ตะขาบ - กร่าบ

ตะขาบ - กร่าบ

 

หลายท่านคงเคยกินข้าวหลามที่ใช้กระบอกไม้ไผ่บรรจุ แล้วใช้ใบตองม้วนทำเป็นจุกปิดไว้ หรือไม่ก็เป็นกระบอกไม้ไผ่ที่นำมาเหลาให้บางลง เพื่อทุบหรือฉีกได้สะดวกยิ่งขึ้น แต่ทราบไหมว่ากระบอกไม้ไผ่ ยังสามารถใช้ทำประโยชน์อย่างอื่นได้อีก

 

“ตะขาบ” เป็นชื่อเรียกอุปกรณ์ชนิดหนึ่ง ใช้ทำให้เกิดเสียงดังเพื่อไล่สัตว์จำพวกนก ค้างคาว หนู หรือกระรอก ที่แอบเข้ามากินผลหมากรากไม้ภายในสวน ถือเป็นภูมิปัญญาของชาวสวนที่มีมานานแล้ว ตะขาบดังกล่าวนี้ ทำจากกระบอกไม้ไผ่เฮียะที่มีความยาวตั้งแต่ 50 เซนติเมตร ถึง 1 เมตร นำมาผ่ากลางตามแนวยาวแต่ไม่ขาดออกจากกัน และเจาะเป็นช่องเพื่อนำไปห้อยกับกิ่งไม้ได้ ซึ่งวิธีการใช้ ชาวสวนจะนำตะขาบไปแขวนไว้บนต้นไม้ แล้วใช้เชือกผูกโยงจากตะขาบไปยังจุดที่มีคนประจำอยู่ เมื่อสังเกตว่ามีสัตว์เข้ามารบกวนผลผลิตในสวน จะใช้มือกระตุกที่ปลายเชือก ทำให้ส่วนที่เป็นง่ามของตะขาบซึ่งทำไว้ กระทบกันจนเกิดเสียง “กรับๆ” ดังก้องไปทั่วทั้งสวน จนสัตว์ที่มารบกวนตกใจหนีไป ไม้ตะขาบนอกจากจะสามารถทำให้เกิดเสียงดังเพื่อไล่สัตว์แล้ว

 

"ตะขาบ" แขวนไว้ในสวนลิ้นจี่ที่บางขุนเทียน 

 

นอกจากนี้ในวัฒนธรรมของชาวไทยเชื้อสายมอญยังมีเครื่องประกอบจังหวะชนิดหนึ่งที่มีลักษณะคล้ายกับเครื่องมือชนิดนี้ ในประเพณีหรือพิธีกรรมของชาวมอญที่มีการใช้เครื่องดนตรีประเภทวงปี่พาทย์ จะมีการนำ “กร่าบ หรือ ฮะบ่าบ” นี้มาตีกระทบ ให้เกิดเป็นจังหวะเสียงควบคู่ไปกับเสียงดนตรีอีกด้วย  

 

 

 

"กร่าบ" หรือ "ฮะบ่าบ"  ในงานพิธีรำผีมอญ    


ณัฐวิทย์ พิมพ์ทอง

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ