พลิกหน้าสารบัญ 46.3 คูบัว

พลิกหน้าสารบัญ 46.3 คูบัว

 

พลิกหน้าสารบัญ... 

 วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 46 ฉบับที่ 3 (กรกฎาคม-กันยายน 2563) คูบัว เมืองท่าแห่งลุ่มน้ำแม่กลอง 

 

"...คูบัว เมืองท่าสมัยทวารวดีที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างซึ่งพัฒนาขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 13 ช่วงที่การค้าทางทะเลขยายตัว เนื่องจากตั้งอยู่ไม่ไกลจากทะเล ห่างเพียง 25 กิโลเมตร ผังเมืองคล้ายเมืองนครชัยศรีซึ่งเป็นเมืองร่วมสมัย พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลาดสูงขึ้นไปต่อเนื่องกับเนินเขาด้านตะวันตก ส่วนทางด้านตะวันออกเป็นที่ราบลาดลงสู่ทะเล..."

 

 

ปรากฏการณ์โควิด-19 กับการมองโลก มองสังคม

/ ศรีศักร วัลลิโภดม
เมื่อมนุษย์อยู่รวมกันเป็นกลุ่มเรียกว่าสังคม และเมื่อมนุษย์อยู่ร่วมสังคมกัน เรียนรู้ร่วมกัน มีข้อตกลงร่วมกัน จะเกิดเป็นวัฒนธรรม การเรียนรู้ภัยพิบัติของโรคอุบัติใหม่ในโลกนี้ร่วมกัน โควิด-19 ถือเป็นประสบการณ์ใหม่ที่อาจารย์ศรีศักรอยากชี้ชวนให้เราได้สังเกต และวิเคราะห์ร่วมกันว่าเชื้อโรคที่เกิดขึ้น ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ตลอดจนเหตุการณ์ทางการเมืองต่างๆ ที่เกิดทั้งในไทยและทั่วโลก มนุษย์พยายามที่จะจัดการและหรือกำจัดสิ่งเหล่านั้นด้วยมุมมองที่ต่างกันไป แต่ทุกสิ่งย่อมมีความสัมพันธ์กัน ทั้งมนุษย์ ธรรมชาติ สิ่งเหนือธรรมชาติ และจิตวิญญาณ

 

คูบัว เมืองท่าแห่งลุ่มน้ำแม่กลอง

/ วิยะดา ทองมิตร

คูบัวเป็นเมืองโบราณสมัยทวารวดีที่พัฒนาเป็นเมืองท่าเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 13 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการขยายตัวการค้าทางทะเลและเส้นทางการค้าทางบกเข้าสู่ดินแดนภายในภูมิภาคทางตะวันตกของลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่กระจุกตัวอยู่ในลุ่มน้ำท่าจีน-แม่กลอง ชุมชนเหล่านี้ติดต่อไปมาหาสู่กัน เกิดเป็นเครือข่ายศูนย์กลางสำคัญ 3 แห่ง คือ อู่ทอง นครชัยศรี และคูบัว

 

เหมืองแร่และเครือข่ายการค้ายุคสุวรรณภูมิที่ราชบุรี

/ วลัยลักษณ์ ทรงศิริ

เทือกเขาตะนาวศรีฝั่งอันดามันนับเป็นแหล่งแร่ดีบุก ซึ่งมีปริมาณมากถึงครึ่งหนึ่งของระบบอุตสาหกรรมแร่ดีบุกโลก ในเขตจังหวัดราชบุรีเองก็ถือเป็นแหล่งแร่สำคัญเช่นกัน โดยเฉพาะแถบอำเภอสวนผึ้งและบ้านคาก็มีแร่สำคัญหลายชนิด รวมถึงแก้วและหินมีค่า ทำให้เมื่อมองย้อนกลับไปถึงพุทธศตวรรษที่ 1-5 จึงได้พบว่าที่นี่เป็นแหล่งผลิตลูกปัดสำคัญ รวมถึงเป็นแหล่งวัตถุดิบสำหรับผลิตเครื่องมือหินสมัยก่อนประวัติศาสตร์ซึ่งถูกพบอยู่มากมายทั่วทั้งพื้นที่อีกด้วย

 

คูบัวคือเชียะโท้ว

/ ศรีศักร วัลลิโภดม

ในจดหมายเหตุจีนสมัยก่อนราชวงศ์ถังมีการกล่าวถึงบ้านเมืองต่างๆ บนเส้นทางการค้าทางทะเล เริ่มจากจีนตอนใต้ ผ่านเวียดนาม ฟูนัน อ่าวไทย ไปยังคาบสมุทรมลายูและอินเดีย เมืองสำคัญแห่งหนึ่งที่ถูกกล่าวถึงคือเชียะโท้ว ถูกระบุว่าเป็นเมืองขนาดใหญ่ มีระบบกษัตริย์ปกครอง และนับถือพุทธศาสนามหายาน จากตำแหน่งที่ตั้งและหลักฐานทางโบราณคดีนำไปสู่ข้อสันนิษฐานว่า นั่นอาจเป็นคูบัว เมืองโบราณที่พัฒนาขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 13 เป็นเมืองขนาดใหญ่ มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ ตั้งอยู่บนชายหาดโบราณสมัยสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นชายขอบอ่าวไทยก่อนลงไปยังคาบสมุทร ภายในเมืองพบร่องรอยชุมชนโบราณ แหล่งโบราณสถาน และโคกเนินอยู่เป็นจำนวนมาก

 

เทือกเขาศักดิ์สิทธิ์กับบริบทที่แปรเปลี่ยน

/ จิราพร แซ่เตียว

เขางู เทือกเขาหินปูน และทุ่งกว้างรับน้ำด้านตะวันตกเฉียงเหนือของจังหวัดราชบุรี เทือกเขาซึ่งพบหลักฐานทางโบราณคดีมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระพุทธรูปสมัยทวารวดีจึงเป็นเขาศักดิ์สิทธิ์ซึ่งมีความสำคัญต่อคนราชบุรีและคนพื้นที่ใกล้เคียงมาอย่างยาวนาน ขณะเดียวกันอีกสถานะหนึ่งของเขางูคือ แหล่งหินปูนคุณภาพดีส่งผลให้เกิดการระเบิดหิน แม้จะมีผลดีทางเศรษฐกิจแต่ก็ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนข้างเคียง ชวนอ่านชวนอภิปรายประเด็นร่วมสมัยในการจัดการพื้นที่ซึ่งเป็นมรดกวัฒนธรรมของผู้คนในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่กลองจากบทความนี้

 

 

ปูนขาว ปูนแดง ปูนดีที่เขางู

/ เมธินีย์ ชอุ่มผล
ราชบุรีมีชื่อเสียงเรื่องการทำปูนขาว-ปูนแดงมาช้านาน นับเป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาหลายรุ่น โดยมีแหล่งหินปูนชั้นดีจากเขางู ปูนขาวผลิตเพื่อใช้ในการก่อสร้าง ส่วนปูนแดง เพื่อการบริโภค ในอดีตจะส่งปูนแดงไปขายที่พระนคร นครปฐม สมุทรสงครามและสุมทรสาคร โดยนำปูนแดงลงเรือล่องจากแม่น้ำแม่กลองเข้าสู่คลองดำเนินสะดวกออกเจ้าพระยาและกระจายสู่บ้านเรือนต่างๆ ก่อนจะค่อยๆ เลิกไปเมื่อมีกฎหมายว่าด้วยความเป็นไทยช่วงก่อนปีพุทธศักราช 2500 วิถีการทำปูนแดงจึงค่อยๆ จางหายตามไปด้วย เหลือให้เห็นไม่มากนั

 

 

ม้าแห่นาคในวิถีคนราชบุรี

/ อภิญญา นนท์นาท
คติการใช้ม้าแห่นาค พบแพร่หลายในประเทศไทยและพม่า มีความหมายถึงการจำลองฉากเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ของพระพุทธเจ้า ในประเทศไทยมีการเลี้ยงและฝึกม้าแห่นาคเป็นอาชีพอยู่ในหลายท้องที่ เช่นที่จังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นแหล่งที่มีการเลี้ยงม้าสืบทอดมาเนิ่นนาน เนื่องจากอดีตเป็นเมืองหน้าด่านสำคัญ อีกทั้งมีคำบอกเล่าถึงการใช้ม้าเป็นพาหนะในฤดูแล้ง ปัจจุบันยังมีกลุ่มผู้เลี้ยงม้าที่สืบทอดภูมิปัญญามาอย่างยาวนาน สะท้อนถึงความสัมพันธ์กับประเพณีท้องถิ่น โดยเฉพาะงานบวชของกลุ่มชาวมอญที่ยังรักษาอัตลักษณ์นี้ไว้อย่างเข้มข้น

 

 

สืบรากลาว-เขมร ราชบุรี

/ ณัฐวิทย์ พิมพ์ทอง
ราชบุรีเป็นหัวเมืองชั้นในสมัยธนบุรีและต้นรัตนโกสินทร์ จากหน้าประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาปรากฏเรื่องราวของผู้คนจากบ้านเมืองห่างไกลถูกเทครัวมายังราชบุรีหลายครั้ง เช่น ชาวลาวเวียงจันทร์และชาวเขมรในสมัยธนบุรี โดยชาวลาวเวียงจันทน์ อาศัยอยู่แถบอำเภอเมือง อำเภอโพธารามและอำเภอบ้านโป่ง ทุกวันนี้ยังคงรักษาสำเนียงการพูดอย่างลาวอยู่บ้าง ส่วนชาวเขมรนั้น แบ่งได้เป็นเขมรลาวเดิม เขมรเมือง และเขมรเลี้ยงช้าง มีเพียงเขมรลาวเดิมเท่านั้นที่ยังพูดสำเนียงลาว ส่วนอีก 2 กลุ่มซึ่งพูดสำเนียงเขมรอีสานใต้นั้น ไม่ได้สื่อสารกันด้วยสำเนียงดั้งเดิมอีกต่อไป นอกจากนั้นอีกสิ่งหนึ่งที่หายไปคือความเชื่อเรื่องผี ซึ่งถูกแทนที่ด้วยความเชื่อทางพุทธศาสนาไปแล้ว

 


 

ถิ่นจีนพูหลู่และย่านตลาดปากคลองวัดประดู่

/ เกสรบัว อุบลสรรค์

ตลาดปากคลองวัดประดู่ หรือตลาดวัดแก้ว ตั้งอยู่บริเวณปากคลองประดู่ต่อคลองแควอ้อมหรือแม่น้ำอ้อมคลองประดู่ ไหลจากตลาดปากคลองวัดประดู่ลงใต้ไปรวมกับทางน้ำสายอื่นและไหลออกทะเลที่บางตะบูน จังหวัดเพชรบุรี หรือแยกตามน้ำล่องใต้เข้าสู่ตัวเมืองเพชรบุรีได้ คลองประดู่จึงเสมือนเส้นทางลำเลียงผู้คนและขนถ่ายสินค้าจากบ้านเมืองตอนล่างกับชุมชนการค้าตอนบนผ่านคลองแควอ้อม โดยมีย่านการค้าตลาดปากคลองวัดประดู่เป็นศูนย์กลางสำคัญ

 

 

ปิดประตูร้าน เปิดลิ้นชักยา ไทยเจริญเภสัช

/ จิราภรณ์ แซ่เตียว
ด้วยความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเมืองหลวงเช่นกรุงเทพฯ การล้มหายตายจากของร้านรวงในย่านเก่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน หลายกรณีเป็นเรื่องน่าใจหาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งร้านรวงที่อยู่คู่ย่านคู่ชุมชนมาอย่างยาวนาน เช่น ไทยเจริญเภสัช ร้านยาจีนเก่าแก่กว่า 60  ปี ริมถนนพระราม 1 ไม่ไกลจากวัดสามง่ามหรือวัดชำนิหัตถการ ถิ่นฐานย่านเก่าของคนจีนกลางกรุง บทบันทึกคำบอกเล่าของหลงจู๊กับเรื่องราวชีวิตลูกจีนในไทย คนเล็กคนน้อยในเมืองใหญ่ และกิจการร้านยาจีนซึ่งอยู่ในความทรงจำลูกหลานคนจีนในเมืองไทย

 

การอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ต้องทบทวน

/ ศรีศักร วัลลิโภดม
ในทัศนคติของภาครัฐมักมองว่าการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรม เช่น โบราณสถาน โบราณวัตถุ เป็นความรับผิดชอบของหน่วยงานส่วนกลางมากกว่าที่จะเห็นว่าเป็นเรื่องที่คนในท้องถิ่นต้องมีส่วนร่วมในการจัดการ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามีการเคลื่อนไหวของคนท้องถิ่นในการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมของตนเอง นำมาสู่แนวคิดเรื่องมรดกทางสังคม (Social Heritage) ที่มองว่าคนในท้องถิ่นต้องมีส่วนในการอนุรักษ์และฟื้นฟูร่วมกับหน่วยงานราชการของรัฐ เพื่อลดความขัดแย้งและรักษามรดกวัฒนธรรมไว้ได้อย่างยั่งยืน

 

ขุนพานเมืองฟ้า ผู้ชนะศึกเขมรที่โกรกกราก

/ ศาสตราจารย์กิตติคุณ สุกัญญา สุจฉายา
ตำนานที่มาของชาวสุวัณณภูมิ ว่าด้วยขุนพานเมืองฟ้า ขุนใหญ่แห่งสุวัณณภูมิ เรื่องเล่าที่ถูกจดจารลงในกเบื้องจารซึ่งพบจากวัดไผ่ล้อม จังหวัดนครปฐม เป็นเรื่องราวของขุนใหญ่ผู้นำทหารและชาวเมืองไทยทวาลาว (นครปฐม) ออกไปรบกับพระเจ้าสุริยวรมันที่เมืองโกรกกราก ตำนานแห่งดินแดนสุวัณณภูมิ บอกเล่าถึงการมีอยู่ของเมืองต่างๆ ในสุวัณณภูมิ

 

อันเนื่องมาจากอิธากาและนิพพาน

/ อาภาภิรัตน์ วัลลิโภดม
อิธากาคือบ้านเกิดของโอเดสซุส วีรบุรุษแห่งสงครามกรุงทรอยกับกรีก เป็นผู้คิดค้นม้าไม้จนสามารถชนะสงครามกรุงทรอยได้ในเวลาไม่นาน แต่เขากลับต้องใช้เวลาในการล่องเรือเพื่อกลับอิธิกายาวนานกว่า 10 ปี เพราะถูกกลั่นแกล้งโดยเทพโพไซดอน เป็นที่มาของมหากาพย์ยิ่งใหญ่ของโลกเรื่องโอเดสซี ซึ่งคำว่า “โอเดสซี” นี้ มักถูกนำมาใช้เชิงอุปมาอุปไมยหมายความถึง การเดินทางอันยาวนานโดยเฉพาะทางจิตใจและจิตวิญญาณ ไม่ต่างจากการเข้าถึงนิพพาน หากเราสามารถกำหนดจิตให้แน่วแน่ได้ตามหลักสติปัฏฐาน 4 เราก็จะสามารถเข้าถึงนิพพานนั้นได้เช่นกัน...

 

บ้านโพธารามสู่ตลาดโพธาราม

/ เรื่อง : นพพล ริ้วเจริญฤทธิ์กุล / บรรยายภาพ : อภิชาติ ศิริอุดมเศรษฐ
ภาพเล่าเรื่องเมืองโพธาราม ชื่อซึ่งมีข้อสันนิษฐานว่าอาจแผลงมาจากคำในภาษามอญว่าบ้านโพธิ์ตาดำ นานเข้าจึงกลายเป็นโพธาราม ชุมชนโพธารามนี้ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำแม่กลอง ด้วยทำเลที่เหมาะกับการเป็นท่าจอดเรือเพื่อขนถ่ายสินค้าและผู้คนไปยังพื้นที่ตอนใน โพธารามจึงกลายเป็นย่านตลาดการค้าทั้งตลาดบกและตลาดน้ำ เรื่องเล่า บรรยากาศในภาพ และคำบรรยายประกอบภาพชุดนี้จะช่วยฉายให้เราเห็นถึงความมีชีวิตชีวาของชาวโพธารามได้แจ่มชัดขึ้น เราจะได้ทำความรู้จักโพธารามเมืองนี้ มากกว่าที่เคย..

ลูกปัดราชบุรี ลึกไกลถึงสุวรรณภูมิไหม ?

/ นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช, สุรัตน์ รัตนวิไล

ในพื้นที่จังหวัดราชบุรีมีรายงานการค้นพบลูกปัดรวม 24 แหล่ง กระจายอยู่ใน 7 อำเภอ แหล่งโบราณคดีที่พบลูกปัดมากคือเมืองคูบัวและโคกพริก โดยแหล่งโบราณคดีที่ผู้เขียนให้ความสนใจเป็นพิเศษคือแหล่งโบราณคดีโคกพริก ซึ่งเป็นแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย มีอายุราว 2,000  ปีถึงประวัติศาสตร์ตอนต้น หลักฐานสำคัญที่พบคือ ลูกปัดรูปสัญลักษณ์แบบที่พบจากคอคอดกระ เรียกว่าตรีรัตนะ นอกจากนั้นยังพบต่างหูทองคำร่วมสมัยศุงคะและอมราวดีด้วย นำมาสู่ข้อสันนิษฐานว่าที่นี่อาจมีความเก่าแก่ย้อนไปได้ไกลถึงสมัยสุวรรณภูมิ..

 

โกสินารายณ์ปริศนาว่าด้วยศามพูกะและเสียน

/ กำพล จำปาพันธ์

สำรวจปัจจุบัน สืบค้นอดีตของโบราณสถานเนื่องในพุทธศาสนามหายานที่ได้รับอิทธิพลจากเขมรนครธมในลุ่มน้ำแม่กลอง สระโกสินารายณ์และจอมปราสาท เมืองโบราณที่บ้านโป่ง ราชบุรี ว่าด้วยเรื่องราวของกรุงโกสินารายณ์ ศรีศัมพูกปัฏฏนะ ศามพูกะ เสียน สยาม ด้วยข้อสันนิษฐานจากหลักฐานทางโบราณคดี การสำรวจพื้นที่ จารึก ตำนาน เอกสาร ข้อเสนอทางนิรุกติศาสตร์ เพื่ออธิบายพัฒนาการของบ้านเมืองซึ่งสัมพันธ์กับความเสื่อมอำนาจของเขมรพระนคร การเกิดศูนย์กลางแห่งใหม่ที่อโยธยาศรีรามเทพนคร และความเป็นชุมชนใหญ่เมื่อล่วงถึงปัจจุบัน

 

 

 

ช่องทางสั่งซื้อ

Rimkhobfabooks

หรือ

สมัครสมาชิก

วารสารเมืองโบราณ 1 ปี 4 ฉบับ ราคา 600 บาท (รวมค่าจัดส่ง) คลิก https://shop.line.me/@sarakadeemag/product/318753714

 

 


กองบรรณาธิการ

"วารสารเมืองโบราณ" นิยามไทย เข้าใจถิ่น