“ปรางค์ปู่จ่า” ร่องรอยวัฒนธรรมเขมรที่สุโขทัย

“ปรางค์ปู่จ่า” ร่องรอยวัฒนธรรมเขมรที่สุโขทัย

 

ออกเดินทางจากอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย มุ่งหน้าลงไปทางทิศใต้ราว 13 กิโลเมตร จะพบกับ เขาปู่จ่า เขาลูกโดดเตี้ยๆ ที่อยู่ทางทิศตะวันออกเชิงเขาหลวง เดินไต่เขาขึ้นไปไม่ทันได้เหงื่อ ก็ถึงยอดเขา และปรางค์ปู่จ่า ก็ตระหง่านชัดเจนอยู่เบื้องหน้า

 

เขาปู่จ่า ตั้งอยู่ฟากตะวันออกของเขาหลวง ทางทิศใต้ของอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย

 

“...การค้นพบปรางค์ปู่จ่าซึ่งเป็นงานศิลปสถาปัตยกรรมแบบเขมรที่สร้างบนภูเขาในบริเวณลุ่มน้ำยมแถบเมืองสุโขทัยนี้ มีความสำคัญยิ่ง เพราะถือเป็นหลักฐานอันแสดงถึงการแพร่ขยายเส้นทางจากศูนย์กลางอาณาจักรเขมรในที่ราบลุ่มทะเลสาบหรือเมืองพระนครหลวงของกัมพูชาขึ้นมาถึงลุ่มน้ำยม สันนิษฐานว่า โดยผ่านที่ราบสูงโคราชมาก่อนซึ่งมีเมืองลพบุรีหรือละโว้เป็นศูนย์กลางหลัก และใช้เส้นทางแม่น้ำเจ้าพระยา-น่าน-ยม ขึ้นมาจนถึงบริเวณภาคเหนือตอนล่างของไทย ขึ้นมาพบกับเส้นทางสายตะวันออก-ตะวันตกที่เชื่อมจากตังเกี๋ยเข้ามายังลุ่มน้ำโขง และพาดผ่านไปลงอ่าวมะตะบันที่พม่าซึ่งทำให้พื้นที่บริเวณลุ่มน้ำยมแถบนี้กลายเป็นชุมทางการค้า การคมนาคม และเติบโตขึ้น จนกระทั่งกลายเป็นชุมชนเมืองศูนย์กลางการปกครองในนามของอาณาจักรสุโขทัยในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 ดังปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีที่แสดงความสัมพันธ์กับอารยธรรมเขมรโบราณหลงเหลืออยู่ ดังตัวอย่างของปรางค์ปู่จ่าแห่งนี้ด้วย...”  (ประภัสสร์ ชูวิเชียร, 2555)

 

เส้นทางเดินขึ้นลงเขาในปัจจุบัน ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของภูเขา

 

โบราณสถาน "ปรางค์ปู่จ่า" ตั้งอยู่บนยอดเขา 

 

โบราณสถานปรางค์ปู่จ่า ตั้งอยู่ที่ความสูงราว 80 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ในเขตพื้นที่ตำบลนาเชิงคีรี อำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย ปรางค์ปู่จ่าเป็นอาคารทรงปราสาทหลังเดียว ตั้งบนฐานเตี้ยๆ มีประตูหลอก 3 ด้าน เป็นโบราณสถานที่ใช้อิฐเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้าง ส่วนยอดและผนังของปราสาทพังทลายลงแล้วซีกหนึ่ง แต่จากร่องรอยทางสถาปัตยกรรมที่หลงเหลือและโบราณวัตถุที่พบทำให้ทราบว่าโบราณสถานแห่งนี้เป็นศาสนสถานในศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศวนิกาย โดยได้รับอิทธิพลศิลปะเขมรสมัยบาปวน กำหนดอายุได้ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16 นั่นทำให้โบราณสถานแห่งนี้เป็นปราสาทศิลปะเขมรที่เก่าแก่ที่สุดของอาณาจักรสุโขทัย

 

 

 

ปรางค์ปู่จ่าได้รับการบูรณะขุดแต่งเมื่อปี พ.ศ. 2540 ผลจากการดำเนินงานทางโบราณคดีในครั้งนั้นทำให้ทราบว่า โบราณสถานเหนือยอดเขาปู่จ่าแห่งนี้ มีการใช้งานมาแล้วหลายช่วงสมัย

 

ระยะที่ 1       เป็นการปรับพื้นที่เหนือยอดเขา อัดพื้นด้วยกรวดและทราย ก่อนสร้างอาคารสี่เหลี่ยมย่อมุมทับลงไป กำหนดอายุได้ในช่วงก่อนพุทธศตวรรษที่ 16

 

ระยะที่ 2       มีการรื้อฐานอิฐของอาคารระยะแรกออกบางส่วน แล้วก่อแนวขอบเป็นแผงกั้นดิน ถมดิน ก่อนสร้างอาคารทับลงไป ซึ่งเป็นรูปแบบที่คล้ายกับการสร้างฐานปราสาทสามหลังเรียงกัน เช่น ที่ปราสาทสระกำแพงใหญ่ จังหวัดศรีสะเกษ และปราสาทนางรำ จังหวัดนครราชสีมา แต่ที่นี่ถูกปรับให้รองรับอาคารเพียงหลังเดียวเพื่อประดิษฐานรูปเคารพทางศาสนา โบราณวัตถุสำคัญที่พบ ได้แก่ ชิ้นส่วนรูปปั้นพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรศิลปะบาปวน กำหนดอายุได้ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16 และชิ้นส่วนรูปปั้นสตรีศิลปะนครวัด กำหนดอายุในช่วงพุทธศตวรรษที่ 17

 

แผนผังโบราณสถานปรางค์ปู่จ่าสมัยที่ 2 และ 3 ตามการแบ่งของกรมศิลปากร

 

ระยะที่ 3       มีการดัดแปลงพื้นที่ด้านหน้าของอาคาร โดยก่อก้อนหินเป็นคันกั้นโดยรอบก่อนถมบดอัดด้วยอิฐและหินแตกหัก ทั้งนี้ชิ้นส่วนหินที่ใช้เป็นวัสดุบดอัดนั้น พบชิ้นส่วนฐานรูปเคารพรวมอยู่ด้วย สันนิษฐานว่าอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงความเชื่อทางศาสนาก็เป็นได้ ด้านบนสุดอัดทับด้วยทรายละเอียด อาคารที่สร้างในสมัยนี้ สันนิษฐานว่าเป็นอาคารโถงแบบสุโขทัย เครื่องบนเป็นเครื่องไม้มุงกระเบื้อง มีแนวอาสนะสงฆ์ซึ่งก่อขนานไปกับแนวอาคารด้านทิศใต้  ทั้งนี้ยังได้พบโบราณวัตถุจำพวกเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หมิงร่วมกับเครื่องถ้วยพื้นเมืองจากเตาสุโขทัย-ศรีสัชนาลัยด้วย กิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระยะที่ 3 นี้ กำหนดอายุได้ในช่วงระหว่างพุทธศตวรรษที่ 18-21 ก่อนที่ศาสนสถานแห่งนี้จะถูกทิ้งร้างไปในสมัยต่อมา

 

       

โบราณสถานปรางค์ปู่จ่าในปัจจุบัน

 

อนัสพงษ์ ไกรเกรียงศรี ได้ทำการศึกษาและสันนิษฐานรูปแบบทางสถาปัตยกรรมของโบราณสถานปรางค์ปู่จ่าออกเป็น 2 สมัย คือ

 

สมัยที่ 1        มีการสร้างปรางค์ทับลงบนฐานรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเดิมซึ่งน่าจะเป็นฐานของอาคารไม้ มีฐานเขียงรูปสี่เหลี่ยมเกือบจัตุรัส กว้างจากฐานขององค์ปรางค์ราว 60 เซนติเมตร ยกพื้นสูง 1 เมตร มีบันไดทางขึ้นด้านทิศตะวันออกเพียงทางเดียว ส่วนเรือนธาตุมีลักษณะคล้ายอาคารรูปสี่เหลี่ยม มีการยกเก็จ 3 ระดับต่อเนื่องไปรับส่วนยอด กึ่งกลางเรือนธาตุด้านทิศตะวันออกเป็นซุ้มประตูสำหรับเข้าออกศาสนสถาน อีก 3 ด้านเป็นประตูหลอก เหนือช่องซุ้มประตูประดับด้วยซุ้มบันแถลง ส่วนยอดของโบราณสถานประกอบด้วยเรือนยอด 3 ชั้น คล้ายฐานปัทม์หรือฐานบัวหน้ากระดานลดขนาดซ้อนกันขึ้นไป ที่กึ่งกลางของเรือนยอดแต่ละชั้นประดับหน้าต่างหลอก และมีซุ้มบันแถลงอยู่เหนือขึ้นไป ที่มุมของฐานปัทม์ มียกเก็จยื่นออกมา 3 มุม ขนาดลดหลั่นกันขึ้นไปจนถึงฐานรองรับสูงสุดซึ่งประดิษฐานยอดอมรกะหรือหม้อน้ำ องค์พระปรางค์ในสมัยแรกนี้สันนิษฐานว่าสร้างในช่วงครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ 16 ด้วยศิลปะแบบบาปวน

 

สมัยที่ 2        กำหนดอายุได้ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 17 ในสมัยนี้มีการก่อมุขพอกด้านหน้า โดยก่อเป็นแนวผนังยื่นออกมาราว 3.5 เมตร นั่นทำให้ศาสนสถานแห่งนี้มีลักษณะคล้ายกลุ่มอาคารอโรคยศาลสมัยบายน สันนิษฐานว่าหลังคาที่คลุมมุขส่วนนี้น่าจะเป็นเครื่องไม้มุงด้วยกระเบื้องแบนแบบพื้นเมือง ไม่ประดับบราลีอย่างสถาปัตยกรรมเขมรสมัยบายนทั่วไป

 

 

 

โบราณสถานปรางค์ปู่จ่าได้รับประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2540 ศาสนสถานแห่งนี้ยังคงตั้งตระหง่านอยู่เหนือยอดเขาปู่จ่า มีผู้คนทั้งไกลและใกล้แวะเวียนไปเยี่ยมเยือนอยู่เสมอ ด้วยทำเลที่ตั้งอยู่ไม่ห่างจากอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยมากนัก จึงได้รับการผลักดันให้เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสายประวัติศาสตร์ด้วย ไม่เพียงเท่านั้น ศาสนสถานปรางค์ปู่จ่ายังไม่เคยร้างราจากชาวบ้านผู้ศรัทธาในพลังศักดิ์สิทธิ์ ดังมีการจัดงานบางสรวงบูชาปรางค์ปู่จ่าสืบเนื่องต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน

 

งานบวงสรวงเขาปู่จ่า โดยกลุ่มชาวบ้าน เจ้าหน้าที่ และข้าราชการในพื้นที่ตำบลนาเชิงคีรี (ที่มา : อบต.นาเชิงคีรี)

 

แหล่งอ้างอิง

ประภัสสร์ ชูวิเชียร. สุวรรณภูมิสโมสร. (ศุกร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555) 

อนัสพงษ์ ไกรเกรียงศรี. "การสันนิษฐานรูปแบบทางสถาปัตยกรรม ปรางค์ปู่จ่า ตำบลนาเชิงคีรี อำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย", วารสารวิชาการ ศิลปะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร, ปีที่ 9 ฉบับที่ 2 กรกฎาคม-ธันวาคม 2561, หน้า 170-181.

 


เกสรบัว อุบลสรรค์

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ