดพระงาม : การศึกษาวิเคราะห์และการตีความศิลาจารึกวัดพระงาม” โดยอาจารย์ก่องแก้ว วีระประจักษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านภาษาโบราณ ดร. อมรา ศรีสุชาติ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านโบราณคดี ผศ.ดร. จิรพัฒน์ ประพันธ์วิทยา ราชบัณฑิตประเภทวรรณศิลป์ สาขาตันติภาษา ดำเนินรายการโดย คุณอรุณศักดิ์ กิ่งมณี รองอธิบดีกรมศิลปากร ถือเป็นหัวข้อที่มีผู้สนใจมากที่สุด ด้วยความสำคัญของศิลาจารึกที่พบใหม่ ถือเป็นชิ้นส่วนสำคัญในการศึกษาประวัติศาสตร์สมัยทวารวดี
วงเสวนา “ศิลาจารึกสมัยทวารวดี จากโบราณสถานวัดพระงาม : การศึกษาวิเคราะห์และการตีความศิลาจารึกวัดพระงาม”
อาจารย์ก่องแก้วกล่าวถึงจารึกชิ้นนี้ว่าเป็นจารึกรูปอักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤตที่สวยงามที่สุดในประเทศไทย ตัวอักษรมีความเป็นระเบียบและสม่ำเสมอ จึงเชื่อได้ว่าผู้จารึกน่าจะเป็นอาลักษณ์ผู้มีความรู้ความสามารถสูงและมีอายุมากพอที่จะรู้จักรูปอักษรปัลลวะแบบเดิมที่ใช้อยู่ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 11 และแบบที่มีการพัฒนาขึ้นใหม่ในศตวรรษที่ 12 นอกจากนี้อาจารย์ก่องแก้วได้เน้นย้ำถึงกระบวนการทำงานซึ่งหากไม่ละเอียดรอบคอบ การอ่านผิดก็จะส่งผลต่อการแปลความที่ผิดเพี้ยนไปได้
วิทยากรยกตัวอย่างรูปแบบตัวอักษรปัลลวะที่ใช้ในพุทธศตวรรษที่ 11 และพุทธศตวรรษที่ 12
ผศ.ดร. จิรพัฒน์ ผู้แปลความในจารึกนี้สรุปใจความสำคัญของเนื้อหาได้ว่า เป็นการกล่าวสรรเสริญพระราชาผู้มีความสามารถ ทรงได้ชัยชนะในสงคราม นำความเจริญมาสู่วงศ์ตระกูลและบ้านเมือง มีเมืองทิมิริงคะ เมืองหัสตินปุระ และทวารวตี เป็นเมืองที่ยิ่งใหญ่มีชื่อเสียงรู้จักกันทั่วไป ทั้งได้ถวายสิ่งของไว้กับพระศิวะ ได้แก่ ต้นมะม่วงทอง 30 ต้น แม่โค 400 ตัว และลูกนกคุ่ม 156 ตัว
ผู้เชี่ยวชาญลงความเห็นร่วมกันว่าศิลาจารึกแผ่นนี้สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 12 เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระราชาผู้มีความเก่งกล้าสามารถ เป็นการประกาศหรือบอกเล่าเรื่องราวของพระราชาเพื่อให้ประชาชนในสังคมได้ทราบเรื่อง โดยประดิษฐานไว้ในที่ที่คนทั่วไปเห็นได้ชัดเจน แต่ต่อมาเมื่อพ้นสมัย คนรุ่นหลังไม่เห็นประโยชน์และความสำคัญของจารึก รวมถึงอาจอ่านไม่ได้และไม่เข้าใจข้อความในจารึก จึงนำแผ่นหินมาปรับใช้ใหม่ ดังที่พบว่าศิลาจารึกวัดพระงามได้เปลี่ยนหน้าที่มาเป็นส่วนประกอบของฐานเจดีย์ในเวลาต่อมา
ดร. อมรา อธิบายถึงข้อสังเกตจากการแปลความศิลาจารึกวัดพระงาม
จากการแปลความจารึกวัดพระงาม ดร. อมราได้เพิ่มเติมข้อสังเกตว่าศิลาจารึกนี้พบในแหล่งทวารวดีที่มีเนื้อหาเรื่องราวและกล่าวถึงชื่อเมือง “ทวารวตี” รวมถึงเมือง “หัสตินาปุระ” ซึ่งเป็นเมืองที่ปรากฏในวรรณกรรมสันสกฤตของศาสนาฮินดูของอินเดียเรื่องมหาภารตะ อีกทั้งยังใช้ภาษาสันสกฤต ซึ่งต่างจากศิลาจารึกที่พบในแหล่งทวารวดีอื่นๆ ที่ส่วนใหญ่พบหลักธรรมในพุทธศาสนาที่ใช้ภาษาบาลีและภาษามอญ จากการถอดความที่ปรากฏพระนามเทพเจ้า ได้แก่ วิษณุ ศรีหรือลักษมี ปศุปติ ปรเมศวร ซึ่งแสดงคตินิยมและพิธีกรรมต่างๆ ตามศาสนาพราหมณ์-ฮินดูของอินเดีย
นานาทัศนะ
การสัมมนาครั้งนี้ปิดท้ายด้วยหัวข้อ “นานาทัศนะเกี่ยวกับโบราณสถานวัดพระงาม” โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้แก่ รศ.ดร. สฤษดิ์พงศ์ ขุนทรง ดร.อุเทน วงษ์สถิต และรศ.ดร. เชษฐ์ ติงสัญชลี ดำเนินรายการโดยคุณยุทธนาวรากร แสงอร่าม ภัณฑารักษ์ชำนาญการ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
วงเสวนา “นานาทัศนะเกี่ยวกับโบราณสถานวัดพระงาม” โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
รศ.ดร.สฤษดิ์พงศ์ตั้งข้อสังเกตว่าจากโบราณสถาน โบราณวัตถุ และจารึกที่พบนั้น แสดงให้เห็นถึงความทับซ้อนกันหลายอายุสมัย ดังที่พบโบราณวัตถุและโบราณสถานสำคัญๆ ซึ่งสามารถกำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 14-16 ขณะที่ศิลาจารึกมีความเก่าแก่ขึ้นไปถึงพุทธศตวรรษที่ 12 นอกจากนี้จากหลักฐานร่วมสมัยทั้งศิลาจารึกและโบราณวัตถุยังแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของมืองนครปฐมโบราณที่เป็นเมืองท่าสำคัญในยุคต้นทวารวดี หรือราวพุทธศตวรรษที่ 12 ตลอดจนข้อสันนิษฐานถึงการทำสงครามกับกษัตริย์เขมร รวมถึงเครือข่ายความสัมพันธ์ระหว่างทวารวดี อีศานปุระ และจามปา ทั้งในแง่การเมือง เศรษฐกิจ ศาสนาพราหมณ์ และรูปแบบศิลปกรรม
ลำดับถัดมาดร. อุเทนได้แสดงความคิดเห็นว่าศิลาจารึกวัดพระงามเป็นหลักฐานนิกายปศุปติที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งนิกายนี้ได้สูญหายไปแล้ว คำว่า “ปศุปติ” มีที่มาจากรากศัพท์ 2 คำ คือ “ปศุ” แปลว่าสัตว์ และ “ปติ” แปลว่า เจ้า ในที่นี่จึงหมายถึงพระศิวะผู้เป็นเจ้าแห่งสัตว์ทั้งปวง ซึ่ง ดร. อุเทนได้อธิบายเพิ่มเติมถึงคุณลักษณะของนิกายปศุปติว่าเป็นนิกายย่อยของไศวนิกายที่เก่าแก่ที่สุด มีการบูชาศิวลึงค์ ซึ่งสอดคล้องกับการพบศิวลึงค์ที่เมืองโบราณนครปฐม
นิกายนี้สถาปนาโดยพราหมณ์ลกุลีศะ ในราวพุทธศตวรรษที่ 7 มีจุดกำเนิดอยู่ที่แคว้นคุชราต (Gujarat) ซึ่งมีเมืองทวารกาหรือทวารวดีอยู่ในแคว้นนี้ด้วย นักวิชาการอินเดียเชื่อว่ามีพัฒนาการมาจากความเชื่อโบราณในวัฒนธรรมโมเฮนโจ-ดาโร เป็นนิกายที่ไม่ได้มีกำเนิดจากคัมภีร์พระเวทและไม่เคร่งครัดเรื่องระบบวรรณะจึงเผยแพร่อยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายแห่ง อย่างไรก็ดี นักบวชนิกายนี้มีวัตรปฏิบัติแปลกๆ ทำให้บางครั้งไม่ได้รับการยอมรับจากไศวนิกายอื่นๆ
นอกจากจารึกวัดพระงามแล้ว ยังพบความเชื่อมโยงถึงนิกายนี้ปรากฏอยู่ในจารึกในวัฒนธรรมเขมรโบราณอีกหลายแห่ง ในช่วงท้ายวิทยากรยังแสดงความเห็นเพิ่มเติมว่าการด่วนสรุปให้ทวารวดีเป็นพุทธจากการพบหลักฐานจารึกพุทธศาสนาเป็นจำนวนมากนั้น อาจเกิดข้อสงสัยว่าทำไมจึงไม่ตั้งชื่อตามเมืองที่สำคัญในพุทธศาสนา การพบจารึกภาษาสันสกฤตที่วัดพระงามเป็นสิ่งยืนยันได้ว่าเมืองทวารวดีที่กล่าวว่ามีประตูถึง 50 ประตู เป็นเมืองพระกฤษณะตามตำนาน สอดคล้องกับความเป็นเมืองท่าสำคัญของเมืองนครปฐมโบราณ
ทางด้าน รศ.ดร. เชษฐ์ได้เสนอทัศนะเกี่ยวกับโบราณวัตถุที่พบที่โบราณสถานวัดพระงาม โดยเน้นที่ประติมากรรมทวารบาลอสูรที่ค้นพบใหม่ ซึ่งอธิบายถึงประติมานวิทยาผ่านลักษณะของเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ เช่น ยัชโญปวีต (เชือกหรือด้ายศักดิ์สิทธิ์ของวรรณะพราหมณ์ ซึ่งพบในการตกแต่งประติมากรรมทั้งในศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธนิกายมหายาน) อุทรพันธะหรือเส้นประดับท้อง เข็มขัดโซ่ จากรูปแบบเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับของประติมากรรมทวารบาลอสูรชิ้นนี้ สะท้อนถึงอิทธิพลจากศิลปะชวา-ศรีวิชัยที่เข้ามาสู่แหล่งทวารวดีบริเวณนี้ ทั้งยังผสมผสานอิทธิพลจากศิลปะอินเดียเหนือและอินเดียใต้ ซึ่งประติมากรรมชิ้นนี้เป็นตัวอย่างการสวมยัชโญปวีตกลับข้างที่พบเป็นกรณีแรกในศิลปะไทย และเป็นตัวอย่างมุกตยัชโญปวีตบิดเกลียวที่พบเพียงชิ้นเดียวในประเทศไทย ซึ่งตีความได้ว่าเป็นการตกค้างของรูปแบบยัชโญปวีตวกาฏกะ-จาลุกยะตะวันตกระยะแรก ราวพุทธศตวรรษที่ 11-12 สันนิษฐานว่าเข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พร้อมกับอิทธิพลปัลลวะตอนปลาย ราวพุทธศตวรรษที่ 13-14
รายละเอียดในการสัมมนาวิชาการครั้งนี้ยังมีอีกมาก สามารถติดตามได้จากเฟซบุ๊กหรือเว็บไซต์ของทางกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม รวมถึงแผนแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาโบราณสถานวัดพระงามยังอยู่ในระหว่างการดำเนินงาน ซึ่งจะเป็นการขยายพรมแดนความรู้ทางประวัติศาสตร์โบราณคดีสมัยทวารวดีต่อไป