บ้าหาเบี้ย
ผู้เขียน : ล้อม เพ็งแก้ว
สำนักพิมพ์มติชน, 2553
112 หน้า ราคาปก 120 บาท
“การบ้าหาความรู้เรื่องเบี้ย คือการแสวงหาความรู้เรื่องเงินตรานั่นเอง ได้โปรดอย่าคิดเห็นเป็นอื่น” - ล้อม เพ็งแก้ว
สมัยโบราณมีการใช้เปลือกหอยเบี้ยแทนเงินตราสำหรับซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า ก่อนที่จะพัฒนาเป็นเหรียญโลหะแบบต่างๆ ในภาษาไทยคำว่า “เบี้ย” ที่หมายถึงเงินยังเป็นคำที่ใช้กันมาจนถึงทุกวันนี้ เช่น เบี้ยประกัน เบี้ยประชุม เบี้ยยังชีพ รวมถึงสำนวนสุภาษิตไทย เช่น พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง เก็บเบี้ยใต้ถุนร้าน เป็นต้น
บ้าหาเบี้ย เป็นหนังสือรวมบทความของอาจารย์ล้อม เพ็งแก้ว นำเสนอข้อมูลจากการค้นคว้าและตรวจสอบเกี่ยวกับเงินตราประเภทต่างๆ ที่เคยใช้เป็นวัตถุกลางในการซื้อขายกันในอดีต พบว่ายังมีเงินโลหะอีกหลายประเภทที่ใช้กันแพร่หลายในไทยและดินแดนใกล้เคียง เช่น ลาว เวียดนาม สะท้อนถึงสภาพสังคม เศรษฐกิจ และการติดต่อสัมพันธ์กันระหว่างดินแดนต่างๆ
ภายในเล่มประกอบไปด้วย 12 บทความ ทั้งหมดเคยตีพิมพ์ลงในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2542 - 2553 อาทิ
เงินเหรียญนอกที่ใช้ในหัวเมืองปักษ์ใต้
ว่าด้วยเรื่องเงินเหรียญที่เคยใช้แพร่หลายในภาคใต้ของไทย ส่วนหนึ่งเป็นเหรียญนอกที่นำเข้ามาจากเมืองไทรบุรี ก่อนจะแพร่หลายและหมุนเวียนอยู่ในตลาดการค้าท้องถิ่น เรียกกันว่า เหรียญไทร เป็นเหรียญเงินของสเปน (Spanish Dollar) ที่ใช้กันทั่วไปในยุโรปและอเมริกาเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 18 ซึ่งคงเข้ามาใช้กันแพร่หลายในหัวเมืองมลายู สมัยต้นรัตนโกสินทร์ นอกจากนี้ยังมี เหรียญโพกหัว ที่เหรียญด้านหนึ่งเป็นรูปพระเจ้าชาร์ลสที่ 4 แห่งสเปน เหรียญนก ที่ด้านหนึ่งของเหรียญมีรูปนกอินทรีคาบงู เป็นเหรียญเม็กซิโกที่ถูกนำมาใช้แทนเหรียญสเปนในเวลาต่อมา เหรียญไม้เท้า เป็นเหรียญอังกฤษที่ผลิตขึ้นมาใช้เพื่อการค้ากับตะวันออกไกล มีชื่อเฉพาะว่า British Trade Dollar
เหรียญ Spanish Dollar (ที่มา : https://en.wikipedia.org/wiki/Spanish_dollar)
เหรียญ British Trade Dollar (ที่มา : https://en.wikipedia.org/wiki/Trade_dollar)
เงินเปีย
ว่าด้วยเรื่อง เงินเปีย หรือเงินรูปี (Rupee) หรือที่ทางภาคเหนือและภาคอีสานของไทยเรียกว่า เงินแถบ เป็นเหรียญเงินที่นำเข้ามาจากอินเดียในยุคที่เป็นอาณานิคมของอังกฤษและโปรตุเกส ส่วนหนึ่งผลิตขึ้นโดยบริษัทอินเดียตะวันออกในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18
เงินฮางที่หลวงพระบาง
ว่าด้วยเรื่อง เงินฮาง หรือ เงินขัน ที่หลวงพระบาง มีลักษณะเป็นเงินแท่งยาวๆ ส่วนหัวและท้ายประทับตราอักษรจีนเป็นคำต่างๆ
เงินหมันก็ใช้ในภาคอีสาน
ว่าด้วยเรื่อง เงินหมัน หรือเงินเปี๊ยส (Piastre) เป็นเหรียญเงินที่ฝรั่งเศสผลิตใช้ในอินโดจีน แบ่งเป็น 4 ขนาด ได้แก่ ขนาด 1 เปี๊ยส มีค่าเท่ากับ 100 เซนต์ (Cent), 50 เซนต์, 20 เซนต์ และ 10 เซนต์ ที่หลวงพระบางมีคำเรียกตามลำดับว่า เงินหมัน, เงินคึ่ง, เงินจุก และเงินบี้ เฉพาะเงินจุกและเงินบี้เรียกอีกอย่างได้ว่า อีซาว และอีสิบตามลำดับ เงินหมันหรือเงินเปี๊ยสนี้พบว่ามีใช้ในภาคอีสานของไทยในช่วงเวลาหนึ่งด้วย
เงินหมัน หรือเงินเปี๊ยส (ที่มา : https://en.wikipedia.org/wiki/Trade_dollar)
ภายในเล่มยังมีอีกหลายเรื่องราวเกี่ยวกับเงินตราที่คนรุ่นใหม่อาจไม่เคยทราบมาก่อน หลายเรื่องถือเป็นการเปิดประเด็นให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างนักวิชาการทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้ผู้เขียนยังสอดแทรกความรู้เกี่ยวกับภาษาศาสตร์และที่มาของชื่อเรียกเงินประเภทต่างๆ ในภาษาถิ่น ทั้งยังเล่าถึงกระบวนการสืบค้นและแหล่งอ้างอิงให้ผู้อ่านที่สนใจได้แสวงหาความรู้ต่อไป