ทางข้ามคอดกิ่วกระ (2)
คลังบทความ

ทางข้ามคอดกิ่วกระ (2)

 

บทความเรื่อง “ทางข้ามคอดกิ่วกระ” ตอนที่ 2 โดย เยี่ยมยง ส. สุรกิจบรรหาร ตีพิมพ์ในวารสารเมืองโบราณ ปีที่ 4 ฉบับที่ 4 (กรกฎาคม-กันยายน พ.ศ. 2521) สาระสำคัญของตอนนี้กล่าวถึงประเด็นที่น่าสนใจจากหลักฐานเอกสารทางประวัติศาสตร์ในช่วงศึกสงครามกับพม่า เมื่อครั้งสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทได้เสด็จมาตั้งกองบัญชาการทัพเรือและต่อเรือที่ฝั่งทะเลตะวันตก เพื่อยกทัพไปตีเมืองมะริด ซึ่งมีข้อสันนิษฐานว่าเมืองฝั่งทะเลตะวันตกที่เป็นที่ต่อเรือคือ บ้านปากจั่น กระบุรี

 

หลักฐานเอกสารสำคัญที่กล่าวถึงในบทความนี้ ได้แก่ หนังสือของเจ้าพระยาอัครมหาเสนาธิบดีฯ สมุหพระกลาโหม ถึงพระยาราชกะปิตัน หรือ ร.อ. เอฟ ไลต์ ณ เกาะหมาก (ปีนัง) ให้จัดหาเรือ ผู้คน ปืนพร้อมกระสุนดินปืน ศาสตราวุธ และข้าวสาร ส่งไปสมทบที่ฐานทัพเรือชั่วคราว ณ เกาะถลาง เอกสารดังกล่าวนี้กรมศิลปากรได้รับมาจากมหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ และในเอกสารชุดเดียวกันนี้ยังมีอีกหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกัน เช่น หนังสือของพระภักดีบริรักษ์ ผู้ว่าราชการเมืองระนอง ถึงพระยาราชกะปิตัน มีเนื้อหาถึงการชุมนุมพลที่ฐานทัพเรือชั่วคราวที่เกาะถลาง

 

ปากจั่นกับเมืองถลางตั้งอยู่ทางฝั่งทะเลตะวันตก ระยะทางไปมาถึงกันได้ ใช้เวลาไม่เกิน 3 วัน 3 คืน ซึ่งชาวบ้านชาวเลเดินทางกันเป็นปกติ อย่างไรก็ดี ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ โดยสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงตรวจชำระนั้น ยังมีความที่แย้งกับเอกสารที่กล่าวถึงในข้างต้น เช่น เรื่องเมืองมะริด ในหนังสือของเจ้าพระยาอัครมหาเสนาธิบดีฯ สมุหพระกลาโหม กล่าวว่า “แลเมืองมฤท (มะริด) นั้น ยังไม่เข้ามาอ่อนน้อม” ขณะที่พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์กล่าวว่าได้เมืองมะริด ตะนาวศรี และทวายแล้ว เป็นต้น

 

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์มีความตอนหนึ่งว่า สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทไปต่อเรือรบที่สิงขร ผู้เขียนมีความเห็นว่าหากไปต่อเรือที่เมืองสิงขร ต้องเดินทางข้ามช่องสิงขรเพื่อไปยังเมืองตะนาวศรี ซึ่งอาจใช้ทางน้ำที่ท่าพริกหรือใช้ทางบกด้วยการเดินเท้าหรือใช้ช้างเป็นพาหนะ แต่เมืองตะนาวศรีไม่มีทางออกสู่ทะเล นอกจากจะเดินทางต่อไปยังเมืองมะริด ซึ่งหากดูจากหนังสือของเจ้าพระยาอัครมหาเสนาธิบดีฯ สมุหพระกลาโหม ขณะนั้นมะริดยังไม่ยอมสวามิภักดิ์ ดังนั้น เรื่องจุดต่อเรือรบทางฝั่งทะเลตะวันตกยังคงไม่ชัดเจน นอกจากนี้ในหนังสือ ไทยรบพม่า พระนิพนธ์ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กล่าวถึงสมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ บัญชาการกองทัพเรือและสั่งให้ต่อเรือรบในหัวเมืองทะเลตะวันตก โดยมีรับสั่งให้พระยาจ่าแสนอากร พระยาไกรโกษา พระยาพิชัยบุรินทรา และพระยาแก้วโกรพ เจ้าเมืองชุมพร คุมทัพเรือยกขึ้นไปเมืองทวาย ครั้นถึงเมืองมะริด กลับเป็นกบฏขึ้น จึงยกทัพเข้าตีเมืองมะริด

 

อ่านบทความ “ทางข้ามคอดกิ่วกระ” ตอนที่ 2 ฉบับเต็ม คลิก https://www.yumpu.com/xx/document/view/67660308/-4-4

 

บทความ “ทางข้ามคอดกิ่วกระ” ตอนที่ 3 ซึ่งเป็นตอนสุดท้าย ตีพิมพ์ในวารสารเมืองโบราณปีที่ 5 ฉบับที่ 1 (ตุลาคม-พฤศจิกายน พ.ศ. 2521) มีเนื้อหาต่อเนื่องจากตอนที่แล้ว คือหลักฐานเอกสารต่างๆ ที่มีข้อมูลที่ไม่สอดคล้องกัน ในบทนี้ได้หยิบยกหนังสือของพระเพ็ชรคีรีศรีพิไชยสงครามรามคำแหง ผู้ว่าราชการเมืองถลางที่ขอความช่วยเหลือไปยังพระยาราชกะปิตันในการเตรียมยกทัพไปตีมะริด 

 

ลำดับต่อมาผู้เขียนได้นำเสนอเส้นทางข้ามคาบสมุทรจากปากจั่น กระบุรี มายังชุมพร ซึ่งเป็นเส้นทางที่ผ่านบ้านรับร่อ เส้นทางนี้มีความทุรกันดารอย่างมาก มีระยะทางไกล ต้องแวะค้างอ้างแรมมากกว่า 2 คืน ไม่มีหมู่บ้านให้พักอาศัยระหว่างทางมากนัก จึงเป็นเส้นทางสำหรับผู้ที่เจนจัดในภูมิประเทศแถบนี้

 

คลองรับร่อตรงสะพานมิตรภาพรับร่อ-หินแก้ว ตำบลหินแก้ว อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร 

 

จากปากจั่น เดินมาตามคลองจั่น ขึ้นไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ ในระหว่างเขารังแตนกับเขาอุชาญ จนถึงช่วงที่ห้วยแพรกแยกขวาเข้าไปในหุบเขา ถึงจุดที่เป็นสันปันน้ำของคลองจั่น ซึ่งทางฝ่ายตะวันออกมีต้นน้ำของลำห้วยสายหนึ่งคือคลองรับร่อที่ไหลมาทางตะวันออกไปยังบ้านรับร่อ ซึ่งเป็นหมู่บ้านแห่งแรกๆ ที่นักเดินทางที่ข้ามมาจากฝั่งตะวันตกจะได้พบเจอ และใช้เป็นจุดแวะพักก่อนเดินทางต่อ จึงเรียกหมู่บ้านนี้อีกอย่างว่าบ้านรับรอง “เมื่อก่อน 40 ปีมาแล้ว ชาวบ้านรับร่อหรือบ้านรับรอง ตลอดทุกครัวเรือนมีน้ำใจโอบอ้อมอารีเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ล้ำเลิศ แขกต่างบ้านไปมาหาสู่ไม่ผลักไส ข้าววันละ 3 มื้อ เช้า กลางวัน เย็น ไม่อดแน่นอน” 

 

 

คลองท่าแซะ ตรงสะพานท่าทับทิม ตำบลท่าข้าม อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร 

 

จากบ้านรับร่อสามารถเดินทางต่อไปได้ทั้งเส้นทางบกและเส้นทางน้ำคือ หากเดินทางขึ้นเหนือต่อไปยังบ้านท่าแซะ บางสะพานน้อย บางสะพานใหญ่ จากนั้นจะเดินทางบกหรือทางน้ำไปยังเพชรบุรี ราชบุรี เข้าสู่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา หากเดินทางลงใต้มาตามคลองรับร่อถึงบ้านปากแพรก จะแยกขึ้นไปตามคลองท่าแซะก็ได้ หรือจะลงมาตามเส้นทางคลองท่าตะเภาไปสู่ปากน้ำชุมพร ออกทะเลอ่าวไทยก็ได้เช่นกัน

 

จุดที่คลองรับร่อกับคลองท่าแซะมาสบกันที่หน้าวัดปากแพรก ตำบลนากระตาม อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร ลำน้ำจากนี้ลงไปเรียกคลองท่าตะเภา  

 

ใกล้กับบ้านรับร่อมีบ้านท่าข้าม ตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่ราบด้านหน้าภูเขารับร่อ ที่ภูเขารับร่อมีถ้ำพระ ภายในประดิษฐาน “พระหลักเมือง” พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้คนในความเคารพนับถือ นอกจากนี้ยังมีถ้ำอ้ายเต ภายในมีภาพเขียนสีเป็นรูปบุคคลในอิริยาบถนอน ผู้เขียนนำไปผูกโยงกับนิทานตำนานท้องถิ่นที่เล่าถึงพ่อค้าชาวฮินดู 2 คน แล่นเรือบรรทุกสินค้าเข้ามาค้าขาย ในสมัยดึกดำบรรพ์บริเวณนี้ยังเป็นท้องทะเล ระหว่างทางเกิดพายุจึงเอาทรัพย์สมบัติมาฝังไว้ในถ้ำนี้ (ภาพเขียนสีภายในถ้ำอ้ายเตที่ผู้เขียนกล่าวถึงนี้ ภายหลังมีการวิเคราะห์แล้วว่าเป็นภาพพระพุทธไสยาสน์ กำหนดอายุไม่เก่าไปกว่าพุทธศตวรรษที่ 19 ถึงสมัยอยุธยา - กองบรรณาธิการ)

 

บันไดทางขึ้นถ้ำรับร่อ วัดเทพเจริญ ตำบลท่าข้าม อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร 

 

พระพุทธรูปจำนวนมากประดิษฐานอยู่ภายในถ้ำ องค์ที่มีฉัตรอยู่เหนือพระเศียรคือ "พระหลักเมือง"

 

นอกจากนี้ผู้เขียนยังวิเคราะห์และให้ข้อคิดเห็นถึงความเก่าแก่ของบ้านรับร่อและเมืองชุมพรหรืออุทุมพร โดยใช้หลักฐานจากชื่อบ้านนามเมืองที่ปรากฏในเอกสารต่างๆ และการวิเคราะห์ความหมายทางภาษาศาสตร์

“ในฝ่ายพระพุทธศาสนา เมืองที่บ้านรับร่อ มิได้เรียกว่าเมืองชุมพร ได้ยินผู้เฒ่าผู้แก่หลายท่านเล่าให้ฟังว่าชื่อ “เมืองอุทุมพร” ก็มี “เมืองท่าข้าม” ก็ว่า ชื่อเมืองอุทุมพรมีปรากฏในจารึกวัดพระเชตุพน สมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์” 

 

 

 

พระพุทธรูปภายในถ้ำรับร่อมีหลายอิริยาบถและรูปแบบ จากรูปแบบงานศิลปกรรม ส่วนใหญ่กำหนดอายุในสมัยอยุธยา-รัตนโกสินทร์ 

 

อ่านบทความ “ทางข้ามคอดกิ่วกระ” ตอนที่ 3 ฉบับเต็ม คลิก https://www.yumpu.com/xx/document/view/67660308/-4-4

 


กองบรรณาธิการ

"วารสารเมืองโบราณ" นิยามไทย เข้าใจถิ่น