“มากกว่า… ความคิดถึง” บันทึกถึงอาจารย์ยูร

“มากกว่า… ความคิดถึง” บันทึกถึงอาจารย์ยูร

 

บางครั้งการกลั่นกรองความรู้สึกในใจออกมาเป็นคำพูดหรือเขียนบอกเล่าเป็นตัวหนังสือนั้น เป็นสิ่งที่ยากยิ่งเหลือเกิน…

 

หากเอ่ยถึง “ครู” ในใจของข้าพเจ้าคนหนึ่งและจะเป็นครูของข้าพเจ้าตลอดชีวิต คือ อาจารย์ประยูร อุลุชาฎะ หรือ น. ณ ปากน้ำ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี ซึ่งในที่นี้ข้าพเจ้าขอเรียกนามของท่านว่า “อาจารย์ยูร”

 

อาจารย์ประยูร อุลุชาฎะ หรือ น. ณ ปากน้ำ สำรวจโบราณวัตถุสถานในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ. 2532 

(ที่มา : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์) 

 

เมื่อข้าพเจ้าเรียนจบระดับปริญญาตรีจากคณะโบราณคดี เมื่อปี พ.ศ. 2519 ได้มีโอกาสเข้ามาทำงานในกองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ นั่นเป็นครั้งแรกที่ข้าพเจ้าได้มาพบ ทำความรู้จัก และร่วมทำงานกับอาจารย์ยูร เมื่อครั้งตอนเรียนที่คณะโบราณคดี ก็เคยใช้หนังสือของท่านอ้างอิงในรายงานอยู่บ้างเป็นครั้งคราว  ในช่วงแรกที่เข้ามาทำงานนั้น อาจารย์ยูรได้เมตตาผูกดวงชะตาราศีให้ด้วย

 

ในคำทำนายนั้นมีอยู่ข้อหนึ่งท่านเขียนไว้ว่า ถ้าข้าพเจ้าได้มาทำงานที่เกี่ยวกับหนังสือทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีจะเป็นงานที่สอดคล้องกับดวงเกิดดี เมื่อได้อ่านคำทำนายข้าพเจ้ายังแอบนึกในใจว่าอาจารย์คงจะทำให้เราเชื่อว่าถ้าได้ทำงานที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์และโบราณคดีแล้วจะรุ่ง ข้าพเจ้าได้ประจักษ์ในภายหลังว่าอาจารย์ยูรได้พยายามประสิทธิ์ประสาทถ่ายทอดวิชาความรู้ทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีให้ข้าพเจ้าตลอดเวลาร่วม 10 ปีที่ได้ทำงานร่วมกับท่าน รวมทั้งผลักและดันให้ข้าพเจ้าเขียนบทความและหนังสือทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีมาจนถึงปัจจุบันนี้

 

เมื่อมาทำงานใหม่ๆ ทั้งอาจารย์ยูรและอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม มักจะชอบแซวข้าพเจ้าว่าเป็นลูกศิษย์สกุลท่านหม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล แต่ท่านคงไม่รู้หรอกว่าในท้ายที่สุดข้าพเจ้าก็เป็นลูกศิษย์สกุลอาจารย์มานิต วัลลิโภดม และอาจารย์ยูรอย่างเต็มตัว แต่ที่จริงก็เป็นเพียงเรื่องล้อเล่นเล็กๆ น้อยๆ ตลอดเวลาข้าพเจ้าสำนึกถึงพระคุณของครูบาอาจารย์ทุกคนที่สั่งสอนข้าพเจ้ามา และรู้สึกภูมิใจลึกๆ อยู่เสมอว่าข้าพเจ้าเป็นศิษย์มีครู ทั้งเป็นครูบาอาจารย์จากหลายสำนักเสียด้วย

 

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณขณะเดินทางไปสำรวจบ่อน้ำโบราณที่บ้านหัวซา

อ. ศรีมหาโพธิ จ. ปราจีนบุรี เมื่อ พ.ศ. 2532  นำโดย อ. ประยูร อุลุชาฎะ และ อ. ศรีศักร วัลลิโภดม 

(ที่มา : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์) 

 

การทำงานในวารสารเมืองโบราณ ข้าพเจ้าได้ทั้งเงินเดือนและสิ่งที่มีค่ามากกว่านั้น คือ โอกาสได้เรียนรู้เสมือนว่าเป็นนักเรียนในโลกกว้างกับครูบาอาจารย์ที่รายล้อมอยู่รอบตัว โดยไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียนหรือค่าหน่วยกิจ การออกไปสำรวจโบราณสถานตามสถานที่ต่างๆ โดยมีพาหนะเป็นรถตู้ เสมือนห้องเรียนเคลื่อนที่ ในระหว่างการเดินทางอาจารย์จะสอนให้เรารู้เรื่องราวต่างๆ รอบตัว ทั้งสภาพภูมิประเทศ ศิลปวัฒนธรรม ต้นหมากรากไม้ พืชท้องถิ่น อาหารการกิน ฯลฯ 

 

อ. ประยูร อุลุชาฎะ และ อ. ศรีศักร วัลลิโภดม เดินเที่ยวตลาดเช้าที่ชัยนาท 

(ที่มา : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์) 

 

ข้าพเจ้าได้มีโอกาสติดตามอาจารย์ยูรไปสำรวจโบราณวัตถุสถานหลายแห่งเป็นเวลาร่วม 10 ปี เมื่อเดินทางไปยังวัดแห่งใด อาจารย์จะต้องให้เดินทักษิณาวรรต (เวียนขวา) เพื่อความเป็นสิริมงคล และการถ่ายรูปที่ดีจะต้องใช้ขาตั้งกล้องและที่กดชัตเตอร์ อีกสิ่งหนึ่งที่อาจารย์จะเน้นย้ำอยู่เสมอ คือ จะต้องมีเทปวัดและสมุดบันทึกสำหรับจดบันทึกสิ่งที่พบเห็น เช่น การสำรวจใบเสมาจะต้องทำการวัดขนาดความกว้าง ยาว หนาของใบเสมา รวมทั้งลวดลายและวัสดุที่ใช้ทำใบเสมาด้วย และหากได้เดินทางไปบันทึกภาพจิตรกรรมตามวัดต่างๆ อาจารย์ยูรจะอธิบายให้ฟังถึงเรื่องโครงสีของภาพวาด เทคนิคการวางภาพและวาดภาพ เมื่อร่วมเดินทางไปกับอาจารย์นานวันเข้า ท่านก็จะสอบถามว่าสิ่งที่เห็นอยู่ตรงหน้าเป็นยุคสมัยใด เหมือนเป็นการทดสอบย่อยๆ ว่าสิ่งที่พร่ำสอนมานั้น ข้าพเจ้ารับรู้บ้างหรือไม่

 

การถ่ายรูปที่ดีจะต้องใช้ขาตั้งกล้องและที่กดชัตเตอร์ เป็นคำสอนที่ อ. ประยูร กล่าวถึงเสมอ

(ที่มา : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์) 

 

ในระยะหลังการไปเที่ยวชมโบราณสถานของอาจารย์ยูรเป็นเสมือนการไปเยี่ยมเยียนเพื่อนเก่าหรือญาติสนิทมิตรสหาย ไม่ว่าจะเป็นที่วัดแม่นางปลื้ม วัดมเหยงคณ์ วัดกุฎีดาว วัดอโยธยา วัดกระซ้าย หรือหอระฆังร้างริมถนนสายเอเชีย ทุกวันนี้ข้าพเจ้ายังจำภาพบรรยากาศที่อาจารย์ยูรพาไปเดินที่เจดีย์วัดกระซ้ายได้เป็นอย่างดี

 

อ. ประยูร กับใบเสมาที่วัดสามวิหาร พระนครศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ. 2532 

(ที่มา : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์) 

 

ถ้าอาจารย์ยูรยังมีชีวิตยืนยาวมาจนถึงปี พ.ศ. 2562 ท่านจะมีอายุราว 91 ปี ผลงานของอาจารย์ยูรที่ส่งต่อให้เป็นมรดกแก่คนรุ่นหลังมีหลายอย่าง ทั้งงานเขียน ภาพวาด และภาพถ่าย ดังเช่น ภาพวาด “ทิวทัศน์จันทบุรี” ได้รับรางวัลเหรียญทอง (จิตรกรรม) ในงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 6 พ.ศ. 2498 หนังสือ “ความงามในศิลปะไทย” ที่ได้รับเลือกให้เป็นหนังสือ 1 ใน 100 เล่มที่คนไทยควรอ่าน และหนังสือที่กล่าวได้ว่าเป็นเล่มคลาสสิกของอาจารย์ยูรคือ “ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา” ซึ่งผู้ที่ต้องการรู้เรื่องราวของกรุงศรีอยุธยาจะต้องอ่านสักครั้งหนึ่ง ถ้ามีญาณวิถีใดที่อาจารย์จะรับรู้ได้ ก็ขอให้ท่านได้ทราบว่าทฤษฎีเรื่องอโยธยาและสุพรรณภูมิของท่านนั้นได้เป็นที่ยอมรับในวงวิชาการแล้ว

 

ภาพวาด “ทิวทัศน์จันทบุรี”  ฝีมือ อ. ประยูร 

(ที่มา : https://sites.google.com/site/nornapaknam/Home/phl-ngan-phaph-kheiyn

 

ช่วงเวลา 10 ปีที่ได้มีโอกาสทำงานร่วมกับอาจารย์ยูร ผู้เป็นเสมือนพ่อและครูผู้มีเมตตาจิต ถ่ายทอดความรู้ให้กับศิษย์ อาจารย์เป็นดั่งผู้เปิดพรมแดนความรู้ทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีไปสู่มิติทางศิลปวัฒนธรรม สิ่งที่เรียนรู้จากอาจารย์ไม่สามารถตีราคาเป็นเงินได้ แต่มีคุณค่าสูงแก่ลูกศิษย์และสังคมไทยเป็นอย่างมาก ทุกวันนี้ลูกศิษย์คนนี้ยังคงระลึกและนึกถึงอาจารย์อยู่เสมอ และเป็นความรู้สึกที่มากกว่า… ความคิดถึง   

 


วิยะดา ทองมิตร

เจ้าหน้าที่มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ , นักเขียนทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี