เกร็ดเมืองกระ

เกร็ดเมืองกระ

 

อำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง เป็นบริเวณที่ตั้งเมืองเก่าที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ เช่นเดียวกับลำน้ำกระบุรีที่เป็นเส้นพรมแดนธรรมชาติกั้นระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณได้เก็บตกเกร็ดประวัติศาสตร์สังคมกระบุรีที่น่าสนใจ ซึ่งพบเห็นระหว่างการลงพื้นที่สำรวจมาเล่าสู่ท่านผู้อ่าน...  

 

บ้านหลังแรก : บ้านทับหลี

บนถนนเพชรเกษม มุ่งหน้าปากจั่น เลยโรงเรียนทับหลีสุริยวงศ์มาเล็กน้อย รถของเราก็เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนปูนแคบๆ ของซอยท่าเรือบ้านทับหลี หรือซอยประปา ป้ายที่ติดอยู่ปากซอยทำให้ทราบว่า ปลายทางของซอยนี้จะสิ้นสุดที่ท่าเรือข้ามฟากตำบลมะมุ ริมฝั่งแม่น้ำกระบุรี ไม่ไกลจากปากซอย บ้านไม้หลังงามอายุกว่าร้อยปีหลังหนึ่งที่ซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางหมู่ต้นไม้น้อยใหญ่ร่มรื่นก็ปรากฏขึ้น นั่นคือ “บ้านหลังแรก” ของทับหลี

 

บ้านหลังแรกของบ้านทับหลี ปัจจุบันโดยรอบบริเวณบ้านร่มรื่นไปด้วยพันธุ์ไม้ 

 

อาจารย์จงจินต์ ศิริพันธุ์ ต้อนรับพวกเราอย่างอบอุ่นด้วยรอยยิ้มและซาลาเปาทับหลี ของอร่อยขึ้นชื่อ ก่อนเริ่มเล่าประวัติความเป็นมาของบ้านหลังนี้ให้ฟัง บ้านหลังนี้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2429 โดยนายส้าน อุ๋ยเล่งจ๋วน กับนางเภา อุ๋ยเล่งจ๋วน ตามคำแนะนำของหลวงปู่เรือง เจ้าอาวาสวัดนาตลิ่งชันในสมัยนั้น โดยสร้างบ้านขึ้นบนเนินดินขนาดย่อมที่แวดล้อมไปด้วยป่าทึบ ริมฝั่งแม่น้ำกระบุรี และหาอยู่หากินด้วยการทำไร่ ทำสวน เลี้ยงสัตว์ ที่นี่จึงนับเป็นบ้านหลังแรกของบ้านทับหลี และเป็นบ้านที่ยังคงอยู่มาจนปัจจุบัน

 

อาจารย์จงจินต์ ศิริพันธุ์ เจ้าของบ้าน

 

พ่อตาหลวงแก้ว ที่ "ศาลหลักเมืองกระบุรี"

ศาลหลักเมืองกระบุรี หรือที่ชาวบ้านในละแวกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "ศาลพ่อตาหลวงแก้ว" หลังที่เห็นในปัจจุบันนี้ เป็นศาลสีแดงก่ออิฐถือปูนชั้นเดียว หน้าศาลหันออกถนนเพชรเกษม โดยศาลหลังนี้ ตั้งอยู่ปากซอยคูเมือง ริมถนนเพชรเกษม จังหวัดระนอง ไม่ไกลจากบริเวณที่เชื่อว่าเป็นเมืองกระบุรีเก่า ทุกปีชาวบ้านจะจัดงานไหว้ศาลประจำปีในวันเสาร์แรกของเดือน 6 ถ้าตรงกับวันพระจะเลื่อนไปจัดในวันอังคาร ป้าแดง เตาตระกูลไพศาล ให้เหตุผลว่า "ไม่จัดงานตรงกับวันพระ เพราะพ่อตาไม่อยู่ ท่านไปตีคลี ใครมาแก้บนในวันพระ ก็เชื่อว่าจะแก้บนไม่ขาด"

 

 

ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองกระบุรี ตั้งอยู่ที่ปากซอยคูเมือง ริมถนนเพชรเกษม

 

ในวันงาน ช่วงเช้า ชาวบ้านจะมาลงแรงช่วยกันทำความสะอาดศาล จากนั้นราวบ่าย 4 โมงเย็น ชาวบ้านจะมารวมกันที่ศาลอีกครั้งพร้อมด้วยเครื่องเซ่นของไหว้นานาชนิดตามแต่กำลัง เช่น ไก่ต้ม เหล้า ข้าว แกง ไข่ต้ม มะพร้าว ขนมโค ข้าวเหนียวแดง ข้าวเหนียวขาว และหัวหมู เป็นต้น ในขั้นตอนถวายของไหว้ มีหมอมาทำพิธี 3 คน ถวายแล้ว ชาวบ้านจะจุดประทัดชุดใหญ่ถวายพ่อตา จากนั้นลาของไหว้ แล้วรับประทานอาหารร่วมกัน เป็นอันเสร็จพิธี ชาวบ้านจะจัดงานไหว้พ่อตาหลวงแก้วที่ศาลหลักเมืองนี้ เป็นศาลแรกของปี ก่อนจะแยกย้ายไปจัดงานไหว้พ่อตาหลวงแก้วในศาลที่บ้านของตนต่อไป

 

 

ภายในศาลมีรูปพ่อตาหลวงแก้ว (พระแก้วโกรพ) และสิ่งของที่ชาวบ้านนำมาเซ่นไหว้ เช่น ตุ๊กตารูปช้าง ดอกไม้ธูปเทียน 

 

ลำน้ำเปลี่ยน เขตแดนผันแปร
“ลำน้ำกระบุรี” สายน้ำสำคัญที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนสองฝั่งไทยและพม่า มีจุดกำเนิดจากเทือกเขาตะนาวศรี แล้วไหลลงใต้ พาดผ่านพื้นที่ระหว่าง 2 ประเทศ เสมือนเป็นเส้นแบ่งเขตแดนธรรมชาติ ตลอดแนวลำน้ำที่ทอดตัวกว่า 100 กิโลเมตรนี้ ทางน้ำบางช่วงบางตอนคดเคี้ยวจนเกิดเป็น “เกาะ” นำมาซึ่งข้อพิพาทระหว่างกัน

 

แผนที่แสดงเส้นลำน้ำเก่า 

 

ก่อนปี พ.ศ. 2476 “เกาะกลางคลองสีสุก” และ “เกาะหาดลานควาย” เป็นของพม่า ส่วน “เกาะวังกะทู้” กับ “เกาะคลองวัน” เป็นของฝั่งไทย แต่เนื่องด้วยเหตุผลหลายประการจึงมีการทำข้อเสนอไปยังรัฐบาลส่วนกลางเพื่อให้สร้างข้อตกลงขอปักปันเขตแดนใหม่และแลกเปลี่ยนเกาะเพื่อความสะดวกต่อการปกครองดูแลเกาะของทั้ง 2 ประเทศ โดยที่ประชุมมีมติให้ใช้ร่องน้ำลึกของลำน้ำกระบุรีเป็นเส้นแบ่ง ในครั้งนั้น ทางฝั่งพม่ายินยอมมอบ “เกาะกลางคลองสีสุก” และ “เกาะหาดลานควาย” ให้กับไทย ขณะที่ฝ่ายไทยได้มอบ “เกาะวังกะทู้” และ “เกาะคลองวัน” ให้กับทางพม่า เป็นการแลกเปลี่ยน

 

 

วิถีชีวิตริมแม่น้ำกระบุรี อำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง ชาวบ้านทั้งสองฟากยังข้ามฝั่งไปมาเป็นปกติ 

 

การเจรจาแลกเปลี่ยนในครั้งนั้น มีข้าราชการไทยจากส่วนกลางมาตรวจสอบภูมิประเทศและทำแผนที่ และมีข้าหลวงใหญ่ผู้แทนรัฐบาลอังกฤษจากอินเดียมาร่วมตรวจสอบพื้นที่ทั้ง 4 เกาะ แล้วจึงลงนามแลกเปลี่ยนสัตยาบันที่โรงเรียนทับหลีสุริยวงศ์ เมื่อปี พ.ศ.2476 โดยมีพระยาอมรฤทธิ์ธำรง ผู้ว่าราชการเมืองระนอง หลวงสิริวรารักษ์ นายอำเภอกระบุรี ขุนบริรักษ์โลหวิสัย (คอเบี่ยนเตียด ณ ระนอง) ผู้ช่วยต่างประเทศซึ่งเป็นล่าม มาร่วมเป็นพยาน แต่นั้นมา กรณีพิพาทที่มีจึงยุติลงได้ด้วยดี ปัจจุบัน ทางน้ำที่เคยล้อมรอบเกาะตื้นเขิน เหลือเพียงร่องน้ำขนาดเล็ก บางแห่งไม่เหลือสภาพความเป็นเกาะให้เห็นชัดเจนเช่นในอดีต

 

แม่น้ำกระบุรี บริเวณใกล้กับปากคลองจั่นในปัจจุบัน 

 

“ปากจั่น” สกุลเก่าบ้านปากจั่น

หลังจากที่แม่แดง เตาตระกูลไพศาล เล่าภาพอิทธิปาฏิหาริย์ ความศักดิ์สิทธิ์ และพิธีบวงสรวงบูชาพ่อตาหลวงแก้ว ณ ศาลหลักเมืองกระบุรีให้พวกเราฟังอย่างออกรสแล้ว พวกเราก็เริ่มซักถามประวัติของแม่แดงบ้าง แม่แดงนึกย้อนความก่อนพูดอย่างชัดคำว่า “นามสกุลเดิมของฉันคือ ปากจั่น” แล้วแม่แดงก็ลุกไปหยิบเอกสารเก่าของพ่อเสริม คุณพ่อของแม่แดงมาให้พวกเราชม พร้อมเล่าต่อว่า “พ่อเสริม พ่อของฉันเป็นตำรวจ ชื่อ พลฯ เสริม ปากจั่น ท่านเกิดปี พ.ศ. 2459 แม่ชื่อ กับ นามสกุลเดิม ทันรักยอด เป็นคนบ้านหัวหนอง ส่วนปู่ชื่อ ยั๊วะ ปากจั่น ย่าชื่อ สาว เป็นคนไทยจากเกาะสอง

 

แม่แดง เตาตระกูลไพศาล

 

เอกสารเก่าที่แม่แดงนำมาให้พวกเราชมคือ หนังสือสำคัญ ส.ด. 8 ซึ่งบรรจุอยู่ในกลักเหล็กขนาดเล็ก แม่แดงนำเอกสารออกจากกลักใบนั้นอย่างเบามือ “มันขาดแล้ว” แม่แดงพูดขึ้น ก่อนค่อยๆ กางแผ่นกระดาษชิิ้นสำคัญและต่อประกอบส่วนที่ขาดจนเข้าที่ ทำให้พวกเราเห็นว่า เอกสารในกลักนี้มีสภาพชำรุดฉีกขาดตามรอยพับจนกระดาษบางส่วนขาดหายแหว่งวิ่นไม่สามารถอ่านความครบได้

 

กลักเหล็กขนาดเล็กภายในบรรจุหนังสือสำคัญ ส.ด. 8 ของ พลฯ เสริม ปากจั่น

 

หนังสือสำคัญ ส.ด. 8 ของ พลฯ เสริม ปากจั่น

 

อย่างไรก็ดี จากข้อความบางส่วนที่เหลืออยู่ สามารถอ่านได้ว่า “...หนังสือสำคัญ หนังสือสำคัญนี้ห้ามแยกออกจากสมุดประจำตัวทหารนอกประจำการเล่มนี้เป็นอันขาด / สังกัด กองตำรวจภูธรจังหวัดระนอง ประจำจังหวัดระนอง / แผนกตำรวจ วันที่ 22 เดือนมกราคม พุทธศักราช 2482 / ที่ 12 วันที่ 22 เดือนมกราคม พุทธศักราช 2482 ทะเบียน 2139 เลขที่ 40 / ยศและนาม : พลฯ เสริม ปากจั่น เครื่องหมาย : ต.ร. 2480 ร.น. 50 เกิดพุทธศักราช : 2459 บัดนี้อายุครบ : 23 ปี ตำหนิ : แผลที่นิ้วซ้าย ภูมิลำเนาอยู่บ้าน : ปากจั่น ตำบล : ปากจั่น อำเภอ : กระบุรี จังหวัด : ระนอง / ได้ปลดเป็นทหารกองหนุนประเภทที่ 1 เป็นกองหนุนชั้นที่ 1 วันที่ 1 เดือนกุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2482 / ลงนามข้าหลวงประจำจังหวัดระนอง สัสดีจังหวัดระนอง และประทับลายพิมพ์นิ้วมือ..." 

 

 

รายละเอียดบางส่วนของหนังสือสำคัญ ส.ด. 8 ของ พลฯ เสริม ปากจั่น

 


กองบรรณาธิการ

"วารสารเมืองโบราณ" นิยามไทย เข้าใจถิ่น