“หมาก” พืชเศรษฐกิจเมืองตะนาวศรี

“หมาก” พืชเศรษฐกิจเมืองตะนาวศรี

 

ตะนาวศรี (Tanintharyi) เป็นเมืองขนาดเล็ก (Township) ตั้งอยู่ในจังหวัดมะริด (Myeik District) ในเขตการปกครองตะนาวศรี (Tanintharyi Region) ทางตอนใต้ของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ปัจจุบันยังเป็นสังคมเกษตรกรรม โดยมี “หมาก” เป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญ

 

สวนหมากและมะพร้าวริมแม่น้ำตะนาวศรี

สองฝั่งถนนในเมืองตะนาวศรีแน่นขนัดไปด้วยต้นหมาก

 

หากไปเยือนเมืองตะนาวศรี สิ่งแรกที่สะดุดตาคือต้นหมากสูงชะลูดที่มีอยู่มากมายนับไม่ถ้วน ตลอดริมฝั่งแม่น้ำตะนาวศรีจะเห็นบ้านเรือนตั้งอยู่โดยมีสวนหมากที่ขึ้นปะปนอยู่กับต้นมะพร้าวเป็นฉากหลัง กระทั่งบ้านเรือนที่ตั้งเรียงรายอยู่ตามตรอกซอยต่างๆ ในย่านตลาดกลางเมือง ก็ยังมีต้นหมากขึ้นเบียดแทรกอยู่ 

 

บ้านท่ามกลางสวนหมาก (ที่มา : อรรถพล ยังสว่าง) 

 

ชาวบ้านเพาะต้นหมากเตรียมไว้สำหรับปลูกแซมในสวนหรือบริเวณบ้าน

 

การทำสวนหมากพบอยู่ทั่วไปในเขตการปกครองตะนาวศรี ทั้งในจังหวัดทวาย (Dawai) เกาะสอง (Kaw Thaung) มะริด ตลอดจนหมู่เกาะต่างๆ อาจกล่าวได้ว่าหมากส่วนใหญ่ที่ซื้อขายกันในเมียนมาต่างถูกลำเลียงขึ้นไปจากทางตอนใต้แทบทั้งสิ้น ซึ่งหมากจากทางตอนใต้ได้รับการยอมรับว่าเป็นหมากที่ดีที่สุด คนเชื้อสายไทยที่เมืองตะนาวศรี เช่นที่หมู่บ้านสิงขร หมู่บ้านมูกโพรง ส่วนใหญ่ยังมีอาชีพเป็นชาวสวนที่ทำสืบมาตั้งแต่เมื่อครั้งบรรพบุรุษ มีผลผลิตที่สำคัญเป็นทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองและหมาก

 

นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว บันทึกถึงเรื่องนี้เอาไว้ใน จดหมายเหตุตะนาวศรี ซึ่งเรียบเรียงขึ้นจากประสบการณ์ไปเยี่ยมเยือนหมู่บ้านคนไทยผลัดถิ่นที่นั่น การทำสวนหมากที่นี่ถือว่าให้ผลตอบแทนสูง ปีหนึ่งชาวสวนหมากอาจขายผลผลิตได้มากถึง 100 ล้านจั๊ด คิดเป็นเงินไทยราว 2,500,000 บาท

 

ชาวบ้านร้อยผลหมากเป็นพวงแขวนตากไว้ที่หน้าบ้าน

 

สวนหมากที่หมู่บ้านหม้อทุง (Mawtone) ซึ่งเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ริมแม่น้ำตะนาวศรี ห่างจากตัวเมืองตะนาวศรีราว 3 กิโลเมตร

 

การทำสวนหมากไม่ต้องดูแลใกล้ชิดและใช้ทุนไม่มากนัก ค่าใช้จ่ายหลักๆ ที่ต้องเสียเงินค่าจ้าง ได้แก่ การถางหญ้าปีละ 2 ครั้ง และการเก็บผลผลิต สารเคมีต่างๆ ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ ราคาหมากซื้อขายกันแบบนับลูก ช่วงที่เก็บหมากได้มากจะมีราคาอยู่ที่ 25-30 จั๊ดต่อลูก ส่วนในช่วงปลายฤดูการเก็บเกี่ยว หมากที่เริ่มเก็บได้น้อยจะขายได้ถึง 50-55 จั๊ดต่อลูก ชาวเมืองตะนาวศรีจึงทำสวนหมากกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน มากบ้างน้อยมากตามทุนทรัพย์และที่ดิน ดังจะเห็นว่าบริเวณที่ว่างหน้าบ้าน ริมทาง ท่าน้ำ วัด สนามหน้าโรงเรียนต่างถูกใช้เป็นที่ตากผลหมาก การถางป่าเพื่อเปลี่ยนเป็นสวนหมากยังพบอยู่ทั่วไป อย่างไรก็ตาม ยังถือว่าส่งผลกระทบน้อยกว่าการปลูกปาล์มน้ำมันที่ดำเนินกิจการโดยนายทุนขนาดใหญ่ 

 

ลานตากหมากที่หมู่บ้านในตัวเมืองตะนาวศรี

 

 

สนามโรงเรียนในเมืองตะนาวศรีถูกใช้เป็นลานตากหมาก

 

ต้นหมากหนึ่งต้นสามารถให้ผลผลิตได้นานถึง 20-30 ปี การเก็บหมากต้องช่วยกันหลายคน ใช้เครื่องมือเกี่ยวทะลายหมากลงมาโดยไม่ต้องปีนขึ้นไป เพราะแต่ละสวนมีต้นหมากจำนวนมาก ตอนเช้าออกไปเกี่ยวทะลายหมากไว้ ตอนบ่ายก็ค่อยไปช่วยกันเก็บ ซึ่งผู้หญิงและเด็กๆ ก็ไปช่วยเก็บได้ หากเป็นสวนหมากที่อยู่บนเนินเขาจะขึงตาข่ายไว้ที่ด้านล่าง ลูกหมากที่ถูกเกี่ยวตกลงมา ก็จะกลิ้งไปรวมกันอยู่ภายในตาข่าย

 

ผลหมากแก่จัดมีเปลือกสีส้มอมแดง อันเป็นที่มาของชื่อเรียกสีในโทนนี้ว่า “สีหมากสุก”

 

ลานตากหมากที่วัดหม้อทุง (Mawtone)  เมืองตะนาวศรี 

 

หมากที่ส่งขายเป็นหมากแห้ง ส่งไปยังเมืองย่างกุ้ง ส่วนใหญ่จะถูกส่งต่อไปยังประเทศจีนและอินเดียเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมทำสี ระบบการค้าขายหมากที่นี่จะมีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อ ทั้งที่รับซื้อหมากแห้งทั้งลูกและที่ผ่าเอาเฉพาะเนื้อแข็งด้านใน เจ้าของสวนที่มีรายได้น้อยอาจจะตัดสินใจซื้อขายในทันที แต่บางเจ้าอาจจะเก็บไว้เพื่อรอให้ราคาขึ้น หากเป็นชาวสวนรายใหญ่จะรวมไปขายที่ย่างกุ้ง บ้างลงทุนเช่าโกดังที่นั่นไว้เก็บหมากโดยเฉพาะ 

 

ชาวบ้านในตลาดตะนาวศรีช่วยกันปอกเปลือกผลหมากที่ตากแห้งแล้ว


หมากที่ปอกเปลือกแล้ว หากตากให้แห้งสนิทสามารถเก็บได้นานหลายปี

 

ปัจจุบันคนเมียนมายังนิยมเคี้ยวหมาก หรือที่เรียกในภาษาถิ่นว่า Kun-Ya แผงขายหมากแบบสำเร็จรูปพบอยู่ทั่วไปในหมู่บ้านและย่านตลาด ดังเช่นในเมืองใหญ่ทางตอนใต้อย่างเมืองมะริด พบว่ามีแผงขายหมากตั้งอยู่ตามท่าเรือและตลาด เช่นเดียวกับที่เมืองย่างกุ้ง (Yangon) ซึ่งเป็นจุดหมายสำคัญในเส้นทางของหมากจากตอนใต้ 

 

ร้านขายหมากในตลาดตะนาวศรี พ่อค้ากำลังจัดเตรียมหมากเป็นคำๆ (ที่มา : อรรถพล ยังสว่าง) 

 

หมากหนึ่งคำประกอบไปด้วย หมากแห้งหั่นเป็นชิ้นๆ ใบยาสูบ ปูน ห่อด้วยใบพลู อาจเติมรสชาติด้วยการโรยกระวานหรือกานพลู แหล่งปลูกพลูที่ใหญ่ที่สุดในพม่าอยู่ที่บริเวณพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิรวดี (Irrawaddy Delta) ที่ราบลุ่มซึ่งเป็นแหล่งเกษตรกรรมที่สำคัญ ข้าวที่มีคุณภาพสูงล้วนปลูกขึ้นที่นี่ เช่นเดียวกับใบพลูที่เมืองปานตะนอ (Pantanaw) ในเขตการปกครองอิรวดี (Irrawaddy Region) ถึงแม้ว่าจะเผชิญกับภัยมรสุมและอุทกภัย แต่การปลูกพลูยังคงเป็นรายได้หลักของชาวบ้าน ใบพลูที่เก็บเกี่ยวแล้วจะถูกคัดแยกตามขนาด กลุ่มที่ใบสวยและมีขนาดใหญ่จะถูกส่งไปยังเมืองย่างกุ้ง

 

แม่ค้าขายหมากที่มะริด (ที่มา : อรรถพล ยังสว่าง) 

 

ที่ผ่านมีคำเตือนจากกระทรวงสาธารณสุขของพม่าถึงความเสี่ยงเป็นมะเร็งช่องปากที่เพิ่มมากขึ้นในกลุ่มผู้เคี้ยวหมาก เช่นเดียวกับองค์การอนามัยโลก (WHO) ที่แสดงความกังวลถึงเรื่องนี้ ในช่วงไม่กี่ปีมานี้มีการรณรงค์ให้คนรุ่นใหม่เลิกเคี้ยวหมากเพื่อสุขอนามัยที่ดี รวมไปถึงมีการห้ามไม่ให้เคี้ยวหมากในสถานที่ราชการ โรงเรียน โรงพยาบาล ตลอดจนพื้นที่สาธารณะและสถานที่ท่องเที่ยว เพื่อลดการใช้หมากและรักษาความสะอาดของบ้านเมือง เพราะชาวบ้านมักถ่มน้ำหมากลงบนพื้น อย่างไรก็ตาม ชาวเมียนมายังคงนิยมเคี้ยวหมากกันอยู่ ด้วยว่าเป็นค่านิยมที่ปฏิบัติกันมาเนิ่นนาน

 

กล่าวได้ว่า “หมาก” เป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของคนเมียนมา โดยเฉพาะคนทางตอนใต้ในภูมิภาคตะนาวศรีที่สวนหมากเป็นอาชีพสำคัญที่หล่อเลี้ยงผู้คนมาช้านาน และเป็นมรดกตกทอดที่บรรพบุรุษส่งต่อให้ลูกหลาน

 

หมายเหตุ

ภาพถ่ายเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2562 

แหล่งอ้างอิง

นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว. “จดหมายเหตุตะนาวศรี”. วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 45 ฉบับที่ 4 (ตุลาคม-ธันวาคม พ.ศ. 2562), หน้า 49-61.

Mratt Kyaw Thu, Betel chewing remains wildly popular in Myanmar despite health concerns. สืบค้นจาก https://www.efe.com/efe/english/destacada/betel-chewing-remains-wildly-popular-in-myanmar-despite-health-concerns/50000261-4039496

Su Myat Mon, Hard times for betel growers. สืบค้นจาก https://frontiermyanmar.net/en/hard-times-for-betel-growers


อภิญญา นนท์นาท

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ