ใบเสมาบ้านกุดโง้ง

ใบเสมาบ้านกุดโง้ง

 

จากถนนสายชัยภูมิ-สีคิ้ว (201) ตำบลหนองนาแซง อำเภอเมืองชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิ เลี้ยวขวาเข้าไปตามถนนลูกรังสลับกับถนนคอนกรีตเสริมเหล็กที่คดเคี้ยว ลัดเลาะไปตามลำห้วยหลัวซึ่งวกวนจนเกิดเป็นหนองน้ำน้อยใหญ่อีกหลายแห่ง ก่อนจะไหลมาบรรจบกับลำปะทาว รวมระยะทางทั้งหมดราว 10 กิโลเมตร ผ่านหลายหมู่บ้าน เช่น บ้านหัวนา บ้านหนองฉิม บ้านโนนแดง จึงจะถึง “บ้านกุดโง้ง”

 

บ้านกุดโง้ง เป็นชุมชนโบราณ ล้อมรอบด้วยลำปะทาว ที่นี่มีร่องรอยหลักฐานการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เช่น ขวานหินขัด แวดินเผา หินดุ ภาชนะดินเผา โบราณวัตถุจากสำริด และยังพบการบรรจุกระดูกผู้ตายพร้อมวัตถุอุทิศลงในภาชนะดินเผาตามวัฒนธรรมการฝังศพครั้งที่ 2

 

 

นอกจากนั้นยังพบหลักฐานที่แสดงถึงความสืบเนื่องของชุมชนมาจนถึงสมัยทวารวดี ดังได้พบ “ใบเสมา” ขนาดต่างๆ ใบเสมาขนาดใหญ่ที่พบมีความสูงราว 2-3 เมตรกระจัดกระจายอยู่ภายในบริเวณบ้านกุดโง้งเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะตามเนินดินและทุ่งนารอบหมู่บ้าน พบทั้งที่ปักเป็นกลุ่มปักประจำทิศและปักแบบโดดๆ โดยมีลักษณะเป็นแท่งหินธรรมชาติ แบบแผ่นแบนเรียบ แบบแท่งหิน ทรงกลม ทรงเหลี่ยม

 

 

ใบเสมาที่พบนี้ มีทั้งแบบเรียบไม่สลักลวดลายใดและใบเสมาที่แกะสลักเป็นรูปสถูป รูปใบเสมา และภาพเล่าเรื่องพุทธประวัติและชาดก ปัจจุบันยังมีใบเสมาที่อยู่ในตำแหน่งเดิมบนที่นาของชาวบ้าน และใบเสมาบางส่วนที่ถูกเคลื่อนย้ายนำมาเก็บรักษาไว้ภายใน “อาคารเก็บใบเสมาบ้านกุดโง้ง” ตำบลบุ่งคล้า อำเภอเมืองชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งตั้งอยู่ภายในบริเวณเดียวกับสำนักสงฆ์บ้านกุดโง้งและโรงเรียนบ้านกุดโง้ง

 

 

 

ชาวบ้านกุดโง้งในปัจจุบันนี้ สืบประวัติย้อนไปได้ว่าเป็นกลุ่มคนที่อพยพมาจากจังหวัดอุบลราชธานี แล้วไปตั้งหลักแหล่งอยู่ที่บ้านผือ ตำบลกุดตุ้ม อำเภอเมืองชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิ ก่อนจะย้ายมาปักหลักที่บ้านกุดโง้ง เพราะที่นี่มีแหล่งน้ำและทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์

 

 

ในบรรดาใบเสมาขนาดใหญ่ที่ชาวบ้านช่วยกันเคลื่อนย้ายมาจัดเก็บภายในอาคารจัดเก็บใบเสมาบ้านกุดโง้งแห่งนี้ มีเสมาใบหนึ่งที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือมาก เรียกกันว่า “พ่อปู่เทพ” ชาวบ้านจะจัดงานบุญเพื่อบูชาพ่อปู่เทพในวันที่ 13 เมษายน ของทุกปี


เกสรบัว อุบลสรรค์

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ