พินิจตำนานลำปาง
หนังสือหนังหา

พินิจตำนานลำปาง

 

พินิจตำนานลำปาง

ผู้เขียน : ศาสตราจารย์สรัสวดี อ๋องสกุล

จัดพิมพ์โดยศูนย์ล้านนาศึกษา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

พิมพ์ปี 2558  จำนวน 210 หน้า

 

ผู้เขียนได้คัดเลือกตำนานสำคัญของเมืองลำปางจำนวน 10 เรื่อง ได้แก่ ตำนานพระธาตุลำปางหลวง ตำนานพระธาตุเสด็จ ตำนานพระธาตุจุมภิต ตำนานพระธาตุปางม่วง ตำนานวัดพระแก้วดอนเต้า ตำนานเมืองละคร ตำนานม่อนพญาแช่ ตำนานวัดกู่คำ ตำนานเมืองเถิน และตำนานม่อนทราย เมืองงาว มาทำการปริวรรตและวิเคราะห์ภายใต้แนวคิดว่า ตำนานมีความสำคัญต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ล้านนา ทั้งนี้ผู้เขียนพบว่า มีการใช้คำว่า พื้น กับตำนานฝ่ายบ้านเมือง และจะใช้คำว่า ตำนาน กับตำนานฝ่ายวัดหรือเรื่องราวในพระพุทธศาสนา

 

ตำนานลำปางมีลักษณะเด่นหลายประการ กล่าวคือ ตำนานลำปางมักแต่งโดยภิกษุในท้องถิ่นซึ่งจะไม่นิยมระบุนามผู้แต่ง มีเพียงชื่อผู้คัดลอก สถานที่ และปีที่จาร ดังนั้นจึงหาต้นฉบับในการคัดลอกได้ยาก เนื้อหาในตำนานมักกล่าวอ้างถึงเรื่องราวสมัยพุทธกาล มีเหตุการณ์คราวพระพุทธองค์เสด็จโปรดสัตว์ซึ่งหลายตำนานใช้ยักษ์เป็นตัวแทนกลุ่มคนพื้นเมืองหรือผู้ที่นับถือความเชื่อดั้งเดิม ต่อมาอาจเล่าถึงปาฏิหาริย์ในการปราบพวกยักษ์จนได้รับการยอมรับก่อนจะประทานพระเกศาธาตุหรือประทับรอยพระพุทธบาทไว้ ณ สถานที่นั้นแล้วจึงมีพุทธทำนาย จากนั้นจึงเล่าลำดับผู้อุปถัมภ์พระธาตุ บางตำนานอาจเพิ่มเติมเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับอานิสงส์ที่ผู้ปฏิบัติดี ผู้คัดลอกตำนาน ผู้บำรุงพระธาตุและอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาจะได้รับ ตัวอย่างบางช่วงบางตอนในตำนานวัดพระแก้วดอนเต้าที่เอ่ยอ้างถึงอานิสงส์จากการคัดลอกตำนานนี้ ซึ่งกุศลนั้นจะส่งสะท้อนทั้งกับคนเป็นและญาติพี่น้องผู้ล่วงลับด้วย

 

“...บุคคละผู้ใดได้สร้างเขียนยังธัมม์ตำนานวัดพระแก้วดอนเต้านี้แล เขียนด้วยตนบ่ช่างแล ได้จ้างท่านผู้อื่นเขียนก็ดี ก็เที่ยงว่าจักได้เถิงอรหันต์ตน 1 ในสำนักพระเมตไตรย ตนจักมาพายหน้าหมื่นชแล แม่นจักปราถนาเปนพระญาจักกวัตติราชดั่งอั้นก็ดี...ก็ได้ดั่งใจมักชุประการชแล...แม่นว่าเขาเจ้าฝูงนั้น ตายไปนั้น ไปตกนรกอยู่ก็ดี คันว่าพี่น้องพ่อแม่ลูกหลานทังหลาย ได้สร้างธัมม์ตำนานนิทานวัดพระแก้วดอนเต้าเวียงดินอันนี้แล้ว หื้อทานหยาดน้ำอุทิสสะบุญหื้อไปรอดผู้อันตายไปตกนรกอยู่ก็พ้นบัดเดียวนั้นแล...”

 

ปกหนังสือพินิจตำนานลำปาง จัดพิมพ์โดยศูนย์ล้านนาศึกษา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

ผู้เขียนยังได้วิเคราะห์ตำนานลำปางข้างต้นและจัดแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ

กลุ่มแรก ประกอบด้วยตำนานพระธาตุลำปางหลวง ตำนานพระธาตุจุมภิต และตำนานพระธาตุเสด็จตำนานกลุ่มนี้แต่งในสมัยราชวงศ์มังราย โดยตำนานพระธาตุลำปางหลวงน่าจะแต่งครั้งแรกสมัยเดียวกับตำนานพระธาตุจุมภิต ราวพุทธศตวรรษที่ 21 และแต่งต่อมาจนสิ้นสุดเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 23

 

กลุ่มหลัง ประกอบด้วยตำนานพระธาตุปางม่วงตำนานวัดพระแก้วดอนเต้าตำนานเมืองละครตำนานม่อนพญาแช่ตำนานวัดกู่คำตำนานเมืองเถิน และตำนานม่อนทรายเมืองงาว ตำนานกลุ่มนี้แต่งขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ เนื่องจากตำนานกลุ่มนี้เรียกเมืองลำปางว่า เมืองนคร กุกกุตนคร กุกกุฏนครไก่เผือก หรือเวียงดินซึ่งเป็นคำเรียกที่ใช้ในช่วงเก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง หรือช่วงฟื้นฟูบ้านเมืองในสมัยรัตนโกสินทร์นี่เอง

 


เกสรบัว อุบลสรรค์

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ