ดูเหมือนเรื่องราวการพัฒนาพื้นที่กับย่านเก่าและมรดกวัฒนธรรมจะเป็นเส้นทางที่ไม่อาจเดินร่วมกันไปได้ ในช่วง 4-5 ปีมานี้ การไล่รื้อชุมชน ทุบทิ้งอาคารเก่า เป็นข่าวคราวถี่มากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อการขนส่งระบบรางทะลุทะลวงตัดผ่านไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ พื้นที่ซึ่งเคยเป็นถิ่นฐานย่านเก่ากลางเมืองกลายเป็นชิ้นปลามันที่เจ้าของพื้นที่หรือนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หมายปอง โดยเฉพาะหากเป็นที่ดินผืนใหญ่แล้ว ผู้อยู่อาศัย ณ ที่นั้นเตรียมตัวได้เลยว่าต้องถึงวัน “ลาจาก”
ดังเช่นกรณีสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่พื้นที่รอบรั้วมหาวิทยาลัยล้วนเป็นเม็ดเงินที่จะนำเข้ามาสู่องค์กร ในช่วง 2-3 ปีมานี้จึงเห็นการพัฒนาที่ดินของมหาวิทยาลัยอย่างขนานใหญ่ รื้อตลาด รื้อชุมชนที่เคยมาลงหลักปักฐานแต่ครั้งที่บริเวณโดยรอบมหาวิทยาลัยเป็นทุ่งเป็นป่า และสร้างเนื้อสร้างตัว บุกเบิกทุ่งและป่านั้นให้กลายเป็นชุมชน ย่านร้านตลาด ตั้งแต่สามย่าน บรรทัดทอง พระราม 4 สะพานเหลือง ซึ่งนักบุกเบิกรุ่นแรกๆ ส่วนใหญ่ก็คือชาวจีนอพยพที่ขยายตัวออกมาจากเยาวราช ทำมาหากินด้วยเลี้ยงเป็ดบ้าง ทำสวนทำไร่บ้าง และไม่น้อยที่มารับจ้างทอผ้า
สภาพชุมชนที่อยู่อาศัยในอาณาบริเวณพื้นที่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในอดีต
(ที่มา : หนังสือ 100 ปี การบริหารจัดการที่ดินเขตจัดการที่ดินทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
ศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง หลังเดิม เมื่อครั้งยังเลี้ยงเป็ดไก่บริเวณรอบๆ ศาล
(ที่มา : https://www.facebook.com/ไหว้พระ-ไหว้เจ้า-1414978845381220)
บรรยากาศการมาไหว้ศาลเจ้าแม่ทับทิมและประกอบพิธีกรรมของชาวจีนแถบสามย่าน สะพานเหลืองในอดีต
(ที่มา : https://www.facebook.com/ไหว้พระ-ไหว้เจ้า-1414978845381220)
เมื่อตั้งบ้านสร้างชุมชนได้ ความเชื่อความศรัทธาที่ติดตัวมาก็นำมาซึ่งการก่อสร้างศาสนสถานเพื่อการกราบไหว้ประกอบพิธีกรรม เช่นศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง หรือที่ชาวจีนดั้งเดิมในบริเวณนี้เรียก อึ่งเกี่ยม่า ซึ่งสร้างขึ้นราวต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดยครอบครัวของนายจู๋ แซ่ตั้ง ที่เป็นชาวจีนอพยพมาจากอำเภอเก๊กเอี๊ย เมืองแต้จิ๋ว มณฑลกวางตุ้ง ตั้งรกรากแรกในเยาวราชก่อนจะขยายออกมายังสะพานเหลือง เพื่อทำการเลี้ยงเป็ดที่เป็นอาชีพดั้งเดิมของตนสำหรับส่งขายตลาดเยาวราช โดยระยะแรกสร้างศาลเป็นเพิงเล็กๆ นำองค์เจ้าแม่ทับทิมที่แกะสลักไม้ ซึ่งพี่ชายเล่าว่าลอยน้ำมาอยู่ในคลองบางรัก วนอยู่ที่เดิมหลายวันไม่ลอยไปไหนจึงเก็บขึ้นมารักษาไว้ เมื่อน้องชายมีกิจการมั่นคงจึงมอบให้เพื่อตั้งศาลเคารพบูชา ชาวบ้านในย่านปทุมวันพากันมากราบไหว้ เมื่อประสบผลสำเร็จจึงร่วมกันสร้างศาลให้ใหญ่และถาวรขึ้นกว่าเดิม
ศาลเจ้าแม่ทับทิมที่ตั้งโดดเดี่ยวอยู่ในพื้นที่ ซึ่งปัจจุบันรถเครน เครื่องจักรกำลังดำเนินการขุดเจาะอยู่ใกล้ๆ
แม้มีการยื่นคำขาดและติดประกาศของทางจุฬาฯ ให้ย้ายศาลออกจากพื้นที่
แต่ชาวจีนและผู้ศรัทธายังคงเดินทางมากราบไหว้ แม้ทางเข้าจะถูกปิดกั้นเหลืองเพียงทางเล็กๆ
ขณะเดียวกันนายจู๋ได้แต่งงานกับข้าหลวงในวังสระปทุม จึงได้รับมอบหมายให้คอยดูแลชาวจีนอพยพในย่านนี้กระทั่งสิ้นชีวิตลูกชายได้รับช่วงดูแลศาลเจ้าและหน้าที่จากบิดาต่อมา จนเมื่อปี พ.ศ. 2454 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้โปรดพระราชทานเครื่องสังเค็ดในงานพระราชพิธีพระบรมศพสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงมาให้กับศาลเจ้า เป็นกระถางธูปมีตราพระปรมาภิไธย จปร ประดิษฐ์แบบอักษรจีน ซึ่งทางศาลยังคงใช้เป็นกระถางรูปประธานในการสักการะเจ้าแม่ทับทิมมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งยังเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงถึงความเก่าแก่ของชุมชนชาวจีนในย่านสามย่าน-สะพานเหลือง ก่อนที่จะมีการสร้างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี พ.ศ. 2459
กระถางธูปที่เป็นเครื่องสังเค็ดในงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สลักพระปรมาภิโธยย่อ จปร
และภาษาจีนที่บอกถึงรัชกาลที่ 6 ทรงพระราชทานในปี ร.ศ. 129 และขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์โปรดปกป้องพระเจ้าแผ่นดินที่ล่วงลับไปแล้ว (หมายถึงรัชกาลที่ 5-ผู้เขียน)
ความหนาแน่นของชุมชนในอาณาบริเวณหลังสนามศุภชลาศัยจนถึงบรรทัดทองและถนนพระราม 4 แออัดมากขึ้นเรื่อยๆ จนในราวปี พ.ศ. 2500 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเจ้าของพื้นที่ได้ยื่นขอคืนพื้นที่จากชาวบ้านเพื่อพัฒนาพื้นที่รอบรั้วมหาวิทยาลัยให้มีความเป็นระเบียบและทันสมัยมากขึ้น แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่เวลานั้นหาถิ่นที่อยู่ใหม่ได้อย่างยากลำบาก จึงไม่ย้ายออก กระทั่งปี พ.ศ. 2503 เกิดไฟไหม้ใหญ่โดยรอบ แต่ลามไม่ถึงศาลเจ้า พร้อมกับคำร่ำลือว่าเป็นการเผาไล่ที่ ทางจุฬาฯ จึงให้ชาวบ้านรื้อถอนออกจากพื้นที่เพื่อสร้างตึกแถว โดยเว้นเหลือเพียงศาลเจ้าไว้ ชาวบ้านที่ฐานะอัตคัตจึงต้องย้ายออก เหลือเพียงครอบครัวที่มีฐานะพอเช่าตึกแถวอาศัยอยู่ต่อ ต่อมาทางสำนักงานทรัพย์สินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยต้องการพัฒนาพัฒนาที่ดินบริเวณศาลเจ้าแม่ให้เป็นอาคารพาณิชย์ ชาวบ้านที่มีจิตศรัทธาต่อองค์เจ้าแม่จึงเจรจาขอพื้นที่สร้างศาลเจ้าใหม่และจะเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างเอง ซึ่งศาลเจ้าดังกล่าวคือหลังปัจจุบันที่ก่อสร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2513
บรรยากาศภายในศาลเจ้าแม่ทับทิม ซึ่งอยู่ในช่วงเวลาที่จะมีการทำบุญทิ้งกระจาด มีผู้คนมาทำบุญข้าวสาร อาหารแห้งต่างๆ
เจ้าแม่ทับทิมหรืออึ่งเกี่ยม่าที่ประดิษฐานเป็นประธานของศาลเจ้า เป็นไม้แกะสลักที่ตามประวัติว่าได้จากในคลองบางรัก
หลังจากนั้นในราวปี พ.ศ. 2550 ทางจุฬาฯ ก็ได้ขอคืนพื้นที่ชุมชนในบริเวณนี้อีกครั้งทำให้ชาวบ้านต้องทยอยออกจากพื้นที่ไปเกือบหมด จนวันนี้กลายเป็นพื้นที่โล่งเตียน มีเพียงศาลเจ้าแม่ทับทิมตั้งโดดเดี่ยวอยู่ในพื้นที่กระทั่งในวันที่ 15 มิถุนายน 2563 ทางสำนักงานทรัพย์สินของจุฬาฯ ได้ยื่นคำขาดให้รื้อถอนศาลเจ้าอาม่าออกจากพื้นที่ตามโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของจุฬาฯ ในที่ดินบริเวณ Block 33 เพื่อรองรับการสร้างคอนโดมิเนียมแห่งใหม่ใจกลางพื้นที่ โดยทางจุฬาฯ ได้จัดสรรที่ดินภายในอุทยาน 100 ปีของมหาวิทยาลัยที่อยู่ไม่ไกลกันนั้น ทดแทนให้เป็นที่สร้างศาลเจ้าหลังใหม่ โดยทางจุฬาฯจะยังคงรักษาสถาปัตยกรรมเดิมและคำนึงถึงเรื่องฮวงจุ้ย ทิศทางลมและเรื่องแสง ตลอดจนเรื่องสิ่งแวดล้อมให้ใช้โคมประทีปไฟฟ้าไร้ควัน ลานประกอบพิธีและเตาเผากระดาษเงินกระดาษทองก็ต้องเป็นแบบที่ป้องกันมลพิษได้ด้วย ซึ่งในข้อมูลของสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ ระบุถึงความตั้งใจที่จะพัฒนา “เพื่อสร้างย่านที่พักอาศัยที่เสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืนใจกลางกรุงเทพ อีกทั้งด้วยทำเลที่ตั้งซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางของย่านสามย่าน จึงสามารถเชื่อมโยงพื้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขตชุมชน เขตพาณิชย์ และอุทยาน 100 ปี จุฬาฯ... เป็นเสมือนการเชื่อมต่อในด้านประวัติศาสตร์อันเปี่ยมด้วยเสน่ห์ที่ยาวนาน ควบคู่ไปกับการพัฒนาความก้าวหน้าด้านนวัตกรรมสมัยใหม่”
การประดับตกแต่งหลังคาอาคารศาลเจ้า
การประดับตกแต่งหลังคาอาคารศาลเจ้า
ขณะที่นายโพธิ์ พลอยสีสวย[1] ทายาทผู้ดูแลศาลเจ้ารุ่นที่ 4 เห็นว่าเงื่อนไขของจุฬาฯ ที่ไม่อนุญาตให้ผู้ดูแลซึ่งทำหน้าที่คอยเปิดปิด ให้บริการกับผู้มีจิตศรัทธาได้พักอาศัยในบริเวณศาล หรือการใช้เทคโนโลยีใหม่ทดแทนธรรมเนียมเดิมดูจะไม่สอดคล้องกับประเพณีดั้งเดิมของชาวจีน “...สร้างให้แต่ศาลที่ที่จะให้แสดงมหรสพอะไรมันไม่มี...ในศาลห้ามจุดธูปจุดเทียนเผากระดาษ ซึ่งเรื่องนี้มันเป็นไปไม่ได้ คนเฒ่าคนแก่เขาไม่ยอม” นำมาซึ่งแฮชแท็ก #saveศาลเจ้าแม่ทับทิม ของนิสิตจุฬาฯ รวมถึงข้อคัดค้านของคนไทยเชื้อสายจีนที่เห็นว่าแม้ศาลเจ้า (หลังปัจจุบัน) แห่งนี้จะมีอายุยังไม่ถึง 100 ปีที่จะขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน แต่ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของศาลเจ้าแบบแต้จิ๋วเช่นนี้หลงเหลืออยู่ไม่มากแห่ง ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้าง หลังคา รูปปั้นตุ๊กตากระเบื้องที่ประดับบนหลังคา รวมถึงเทคนิคงานแกะสลักปิดทองร่องชาดบนบัลลังก์ไม้ วิธีการเข้าเดือยไม้ รูปเซียนต่างๆ สัญลักษณ์และความหมายของบทกวีตามเสาที่เป็นผลงานของช่างจีนในยุคนั้น
ภาพปูนปั้นลงสีที่ประดับอยู่บริเวณประตูทางเข้าศาลเจ้า
ภาพปูนปั้นลงสีที่ประดับอยู่บริเวณประตูทางเข้าศาลเจ้า
ภาพปูนปั้นลงสีที่ประดับอยู่บริเวณประตูทางเข้าศาลเจ้า
ทว่าที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ มรดกวัฒนธรรมประเพณีของชาวจีนที่มาพร้อมกับความเชื่อในศาสนาของพวกตนจะต้องถูกทำลายไปด้วยจากความไม่เข้าใจ ที่มองเห็นแต่สิ่งก่อสร้าง หากขาดบริบททางสังคม แลไม่เห็นถึงชีวิตวัฒนธรรมที่มีการเคลื่อนไหวของผู้คนในท้องถิ่นหรือสังคมนั้นๆ ซึ่งมีสิทธิ์เสียงที่จะอนุรักษ์และฟื้นฟูมรดกทางสังคมของตน
แหล่งอ้างอิง
ศรัณยู นกแก้ว. #saveศาลเจ้าแม่ทับทิม ที่มาพร้อมกับการ saveวัฒนธรรมศาลเจ้า. เข้าถึงจาก https://www.sarakadeelite.com/arts_and_culture/chao-mae-thap-thim-saphan-leuang.
อดิเทพ พันธ์ทอง. ศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง: ความศรัทธา ประวัติศาสตร์ ไม่อาจต้านความเปลี่ยนแปลง. เข้าถึงจาก https://thepeople.co/chao-mae-tub-tim-sapan-luang-chinese-sacred-shrine-relocation-development.
เอกสารประวัติการสร้างศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง (อึ่งเกี่ยเทียงโห่วเก็ง)
[1]เมื่อมี พ.ร.บ. นามสกุล ลูกหลานนายจู๋ แซ่ตั้ง จึงได้นำชื่อบรรพบุรุษที่เป็นคนไทยมาตั้งเป็นนามสกุล