เสมาหินที่ ‘ดอนหินหลัก’ บ้านนาตาล อ.เต่างอย

เสมาหินที่ ‘ดอนหินหลัก’ บ้านนาตาล อ.เต่างอย

 

 

โบราณสถานดอนหินหลัก ณ บ้านนาตาล อำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของหมู่บ้านนาตาลและมีภูล้อมข้าวซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติภูพานโอบล้อมอยู่ ชื่อเรียก "ดอนหินหลัก" มีที่มาจากใบเสมาหินที่พบอยู่ในบริเวณนี้  

 

ในวงกลมคือบริเวณตำแหน่งที่ตั้งโบราณสถานดอนหินหลัก ห้อมล้อมด้วยทุ่งนาของชาวบ้าน

 

ป้ายบอกทางไปยังโบราณสถาน ซึ่งต้องเดินผ่านคันนาเข้าไป 

 

มีการทำรั้วล้อมรอบกั้นเป็นเขตพื้นที่โบราณสถาน

 

ป้ายโบราณสถานดอนหินหลัก องค์การบริหารส่วนตำบลนาตาล อำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร 

 

พื้นที่โบราณสถานนี้พบใบเสมาโบราณ จำนวน 8 ใบ โบราณสถานมีพื้นที่จำนวน 3 งาน 41 ตาราวา บริเวณที่แห่งนี้ได้รับการดูแลโดยสำนักศิลปากรที่ 8 ขอนแก่นและมีการสำรวจขึ้นทะเบียนไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยใบเสมาแต่ละใบวางกระจัดกระจายไม่ห่างกันนัก แต่ละใบมีความกว้างประมาณ 50 เซนติเมตร ความหนา 30 เซนติเมตร และสูงราว 1.5 เมตร ร่องรอยแกะสลักบนใบเสมาเป็นรูปกลีบบัวสันนิษฐานว่าเป็นใบเสมาหินสมัยทวารวดีราวพุทธศตวรรษที่ 15

 

 

ใบเสมาหินมีจำนวนทั้งหมด 8 ใบ วางกระจัดกระจายอยู่ บางหลักปักจมอยู่ในดินกว่าครึ่ง 

 

 

ตรงกลางใบเสมาสลักเป็นสันนูน ซึ่งเป็นรูปแบบที่พบแพร่หลายในภาคอีสาน 

 

ชาวบ้านในพื้นที่เล่ากันว่าบริเวณนี้เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ไม่มีใครกล้าเข้าไปหักร้างถางพงเพื่อทำกิจกรรมใด ใช้เป็นเพียงทางผ่านไปไร่นาเท่านั้น  ผู้เฒ่าผู้แก่ในพื้นที่ทราบกันมานานแล้วว่าที่บริเวณนี้มีใบเสมาตั้งอยู่แต่ก็ไม่ได้ให้ความสนใจ ซึ่งในวันที่ผู้เขียนเข้าไปสำรวจนั้น เห็นว่ามีการตั้งศาลและนำเครื่องเซ่นไหว้มาตั้งไว้ ณ ใบเสมาที่ตั้งพิงอยู่กับกอไผ่ใหญ่บนดอนแห่งนี้ ใบเสมาบางหลักล้มนอนอยู่และแตกหักเป็น 2 ชิ้น บางหลักปักจมอยู่ในดินกว่าครึ่ง 

                 

 

ชาวบ้านนำเครื่องเซ่นไหว้มาตั้งบูชาใบเสมาหิน ด้วยเชื่อว่าบริเวณนี้เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ 

 

ใบเสมาบางหลักล้มนอนอยู่และแตกหักเป็น 2 ชิ้น

 

เสมาหินแต่ละใบมีความกว้างประมาณ 50 เซนติเมตร ความหนา 30 เซนติเมตร และสูงราว 1.5 เมตร

 


เมธินีย์ ชอุ่มผล

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ