โต๊ะวาลีที่แหลมมะขาม

โต๊ะวาลีที่แหลมมะขาม

 

วาลี หรือบางครั้งก็ออกเสียงว่า “วลี” มีความหมายถึง มุสลิมผู้บรรลุสภาวะพิเศษเหนือธรรมดาทั่วไป หรือมีอิทธิปาฏิหาริย์ คำนี้มาจากคำเต็มว่า “วาลียุลเลาะฮ์” หมายถึงตัวแทนผู้เป็นที่รักของอัลเลาะฮ์ จึงได้รับพลังพิเศษบางอย่างมา เมื่อเสียชีวิตจึงได้รับการยกให้เป็นผู้ที่ควรเคารพ ในบางท้องที่เรียกวาลีว่า “โต๊ะวาลี” เช่นที่ปรากฏในกลุ่มชาวมุสลิมหลายแห่งเช่นที่จังหวัดตราดและระยอง 

 

เกร็ดตำนานโต๊ะวาลี    

เรื่องราวของโต๊ะวาลีที่บ้านแหลมมะขาม ตำบลแหลมงอบ จังหวัดตราด ปรากฏหลักฐานอยู่ภายในวัดแหลมมะขาม ซึ่งมี มะกั่ม (มะกั่มเป็นคำเรียกภาษาอาหรับหมายถึงสถานที่หรือตำแหน่ง) ที่สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงโต๊ะวาลี ตั้งอยู่ใกล้กับศาลเจ้าพ่อหัวเขาที่ชาวพุทธให้ความเคารพนับถือ ภายในมะกั่มที่ระลึกถึงโต๊ะวาลีประกอบด้วยแท่นคอนกรีตวางตัวตามแนวเหนือ-ใต้ ภายในบรรจุทรายละเอียด มีแท่งหินปักไว้ที่ส่วนปลายทั้ง 2 ด้าน ลักษณะคล้ายหลุมฝังศพ คลุมด้วยกระโจมผ้าสี ใกล้กันมีโต๊ะบูชาวางแจกันดอกไม้ แจกันปักธงผ้าสีขาว คัมภีร์อัลกุรอาน รวมถึงผลไม้ที่คนนำมาถวาย

 

แท่นเคารพโต๊ะวาลีที่แหลมมะขามมีลักษณะเป็นแท่นปูนสี่เหลี่ยมผืนผ้าคลุมด้วยกระโจมผ้าสี 

 

ตำนานเรื่องโต๊ะวาลีที่บ้านแหลมมะขามปรากฏอยู่ทั้งในกลุ่มชาวมุสลิมและชาวพุทธ เล่าถึงการเดินทางมาของโต๊ะวาลีและอิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ ที่ทำให้ผู้คนศรัทธา ลุงเฉลา ภูมิมาโนช ชาวมุสลิมบ้านน้ำเชี่ยว เล่าถึงตำนานโต๊ะวาลีที่กล่าวขานมาว่า ท่านโดยสารเรือมาพร้อมกับโต๊ะวาลีระยองและเจ้าประคุณตะเกี่ย พระนครศรีอยุธยา บ้างว่ามีโต๊ะวาลีเกาะไร่ จังหวัดฉะเชิงเทราด้วย เมื่อขึ้นบกจึงแยกย้ายกันไปยังที่ต่างๆ ส่วนเรื่องเหนือธรรมชาติของโต๊ะวาลีที่บ้านแหลมมะขามเล่ากันว่า ครั้งหนึ่งโต๊ะวาลียืนอยู่บนโขดหิน มีเรือสินค้าผ่านมา ท่านจึงเอ่ยถามคนบนเรือว่าบรรทุกอะไร ซึ่งเรือดังกล่าวบรรทุกน้ำตาลมาเต็มลำเรือ ด้วยกลัวว่าจะถูกแย่งชิงไปจึงโกหกว่าบรรทุกเกลือมาเต็มลำ เมื่อเรือเข้าเทียบท่าเตรียมขนสินค้าขึ้นกลับพบว่าน้ำตาลที่บรรทุกมากลายเป็นเกลือดั่งคำโกหกต่อโต๊ะวาลี นอกจากนี้ยังมีอีกเรื่องเล่าถึงประวัติความเป็นมาที่ต่างออกไป โดยลุงสุเทพ บุญเพียร ผู้ใหญ่บ้านและประธานกลุ่มท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมบ้านแหลมมะขามให้ข้อมูลว่า มีความเชื่อว่าโต๊ะวาลีเกาะขอนไม้ลอยน้ำมา บ้างเชื่อว่าดวงวิญญาณของท่านสถิตอยู่ในขอนไม้และถูกฝังอยู่ในแท่นปูนสี่เหลี่ยมนี้

 

ภายในมีแท่งหินปักไว้ที่ส่วนปลายทั้ง 2 ด้าน ลักษณะคล้ายหลุมศพ

 

 

สิ่งของต่างๆ ที่ผู้ให้ความเคารพนับถือนำมาถวายแด่โต๊ะวาลี

 

ความเชื่อในมุมมองชาวพุทธและมุสลิม

ผู้ใหญ่สุเทพกล่าวว่าในสังคมชาวพุทธที่บ้านแหลมมะขามมีความนับถือโต๊ะวาลีเสมือนผู้ศักดิ์สิทธิ์ เหนือธรรมชาติเช่นเดียวกับเจ้าพ่อหัวเขาที่มีศาลตั้งอยู่ใกล้กัน ดังนั้นนอกจากจะให้ความเคารพบูชาแล้วยังมีการบนบานร้องขอให้ช่วยเหลือในเรื่องต่างๆ อาทิ ขอให้ได้เข้ารับราชการ การค้าขายประสบผลสำเร็จ ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ ขอให้ถูกรางวัลลอตเตอรี่ เป็นต้น เมื่อประสบผลตามหวังนิยมนำสิ่งของมาถวายเพื่อเป็นการแก้บน ได้แก่ ธงขาว 1 คู่ (ถือเป็นสัญลักษณ์ของโต๊ะวาลีเพราะเคยมีคนฝันว่าท่านเป็นชายชราโพกผ้าสะระบั่นสีขาว) มะพร้าวอ่อน 1 คู่ ข้าวเหนียวแดง และไก่ขาว ในอดีตเคยมีผู้นำไก่เป็นมาแก้บนแล้วปล่อยทิ้งไว้จนเป็นภาระให้พระภิกษุสงฆ์ต้องเลี้ยงดู ต่อมาจึงมีการตั้งกฎเกณฑ์ว่าหากนำไก่เป็นมาถวายแล้วให้นำกลับไปด้วย แต่บางคนนำไก่ต้มเป็นตัวมาถวายก็มี ขณะที่ชาวมุสลิมจะมาดุอาอ์และนำเอาข้าวมันไก่มารับประทานกัน บางส่วนก็จัดแบ่งให้พระภิกษุภายในวัดด้วยมิตรไมตรี นอกจากนี้ลุงเฉลา ภูมิมาโนช ชาวมุสลิมบ้านน้ำเชี่ยว ยังเล่าถึงเรื่องราวที่ฟังมาจากมิตรสหายชาวพุทธว่าครั้งหนึ่งระหว่างนำเรือออกไปลากอวนกุ้งได้เกิดพายุใหญ่คลื่นลมพัดแรงจนเรือจวนจะอับปาง เขานึกถึงโต๊ะวาลีว่าหากรอดพ้นจากภยันตรายนี้ไปได้จะแก้บน ด้วยการนำข้าวเหนียวแดงไปถวายและทำเลี้ยงให้กับชาวบ้านที่มาร่วม พอคิดเช่นนั้นคลื่นลมก็สงบลงและกลับถึงฝั่งได้อย่างปลอดภัย ชาวประมงพุทธผู้นี้จึงได้ทำตามที่สัญญาเอาไว้

 

ผู้ใหญ่สุเทพ บุญเพียร ประธานกลุ่มท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมบ้านแหลมมะขาม

 

ชาวพุทธบ้านแหลมมะขามเข้ามาไหว้บนบานและนำสิ่งของมาถวายแด่โต๊ะวาลี

 

ส่วนมุมมองของชาวมุสลิมถือกันว่าโต๊ะวาลีเป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ มีความเคร่งครัดทางศาสนาจึงเป็นที่เคารพของผู้คน มักจะพากันมาสักการะโต๊ะวาลีในวันแรกหลังจากออกศีลอด (วันอีฎิ้ลฟิตริ) เพื่อมาขอพร ไม่สามารถบนบานอย่างชาวพุทธได้เพราะผิดหลักศาสนา ศาสนาอิสลามมีเฉพาะการเนียตหรือการตั้งเจตนาต่อพระเจ้าเพียงองค์เดียว ด้านอิหม่ามสุชาติ ถนอมวงษ์ แห่งมัสยิดอัลกุบรอ บ้านน้ำเชี่ยว อธิบายว่ามะกั่มของโต๊ะวาลีถือว่าเป็นสถานที่ดี เราไปเพื่อเคารพและขอพรต่อผู้ที่เป็นแบบอย่างที่ดีของชาวมุสลิม มักไปนั่งดุอาอ์และช่วยกันทำความสะอาด อีกทั้งมุสลิมบ้านน้ำเชี่ยวยังเป็นส่วนสำคัญในการทำนุบำรุงสถานที่แห่งนี้ ผู้เป็นกำลังสำคัญคือครอบครัวของคุณอรุณี นรินทร เจ้าของโรงงานน้ำปลายี่ห้ออรุณีแห่งบ้านน้ำเชี่ยว ซึ่งออกทุนทรัพย์เพื่อบูรณะปรับปรุงมะกั่มของโต๊ะวาลี จากเดิมที่เป็นเพียงศาลาไม้สี่เสามีหลังคาคลุม พัฒนาจนเป็นอาคารคอนกรีตที่มั่นคงอย่างที่เห็นในปัจจุบัน พร้อมกันนั้นยังฝากให้ผู้ใหญ่สุเทพซึ่งเป็นคนในพื้นที่ช่วยสอดส่องดูแลสถานที่แห่งนี้

 

ชาวบ้านแหลมมะขามช่วยกันทำความสะอาดบริเวณศาลเจ้าพ่อหัวเขาและมะกั่มของโต๊ะวาลีอยู่เสมอ 

 

ากอดีตถึงปัจจุบันมะกั่มโต๊ะวาลีแห่งบ้านแหลมมะขามถือเป็นจุดศูนย์รวมจิตใจของชาวพุทธและมุสลิมในพื้นที่ ซึ่งก่อให้เกิดความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันมาช้านาน แม้จะมีความเชื่อแตกต่างกันไปบ้างแต่มิได้เป็นอุปสรรคต่อความสัมพันธ์ของผู้คนในท้องถิ่นนี้แต่อย่างใด

 


ณัฐวิทย์ พิมพ์ทอง

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ