❝...เมืองฟ้าแดดสงยางเป็นเมืองสมัยทวารวดีบนลุ่มน้ำปาว ผังเมืองสมัยแรกเป็นรูปไข่ ต่อมามีการขยายเมืองออกมาทางทิศใต้และตะวันออก ทำให้ตัวเมืองมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมมุมมน มองดูคล้ายรูปใบเสมาวางนอนอยู่บนพื้นดิน...❞
วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 48 ฉบับที่ 2 (เมษายน-มิถุนายน 2565)
ฟ้าแดดสงยางที่สุดของเสมาหินทวารวดีอีสาน
-1-
จากผีเป็นพุทธ จากกลุ่มกองหินถึงเสมา / เกสรบัว อุบลสรรค์
กองหินและหินตั้งคือเครื่องมือที่มนุษย์ยุคแรกเริ่มใช้เพื่อแบ่งแยกพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ออกจากพื้นที่ทั่วไป ต่อมาราวพุทธศตวรรษที่ 14-15 หลังพระพุทธศาสนารุ่งเรืองในภาคอีสาน ประเพณีการปักหินตั้งจึงคลี่คลายสู่การปักเสมาหินรอบศาสนสถานศักดิ์สิทธิ์และพื้นที่สำคัญ นั่นนับเป็นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านความเชื่อหลักจากผีมายอมรับนับถือพระพุทธศาสนาบนดินแดนแถบนี้
-2-
เมืองฟ้าแดดสงยาง ที่สุดของแหล่งเสมาหินทวารวดีแห่งลุ่มน้ำปาว / วิยะดา ทองมิตร
ฟ้าแดดสงยาง เป็นเมืองโบราณที่เจริญรุ่งเรืองมากในสมัยทวารวดีเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 12-16 ทั้งนี้ จากการขุดค้นทางโบราณคดีทำให้พบโบราณสถานทั้งในและนอกตัวเมืองกว่า 14 แห่ง โบราณสถานสำคัญคือพระธาตุยาคู นอกจากนั้นภายในเขตเมืองฟ้าแดดสงยางยังพบใบเสมาหินสมัยทวารวดี อีกกว่า 100 แผ่น โดยเสมาสำคัญที่ได้รับการยกย่องให้เป็นโบราณวัตถุชิ้นเด่น คือ เสมาจำหลักภาพพุทธประวัติตอนพิมพาพิลาป ปัจจุบันถูกนำไปเก็บรักษาและจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น
-3-
จากเสมาอีสานถึงเสมาฟ้าแดด / ศรีศักร วัลลิโภดม
เมื่อความเชื่อในพระพุทธศาสนาเผยแผ่เข้ามา หินตั้งและแท่งหินจึงถูกแทนที่ด้วยใบเสมา ซึ่งนิยมปักเพื่อบอกตำแหน่งสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ บ้างปักใบเดียวหรือเป็นกลุ่มประจำทิศทั้ง 4 ทิศหรือ 8 ทิศก็มี โดยในระยะแรกที่ยังไม่ปรากฏการสร้างศาสนสถานเนื่องในพระพุทธศาสนาที่ชัดเจนจะพบเสมาสลักรูปลายสัญลักษณ์ในพระพุทธศาสนาปักไว้เพื่อทำหน้าที่ต่างพระสถูปบรรจุพระธาตุให้ชาวบ้านสักการะด้วย
-4-
ความงาม ความเชื่อ บนใบเสมา / กองบรรณาธิการ และสุทธิชัย ฤทธิ์จตุพรชัย
เสมาอีสาน มีหลายขนาดและรูปแบบ ทั้งที่มีรูปทรงธรรมชาติและที่ตัดแต่งเป็นแผ่นหินหรือแท่งหินซึ่งก็พบทั้งที่ไม่สลักตกแต่งลวดลายใดและที่ตกแต่งด้วยลวดลายต่างๆ เช่น ลายสถูป ลายกลีบบัว หม้อปูรณฆฏะ ลายรูปกรวยคล้ายยอดเจดีย์ ลายรูปเส้นสันนูน และลายธรรมจักร เป็นต้น ลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ของเสมาอีสานก็คือ ภาพสลักเล่าเรื่องชาดกและพุทธประวัติตอนต่างๆ โดยพบมากในเสมากลุ่มกาฬสินธุ์ดังมีเมืองฟ้าแดดสงยาง เป็นแหล่งโบราณคดีสำคัญ
-5-
เจ้าท่าฟ้าระงึม: ชีวิต ผู้คน และศรัทธาริมลำชี / เกสรบัว อุบลสรรค์
ชาวบ้านในพื้นที่ ต.เจ้าท่า อ.กมลาไสย โดยเฉพาะกลุ่มที่ปักหลักตั้งถิ่นฐานไม่ห่างจากริมฝั่งลำชีต่างก็มีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับแม่น้ำสายนี้ในหลายมิติมาอย่างเนิ่นนาน โดยมีปู่เจ้าท่า ซึ่งเป็นเสมาหินขนาดใหญ่ที่พบจากแม่น้ำชีหน้าวัดท่ากลาง และปู่ฟ้าระงึม แห่งดงป่าฟ้าระงึมในเขตบ้านท่าเพลิงซึ่งอยู่ไม่ไกลกันเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญที่ยึดโยงชาวบ้านในพื้นที่ให้หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียว
-6-
ตลาดกลางดง วิถีคนกับป่าที่ดงระแนง / อภิญญา นนท์นาท
ป่าดงระแนง ตั้งอยู่บนพื้นที่รอยต่อระหว่างอำเภอยางตลาดกับอำเภอห้วยเม็ก จังหวัดกาฬสินธุ์ มีลักษณะเป็นสันทอดยาวตามแนวทิศตะวันออก-ตะวันตก รอบๆ มีหมู่บ้านใหญ่น้อยตั้งอยู่หลายแห่ง ชาวบ้านในหมู่บ้านเหล่านี้ล้วนมีวิถีชีวิตหาอยู่หากินกับผืนป่าดงระแนงมาแต่อดีต ต่อมาเมื่อมีการตัดทางหลวงสาย 2039 ผ่านป่าดงระแนงจึงเริ่มมีชาวบ้านนำของป่าที่หาได้ตามฤดูกาลมาตั้งวางขายแบกะดินอยู่ริมทาง ก่อนจะพัฒนาขึ้นเป็นตลาดใหญ่ที่มีร้านค้าตั้งอยู่ถาวรเป็นที่รู้จักในนาม “ตลาดกลางดง” หรือ “ตลาดโสกหินขาว” แหล่งรวมสินค้าของป่าและผลผลิตการเกษตรที่คึกคักตลอดทั้งปี
-7-
ตึกดินอำเภอกมลาไสย / ผศ. สมชาย นิลอาธิ
เมื่อปี พ.ศ. 2535 ผู้เขียนได้สำรวจพบตึกดิน ตั้งเรียงรายอยู่ตลอด 2 ฝั่งของถนนสัญจรราชกิจ ในตัวอำเภอกมลาไสยกว่า 100 คูหา แต่จากการสำรวจครั้งล่าสุดในปี พ.ศ. 2565 กลับไม่พบตึกดินให้เห็นอีกแล้ว อย่างไรก็ดี จากการศึกษาค้นคว้าร่วมกับข้อมูลจากการสัมภาษณ์คนเก่าในพื้นที่ทำให้ผู้เขียนพบว่าตึกดินในตัวอำเภอกมลาไสยน่าจะเริ่มสร้างขึ้นเมื่อช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2445-2465 หรือหลังการตั้งเมืองกมลาไสยประมาณ 35-55 ปี ด้วยฝีมือของช่างแกว หรือช่างชาวเวียดนามในพื้นที่
-8-
จากสิมถึงโบสถ์สกุลช่างสีถาน คุณค่าความงามที่แปรเปลี่ยน... / สุดารา สุจฉายา
สิม ของชาวอีสาน หรืออุโบสถ ของคนภาคกลางนั้น ถูกปรับเปลี่ยนจากสิมน้ำ สิมโถง และสิมทึบฝีมือช่างพื้นถิ่นเป็นอุโบสถมาตรฐาน ก. ข. ค. ตามที่ทางราชการกำหนดมาตั้งแต่สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เพื่อให้สอดคล้องกับแผนการปฏิรูปวัฒนธรรมไทยฉบับแห่งชาติ พ.ศ. 2475-2490 นับเป็นอุโบสถแบบใหม่ที่ได้รับการยอมรับและเป็นที่นิยมในหมู่ช่างอีสานและช่างต่างภูมิภาคอย่างกว้างขวางสืบมา
-9-
ช่องนนทรี : ชุมชนยุคบ้านสวนก่อนเปลี่ยนผ่านเป็นย่านเศรษฐกิจ / จิราพร แซ่เตียว
วัดช่องนนทรี แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา เป็นวัดที่มีความสำคัญและเป็นที่รู้จักในแวดวงการศึกษาประวัติศาสตร์โบราณคดีในพื้นที่กรุงเทพฯ ด้วยมีภาพจิตรกรรมอันทรงคุณค่า และงานสถาปัตยกรรมที่เก่าแก่มาแต่สมัยอยุธยา อีกทั้งพื้นที่ธรณีสงฆ์ของวัดยังเป็นที่ตั้งของชุมชนร่วมพัฒนาวัดช่องนนทรี หนึ่งในชุมชนเก่าแก่ของเมืองกรุงที่ชาวบ้านรุ่นก่อนเคยมีวิถีชีวิตแบบชาวนาชาวสวนลุ่มเจ้าพระยา ก่อนที่สมัยต่อมาช่องนนทรี จะถูกปรับเปลี่ยนไปตามกระแสแห่งการพัฒนาจนกลายเป็นแหล่งรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เช่น คลังน้ำมัน และโรงงานต่างๆ
-10-
ตึกดินที่เหลืออยู่ในเมืองกาฬสินธุ์ / อภิญญา นนท์นาท
ชุมชนแรกเริ่มของเมืองกาฬสินธุ์ตั้งอยู่ริมฝั่งลำน้ำปาว ต่อมามีการขยายตัวของชุมชนเมื่อมีพ่อค้าชาวจีนเข้ามาตั้งถิ่นฐานบนถนนสายสำคัญ และเปิดกิจการห้างร้านต่างๆ เช่น ถนนผ้าขาว ถนนธนะผล ถนนโสมพะมิตร ปัจจุบันยังคงเห็นร่องรอยย่านการค้าเก่าแก่ผ่านอาคารเรือนแถวโบราณ รวมถึงตึกดิน ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมที่พบอยู่ทั่วไปในย่านการค้าชาวจีน ทั้งนี้ เดิมทีในจังหวัดกาฬสินธุ์มีอาคารประเภทตึกดินอยู่หลายแห่งทั้งในตัวเมืองกาฬสินธุ์และอำเภอกมลาไสย ทว่าค่อยๆ เสื่อมสลายไปตามกาลเวลา คงเหลือเฉพาะหลังที่เจ้าของตั้งใจอนุรักษ์ไว้เท่านั้น..
-11-
ศึกชิงนาง : ตำนานฟ้าแดดสงยาง / ศาสตราจารย์กิตติคุณสุกัญญา สุจฉายา
ตำนานเมืองฟ้าแดดสงยาง ว่าด้วยเรื่องราวความรักที่ถูกกีดกันของ พญาจันทราช แห่งเมืองเชียงโสม และนางฟ้าหยาด จนเกิดเป็นสงครามระหว่างพ่อตาคือพญาฟ้าแดด เจ้าเมืองฟ้าแดดสงยางกับลูกเขยคือ พญาจันทราช ศึกครั้งนี้จบลงด้วยความตายของพญาจันทราชกับนางฟ้าหยาด โดยความตายของพญาจันทราชนั้น นำมาซึ่งความพินาศของเมืองฟ้าแดดเมื่อหมู่มวลมิตรของพญาจันทราชพากันยกทัพมาเปิดศึกกับเมืองฟ้าแดดสงยางจนทำให้พญาฟ้าแดดและลูกชายคือ เจ้าฟ้าระงึม ต้องตายในสนามรบ ขณะที่เมืองฟ้าแดดสงยางก็ต้องดับสูญสิ้นชื่อไป
-12-
ผู้ไทกาฬสินธุ์ / ดร. สุชานาถ สิงหาปัด
บทความนี้จะเชิญชวนผู้อ่านไปทำความรู้จักกับชาวผู้ไท หนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์สำคัญที่อพยพเคลื่อนย้ายครั้งใหญ่เข้าสู่แผ่นดินไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 และอาศัยกระจายตัวอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ของภาคอีสาน รวมทั้งในเขต 5 อำเภอของจังหวัดกาฬสินธุ์ ร่วมเรียนรู้และทำความรู้จักชาวผู้ไทเมืองกาฬสินธุ์ ทั้งด้านวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ภาษา การทอผ้า การแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์เฮือนผู้ไท และความเชื่อเรื่องการรักษาโรคด้วย การเหยา ประกอบภาพถ่ายชาวผู้ไทเมืองกาฬสินธุ์ในกิจกรรมต่างๆ
-13-
อักษรโบราณบนวัตถุชิ้นเล็กที่คาบสมุทรไทย / นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช
จารึกอักษร และสัญลักษณ์โบราณชิ้นเล็กๆ จำนวนหนึ่งที่พบในเขตจังหวัดชายทะเลภาคใต้ของไทยได้กลายเป็นจิ๊กซอว์สำคัญที่ช่วยไขความกระจ่างให้ประวัติศาสตร์ยุคแรกเริ่มของแผ่นดินไทยบริเวณคาบสมุทร รอยอักษรเหล่านี้พบทั้งบนหิน โลหะ และเหรียญต่างๆ หลายชิ้นมีอายุเก่ากว่าพุทธศตวรรษที่ 10 จารึกบางชิ้นกล่าวถึงชื่อบุคคล บางชิ้นเป็นข้อความต่างๆ แต่ทุกชิ้นล้วนมีความหมายเพราะถือเป็นหลักฐานแสดงถึงกิจกรรมของผู้คนบริเวณภาคใต้ของประเทศไทย ช่วยขยายพรมแดนแห่งความรู้ออกไปได้อีกกว้างขวาง
-14-
พระธาตุอุโมงค์ : พระธาตุศักดิ์สิทธิ์แห่งลุ่มน้ำคาน / ธีระวัฒน์ แสนคำ
“พระธาตุอุโมงค์” นับเป็นสถูปเก่าแก่ประจำชุมชนโบราณบ้านยาง จังหวัดเลย สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในช่วงราวพุทธศตวรรษที่ 23-24 แต่คงถูกทิ้งร้างไประยะเวลาหนึ่ง กระทั่งมีผู้คนกลุ่มใหม่อพยพโยกย้ายเข้ามาอาศัยและได้พัฒนาพื้นที่บริเวณพระธาตุซึ่งทรุดโทรมให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ทั้งนี้ สภาพดั้งเดิมของพระธาตุอุโมงค์ที่พบในครั้งนั้นหลงเหลือเพียงส่วนฐานสี่เหลี่ยมแบบสถูปล้านช้าง ก่อนได้รับการบูรณะด้วยการสร้างสถูปทรงระฆัง 8 เหลี่ยมครอบทับเมื่อปี พ.ศ. 2540 พระธาตุแห่งนี้จึงถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของชาวบ้านในพื้นที่มาจวบจนถึงปัจจุบัน
-15-
ปู่ไห การเชื่อมโยงกับบรรพชนของชาวบ้านเชียงเหียน / จารุวรรณ ด้วงคำจันทร์
บ้านเชียงเหียน ตำบลเขวา อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม เป็นชุมชนที่ตั้งอยู่บนพื้นที่เก่าแก่ซึ่งพบร่องรอยการอยู่อาศัยของกลุ่มคนดั้งเดิมมาแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ โดยจากการขุดค้นทางโบราณคดีทำให้พบโบราณวัตถุหลายรายการ หนึ่งในนั้นคือ ไห จากประเพณีการฝังศพครั้งที่ 2 ชาวบ้านในพื้นที่และใกล้เคียงมีความพยายามผูกโยงประวัติความเป็นมาของกลุ่มตนเข้ากับหลักฐานที่พบ นับเป็นการสร้างให้เกิดสำนึกร่วมในความเป็นคนท้องถิ่นเดียวกัน โดยยกย่องให้ “ปู่ไห” ซึ่งชาวบ้านนับถือเสมือนบรรพบุรุษเป็นศูนย์รวมใจ นอกจากนั้นชาวบ้านยังร่วมกันผลักดันให้เกิดพิพิธภัณฑ์สำหรับเก็บรักษาภาชนะดินเผา และโบราณวัตถุอื่นที่พบในพื้นที่ด้วย
วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 48 ฉบับที่ 2
ฟ้าแดดสงยางที่สุดของเสมาหินทวารวดีอีสาน
ราคาเล่มละ 150 บาท
ค่าจัดส่ง (เล่มแรก) 30 บาท
สั่งซื้อได้ที่
Lineshop : https://shop.line.me/@sarakadeemag/product/1002641923
FB inbox : http://m.me/sarakadeeboranrobroo
สมัครสมาชิก
https://shop.line.me/@sarakadeemag/product/318753714