“เกลือ” ทองขาวแห่งแผ่นดินอีสาน

“เกลือ” ทองขาวแห่งแผ่นดินอีสาน

 

เกลือ (Salt) เป็นแร่ธาตุที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ เราใช้เป็นเครื่องปรุงแต่งรสอาหารและใช้ถนอมอาหารในรูปแบบการหมักดอง เพื่อเก็บรักษาไว้ได้ยาวนานขึ้น อีกทั้งเกลือยังมีสรรพคุณทางยาอีกด้วย ในประวัติศาสตร์โลกตั้งแต่ยุคโบราณ จะเห็นว่าเกลือเป็นวัตถุที่มีค่าสูงในกระบวนการแลกเปลี่ยน จนเกิดคำเปรียบเปรยเรียกเกลือว่า “ทองขาว (White Gold)” ซึ่งแหล่งที่สามารถผลิตเกลือได้นั้น ถือว่ามีแต้มต่อในการติดต่อแลกเปลี่ยนสินค้าจากภายนอก และส่งผลให้เกิดการขยายตัวของชุมชนบ้านเมืองและเส้นทางการค้า เกลือที่สามารถนำมาบริโภคได้มีชื่อทางเคมีว่าโซเดียมคลอไรด์ (NaCl) ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภทตามกระบวนการผลิต คือเกลือสมุทรและเกลือสินเธาว์

 

เกลือสมุทร  ผลิตจากน้ำทะเลที่นำมาขังไว้ แล้วปล่อยให้น้ำระเหยออกไปจนหมด เหลือไว้แต่ผลึกเกลือสีขาว แหล่งผลิตเกลือสมุทรที่สำคัญในประเทศไทยคือจังหวัดสมุทรสาครและสมุทรสงคราม เกลือสินเธาว์ ผลิตจากแหล่งแร่เกลือ  (Rock Salt) ที่อยู่ในดินหรือชั้นหิน ในประเทศไทยพบมากในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะแอ่งโคราชและแอ่งสกลนคร เช่น จังหวัดชัยภูมิ มหาสารคาม ยโสธร อุบลราชธานี อุดรธานี นครราชสีมา เป็นต้น กระบวนการผลิตมีทั้งการนำคราบเกลือบนผิวดินมาละลายน้ำ แล้วกรองกากตะกอนและเศษดินออกให้หมด ก่อนนำไปเคี่ยวจนเหลือแต่ผลึกเกลือสีขาว หรือใช้วิธีสูบน้ำจากบ่อน้ำเกลือใต้บาดาลขึ้นมาต้ม

 

 

 เกลือสีขาวโพลนปกคลุมทั่วบริเวณแหล่งเกลือที่บ้านด่านนอก อ. ด่านขุนทด จ. นครราชสีมา

 

สันนิษฐานว่าในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยเมื่อหลายล้านปีก่อน เคยเป็นส่วนหนึ่งของมหาสมุทรขนาดใหญ่ เมื่อมีการยกตัวของแผ่นเปลือกโลก ทำให้เกิดเป็นแอ่งขนาดใหญ่หรือทะเลสาบน้ำเค็ม เมื่อเวลาผ่านไปน้ำทะเลที่ค้างอยู่ในทะเลสาบค่อยๆ แห้งลง คงเหลือแต่ตะกอนเกลือและแร่ธาตุอื่นๆ ทิ้งไว้เป็นจำนวนมาก จนกลายเป็นแอ่งเกลือขนาดใหญ่ที่แอ่งโคราชและแอ่งสกลนคร อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม กล่าวว่า จากการสำรวจพื้นที่ภาคอีสานอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลา 40-50 ปีมานี้ สามารถกล่าวได้ว่า “แผ่นดินอีสานของไทยนั้นถือได้ว่าเป็น โดมเกลือที่ใหญ่ที่สุดในโลกก็ว่าได้” ซึ่งสอดคล้องกับหลักฐานทางโบราณคดีที่พบ ไม่ว่าจะเป็นกองเนินดินและเศษภาชนะดินเผาจำนวนมากกระจายตัวอยู่ในบริเวณลำน้ำยามและล้ำน้ำอูน ซึ่งลำน้ำทั้งสองสายจะไหลไปรวมกันที่แม่น้ำสงครามในเขตจังหวัดนครพนมและสกลนคร

 

กองเนินดินเหล่านั้นชาวบ้านเรียกกันว่า “โพนเกลือ” ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญที่บ่งบอกว่ามีการทำอุตสาหกรรมต้มเกลือขนาดเล็กจำนวนมากและต่อเนื่องยาวนาน นอกจากพื้นที่บริเวณนี้ในภาคอีสานโดยทั่วไปในฤดูแล้งนั้น เราจะสามารถสังเกตเห็นเกล็ดเกลือหรือละอองเกลือโผล่ขึ้นมาบนผิวดินได้โดยทั่วไป บริเวณบ้านด่านนอก อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา มีการทำอุตสาหกรรมต้มเกลือสินเธาว์เพื่อใช้บริโภคภายในและเป็นสินค้าที่ส่งไปซื้อขายแลกเปลี่ยนกับชุมชนภายนอกมาอย่างช้านาน  ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะเกิดอุตสาหกรรมผลิตเกลือขนาดใหญ่กระจายไปทั่วแผ่นดินภาคอีสาน  แต่ชาวบ้านที่บ้านด่านนอกยังคงใช้กรรมวิธีผลิตเกลือแบบดั้งเดิมไว้คือ การต้มเกลือ  หากเราสังเกตในพื้นที่จะเห็นกองดินที่ถูกพูนขึ้นมาเพื่อใช้วางกระทะต้มเกลือ และมีรางไม้ที่ทำจากไม้ตาลสำหรับใช้ล้างเกลือปรากฏให้เห็นอยู่ประปรายตามแหล่งน้ำขนาดใหญ่ในพื้นที่แถบนี้      

 

 “ขี้ทา” คราบเกลือที่แห้งเกรอะตามหน้าผิวดิน บางครั้งก็เรียกขี้กระทาหรือขี้กระทาเกลือ 

 

 อุปกรณ์การทำเกลือสินเธาว์ของชาวบ้าน จะถูกติดตั้งไว้ตามจุดต่างๆ ที่มีการต้มเกลือ ซึ่งชาวบ้านทำกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ

 

 รางเกลือทำจากต้นไม้เอามาถากเนื้อออกให้เป็นร่อง แล้วจะตักดินเอียด(ดินเค็ม) มาใส่ไว้ในราง

แล้วตักน้ำในบ่อน้ำเค็มที่ขุดเอาไว้มาใส่ แล้วขังทิ้งไว้เพื่อให้เกลือละลายออกมา ไหลลงไปยังที่กรองและบ่อน้ำเค็มอีกบ่อที่ขุดไว้ ก่อนจะตักเอาไปต้มต่อ

 

 กระบะใส่เกลือ

 

 บ่อน้ำเค็มที่กักเก็บน้ำเกลือที่กรองจากรางเกลือ

 

 เกลือส่วนที่เหลือจากการต้มและกรอง

 

 อุตสาหกรรมเกลือของทุนขนาดใหญ่ที่แอ่งโคราช จังหวัดนครราชสีมา

 

แหล่งอ้างอิง

จรัญญา วงษ์พรหม และคณะ. เกลืออีสาน... องค์ความรู้สู่ยุทธศาสตร์การจัดการอย่าง. ขอนแก่น : สถาบันวิจัยและพัฒนา, 2550.

ศรีศักร วัลลิโภดม บรรณาธิการ. วัฒนธรรมปลาแดก. โครงการประชุมสัมมนาวิชาการ โครงการเมธีวิจัยอาวุโส สกว. เรื่อง "วัฒนธรรมปลาแดก". สกลนคร : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยโครงการเมธีวิจัยอาวุโสสำนักงานสามัญศึกษาจังหวัดสกลนคร, 2551. 

ศรีศักร วัลลิโภดม. แอ่งอารยธรรมอีสาน. กรุงเทพฯ : มติชน, 2546. 


เมธินีย์ ชอุ่มผล

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ