นิทานปรัมปราเกี่ยวกับนาคในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยเชื่อว่า นาคเป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ ทั้งยังทำให้เกิดแม่น้ำหลายสาย เช่น แม่น้ำโขง แม่น้ำมูล แม่น้ำชี เรื่องราวเกี่ยวกับนาคมีปรากฏทั้งในตำนาน นิทาน และวรรณกรรมทางพระพุทธศาสนา
นิทานเรื่อง นาคเมืองหนองแส นาคเมืองหนองหาน เป็นเรื่องหนึ่งที่เล่าถึงการเกิดบ้านเมืองที่เกี่ยวข้องพญานาค เล่ากันมาว่าที่หนองแสปกครองโดย พินทโยนกวตินาค กับ ธนะมูลนาค อยู่มาวันหนึ่งพญานาคทั้งสองผิดใจกันจนเรื่องลุกลามบานปลายถึงขั้นสู้รบกัน ทำให้หนองน้ำขุ่นมัว ไม่สงบราบเรียบดังเดิม พระอินทร์จึงมีบัญชาให้พระวิสุกรรมเทวบุตรลงมาปราบพญานาคทั้งสองและขับไล่ออกจากหนองแส พินทโยนกวตินาคหนีมาทางเมืองเชียงใหม่ เส้นทางที่พินทโยนกวตินาคมุดดินผ่านเกิดเป็นแม่น้ำปิง ส่วนเส้นทางของธนะมูลนาคเกิดเป็นแม่น้ำมูล ขณะที่เส้นทางของชีวายนาค ผู้เป็นหลานของธนะมูลนาค เกิดเป็นแม่น้ำอู ซึ่งมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าตำนานการอพยพของพญานาคจากหนองแสอาจสะท้อนถึงการอพยพเคลื่อนย้ายของกลุ่มชนที่มาตั้งบ้านแปงเมืองอยู่ในที่ต่างๆ
บันไดนาคที่วัดศรีชมภูองค์ตื้อ อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย ภาพถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2522
(ที่มา : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์)
นิทานนาคเมืองหนองแสยังมีความสัมพันธ์กับเมืองหนองหาน (สกลนคร) คือ ในสมัย พระยามหาสุรอุทก ผู้ปกครองเมืองหนองหานหลวง เสด็จประพาสมาถึงแม่น้ำมูลที่มีธนะมูลนาคปกครองอยู่ พระยามหาสุรอุทกต้องการปราบธนะมูลนาค แต่ไม่สำเร็จถูกธนะมูลนาคจับตัวไว้และถูกฆ่าตาย ต่อมา พระยาภิงคาระ พระโอรสองค์ใหญ่จึงปกครองบ้านเมืองสืบต่อมาเป็น พระยาสุวรรณภิงคาระ ดังปรากฎในตำนานอุรังคธาตุ ส่วน พระยาคำแดง พระอนุชา ได้สร้างบ้านแปงเมืองอีกแห่งหนึ่งที่ หนองหานกุมภวาปี ซึ่งมีตำนานเรื่องท้าวผาแดง-นางไอ่ที่จบลงด้วยโศกนาฏกรรมเมื่อทั้งเมืองล่มจมกลายเป็นหนองน้ำ
อ่านบทความเรื่อง “นาคเมืองหนองแส นาคเมืองหนองหาน” ฉบับเต็มได้ใน วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 2 ฉบับที่ 4 กรกฎาคม-กันยายน พ.ศ. 2519 คลิก https://www.yumpu.com/xx/document/view/67624156/-2-4
บันไดนาควัดพระธาตุแช่แห้ง จังหวัดน่าน ภาพถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2518
(ที่มา : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์)
นอกจากนิทานปรัมปราแล้ว ยังมีตำนานที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา คือ ตำนานอุรังคธาตุ หรือตำนานพระธาตุพนม เป็นวรรณกรรมทางพุทธศาสนาที่รวบรวมคติความเชื่อและวัฒนธรรมความเป็นมาของผู้คนสองฝั่งแม่น้ำโขงไว้ในรูปแบบหนังสือใบลาน เรียบเรียงขึ้นโดยพญาศรีไชยชมพูนั้น มีความบางตอนกล่าวถึง นาค ว่าพระพุทธเจ้าเสด็จผ่านสถานที่ต่างๆ บริเวณสองฝั่งแม่น้ำโขง หนึ่งในนั้นคือ “แคว้นศรีโคตรบูร” ที่ภูกำพร้าซึ่งเป็นที่ตั้งของพระธาตุพนม เมืองหนองหาน สกลนคร ที่นั่น พระพุทธเจ้าได้พบกับบรรดานาคที่มีฤทธิ์ พวกนาคไม่ยอมอ่อนน้อม ทำให้พระพุทธเจ้าต้องแสดงปาฏิหาริย์ปราบบรรดานาค ในที่สุดนาคก็ยอมรับนับถือพระพุทธศาสนา และก่อนที่พระพุทธองค์จะเสด็จกลับ นาคได้ทูลขอรอยพระพุทธบาทไว้เพื่อสักการบูชา พระพุทธองค์จึงประทับรอยพระพุทธบาทไว้ที่ภูกูเวียน ใกล้ปากถ้ำที่สุวรรณนาคอาศัยอยู่รอยหนึ่ง เชื่อกันว่าสถานที่นั้นคือ “วัดพระพุทธบาทบัวบก” ในจังหวัดอุดรธานี
อ่านเพิ่มเติมเรื่องนาคในตำนานอุรังคธาตุได้ในบทความ “นาค: ตำนานแห่งสายน้ำโขง” โดย ปราณี กล่ำส้ม ใน วารสารเมืองโบราณปีที่ 28 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มีนาคม 2545)
"นาค" ที่ปราสาทเมืองต่ำ อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ ภาพถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2517
(ที่มา : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์)
นอกจากนี้ยังมีเรื่อง “ศรีสัตตนาค : เมืองแห่งพญานาคปกปักรักษาเมือง” ซึ่งเป็นเมืองหลวงพระบาง ซึ่งทุกคนรู้จักกันทุกวันนี้ เป็นเมืองที่มีความสำคัญและมีชัยภูมิตั้งอยู่ติดริมแม่น้ำโขงและแม่น้ำคาน นับอายุของเมืองก็เป็นพันปี แต่เดิมเมืองนี้มีชื่อเรียกว่า “เมืองขวา เมืองเซ่า หรือเมืองซัว” และมีชื่อเป็นทางการว่า “เมืองศรีสัตนาคนหุต ล้านช้างร่มขาวหลวงพระบางราชธานี”
“ศรีสัตตนาค” เป็นชื่อของพญานาคที่ปกปักรักษาลำน้ำของเมืองหลวงพระบางมาแต่เดิม และด้วยความเชื่อแต่เก่าก่อนนั้น ระบบการปกครองดูแลของบ้านเมืองจะใช้หลักฮีตสิบสองคองสิบสี่ เป็นหลักปฏิบัติของบ้านเมืองที่ได้รวมเอาหลักทางศาสนาและความเชื่อเก่าแก่ของดินแดนแต่ละพื้นที่เอาไว้ ระบุว่า ในเดือนสิบสองของเมืองหลวงพระบางนั้น ได้กำหนดให้มีการทำบุญกองกฐิน (ทอดกฐิน) และการ “ส่วงเฮือ” หรือการแข่งเรือ ซึ่งจัดขึ้นเพื่อบูชาอุสุภนาคเจ้า 15 ตระกูล ด้วยมีความเชื่อว่าหากไม่ได้มีการ “ส่วงเฮือ” ถวายให้แก่พญานาคในลำนำ จะเกิดเหตุเภทภัยอันคาดไม่ถึงได้ ถือเป็นอีกหนึ่งตำนานเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องพญานาคในลุ่มน้ำโขงและดินแดนอารยธรรมอีสาน
อ่านเพิ่มเติมเรื่องตำนานศรีสัตตนาคได้ในบทความ “พญานาค: หลวงพระบาง” โดย รังสิทธิ จงฌานสิทโธ ใน วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 28 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มีนาคม 2545)