บ้านแพรก เป็นอำเภอเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่นี่มีครูภูมิปัญญาหลายท่าน หนึ่งในนั้นคือ คุณป้าระยอง แก้วสิทธิ์ ผู้เชี่ยวชาญการสานพัด ของฝากขึ้นชื่อของอำเภอบ้านแพรก พัดสานฝีมือของคุณป้าระยองเคยถูกนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มาแล้วหลายครั้ง คุณป้าระยองเล่าว่าได้เรียนรู้วิธีการสานพัดมาจากแม่กับย่า เดิมสานเป็นพัดโบกเตาธรรมดา ใช้สำหรับโบกควันไฟในเตาถ่าน ยังไม่มีสีสัน ลวดลาย รูปแบบและขนาดที่หลากหลายเหมือนทุกวันนี้
คุณป้าระยอง แก้วสิทธิ์ ผู้เชี่ยวชาญการสานพัดของบ้านแพรก
ทีแรกคุณป้าระยองเริ่มสานพัดเป็นงานอดิเรกในยามว่าง จนกระทั่งเมื่อราว 30 ปีที่แล้ว มีผู้มาว่าจ้างให้สานพัดเป็นของชำร่วยสำหรับแจกในงานพระราชทานเพลิงศพหลวงจบกระบวนยุทธ ซึ่งพัดที่สานในครั้งนั้นมีความพิเศษและแปลกใหม่ ทั้งสีสันและลวดลาย คือ มีลวดลายเป็นตัวอักษรเรียงกัน 3 แถวบรรทัด บนสุดเป็นคำว่า งานพระราชทานเพลิงศพ ถัดมาเป็นชื่อและวันที่ได้รับพระราชทานเพลิงศพ นับเป็นครั้งแรกที่เริ่มสานพัดโดยมีตัวอักษรจำนวนมากอยู่บนพัด ตั้งแต่นั้นมีผู้ที่สนใจมาสั่งทำพัดสานรูปแบบต่างๆ อยู่ไม่ขาด เพื่อเป็นของชำร่วยในงานศพ งานแต่งงาน รวมถึงของที่ระลึกในงานสำคัญต่างๆ และต่อมาได้กลายเป็นของขวัญของฝากจากบ้านแพรกที่ขึ้นชื่ออย่างหนึ่ง
ช่างที่เชี่ยวชาญจะสามารถผูกลวดลายต่างๆ ได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเรขาคณิต รูปสัตว์ และตัวอักษร
พัดสานที่เย็บขอบเตรียมไว้ ก่อนจะนำไปเข้าด้ามต่อไป
ปัจจุบัน คุณป้าระยองได้รวมกลุ่มแม่บ้านเพื่อมาทำงานหัตถกรรมพัดสาน มีสมาชิกกลุ่มประมาณ 10 คน ขั้นตอนการทำพัดเริ่มจากการเลือกไม้ไผ่สีสุกหรือไผ่หนวดที่มีความยาวปล้องสัมพันธ์กับขนาดของพัด โดยหลีกเลี่ยงส่วนที่เป็นข้อปล้อง เพราะจะทำให้เกิดรอยห่าง อีกทั้งมีความเปราะ แตกหักง่าย เมื่อได้ไม้ไผ่ตามที่ต้องการแล้ว จะนำมาจักตอกเป็นขั้นตอนที่ใช้แรงงานคนที่มีอุปกรณ์เพียงมีดเท่านั้น ถือเป็นขั้นตอนที่ต้องอาศัยเวลาและความชำนาญมาก จากนั้นจะนำตอกที่ได้มาย้อมเป็นสีต่างๆ ก่อนนำมาสานให้เกิดลวดลายและเย็บให้เป็นพัดตามรูปแบบที่กำหนด
ชาวบ้านสาธิตวิธีการสานพัด ภายในงานวันรักษ์บ้านแพรก จัดขึ้นที่โรงเรียนบ้านแพรกประชาสรรค์ (ถ่ายเมื่อปี 2558)
ลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ของบ้านแพรก เช่น ลายเครือวัลย์ (รูปหัวใจ) ลายนก ลายไทย ลาย 12 นักษัตร ซึ่งผู้ที่มีความชำนาญอย่างป้าระยองนั้น สามารถแกะลายได้เองโดยไม่ได้มีต้นแบบ นอกจากนี้ยังมีการประยุกต์งานจักสานเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทอื่นๆ อีก เช่น กระเป๋าเงิน กระเป๋าสะพาย กระเป๋าใส่แผ่นซีดี ดอกไม้จันทน์ พวงหรีด ช่อดอกไม้ กล่องอเนกประสงค์ กรอบรูป โคมไฟตั้งโต๊ะ เป็นต้น
พัดสานที่นำมาประดับเป็นรูปมังกร จัดแสดงภายในงานวันรักษ์บ้านแพรก
คุณป้าระยองยังเป็นครูภูมิปัญญาอาสาด้วยการสอนทำพัดสานให้เด็กๆ ในโรงเรียนมานานกว่า 30 ปีแล้ว เพื่อไม่ให้ความรู้ในการทำพัดสานสูญหายไปจากบ้านแพรก ทางโรงเรียนจะจัดสรรเวลาให้ราว 40 ชั่วโมงซึ่งเพียงพอสำหรับการเรียนรู้เรื่องการทำพัดสานในทุกขั้นตอน โดยเรียนวันละ 2 ชั่วโมง เริ่มตั้งแต่วิธีการจักตอก การย้อมสี และการสานเป็นลวดลาย เช่น ตัวอักษรไทย ก-ฮ ซึ่งเด็กๆ บางคนสามารถต่อยอดจากความรู้ที่ได้ เช่น สร้างสรรค์ลวดลายเป็นตัวอักษรหรือข้อความได้เอง บ้างนำไปถ่ายทอดให้พ่อแม่หรือคนเฒ่าคนแก่ภายในบ้าน จนกลายเป็นอาชีพเสริมที่สร้างรายได้ให้ครอบครัวอีกด้วย