โรงตีเหล็กเก่าแก่แห่งสทิงพระ

โรงตีเหล็กเก่าแก่แห่งสทิงพระ

 

เสียงค้อนตีเหล็กกระทบเป็นจังหวะต่อเนื่องอยู่เบื้องหน้าเตาไฟอันร้อนระอุ เป็นภาพชีวิตประจำวันของคุณลุงสมมุ่งและคุณป้าจรวย กาลสงค์ เจ้าของโรงตีเหล็กเก่าแก่ที่ตั้งอยู่ในหมู่ 7 ตำบลชุมพล อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นแหล่งผลิตเครื่องมือเหล็กประเภทต่างๆ ให้แก่คนในท้องถิ่นมายาวนานหลายสิบปี โดยเฉพาะมีดปาดตาลเนื่องจากในเขตอำเภอสทิงพระต่อเนื่องมาถึงอำเภอสิงหนคร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคาบสมุทรสทิงพระ ปัจจุบันยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่ยึดอาชีพทำนาและน้ำตาลโตนดตามวิถีดั้งเดิม

 

 

คุณลุงสมมุ่งและคุณป้าจรวย กาลสงค์ นอกจากเป็นคู่ชีวิตแล้ว ยังทำงานตีเหล็กด้วยกันมายาวนาน  

 

 

คุณลุงสมมุ่งและคุณป้าจรวยเล่าให้ฟังว่าสืบทอดกิจการโรงตีเหล็กมาจากคุณพ่อของคุณป้าจรวย คุณลุงสมมุ่งที่แต่งงานเข้ามาเป็นเขย จึงต้องเรียนรู้วิธีการตีเหล็กเพื่อช่วยเหลือกิจการของครอบครัว การทำงานตีเหล็กนั้น ต้องมีแรงงานอย่างน้อย 2 คน ซึ่งจะช่วยกันผลัดกันตีเป็นจังหวะและควบคุมความแรงของไฟในเตาโดยใช้เครื่องสูบลม หากเป็นสมัยก่อนยังใช้แรงงานคนดึงเครื่องสูบลม ต่อมาปรับเป็นเครื่องมอเตอร์ไฟฟ้ามีสวิตช์เปิด-ปิด

 

ใบหน้าเปื้อนรอยยิ้มของคุณลุงสมมุ่ง ผู้บอกกับเราว่าความเหนื่อยล้าได้เปลี่ยนเป็นความคุ้นชินเสียแล้ว  

 

เครื่องมือการเกษตรที่ผลิตมีหลายชนิด เช่น พร้า ขวาน ขอสอย เคียวเกี่ยวหญ้า มีดปาดตาล เป็นต้น โดยลูกค้ามีทั้งคนในแถบอำเภอสทิงพระและใกล้เคียง เช่น นาทวี สิงหนคร ระโนด สงขลา ส่วนใหญ่ล้วนเป็นลูกค้าเก่าแก่ที่มั่นใจในฝีมือ  หากไม่สั่งผลิตใหม่ก็จะนำเอาเครื่องมือเหล็กของเก่าที่ขึ้นสนิมหรือบิ่นมาซ่อมแซมก็ได้เช่นกัน

 

"มีดพร้า" เป็นเครื่องมือเหล็กที่ผลิตออกมาโดยตลอด 

 

"ขอสอย" สำหรับเก็บลูกโหนด เมื่อนำไปใช้ต้องต่อด้ามยาวเป็นไม้สอย  

 

ปัจจุบันเครื่องมือที่ผลิตออกมามากที่สุด ได้แก่ เคียวเกี่ยวหญ้า พร้า มีดปาดตาล และขอสอยสำหรับเก็บลูกโหนด (ลูกตาลโตนด) เวลาใช้จะนำไปต่อเข้ากับไม้ด้ามยาวๆ เช่น ไม้ไผ่ เช่นเดียวกับเครื่องมืออื่นๆ ที่ผู้ซื้อจะต้องนำไปต่อด้ามด้วยตนเอง การตีเครื่องมือเหล็กแต่ละชนิดใช้เทคนิควิธีและระยะเวลาต่างกันไป เช่น ขวาน 1 เล่มใช้ระยะเวลาทำราว 1 ชั่วโมงครึ่ง-2 ชั่วโมง หากตั้งใจทำวันหนึ่งๆ อาจได้ถึง 4 เล่ม ส่วนมีดปาดตาลทำง่ายกว่า ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงต่อ 1 เล่ม เริ่มจากตัดเหล็กเส้นเป็นข้อสั้นๆ โดยวัดขนาดจากไม้แบบ จากนั้นค่อยๆ ตีจนแผ่ออกเป็นใบมีดบาง แล้วค่อยเจียทำคมมีด ก่อนนำไปใช้จะต้องลับด้วยหินเพชรอีกครั้งหนึ่งเพื่อให้ใบมีดคมกริบ

 

 

การวัดขนาดความยาวของเหล็กที่ใช้กับไม้แบบ 

 

"มีดปาดตาล" เครื่องมือสำคัญในวิถีโหนด-นา บนคาบสมุทรสทิงพระ

 

วัตถุดิบที่สำคัญในโรงตีเหล็ก ได้แก่ เหล็กและถ่านที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในเตาไฟ เหล็กที่นำมาใช้ผลิตเครื่องมือต่างๆ นั้น เป็นเหล็กเส้นสั่งซื้อมาจากหาดใหญ่ ซึ่งจะตัดแบ่งขายมาเป็นท่อนยาวประมาณ 1 เมตร โดยเหล็กเส้นขนาด 1 เมตร สามารถนำมาทำมีดปาดตาลได้ประมาณ 5 เล่ม ส่วนถ่านที่เป็นเชื้อเพลิงนิยมใช้ถ่านไม้เคี่ยมเพราะให้อุณหภูมิสูง ต้องสั่งซื้อมาจากปากพะยูน จังหวัดพัทลุง ราคาซื้อขายอยู่ที่ราว 250 บาทต่อกระสอบ ภายในบรรจุถ่านไม้เคี่ยมชิ้นเล็กๆ อัดแน่นอยู่เต็ม การสั่งซื้อจะว่ากันเป็นรายปี ปีหนึ่งส่งให้ 3 ครั้ง คิดราคาครั้งละ 10,000-12,000 บาท  ด้วยต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น ราคาเครื่องมือต่างๆ จึงสูงขึ้นตามไปด้วย เช่น มีดปาดตาล ราคาขายอยู่ที่เล่มละ 360 บาท

 

ขวาน 1 เล่ม ใช้เวลาทำประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่งถึง 2 ชั่วโมง 

 

การทำงานในโรงตีเหล็กต้องอยู่หน้าเตาร้อนฉ่า ซึ่งใช้ถ่านไม้เคี่ยมเป็นเชื้อเพลิง

 

ปัจจุบันคุณลุงสมมุ่งในวัย 70 กว่าปี กับคุณป้าจรวย วัย 60 กว่าปี ยังคงตีเหล็กกันเป็นกิจวัตร แต่คุณลุงคุณป้าบอกกับเราว่า คงทำกันเป็นรุ่นสุดท้ายแล้ว หากวันหนึ่งวันใดหมดเรี่ยวแรงลง เสียงตีเหล็กที่เคยดังอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน จนราวกับว่าเป็นส่วนหนึ่งของลมหายใจนั้น… ก็คงเงียบหายไป ทิ้งไว้เพียงรอยจำว่าครั้งหนึ่งเคยเป็นส่วนสำคัญในระบบเกษตรกรรมบนคาบสมุทรสทิงพระแห่งนี้    

 

คุณลุงสมมุ่งใช้สายตาสำรวจความคมกริบของมีดพร้า หากเห็นว่าเรียบร้อยแล้ว นำไปชุบน้ำมันอีกครั้ง ก็พร้อมวางขาย

 

(ข้อมูลสัมภาษณ์เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2561) 

 


อภิญญา นนท์นาท

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ