ชื่อหนังสือ “คร่าวเชียงแสนแตก” วรรณกรรมบันทึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์
ปริวรรตและเรียบเรียงโดย ธวัชชัย ทำทอง
จัดพิมพ์โดย สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง
พิมพ์ครั้งแรก พฤษภาคม พ.ศ. 2563
ความยาว 102 หน้า
“...ภาพทหารที่กระชากลากถูชาวเมืองไปมาตามถนนและด่าทอข่มขู่ตลอดเวลา บางคนที่ขัดขืนก็จะถูกเฆี่ยนตีไปด้วย บรรยากาศในเมืองมีแต่เสียงคร่ำครวญร้องไห้ ในขณะที่บางคนหนีเข้าไปในเขตวัดด้วยเหตุคิดว่าเป็นสถานที่ที่ปลอดภัย แต่กลับถูกล้อมและปิดประตูวัดเพื่อริบทรัพย์สิน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องประดับข้าวของเครื่องใช้ที่มีค่า เป็นต้นว่าเครื่องเงินเครื่องทองต่างถูกแย่งชิงไปจนหมดสิ้น ทั้งทหารจากกองทัพเมืองละกอน เมืองน่านและเมืองเชียงใหม่ ต่างมัวเมากับการแย่งชิงทรัพย์สมบัติกันอย่างอลหม่าน บ้างก็ค้นข้าวของสมบัติตามบ้านเรือน เลือกเอาข้าวของเครื่องใช้ในบ้านตามใจชอบ เสียงไชโยโห่ร้องของเหล่าทหารดังกึกก้องไปทั่วเมือง ในขณะที่ชาวเชียงแสนต่างจับเข่าร้องไห้ระงมไปทั่วอย่างน่าเวทนา...”
บางช่วงบางตอนของเรื่องราวคราวเชียงแสนแตก บันทึกเหตุการณ์จากบาดแผลและความทรงจำที่เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2347 เกร็ดประวัติศาสตร์สามัญชนที่ขีดเขียนและระบายถ่ายทอดออกมาในรูปของ “คร่าว” ลักษณะคำประพันธ์ในงานวรรณกรรมประเภทหนึ่งของล้านนา
อาจารย์ธวัชชัย ทำทอง อาจารย์ประจำสาขาการท่องเที่ยวและธุรกิจบริการ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง เป็นผู้ปริวรรตและเรียบเรียงหนังสือเล่มนี้ขึ้น โดยอาศัยการปะติดปะต่อเรื่องราวจากคร่าวจำนวน 2 ฉบับ ซึ่งมีเนื้อความเดียวกันและถูกคัดลอกต่อมาเช่นเดียวกันด้วย ฉบับแรกเป็นคร่าวใบลาน จารด้วยอักษรธรรมล้านนา หรือตัวเมืองจากวัดม่วงตึ้ด จังหวัดน่าน ฉบับที่ 2 เป็นสมบัติส่วนตัวของอาจารย์ธวัชชัย ซึ่งในคร่าวฉบับหลังนี้ระบุปีที่คัดลอกไว้ว่า “ศักราช 1230 ตัว ปีเบิกสี เดือน 5 ลง 4 ค่ำ เม็งวัน 2 ไทร้วงเหม้า เขียนเอาปักกะทืนนี้ไว้ดูแล เดือน 6 ขึ้น 4 ค่ำ เม็งวัน 3 ไทรวายสะง้า จึ่งปริปุณแล้วแล”
เนื้อหาในเล่มแบ่งออกเป็น 14 ตอน เรียงตามลำดับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ตั้งแต่ความพยายามในการทวงคืนดินแดนล้านนา การขับไล่พม่าให้พ้นจากเมืองเชียงแสน และการอพยพชาวเชียงแสนไปยังหัวเมืองต่างๆ เพื่อป้องกันพม่าใช้กำลังคนเหล่านั้นเป็นเครื่องมือเข้าโจมตีล้านนา โดยผู้เขียนนำเสนอเรื่องราวตามต้นฉบับที่เป็นตัวเมือง สลับกับบทแปลสรุปความพร้อมคำอธิบายศัพท์เฉพาะเพื่อให้ผู้อ่านซึ่งแม้ไม่มีความรู้และอ่านตัวเมืองไม่เป็นก็สามารถเข้าใจได้โดยง่าย แทรกสลับด้วยภาพพระบฏ ภาพจิตรกรรมฝาผนังจากวัดสำคัญหลายแห่งในจังหวัดลำปาง ร่วมด้วยภาพแผนที่แสดงเส้นทางเดินทัพเข้าตีเชียงแสนของกองทัพเมืองเชียงใหม่ เมืองลำปาง และเมืองน่าน และแผนที่แสดงเส้นทางการเทครัวเชียงแสนสู่เมืองน่าน
คร่าวเชียงแสนแตกจึงเป็นหนึ่งในหนังสือสำคัญที่ไม่เพียงสะท้อนภาพเหตุการณ์คราวเมืองเชียงแสนถูกตีแตกพ่ายตามที่ปรากฏในหน้าประวัติศาสตร์เท่านั้น แต่หนังสือเล่มนี้ยังสะท้อนภาพจำ อารมณ์ และความรู้สึกนึกคิดของผู้คนชาวบ้านชาวเมืองที่อยู่ร่วมในสงครามพลัดบ้าน พลัดถิ่นคราวนั้นอีกด้วย
หมายเหตุ
หนังสือไม่มีจำหน่าย ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง จังหวัดลำปาง โทร 054 237 399 หรือ www.culture.lpru.ac.th
สามารถขออ่านตัวเล่มได้จากห้องสมุดต่างๆ เช่น ห้องสมุดมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร กรุงเทพฯ ห้องสมุดเสาจินดารัตน์ อำเภอเมืองลำปาง เป็นต้น หรือดาวน์โหลดไฟล์หนังสือ คลิก http://www.culture.lpru.ac.th/Web_culture/index.php?modules=doc&file=doc_detail&doc_id=00046 หรือ https://drive.google.com/file/d/1Q10DhUOaLzy8UpbeiyNI__6zdfKJg71l/view?fbclid=IwAR1Gj55zTPy15I2IShVfl6O2nyOwDaHbiAuMHghUTdt_-CgF5ZPD3nNYU4w