การเปลี่ยนแปลงของวารสารเมืองโบราณ
ศรีศักรทัศน์

การเปลี่ยนแปลงของวารสารเมืองโบราณ

 

“...ยุคใหม่หรือ ยุคที่สาม ของวารสารเมืองโบราณ นอกจากเสนอความก้าวหน้าและท้าทายในเรื่องการวิเคราะห์ ตีความ หลักฐานทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี และศิลปวัฒนธรรม ดังเห็นจากการเปลี่ยนแปลงภาพหน้าปกวารสารที่เป็นรูปแผนผังเมืองโบราณสำคัญๆ ในเชิงจำลองภาพให้เห็นความเป็นเมืองและชุมชนที่มีชีวิต แลเห็นที่อยู่อาศัย สภาพแวดล้อมที่เป็นภูมิวัฒนธรรมและการจัดการน้ำ อย่างในลักษณะที่เห็นคนและการเคลื่อนไหว ทั้งบทความในเล่มก็เปลี่ยนแปลงจากการรับเรื่องของคนนอกที่เข้ามาเสนอ เป็นการให้โอกาสและฝึกฝนบุคลากรในมูลนิธิฯ ให้ออกไปทำการค้นคว้า เขียนรายงาน และเสนอบทความที่มาจากหลักฐานใหม่ ข้อมูลใหม่ ในการออกไปศึกษาตามท้องถิ่นต่างๆ ทว่า งานที่ออกไปศึกษาและเสนอเป็นบทความเหล่านี้ หาได้มาจากหลักฐานและเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี และศิลปวัฒนธรรมอย่างเดิมไม่ แต่เป็นเรื่องราวทางสังคม-วัฒนธรรม ที่สัมพันธ์กับอดีตอันใกล้ แลเห็นคน ชุมชน สถานที่ และภูมิวัฒนธรรมในเชิงชีวิตวัฒนธรรม..."

 

บางส่วนจากบทความเรื่อง  “การเปลี่ยนแปลงของวารสารเมืองโบราณ” ซึ่งเป็นงานเขียนในบทบรรณาธิการโดยอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ลงในวารสารเมืองโบราณ ปีที่ 42 ฉบับที่ 4 (ตุลาคม-ธันวาคม 2559) “สุพรรณภูมิ นครรัฐก่อนกรุงศรีอยุธยาบนลำน้ำสุพรรณ” มีเนื้อหาทั้งหมด ดังนี้...       

 

บรรดาบทความที่นำเสนอในวารสารเมืองโบราณยุคใหม่ ตั้งแต่ปีที่ 41 ฉบับที่ 1 มกราคม-มีนาคม 2558 เป็นต้นมาถึงปัจจุบัน คือสิ่งที่เกิดจากการเคลื่อนไหวทบทวนผลงานที่แล้วมาของคณะผู้จัดทำวารสาร โดยแบ่งการทำงานออกได้เป็น 3 ยุค

 

ยุคแรก เป็นเรื่องของการกู้ภัย (salvage program) ในเรื่องหลักฐานข้อมูลทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี และศิลปวัฒนธรรมที่ดำเนินไปกว่า 10 ปี เพราะในสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์  ธนะรัชต์ เป็นยุคแรกเริ่มของการพัฒนาเศรษฐกิจที่มีการสร้างถนนหนทาง อ่างเก็บน้ำ เพื่อพลังงานไฟฟ้า ขยายเขตบ้านเมืองและโครงการอุตสาหกรรมเข้าสู่ชนบท เป็นผลให้สภาพแวดล้อมทางประวัติศาสตร์และภูมิวัฒนธรรมของบ้านเมืองโบราณเปลี่ยนแปลงไปในลักษณะที่ทำให้หลักฐานทางโบราณคดี ประวัติศาสตร์ และศิลปวัฒนธรรมสูญหาย จนไม่แลเห็นรากเหง้าความเป็นมาทางสังคมและวัฒนธรรมในอดีต เพราะเป็นยุคที่แลไม่เห็นคุณค่าของหลักฐานทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี และศิลปวัฒนธรรมโดยแท้  งบประมาณ  กิจกรรมพัฒนาบ้านเมืองอันใด ก็ล้วนเป็นเรื่องเศรษฐกิจแทบทั้งหมด ทางเมืองโบราณจึงได้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อออกสำรวจ ค้นคว้า บันทึกบรรดาหลักฐานที่ถูกทอดทิ้งและเปลี่ยนแปลงไป เพื่อนำมาเก็บไว้สำหรับความจำเป็นของบ้านเมืองในยุคหลัง และออกวารสารเมืองโบราณ เพื่อนำหลักฐานเหล่านั้นมาเผยแพร่และวิเคราะห์ตีความเป็นบทความเชิงประวัติศาสตร์และสารคดี โดยกำหนดว่าบทความและเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี และศิลปวัฒนธรรมนั้น จะต้องมาจากการออกไปค้นคว้าแต่ละคราว แต่ละเล่ม และข้อมูลที่นำเสนอต้องเป็นสิ่งที่พบเห็นใหม่จากประสบการณ์ ไม่เน้นจากการอ้างอิงหรือเอาของเก่ามาเรียบเรียงใหม่

 

อาจารย์ น. ณ ปากน้ำ และอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม

ขณะออกสำรวจเก็บข้อมูลเพื่อจัดทำวารสารเมืองโบราณในยุคแรก 

(ที่มา: ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์) 

 

ผ่านมาถึง ยุคที่สอง หลังสมัยรัฐบาลทหารราว 20 ปีที่แล้วมา ทางบ้านเมืองให้ความสนใจกับการท่องเที่ยวเพียงเพื่อให้มีรายได้ทางเศรษฐกิจเข้าประเทศ จึงมีการสนับสนุนให้หน่วยงานทางราชการ เอกชน  และสถาบันการศึกษา เช่น มหาวิทยาลัย สนใจในด้านศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ โบราณคดี เป็นผลให้มีการค้นพบและค้นคว้าหลักฐานใหม่ๆ ขึ้นมาอีกมาก ทั้งยังมีบรรดาคนทั่วไป นักศึกษา และนักวิชาการออกมาค้นคว้าวิจัยเสนอเป็นเรื่องราวมากขึ้น รวมทั้งเกิดแหล่งอนุรักษ์ขึ้นมากมาย โดยเฉพาะแหล่งอนุรักษ์โบราณสถาน โบราณคดี เพื่อเป็นแหล่งมรดกโลก ในยุคนี้วารสารเมืองโบราณหยุดการออกไปค้นคว้าหาข้อมูล เก็บบันทึก และนำมาเขียนเป็นบทความอย่างที่แล้วมา แต่เปิดโอกาสให้นักวิชาการ ผู้รู้ และผู้สนใจจากภายนอกค้นคว้าเขียนมาเสนอในวารสารแทน ส่วนงานออกไปค้นคว้าเก็บข้อมูลแบบเดิมได้เปลี่ยนมาเป็นส่วนหนึ่งของคณะทำงานของมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ที่ทางเมืองโบราณจัดตั้งขึ้นเพื่อทำงานทางด้านสังคม-วัฒนธรรมให้กับชุมชนบ้านเมืองตามท้องถิ่นแทน เช่น ออกไปช่วยให้คำแนะนำในการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นโดยชุมชน และค้นคว้าประวัติศาสตร์สังคมแทน ซึ่งงานด้านใหม่ของวารสารและมูลนิธิฯ นั้น ไม่ให้น้ำหนักทางหลักฐานด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี และศิลปวัฒนธรรมแบบออกไปเก็บข้อมูลแล้วนำมาเขียนรายงานอย่างในยุคแรก  เพราะเมื่อมาถึงเวลานี้อยู่ในจุดอิ่มตัว ถ้าดำเนินต่อก็เท่ากับเอาของเก่ามาเวียนเทียนเสนอใหม่ อีกทั้งยังมีผู้สนใจที่เป็นนักศึกษา นักวิชาการ และผู้รู้ทำการสำรวจค้นพบและเขียนเป็นเรื่องราวกันมาก ดังพบเป็นประจำตามวารสาร นิตยสาร ทั้งด้านศิลปวัฒนธรรมและสารคดีที่เกิดขึ้นอย่างมากมาย แต่การศึกษาเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี ของคณะผู้จัดทำวารสารและมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ยังคงมีอยู่ แต่เป็นไปในลักษณะการวิเคราะห์ตีความให้เป็นบทความทางประวัติศาสตร์และมานุษยวิทยาแทน อันเป็นจุดเริ่มต้นของการเสนอบทความในยุคที่สาม คือ ยุคปัจจุบันในขณะนี้

 

ยุคใหม่หรือ ยุคที่สาม ของวารสารเมืองโบราณ นอกจากเสนอความก้าวหน้าและท้าทายในเรื่องการวิเคราะห์ ตีความ หลักฐานทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี และศิลปวัฒนธรรม ดังเห็นจากการเปลี่ยนแปลงภาพหน้าปกวารสารที่เป็นรูปแผนผังเมืองโบราณสำคัญๆ ในเชิงจำลองภาพให้เห็นความเป็นเมืองและชุมชนที่มีชีวิต แลเห็นที่อยู่อาศัย สภาพแวดล้อมที่เป็นภูมิวัฒนธรรมและการจัดการน้ำ อย่างในลักษณะที่เห็นคนและการเคลื่อนไหว ทั้งบทความในเล่มก็เปลี่ยนแปลงจากการรับเรื่องของคนนอกที่เข้ามาเสนอ เป็นการให้โอกาสและฝึกฝนบุคลากรในมูลนิธิฯ ให้ออกไปทำการค้นคว้า เขียนรายงาน และเสนอบทความที่มาจากหลักฐานใหม่ ข้อมูลใหม่ ในการออกไปศึกษาตามท้องถิ่นต่างๆ ทว่า งานที่ออกไปศึกษาและเสนอเป็นบทความเหล่านี้ หาได้มาจากหลักฐานและเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี และศิลปวัฒนธรรมอย่างเดิมไม่ แต่เป็นเรื่องราวทางสังคม-วัฒนธรรม ที่สัมพันธ์กับอดีตอันใกล้ แลเห็นคน ชุมชน สถานที่ และภูมิวัฒนธรรมในเชิงชีวิตวัฒนธรรม อันเป็นสิ่งที่มีพลวัตเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา  โดยย่อก็คือแลเห็นการเคลื่อนไหวไม่หยุดนิ่งในลักษณะที่เป็นศิลปวัฒนธรรมอย่างเคยเป็นมานั่นเอง ขณะเดียวกันแม้จะเป็นเรื่องที่เน้นวัฒนธรรมของผู้คนในปัจจุบัน ก็ไม่ใช่เรื่องแบบที่เป็นสารคดี หากเป็นเรื่องทางชาติวงศ์วรรณนา (ethnography) แลเห็นบริบททางสังคม (social context) ที่เห็นคนที่อยู่ร่วมกันในพื้นที่ที่เป็นชุมชนในปัจจุบัน การค้นคว้าและศึกษาในลักษณะนี้ต้องอาศัยคนในองค์กรของมูลนิธิฯ ที่เรียนรู้วิธีการและออกไปปฏิบัติงานตามท้องถิ่นอยู่เสมอ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูล ดังนั้นในการจัดทำวารสารในแต่ละเล่ม คณะผู้จัดทำจึงต้องออกไปเก็บข้อมูลใหม่ เพื่อนำมาเสนอเป็นคราวๆ ไป

 

อาจารย์ น. ณ ปากน้ำ และอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม 

ขณะออกสำรวจเก็บข้อมูลเพื่อจัดทำวารสารเมืองโบราณในยุคแรก 

(ที่มา: ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์) 

 

ย่านตลาดและความเป็นเมือง

ในยุคที่สามอันเป็นยุคใหม่ของวารสารเมืองโบราณขณะนี้ นอกจากการให้น้ำหนักความสำคัญกับการสร้างรูปจำลองเมืองโบราณสำคัญในประวัติศาสตร์ และการนำเอาหลักฐานทางโบราณคดี-ประวัติศาสตร์ มาบูรณาการให้แลเห็นพัฒนาการของสังคม จากบ้านเมืองเป็นรัฐ มณฑล และอาณาจักรแล้ว ยังให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งกับการค้นคว้าชุมชนบ้านเมืองตามท้องถิ่นต่างๆ ที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปเป็นสมัยใหม่ในยุคสังคมอุตสาหกรรม จนไม่เห็นร่องรอยรากเหง้าที่เคยมีมาแต่สมัยสังคมเกษตรกรรมแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ลงมา ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงในลักษณะถอนรากและทำลายรากเหง้าในอดีต ทั้งโครงสร้างทางศิลปวัฒนธรรมของสิ่งก่อสร้างทางศาสนา ทางโลก และภูมิวัฒนธรรม โดยเฉพาะสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นชุมชนเมืองที่มีมาแต่ครั้งรัชกาลที่ 3 ซึ่งในที่นี้เรียกว่า ย่านตลาด

 

ความเป็นเมืองในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์แต่ครั้งรัชกาลที่ 3 ลงมานั้น แตกต่างจากลักษณะเมืองในอดีตแต่สมัยทวารวดี ลพบุรี และอยุธยา เพราะไม่ได้เป็นเมืองแบบมีคูน้ำ คันดิน และป้อมปราการล้อมรอบ เพื่อป้องกันการรุกล้ำของข้าศึกศัตรู และความเป็นศูนย์กลางทางสัญลักษณ์ซึ่งอยู่ที่วัดและวัง หากอยู่ที่ตลาด ที่มีการแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้าทั้งอุปโภคบริโภค ตลาดสมัยก่อนรัชกาลที่ 3 เป็นเพียงส่วนย่อยของเมือง ซึ่งหลายแห่งเป็นชุมชนในพื้นที่ตามวันเวลาและโอกาสที่คนจะนำของมาขาย พอหมดเวลาแล้วก็แยกย้ายกันกลับไป แต่ตลาดครั้งรัชกาลที่ 3 ลงมานั้น เป็นตลาดถาวรที่มีร้านค้าเป็นที่ขายของและที่อยู่อาศัยของบรรดาพ่อค้าที่มีความหลากหลายทั้งอาชีพและชาติพันธุ์ เข้ามาอยู่ร่วมกันในลักษณะที่เป็นชุมชน (community) แบบชุมชนเมือง  รู้จักกันในลักษณะของย่านตลาดที่ในต่างประเทศเรียกว่า downtown เป็นพื้นที่ที่ไม่หยุดนิ่ง มีการเติบโตขยายตัวในบริเวณที่จำกัดตลอดเวลา จนเกิดภาวะความแออัด หากไม่มีการควบคุมในทางผังเมือง

 

โดยโครงสร้างกายภาพของย่านตลาดประกอบด้วยอาคาร ห้องแถวสองชั้นหรือชั้นเดียว เรียงรายอยู่สองฝั่งถนนสายเก่าของชุมชน เป็นทั้งที่อยู่อาศัยและร้านขายของของบุคคลที่ทำการค้า โดยเปิดด้านหน้าร้านเป็นที่ขายของ ด้านในและชั้นบนเป็นที่อยู่อาศัยของคนในครัวเรือน หน้าร้านมีทางเท้าให้ผู้คนที่สัญจรไปมาเข้ามาซื้อขาย ด้านหลังห้องแถวอาจเป็นที่โล่ง เป็นบริเวณที่มีบ้านเรือนกระจายกันอยู่ รวมทั้งมีพื้นที่สร้างศาลเจ้า วัดวาอาราม หรือมัสยิดของคนมุสลิม และมีพื้นที่สาธารณะที่ใช้ร่วมกันเป็นตลาดสด ขายของใช้ของกินในชีวิตประจำวันของคนในชุมชน บรรดาห้องแถวที่เรียงรายอยู่สองฝั่งถนนนี้ไม่อยู่ติดกันเป็นพืดเดียว หากมีช่องว่างที่เป็นตรอกเข้าไปยังบรรดาบ้านเรือนที่อยู่อาศัยทางหลังถนนและห้องแถว เป็นซอยเข้าไปยังตลาดสด วัด ศาลเจ้า โบสถ์ หรือมัสยิด ชุมชนเมืองถ้ามีการเติบโตขึ้นบริเวณย่านตลาด ห้องแถวสองฝั่งถนนก็จะมีการขยายตัวออกไปกว่าแต่เดิม มีการตัดถนนใหม่ผ่านเป็นสี่แยกและเกิดห้องแถวตามมา บางแห่งมีโรงเรียน สถานีอนามัย จนถึงโรงพยาบาลเกิดขึ้น

 

ย่านตลาดเป็นชุมชนเมืองที่แลเห็นชีวิตวัฒนธรรมที่มีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และแลเห็นโครงสร้างสังคมของคนหลากหลายอาชีพ ชาติพันธุ์และศาสนา ที่ระยะเวลาของการตั้งถิ่นฐานทำมาหากิน และอยู่อาศัยใกล้เคียงกัน ทำให้เกิดความสัมพันธ์ทางสังคม ประเพณี พิธีกรรม ตลอดจนกิจกรรมทางสังคมวัฒนธรรมอื่นๆ อย่างน้อยประมาณ 3-4 ชั่วอายุคน ทำให้เกิดประวัติศาสตร์และสำนึกร่วมของการเป็นคนในแผ่นดินเกิดแผ่นดินตายร่วมกัน ย่านตลาดจะไม่เกิดในชุมชนท้องถิ่นระดับบ้าน แต่จะพบในระดับตำบล อำเภอ และจังหวัด ย่านตลาดคือสิ่งที่คนตามชุมชนในท้องถิ่นเรียกว่า เมือง เช่น ในชีวิตประจำวันของคนในท้องถิ่นทักทายกันว่า “จะไปเมืองหรือเข้าเมือง” เพราะฉะนั้นความคิดและทัศนะในเรื่องเมืองจึงเปลี่ยนไปจากสมัยอยุธยาและกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นอย่างสิ้นเชิง 

 

คณะผู้จัดทำวารสารเมืองโบราณไม่ได้ให้ความสนใจในเรื่อง “เมือง” และ “ย่านตลาด” ดังกล่าว ทั้งในยุคแรกและยุคที่สองของการเก็บข้อมูลท้องถิ่น  โดยโครงการกู้ภัยยุคแรกเป็นเรื่องการสำรวจเก็บข้อมูลในเรื่องโบราณสถาน วัดวาอาราม และศิลปวัฒนธรรม ที่รวมถึงบ้านเรือนที่อยู่อาศัยตามท้องถิ่นในชนบท ส่วนในเมืองก็บันทึกข้อมูลอย่างเลือกเอาแต่เฉพาะตึกราม ห้องแถว บ้านเรือนแบบเก่าๆ ที่เป็นศิลปวัฒนธรรม หาได้ให้ความสนใจกับบริบททางสังคมและวัฒนธรรมของชุมชนแต่อย่างใด  ส่วนในยุคที่สองคือความหยุดนิ่งที่ไม่ใคร่ได้ออกทำงานภาคสนาม เป็นแต่เพียงรับเรื่องราวที่เขียนขึ้นโดยคนนอกมาเสนอเป็นวารสารแต่ละฉบับแต่ละเล่ม โดยไม่คำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมในยุคของการเปลี่ยนผ่านของบ้านเมืองจากสังคมเกษตรกรรมมาเป็นสังคมอุตสาหกรรมไม่ จนมาบัดนี้สังคมไทยเกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ เปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคสังคมอุตสาหกรรมอย่างเต็มที่ ทำให้บ้านเมืองรุ่นเก่า ย่านตลาดเก่า ที่มีมาแต่สมัยรัชกาลที่ 4-8 เปลี่ยนแปลงไปแบบถอนรากถอนโคน สภาพแวดล้อมและภูมิวัฒนธรรมก็เปลี่ยนไปจนหมดสิ้น ทำให้ต้องคิดเป็นการบ้านว่าจะต้องหันมาดำเนินการกู้ภัยสำหรับบ้านเมืองในย่านตลาดก่อนที่จะไม่มีโอกาสอีก เพราะการเปลี่ยนแปลงในเรื่องการรื้อถอนของเก่า สร้างของใหม่ กำลังเป็นไปอย่างรวดเร็วในทุกวันนี้

 

อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ร่วมงานเสวนาที่เวิ้งนาครเกษม กรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. 2554 

 

ตลาดเก่า เมืองเก่า ที่ถูกละทิ้ง

ช่วง 2-3 เดือนที่แล้วมา ข้าพเจ้าเริ่มงานนำร่องโดยสำรวจแหล่งชุมชนเมือง ย่านตลาดเก่า ตามท้องถิ่นต่างๆ ทั้งภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงให้เป็นเมืองใหม่ (urbanization) อย่างรวดเร็วกว่าภูมิภาคอื่นๆ พบย่านตลาดเก่าที่ยังมีร่องรอยของห้องแถว ตึกแถว และบ้านเรือนเหลืออยู่น้อยมาก หลายแห่งกำลังถูกรื้อถอนและแทนที่ด้วยอาคารพาณิชย์แบบตึกรามและศูนย์การค้าแบบใหม่อย่างรวดเร็ว จำเป็นต้องรีบดำเนินการสำรวจเก็บข้อมูลมานำเสนอให้เป็นสาระสำคัญอย่างหนึ่งในวารสารเมืองโบราณแต่ละฉบับในยุคใหม่

 

การเก็บข้อมูลย่านตลาดเก่าที่เป็นเมืองดังกล่าว จะไม่เป็นการเก็บข้อมูลในเชิงสารคดี แต่เป็นเชิงชาติวงศ์วรรณนา คือ ให้แลเห็นชาติพันธุ์และชุมชนทั้งในเรื่องโครงสร้างสังคม วัฒนธรรมที่เป็นชีวิตวัฒนธรรม ซึ่งแม้ว่าจะไม่มีเวลาและทุนรอนที่จะทำให้เห็นได้ทั้งหมด แต่เป็นการเลือกเฟ้นบริเวณและสถานที่ที่เหมาะสม เพื่อให้เป็นพื้นฐานของการศึกษาเชื่อมโยงให้เห็นภาพรวมต่อไป จากการสำรวจในระยะแรกเริ่มพบว่า บรรดาย่านตลาดเก่าที่เป็นเมืองแต่สมัยรัชกาลที่ 4-5 ส่วนใหญ่ถูกการขยายตัวของเมืองในปัจจุบันปิดล้อมด้วยถนน ตรอก ซอยใหม่เกือบแทบทุกด้าน บ้างกำลังถูกรื้อถอนและสร้างอาคารใหม่เป็นตึกเกิดขึ้นหลายชั้น รายล้อมไปด้วยคอนโดมิเนียมและอพาร์ตเมนต์ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของคนจากข้างนอกที่เข้ามาทำมาหากินหลายแห่ง

 

อย่างเช่นที่เมืองสัตหีบ อาคารและร้านรวงเก่าๆ รวมทั้งศาลเจ้าเหลือเพียงสองฝั่งของถนนเดิม ที่คนในเมืองอนุรักษ์ไว้เป็นถนนประวัติศาสตร์  เมืองพนมสารคาม อาคารไม้ห้องแถวสองชั้นกำลังถูกรื้อถอนและสร้างอาคารใหม่ขึ้นมาแทน  บ้านฉาง อันเป็นย่านตลาดเก่าชายทะเล ความเป็นเมืองถูกโยกย้ายไปอยู่ที่อื่น ทิ้งความเป็นบ้านเก่าเมืองเก่าอยู่ที่บ้านพยูน ที่มีถนนเดิมเรียงรายไปด้วยห้องแถวไม้สลับกับบ้านเรือนของคนบ้านฉางแต่เดิม เป็นต้น  เมืองชุมพร ย่านตลาดเก่าขยายตัวอย่างไม่มีระบบ ทำให้เหลืออาคารห้องแถว บ้านเรือน และสถานที่ประกอบการที่เป็นแบบเก่าเหลืออยู่ไม่กี่แห่ง ขณะที่หลังสวนที่เป็นเมืองในระดับอำเภอตั้งอยู่ริมลำน้ำหลังสวนก่อนไปออกทะเล มีบรรดาห้องแถวเรือนไม้ที่สวยงาม รวมทั้งตึกรามแบบเก่าก็ถูกปิดล้อมไปด้วยถนนหนทางและอาคารใหม่ๆ จนย่านเมืองเก่ากลายเป็นส่วนเล็กๆ ของเมืองไป ความเป็นเมืองประวัติศาสตร์ของหลังสวนก็คือ นอกจากเป็นเมืองอยู่ใกล้แม่น้ำแล้ว ยังเกิดขึ้นตามสถานีรถไฟ

 

เช่นเดียวกับเมืองอื่นๆ อย่างที่ไชยาและพัทลุง ในท้องถิ่นที่เป็นชายทะเล มีอ่าวเว้าเข้ามา เกิดเป็นชุมชนท่าเรือจอดหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นบางปลาสร้อย บางละมุง ได้กลายเป็นเมืองใหญ่โตที่กลืนกลบย่านตลาดที่เป็นรากเหง้าของความเป็นเมืองในระยะเริ่มแรกจนหมดสิ้น จะมีบางแห่งที่คนในท้องถิ่นย่านตลาดซึ่งสืบต่อกันมาแต่รุ่นแรกๆ จนรุ่นลูกหลานที่ยังมีสำนึกในรากเหง้า หันมาสนใจอนุรักษ์บ้านเก่าเมืองเก่าของตนไว้ เช่น ตลาดท่าเรือเมล์สามชุกในจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นต้น ที่แสดงให้เห็นว่าการจะอนุรักษ์ฟื้นฟูและพัฒนาความเป็นชุมชนเก่าแก่ของตนได้นั้น เป็นเรื่องที่คนในชุมชนที่อยู่ต่อมาและเป็นลูกหลานต้องทำเอง  ปัจจุบันเริ่มมีคนรุ่นใหม่ในย่านตลาดเก่าเกิดสำนึกในประวัติศาสตร์ของชุมชนขึ้นมาพอสมควร แต่ทำไม่ได้เช่นที่สามชุก เพราะบรรดาบ้านเรือนอยู่อาศัยและร้านค้าที่ทำให้แลเห็นอดีตนั้นหมดสิ้นไปแล้ว แต่หลายแห่งก็ยังไม่สิ้นหวัง พยายามสอบค้นหาภาพถ่ายเก่าและคำบอกเล่ามาใช้เพื่อฟื้นฟูความเป็นชุมชนเก่าแก่ ดังเห็นได้จากการอนุรักษ์อาคารบางแห่งในพื้นที่ให้เป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง ที่จะทำให้คนรุ่นใหม่ได้รู้จักอดีตรากเหง้าของตนเอง

 

งานนำร่องในการออกไปเก็บข้อมูลย่านเก่าตลาดเก่า เมืองเก่า ที่เป็นโครงการกู้ภัยของคณะผู้จัดทำวารสาร ที่จะทำควบคู่ไปกับการเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับเมืองโบราณประวัติศาสตร์ที่ทำขึ้นในยุคนี้ ก็คือความพยายามที่จะค้นคว้าไว้ให้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์สังคม ซึ่งในภายหน้าคนรุ่นใหม่ตามย่านเมืองเก่าที่ปัจจุบันกลายเป็นเมืองใหม่ไปแล้วนั้น จะได้นำไปใช้เป็นหลักฐานข้อมูลในการสร้างพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งของย่านเก่า เป็นบ้านเกิดเมืองนอนของตนว่ามีมาเช่นใด...