“...ข้าพเจ้าและบิดาคือ อาจารย์มานิต วัลลิโภดม ได้เคยเสนอเป็นเรื่องราวจากหลักฐานทางโบราณคดีที่เป็นร่องรอยและตำแหน่งเมืองโบราณสำคัญไปแล้วกว่า 30 ปี ที่ว่าแท้จริงเมืองพระนครศรีอยุธยานั้น เป็นเมืองใหม่ที่ย้ายมาจากเมืองอโยธยาเก่าซึ่งอยู่ฟากแม่น้ำทางตะวันออกของเมืองพระนครศรีอยุธยาปัจจุบัน นักวิชาการรุ่นใหม่หลายคนเริ่มเห็นด้วยว่าทางตะวันออกของเมืองพระนครศรีอยุธยามีเมืองเก่าอยู่จริง เพราะมีโบราณสถานขนาดใหญ่ คือ พระวิหารและพระพุทธไตรรัตนนายกที่วัดพนัญเชิงใกล้ปากน้ำแม่เบี้ย เป็นพระพุทธรูปแบบอู่ทองที่มีมาก่อนสมัยการสร้างพระนครศรีอยุธยากับสมัยอยุธยาตอนต้น และมีพระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ อันเป็นพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาที่มีความน่าเชื่อถือได้มากที่สุดระบุว่า พระพุทธรูปองค์นี้และวัดสร้างมาก่อนการสร้างพระนครศรีอยุธยา 26 ปี...”
บทความ “อโยธยาศรีรามเทพนคร”
โดย อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม
ตีพิมพ์ใน วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 43 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มีนาคม 2560) “อโยธยาศรีรามเทพนคร”
การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมของรัฐและบ้านเมือง จากยุคที่รุ่งเรืองของสหพันธรัฐ (มณฑล) ทวารวดีที่อยู่บนพื้นแผ่นดินใหญ่ และศรีวิชัยที่อยู่บนคาบสมุทรและหมู่เกาะของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เกิดขึ้นแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมา อันเนื่องมาจากเหตุสำคัญทางเศรษฐกิจและการเมืองที่ศาสตราจารย์ โอ. ดับเบิลยู. วอลเตอร์ส (O. W. Wolters) นักประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้คนสำคัญซึ่งกล่าวว่า เป็นการสิ้นสุดอำนาจทางทะเลของศรีวิชัยที่ถูกทำลายโดยการรุกรานของอาณาจักรโจฬะทมิฬทางตอนใต้ของอินเดีย ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกของมหาสมุทรอินเดีย ทำให้ฐานะของรัฐทางทะเลที่เป็นคนกลางผูกขาดสินค้าที่มาจากดินแดนโพ้นทะเล จนมีความมั่งคั่งร่ำรวยกว่ารัฐและอาณาจักรต่างๆ ในภูมิภาค ถูกจีนยกเลิกการค้าขายผ่านศรีวิชัย หันไปค้าขายกับบ้านเล็กเมืองน้อยตามท้องถิ่นในภูมิภาค ทำให้เกิดการรวมตัวของผู้คนในท้องถิ่นต่างๆ ก่อตั้งเป็นเมืองเป็นรัฐใหม่ๆ ขึ้น ความคิดเห็นของอาจารย์วอลเตอร์ดังกล่าว ข้าพเจ้าคล้อยตามด้วยเป็นอย่างยิ่ง เพราะสอดคล้องกับการสำรวจค้นคว้าและศึกษาชุมชนที่เป็นเมืองโบราณในดินแดนประเทศไทย ซึ่งได้ทำมาเป็นเวลานาน เพราะบรรดาบ้านเมืองใหญ่ๆ ที่พัฒนาขึ้นเป็นนครรัฐนั้น มักพบตามเส้นทางการคมนาคมค้าขายแทบทั้งสิ้น โดยเฉพาะบ้านเมืองและรัฐแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 17-18 เป็นต้นมา
แผนที่ภาพวาด "อโยธยาศรีรามเทพนคร" โดย สุทธิชัย ฤทธิ์จตุพรชัย
นครรัฐหลังการสิ้นอำนาจของศรีวิชัย
เห็นได้จากพัฒนาการของรัฐสุโขทัยในพื้นที่ภาคกลางตอนบน หรืออีกนัยหนึ่งลุ่มน้ำปิง วัง ยม น่านตอนล่าง อาณาบริเวณนี้ไม่เคยเกิดเป็นเมืองใหญ่หรือเป็นนครรัฐมาก่อนพุทธศตวรรษที่ 18 แม้ว่าจะพบร่องรอยชุมชนในระดับบ้านและเมืองเล็กตามแหล่งทรัพยากรแร่ธาตุและของป่ามาแต่สมัยก่อนทวารวดีและสมัยทวารวดีแล้วก็ตาม จนกระทั่งพุทธศตวรรษที่ 17 จึงมีพัฒนาการของเส้นทางการค้าจากบ้านเมืองและรัฐทางเหนือในลุ่มน้ำปิง วัง ยม น่าน ตอนบน ที่มีรัฐหริภุญชัยดำรงอยู่แต่สมัยทวารวดีลงมา กับบ้านเมืองและรัฐใหญ่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาสมัยทวารวดี นับเป็นเส้นทางผ่านจากเหนือลงใต้มาออกทะเลที่อ่าวไทย ตัดผ่านกับเส้นทางตะวันตก-ตะวันออกที่เชื่อมต่อทะเลในอ่าวเบงกอลของมหาสมุทรอินเดีย มาออกฝั่งทะเลจีนทางตะวันออกในประเทศเวียดนามตอนบน เส้นทางการค้านี้อาจเรียกได้ว่าเป็น East-West corridor ในปัจจุบัน เส้นทางนี้มีบันทึกให้เห็นในจารีตและตำนานพงศาวดารของบรรดาบ้านเมืองที่เกิดขึ้นบนเส้นทางการค้า เช่น จารึกสุโขทัยหลักที่ 1 และตำนานมะกะโท ชาวมอญจากเมาะตะมะที่เข้ามาค้าขายในเมืองสุโขทัย เป็นต้น
ส่วนเส้นทางจากเหนือลงใต้ที่สำคัญ คือ การติดต่อระหว่างรัฐหริภุญชัยทางภาคเหนือมาตามลำน้ำปิง ผ่านนครสวรรค์มาลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบนยังกลุ่มเมืองทวารวดีที่เป็นเมืองท่าตามลำน้ำต่างๆ ในดินดอนสามเหลี่ยมเก่า (Old Delta) ที่มีการค้าขายกับบ้านเมืองภายนอกโพ้นทะเล ซึ่งบรรดาเมืองเหล่านี้มีทั้งเมืองเก่าสมัยทวารวดีที่ตั้งอยู่บนเส้นทางน้ำ ซึ่งยังสามารถเดินเรือจากอ่าวไทยเข้ามาค้าขายได้ เช่น เมืองละโว้ เป็นต้น ในขณะเมืองเก่าที่ทางน้ำตื้นเขินและเปลี่ยนทางเดิน เช่น เมืองนครชัยศรี เมืองอู่ทอง เมืองคูบัว เมืองอู่ตะเภา ริมลำน้ำหางสาคร และเมืองอินทร์บุรีเก่าบนลำน้ำแม่ลา เกิดเมืองใหม่ขึ้นมาแทนในพุทธศตวรรษที่ 18-19 ซึ่งเมืองใหญ่ที่เป็นนครรัฐในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 ตอนปลายและพุทธศตวรรษที่ 19 ก็คือ เมืองสุพรรณภูมิบนลำน้ำท่าจีน เมืองราชบุรี เมืองเพชรบุรี เมืองแพรกศรีราชาบนลำน้ำน้อย และเมืองอโยธยาบนลำน้ำป่าสัก
นอกจากเกิดบ้านเมืองใหม่บนเส้นทางการค้าทั้งทางบกและทางน้ำไปออกทะเลดังกล่าว ก็ยังมีหลักฐานหลายอย่างทั้งทางโบราณคดีและเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่แลเห็นการเคลื่อนย้ายของผู้คนหลายชาติพันธุ์ ศาสนาและวัฒนธรรม เข้ามาตั้งถิ่นฐานตามเมืองใหม่ที่เกิดขึ้น และมีการผสมผสานทางสังคมวัฒนธรรมกับผู้คนในบ้านเมืองเก่าที่มีมาก่อนแล้ว กลุ่มชาติพันธุ์ใหญ่ที่นับได้ว่าเป็นชนชาติที่สำคัญก็คือ ชนชาติไท-ลาว ที่ทำให้เกิดการใช้ภาษาไทยเป็นภาษาสำคัญในการสื่อสารกันทางสังคมและเศรษฐกิจแทนภาษาในตระกูลภาษามอญ-เขมรที่ใช้อยู่เดิม ผลจากการเคลื่อนย้ายของคนกลุ่มชาติพันธุ์ใหม่ โดยเฉพาะชนชาติไท-ลาวที่เข้ามาในดินแดนประเทศไทย และทำให้เกิดบ้านเมืองใหม่ๆ ที่ใช้ภาษาไทยเป็นสื่อกลางแทนภาษาเก่า เกิดพื้นที่ทางวัฒนธรรมและการเมืองใหม่ขึ้นในรูปของเทศะหรือประเทศ พื้นที่ทางวัฒนธรรมและการเมืองที่มีมาก่อนและปรากฏเป็นลายลักษณ์ก็คือ กัมพูชาเทศะ ที่หมายถึงเขตแดนกว้างใหญ่ของอาณาจักรในกัมพูชาที่เข้ามาถึงเมืองเสมา อันเป็นเมืองสำคัญในแว่นแคว้นศรีจนาศะ ดังปรากฏในศิลาจารึกสมัยพุทธศตวรรษที่ 14 ว่า เป็นดินแดนนอกเขตกัมพูชาเทศะ ซึ่งหมายความว่า พื้นที่ในลุ่มน้ำมูลตอนล่างและลุ่มน้ำเจ้าพระยาก็รวมอยู่ในดินแดนนอกพื้นที่ทางวัฒนธรรมและการเมืองของขอมเมืองพระนคร ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมา
ดินแดนในประเทศไทยดังกล่าวถูกเรียกว่า สยามเทศะ หรือสยามประเทศ ซึ่งปรากฏในจดหมายเหตุจีน สมัยราชวงศ์ซ่ง หยวน และหมิง ตามลำดับ รวมทั้งจารึกนครวัดในสมัยของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ที่กล่าวถึงกองทหารที่ไปจากเสียม (สยาม) และละโว้ในพุทธศตวรรษที่ 18 ทั้งสองแห่ง ละโว้และเสียมต่างก็อยู่ในภาคกลางของประเทศไทยเหมือนกัน จนในพุทธศตวรรษที่ 19 จดหมายเหตุจีนในราชวงศ์หมิงกล่าวว่า เสียมก๊กและหลอฮกก๊กได้รวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน สอดคล้องกันกับหลักฐานในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาที่ว่า สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 (พระเจ้าอู่ทอง) ทรงเป็นพระราชบุตรเขยของพระมหากษัตริย์แห่งสุพรรณภูมิ ข้อความดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า เสียมหมายถึงสุพรรณภูมิ ในขณะที่จีนยังเรียกทางหลอฮกหรือละโว้อยู่ ทั้งๆ ที่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19 นั้น หมายถึงกรุงศรีอยุธยา และพระมหากษัตริย์ผู้ครองรัฐนี้ก็มี 2 ราชวงศ์ผลัดกันปกครองในลักษณะของการกินดองกันทางเครือญาติ จนกระทั่งปลายพุทธศตวรรษที่ 20 ลงมา แต่สมัยสมเด็จพระนครินทราธิราชแห่งราชวงศ์สุพรรณภูมิ ได้ครองอำนาจเป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาแต่พระราชวงศ์เดียว ในขณะที่กษัตริย์ราชวงศ์ละโว้แตกไปอยู่ทางเมืองพระนครหรือกัมพูชาแทน ทำให้เกิดสงครามกับเมืองพระนครระหว่างสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) แห่งราชวงศ์สุพรรณภูมิ กับอาณาจักรเมืองพระนครที่เกี่ยวดองกับพระมหากษัตริย์ราชวงศ์ละโว้ จนในที่สุดกองทัพสยามจากกรุงศรีอยุธยาก็ตีเมืองพระนครแตก กวาดต้อนเทครัวผู้คน ขุนนาง และชีพราหมณ์ รวมทั้งสมบัติที่มีค่าควรเมืองมายังพระนครศรีอยุธยา ทำให้กษัตริย์ทางเมืองพระนครต้องย้ายเมืองสำคัญไปตั้งใหม่ริมแม่น้ำโขงในเขตพนมเปญ ดังมีกล่าวถึงใน ลิลิตยวนพ่าย อันเป็นวรรณคดีสำคัญในสมัยอยุธยาตอนกลาง คือในพุทธศตวรรษที่ 21 ว่า
“ปางเทนคเรศเรื้อ ยังกรุง
พระนครอโยทธยา ยิ่งฟ้า”
เจดีย์วัดพระแก้ว เมืองสรรค์บุรี จังหวัดชัยนาท ซึ่งเป็นเจดีย์ทรงระฆังบนฐานแปดเหลี่ยมแบบสุพรรณภูมิ
ด้วยอาณาบริเวณนี้เป็นเมืองแพรกศรีราชาในอดีต อันเป็นนครรัฐคู่ของสุพรรณภูมิ
สยามประเทศ
วรรณคดี ลิลิตยวนพ่าย แต่งขึ้นในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 เพื่อสรรเสริญพระเกียรติของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ผู้ทรงเป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) ซึ่งไม่เพียงผนวกกัมพูชาไว้ในราชอาณาจักรเท่านั้น หากยังสามารถรวมเมืองและแคว้นสุโขทัยเข้าไว้ในราชอาณาเขตของกรถุงศรีอยุธยา และในสมัยพระบรมไตรโลกนาถยังผนวกแคว้นนครศรีธรรมราชทางใต้ไว้ด้วย ทำให้กรุงศรีอยุธยากลายเป็นศูนย์กลางราชอาณาจักรของดินแดนสยามประเทศที่แผ่กว้างไปถึงแหลมมลายู ซึ่งมีเมืองสำคัญอยู่ที่มะละกา จนในพุทธศตวรรษที่ 21 เมื่อมีความเจริญทางการค้าทั้งทางบกและทางทะเลเกิดขึ้น บรรดาคนจากภายนอกต่างเรียกดินแดนที่มีกรุงศรีอยุธยาเป็นศูนย์กลาง หรืออีกนัยหนึ่งเป็นราชธานีว่า เมืองสยาม หรือสยามประเทศ เป็นดินแดนที่ผู้คนในพระราชอาณาจักรถูกเรียกว่าเป็น “คนสยาม” และใช้ภาษาไทยเป็นภาษากลางในการสื่อสาร และผู้คนในสยามประเทศเรียกตนเองว่าเป็น “คนไทย” อันเนื่องมาจากการใช้ภาษาไทยเป็นภาษาสำคัญ
ความเป็นประเทศสยามอันมีกรุงศรีอยุธยาเป็นศูนย์กลางแต่ปลายพุทธศตวรรษที่ 20 ลงมานี้ เป็นดินแดนร่วมสมัยกับบ้านเมืองและผู้คนต่างชาติพันธุ์และภาษาโดยรอบ คือ เมืองมอญหรือรามัญประเทศทางตะวันตก เมืองมลายูบนคาบสมุทรทางใต้และเกาะสุมาตรา ที่ใช้ภาษามาเลย์เป็นภาษาสำคัญ นั่นคือ มลายู หมายถึงดินแดน ในขณะที่ผู้คนในทางชาติพันธุ์และภาษาคือ มาเลย์ ส่วนทางตะวันออกเป็นกัมพูชาเทศะ ที่มีผู้คนใช้ภาษาเขมรเป็นภาษาสำคัญ ส่วนทางเหนือตั้งแต่เขตแคว้นสุโขทัยขึ้นไปถึงแคว้นล้านนา ผู้คนเป็นชาติพันธุ์ไท-ลาวที่ใช้ภาษาไทยเป็นสื่อกลางเช่นเดียวกัน นับเป็นบ้านเมืองและผู้คนในดินแดนที่เรียกว่า สยามประเทศ เช่นเดียวกันกับผู้คนทางภาคกลางในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่นอกจากมีคนในชาติพันธุ์ไทเคลื่อนย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานแล้ว ยังมีคนในชาติพันธุ์อื่นในแคว้นยูนนาน กวางตุ้ง กวางสี ทางตอนใต้ของจีน เดินทางเข้ามาค้าขายทางทะเลและเข้ามาตั้งถิ่นฐาน ขณะเดียวกันก็มีการลี้ภัยทางการเมืองของคนจีนในสมัยราชวงศ์ซ่งเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเวลาไล่เลี่ยกัน ทั้งหลายที่กล่าวมานี้ คือสิ่งที่เสริมให้ความเป็นบ้านเมืองซึ่งเกิดใหม่แต่พุทธศตวรรษที่ 17 ลงมานั้น แตกต่างไปจากผู้คนและบ้านเมืองที่มีมาแต่สมัยทวารวดี การเคลื่อนย้ายของผู้คนจากตอนใต้ของจีนเข้ามาทางทะเลดังกล่าว สะท้อนให้เห็นจากบรรดาตำนานเมืองและตำนานสถานที่ในท้องถิ่นต่างๆ ใกล้ทะเล ที่กล่าวถึงลูกกษัตริย์จีนเข้ามาตั้งถิ่นฐานและขอแต่งงานกับลูกสาวของผู้นำท้องถิ่น เช่น ตำนานนางนงประจันต์ และเขาจีนโจนจีนแลของเมืองลพบุรี ตำนานตาม่องล่ายกับนางยมโดยของบริเวณรอบอ่าวไทย แต่ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ ตำนานท้าวอู่ทอง ที่เกี่ยวข้องกับเมืองอโยธยา เมืองเพชรบุรี และนครศรีธรรมราช รวมทั้งท้องถิ่นอื่นที่สัมพันธ์กับถนนท้าวอู่ทอง เป็นต้น
เจดีย์ประธานที่วัดจงกลมในทุ่งขวัญ นอกเกาะเมืองอยุธยา มีลักษณะไม่แตกต่างจากเจดีย์วัดพระแก้ว สรรคบุรี
อาจสร้างร่วมสมัยเดียวกัน ด้วยพบร่องรอยการบูรณะด้วยการพอกองค์เจดีย์เดิม
ความโดดเด่นอีกอย่างหนึ่งของบรรดาบ้านเมืองที่เกิดใหม่แต่พุทธศตวรรษที่ 17 ขึ้นมานี้ ก็คือการเปลี่ยนแปลงทางศาสนา ความเชื่อ และประเพณี พิธีกรรม ที่ไม่เหมือน อันสะท้อนให้เห็นจากศาสนสถานและบรรดาศิลปะในงานสถาปัตยกรรม รวมถึงสิ่งที่เป็นวัตถุทางสัญลักษณ์ทั้งพุทธและฮินดู ศาสนาและความเชื่อเดิมที่เคยเป็นพุทธเถรวาทและมหายานค่อยๆ ถูกแทนที่โดยพุทธศาสนาเถรวาทที่ส่งอิทธิพลมาจากศรีลังกา ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองโปโลนนารุวะ เป็นลัทธิศาสนาที่รู้จักในนามว่า “ลังกาวงศ์” บรรดาเมืองสำคัญที่เป็นศูนย์กลางของนครรัฐซึ่งพัฒนาขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 19 คือตั้งแต่ปลายพุทธศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา ไม่ว่าสุโขทัย สุพรรณภูมิ อโยธยา ราชบุรี เพชรบุรี แพรกศรีราชา ล้วนเป็นนครเกิดขึ้นใหม่ที่มีผู้คนพลเมืองหลากหลายทางชาติพันธุ์ เป็นเมืองบนเส้นทางการคมนาคมค้าขายที่มีกษัตริย์ราชวงศ์ใหม่ ศาสนาใหม่ มีวัดวาอารามแบบใหม่ ที่ได้อิทธิพลพุทธศาสนาลังกาวงศ์ และทุกเมืองมีการใช้ภาษาไทยเป็นภาษากลางในการสื่อสารด้านเศรษฐกิจและสังคม นอกนั้นยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่สังเกตได้ชัดเจนก็คือ ความเป็นนครรัฐในยุคพุทธศตวรรษที่ 18-19 นี้ แต่ละรัฐจะประกอบด้วยเมืองหลวงและเมืองลูกหลวงที่ครอบคลุมพื้นที่ลุ่มน้ำ ซึ่งมีแม่น้ำใหญ่เป็นเส้นทางคมนาคมทางน้ำที่มีการขนส่งทางเรือได้อย่างสะดวกสบาย ดังเช่นเมืองสุโขทัยและศรีสัชนาลัย เมืองราชบุรีและเมืองเพชรบุรี เมืองสุพรรณภูมิและเมืองแพรกศรีราชา เมืองละโว้และอโยธยา เป็นต้น
นครรัฐคู่
ในบรรดานครรัฐที่เป็นคู่ข้างต้น เมืองที่เป็นปัญหาทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญก็คือ เมืองอโยธยา ซึ่งต่อมาพัฒนาเป็นพระนครศรีอยุธยาในพุทธศตวรรษที่ 19 ตอนปลาย ทั้งนี้เพราะทั้งนักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่และผู้คนโดยทั่วไปยังยึดมั่นอยู่กับความเชื่อเดิม ที่นักประวัติศาสตร์ต่างชาติรุ่นเก่าและนักประวัติศาสตร์ไทยที่เชื่อตามการเขียนประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยาโดยสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพที่ว่า กรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองที่เกิดใหม่ใน พ.ศ. 1893 สร้างขึ้นโดยพระเจ้าอู่ทอง ผู้ทรงทิ้งเมืองอู่ทองในลุ่มน้ำสุพรรณบุรีย้ายมาสร้างเมืองใหม่ที่หนองโสนในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ข้าพเจ้าและบิดาคือ อาจารย์มานิต วัลลิโภดม ได้เคยเสนอเป็นเรื่องราวจากหลักฐานทางโบราณคดีที่เป็นร่องรอยและตำแหน่งเมืองโบราณสำคัญไปแล้วกว่า 30 ปี ที่ว่าแท้จริงเมืองพระนครศรีอยุธยานั้น เป็นเมืองใหม่ที่ย้ายมาจากเมืองอโยธยาเก่าซึ่งอยู่ฟากแม่น้ำทางตะวันออกของเมืองพระนครศรีอยุธยาปัจจุบัน นักวิชาการรุ่นใหม่หลายคนเริ่มเห็นด้วยว่าทางตะวันออกของเมืองพระนครศรีอยุธยามีเมืองเก่าอยู่จริง เพราะมีโบราณสถานขนาดใหญ่ คือ พระวิหารและพระพุทธไตรรัตนนายกที่วัดพนัญเชิง ใกล้ปากน้ำแม่เบี้ย เป็นพระพุทธรูปแบบอู่ทองที่มีมาก่อนสมัยการสร้างพระนครศรีอยุธยากับสมัยอยุธยาตอนต้น และมี พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ อันเป็นพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาที่มีความน่าเชื่อถือได้มากที่สุด ระบุว่า พระพุทธรูปองค์นี้และวัดสร้างมาก่อนการสร้างพระนครศรีอยุธยา 26 ปี แต่ก็ยังมีนักประวัติศาสตร์บางท่านโต้แย้งว่า ชื่อเมืองอยุธยาเป็นชื่อที่เกิดขึ้นพร้อมกันกับพระนครศรีอยุธยา และชื่อเมืองอโยธยาก็คืออยุธยานั่นเอง ข้าพเจ้าไม่ติดใจที่จะโต้แย้งในเรื่องนี้ เพราะก็เชื่อว่าคำว่า อโยธยา และ อยุธยา นั้น ใช้สลับกันหรือแทนกันได้ แต่เห็นว่าทั้งคำว่าอโยธยาและอยุธยาในฐานะเป็นชื่อเมืองประวัติศาสตร์นี้ มีมาก่อนการสร้างเมืองพระนครศรีอยุธยา เพราะพบหลักฐานเรื่องชื่อจากจารึกโบราณที่มีมาก่อนกรุงศรีอยุธยาและร่วมสมัยกับอยุธยาตอนต้น ดังเช่นจารึกสุโขทัยก่อนสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาที่ 1 หรือพญาลิไท หรือร่วมสมัยกับสมเด็จพระมหาธรรมราชาที่ 1 กล่าวถึง เมืองอโยธยาศรีรามเทพนคร และในจารึกอื่นๆ มักกล่าวชื่อสั้นๆ ว่า เมืองนครพระราม แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ จารึกวัดส่องคบในสมัยอยุธยาตอนต้นที่ชัยนาท กล่าวถึงนครสองแห่งคู่กัน คือ ศรีอยุธยาและศรีสุพรรณภูมิ
พระเจดีย์ฐานแปดเหลี่ยมลดชั้นที่วัดพระงาม ทุ่งขวัญ ใกล้กับเจดีย์วัดจงกลม
สุพรรณภูมิคือชื่อเมืองเก่าของเมืองสุพรรณบุรี ซึ่งข้าพเจ้าได้พิสูจน์และเขียนเป็นบทความเสนอไว้นานแล้ว ทั้งคู่คือเมืองนครรัฐคู่ขนานของรัฐสองรัฐที่เข้ามารวมกันในจดหมายเหตุจีนสมัยราชวงศ์หมิง ที่ว่า “หลอฮกก๊ก” กับ “เสียมหลอก๊ก” มารวมกัน คำว่า “หลอฮกก๊ก” นั้นหมายถึงละโว้ ในขณะที่ “เสียมหลอก๊ก”หมายถึงสุพรรณภูมิ เป็นสิ่งที่สอดคล้องกับการที่พระเจ้าอู่ทองหรือสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ผู้สร้างพระนครศรีอยุธยา ทรงเป็นพระราชบุตรเขยของกษัตริย์สุพรรณบุรีหรือสุพรรณภูมิ แต่การที่จดหมายเหตุจีนสมัยราชวงศ์หมิงกล่าวถึงหลอฮกก๊กหรือละโว้ในสมัยราชวงศ์หมิงนั้น จึงไม่น่าที่จะหมายถึงเมืองละโว้แต่อย่างใด คงหมายถึงเมืองอโยธยานั่นเอง ซึ่งก็ดูสอดคล้องกับนครรัฐสำคัญ คือทั้งอยุธยาและสุพรรณบุรีต่างมีเมืองคู่เหมือนกัน คือ สุพรรณบุรีมีเมืองแพรกศรีราชา ขณะที่ละโว้มีอโยธยา รัฐสุพรรณภูมิหรือสุพรรณบุรีมีกษัตริย์ปกครองในพระนามว่า “บรมราชา” และเมืองลูกหลวงคือแพรกศรีราชา มีเจ้านายปกครองในพระนครว่า “อินทราชา” หรือ “นครอินทร์” ส่วนอยุธยามีพระรามาธิบดีครองเมืองหลวง และมีพระราเมศวรครองเมืองละโว้ที่เป็นเมืองลูกหลวง จากหลักฐานจดหมายเหตุจีนดังกล่าว คือสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าในสมัยราชวงศ์หมิงที่ตรงกับสมัยอยุธยาตอนต้นนั้น ฐานะความเป็นเมืองหลวงของละโว้ได้เปลี่ยนมาเป็นเมืองลูกหลวง ในขณะที่เมืองอโยธยาเปลี่ยนจากเมืองลูกหลวงมาเป็นเมืองหลวงของรัฐแทน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ตรงกับการย้ายเมืองอโยธยาทางฟากแม่น้ำป่าสักทางตะวันออก มาสร้างใหม่บนฝั่งน้ำลพบุรีและแม่น้ำเจ้าพระยาแทน คือเมืองพระนครศรีอยุธยา อย่างไรก็ตามแม้ว่าในทุกวันนี้ นักวิชาการและคนเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้คนในเมืองพระนครศรีอยุธยาเชื่อว่า เมืองอโยธยามีจริงและเป็นเมืองเก่ามาก่อนการสร้างพระนครศรีอยุธยา แต่ก็ยังมีความคลุมเครือและไม่ชัดเจนเท่าเมืองสุพรรณภูมิ ที่มีร่องรอยของผังเมืองในเรื่องคูน้ำและคันดินชัดเจน ทั้งนี้เพราะบริเวณเมืองอโยธยาเก่าซึ่งอยู่ทางตะวันออกของเมืองพระนครศรีอยุธยานั้น เป็นบริเวณที่มีการเปลี่ยนแปลงสถานที่และสภาพแวดล้อมเป็นชุมชนใหม่-เก่าซับซ้อนหลายสมัย หลังจากที่ข้าพเจ้าทำการศึกษา สำรวจ ลักษณะภูมิวัฒนธรรมของการสร้างบ้านแปงเมืองใน 3 ปีที่ผ่านมา ก็ได้พบเห็นร่องรอยและเงื่อนงำที่ซ่อนเร้นหลายอย่าง ซึ่งพอจะสร้างเป็นผังเมืองและบริเวณที่ตั้งของเมืองอโยธยาได้อย่างค่อนข้างเป็นรูปธรรม
อโยธยาศรีรามเทพนคร
โดยลักษณะทางภูมิวัฒนธรรมและสภาพแวดล้อมของการสร้างบ้านแปงเมืองในพื้นที่ลุ่มน้ำลำคลองในดินดอนสามเหลี่ยมเจ้าพระยาตอนล่าง เมืองใหญ่เมืองสำคัญมักตั้งอยู่บนฝั่งหรือใกล้กับแม่น้ำใหญ่ที่เป็นเส้นทางคมนาคม และมีบ้านเล็กเมืองน้อยกระจายกันอยู่ตามลำน้ำลำคลองโดยรอบ ถ้าหากแม่น้ำหรือลำน้ำที่เคยเป็นเส้นทางคมนาคมตื้นเขินหรือเปลี่ยนทางเดินไป บรรดาเมืองใหญ่และเมืองเล็กเหล่านั้นก็จะค่อยๆ โรยร้างไป และผู้คนก็ย้ายไปตั้งบ้านเมืองใหม่ในที่อื่น ดังเช่นเมืองนครชัยศรีหรือนครปฐมโบราณที่ย้ายเมืองจากแม่น้ำบางแก้วมาอยู่ริมน้ำท่าจีนที่อำเภอนครชัยศรี หรือเมืองคูบัวที่ย้ายไปอยู่ที่เมืองราชบุรี ความเป็นเมืองเก่าเมืองใหม่ของคูบัวกับราชบุรีนี้ เห็นได้ชัดจากเมืองราชบุรีอยู่ห่างจากเมืองคูบัวเพียง 5 กิโลเมตร โดยย้ายจากการเป็นเมืองสมัยทวารวดีที่อยู่ใกล้กับลำแม่น้ำอ้อม มาอยู่ริมแม่น้ำแม่กลองเป็นเมืองราชบุรีในสมัยลพบุรี คือปลายพุทธศตวรรษที่ 18-19 เมืองคูบัวเป็นเมืองทวารวดีที่มีอายุน้อยกว่าเมืองนครชัยศรี เมืองละโว้ และเมืองอู่ทอง คือพัฒนาขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 13-14 เป็นต้นไป ซึ่งเห็นได้จากรูปแบบทางสถาปัตยกรรมและศิลปวัตถุทางพุทธศาสนาที่มีอิทธิพลพุทธมหายาน รวมทั้งบรรดาเครื่องปั้นดินเผาเคลือบที่เป็นสินค้ามาจากจีน ซึ่งเป็นของในสมัยราชวงศ์ซ่งเป็นส่วนใหญ่ จนถึงของในสมัยราชวงศ์หยวน สมัยพุทธศตวรรษที่ 19 พบในแม่น้ำอ้อมและแม่น้ำแม่กลองใกล้กันกับเมืองราชบุรี อนึ่งความเป็นเมืองทวารวดีรุ่นหลังของคูบัวนั้น เห็นได้จากผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าค่อนข้างสม่ำเสมอ เป็นสิ่งที่น่าจะส่งทอดมาถึงผังเมืองราชบุรีริมแม่น้ำแม่กลอง ที่เป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าแบบสม่ำเสมอร่วมสมัยกันกับบรรดาเมืองที่เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส เช่น เมืองสุโขทัย เพชรบุรี พิมาย ซึ่งล้วนพัฒนาขึ้นในสมัยพุทธศตวรรษที่ 18-19 ผังเมืองรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าของราชบุรีนี้ก็เป็นแบบเดียวกันกับผังเมืองสุพรรณภูมิ อันเป็นเมืองที่เกิดใหม่ริมแม่น้ำท่าจีนหรือสุพรรณบุรีที่เกิดขึ้นมาแทนที่เมืองอู่ทอง ในขณะที่เมืองละโว้ยังคงอยู่ในตำแหน่งเดิม คือริมลำน้ำลพบุรี ที่ยังใช้เป็นเส้นทางคมนาคมได้ในสมัยพุทธศตวรรษที่ 18-19 ซึ่งต่อมาความสำคัญของเมืองละโว้ที่เป็นเมืองหลวงของรัฐเคลื่อนลงมาอยู่ที่เมืองอโยธยาทางลุ่มน้ำป่าสักตอนล่างแทน
เจดีย์วัดอโยธยาหรือวัดเดิม ตั้งอยู่ในอาณาบริเวณเมืองอโยธยาศรีรามเทพนคร
ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมสูงใหญ่ เจดีย์องค์นี้ทำเป็นกลีบบัวที่องค์ระฆัง แปลกกว่าที่อื่นๆ
การใช้คำว่า เมืองอโยธยา ตั้งอยู่ในลุ่มน้ำป่าสักตอนล่างนี้ ใคร่ขอทำความเข้าใจเบื้องต้นว่า การเป็นเมืองท่าของเมืองละโว้แต่สมัยฟูนันลงมาจนถึงสมัยทวารวดีนั้น เส้นทางการติดต่อทางทะเลจากอ่าวไทยไปที่เมืองละโว้ ผ่านเขตชายทะเลแต่อ่าวไทย บริเวณที่ลุ่มต่ำปริ่มน้ำ (submerged area) ที่ต่อมาตื้นเขินเป็นพื้นที่ที่เรียกว่า ดินดอนสามเหลี่ยมใหม่ (Young Delta) ที่มีเมืองอยุธยาเป็นบริเวณส่วนยอด บริเวณที่ลุ่มปริ่มน้ำดังกล่าวกินพื้นที่เข้ามาจนถึงบริเวณลานเท อันเป็นที่สบของแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำน้อย ครั้งนั้นแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่อ่าวไทยขึ้นมาจนถึงลานเทและเกาะบางปะอินยังไม่เกิดเป็นรูปร่างดังที่เห็นในทุกวันนี้ พื้นที่ลุ่มต่ำปริ่มน้ำนี้เป็นเวิ้งใหญ่ทางตะวันตก กินไปถึงลุ่มน้ำท่าจีน-สุพรรณบุรี และทางตะวันออกไปถึงสองฝั่งแม่น้ำนครนายกและปราจีนบุรี ตั้งแต่อำเภอองครักษ์ บ้านสร้าง พนมสารคาม มาถึงอำเภอบางปะกง การเข้ามาของเรือสินค้าทางทะเลจะผ่านมาตามร่องน้ำใหญ่ในพื้นที่เวิ้งว้างอันเป็นที่ลุ่มต่ำปริ่มน้ำดังกล่าว ซึ่งตามชายขอบของเวิ้งอ่าวเป็นที่เกิดขึ้นของบ้านเมืองแต่สมัยฟูนัน-ทวารวดีเป็นระยะไป ตั้งแต่เมืองพระรถที่ตำบลหน้าพระธาตุ อำเภอพนัสนิคม เมืองทวารวดีบนฝั่งลำน้ำท่าลาด ตำบลเกาะขนุน อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี เมืองศรีมโหสถและโคกขวาง อำเภอโคกปีบและศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี เมืองดงละครที่อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก เมืองอู่ตะเภา อำเภอหนองแซง เมืองขีดขิน อำเภอบ้านหมอ จังหวัดสระบุรี และเมืองละโว้ จังหวัดลพบุรี เป็นที่สุด ซึ่งปัจจุบันนับเนื่องเป็นกลุ่มเมืองทวารวดีทางฟากตะวันตกของลุ่มน้ำเจ้าพระยา (Chao Phraya basin)
เจดีย์ประธานของวัดจักรวรรดิ์หรือวัดเจ้ามอญ ที่ตั้งอยู่ในบริเวณเขตเมืองอโยธยา ฝั่งตรงกันข้ามกับวัดกุฎีดาว
เจดีย์วัดขุนเมืองใจในเกาะเมืองอยุธยา ซึ่งตั้งอยู่ฐานสี่เหลี่ยมสูงใหญ่แบบเจดีย์ในยุคสุพรรณภูมิ-อโยธยา
บนเส้นทางลำน้ำเก่า
การเข้าถึงนครรัฐละโว้โดยเส้นทางเดินเรือจากอ่าวไทย ผ่านขึ้นมาตามร่องน้ำใหญ่ของเวิ้งอ่าวอันเป็นที่ลุ่มต่ำปริ่มน้ำ ผ่านเกาะบางปะอินไปยังเกาะพระซึ่งมีแม่น้ำใหญ่ 2 สายมาสบกัน สายแรกเป็นลำแม่น้ำใหญ่ที่เกิดจากการรวมกันของแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำลพบุรี และแม่น้ำป่าสัก ณ บริเวณใต้วัดพนัญเชิงลงมา กับลำน้ำป่าสักและลำน้ำหนองแซงที่ปัจจุบันเรียกว่า คลองโพ เรือผ่านคลองโพไปทางตะวันออกยังเมืองอู่ตะเภา เมืองขีดขิน และเมืองละโว้ตามลำดับ ในส่วนเมืองละโว้ที่เป็นเมืองท่าสำคัญนั้น ในสมัยฟูนันและทวารวดี การติดต่อทางทะเลผ่านและขึ้นมาตามลำน้ำลพบุรีที่แยกออกหลายแพรก แต่แพรกที่สำคัญก็คือ จากเมืองละโว้ลัดทุ่งทางตะวันออกไปต่อกับลำน้ำโบราณสายหนึ่งในเขตตำบลหนองโดน ลำน้ำนี้ผ่านลงมายังเมืองขีดขินหรือปรันตปะในเขตอำเภอบ้านหมอ ซึ่งไหลลงไปสบกับลำน้ำป่าสักที่ไหลลงจากหุบเขาเพชรบูรณ์ ผ่านอำเภอแก่งคอยมายังอำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อมาถึงตำบลพระแก้ว ลำน้ำป่าสักแตกออกเป็น 2 แพรกใหญ่ แพรกหนึ่งไปทางตะวันตก คือ แม่น้ำป่าสัก ที่ผ่านลงมายังอำเภอนครหลวงถึงเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา ส่วนอีกแพรกหนึ่งคือ ลำน้ำพระแก้ว ที่ไหลเอนไปทางตะวันออกจากที่ลาดสูงลงปลายเขาใหญ่ ผ่านลงมายังเขตอำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แล้วไหลลงสู่ที่ราบลุ่มต่ำในเขตตำบลบ้านสร้าง วกไปทางตะวันตกเรียกว่า คลองโพ ไปออกแม่น้ำเจ้าพระยาใกล้กับเกาะพระเหนือเกาะบางปะอิน ควบคู่ขนานไปกับลำคลองพระแก้วในพื้นที่ลาดต่ำของอำเภอหนองแซง จังหวัดสระบุรี ก็มีลำน้ำสายหนึ่งที่นักภูมิศาสตร์ต่างประเทศเรียกว่า แม่น้ำหนองแซง เกิดจากการรวมตัวของลำห้วยหลายสายที่ออกมาจากเขาใหญ่ ผ่านเขาพระพุทธฉายลงไปทางใต้และไปออกที่ลุ่มต่ำ อันเป็นเวิ้งอ่าวที่เป็นที่ลุ่มปริ่มน้ำในเขตอำเภอหนองแค บริเวณที่ลาดลุ่มของลำน้ำหนองแซงนี้เป็นที่ตั้งของเมืองโบราณสมัยทวารวดีที่เรียกกันว่า เมืองอู่ตะเภา เป็นเมืองที่มีคูเมืองกว้างเชื่อมต่อกับลำน้ำใหญ่ และไหลไปเชื่อมต่อกับลำน้ำบางแก้วในเขตอำเภออุทัย
ปรางค์ประธานวัดโลกยสุธารามที่ร่วมสมัยกับปรางค์ในวัดมหาธาตุ เมืองลพบุรี
การเดินทางตามลำน้ำจากเมืองละโว้ในสมัยแรกเช่นสมัยทวารวดี คือการเดินทางตามลำน้ำพระแก้วและหนองแซงไปออกเวิ้งทะเล อันเป็นที่ลุ่มต่ำปริ่มน้ำแต่เขตอำเภอหนองแคลงไปทางอำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แต่ในสมัยทวารวดีตอนปลายต่อสมัยลพบุรีแต่พุทธศตวรรษที่ 17-18 ลงมา เส้นทางคมนาคมเปลี่ยนมาลงตามลำน้ำลพบุรี ที่ไหลจากเมืองละโว้มาถึงอำเภอบ้านแพรก ซึ่งลำน้ำแยกออกอีกแพรก ที่เรียกว่า คลองตาเมฆ แยกไปทางตะวันออกสบกับลำน้ำป่าสักที่ไหลผ่านอำเภอนครหลวงไปยังเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา อันเป็นตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ที่บรรดาลำน้ำใหญ่ๆ ในพื้นที่ดินดอนสามเหลี่ยมเก่า ได้แก่ แม่น้ำน้อย แม่น้ำบางแก้ว แม่น้ำลพบุรี ไหลมารวมกันเป็นแม่น้ำใหญ่ในบริเวณใกล้กับวัดพนัญเชิง ลำน้ำนี้คือแม่น้ำเจ้าพระยาในพื้นที่ที่เรียกว่าดินดอนสามเหลี่ยมใหม่ ไปออกอ่าวไทยที่จังหวัดสมุทรปราการ ตำแหน่งที่เป็นต้นแม่น้ำเจ้าพระยาดังกล่าวก็คือ ตำแหน่งชุมทางการคมนาคมทางน้ำที่ในสมัยพุทธศตวรรษที่ 18-19 นั้น เกิดเมืองอโยธยาขึ้นเป็นเมืองลูกหลวงของเมืองละโว้ บริเวณที่เมืองอโยธยาเกิดขึ้นนั้นเป็นบริเวณที่มีลำน้ำพุดเลาและลำน้ำลพบุรีมารวมกับลำน้ำป่าสักที่ไหลผ่านอำเภอนครหลวงลงมา ซึ่งเมื่อมาถึงบริเวณที่มีหลายลำน้ำมารวมกันดังกล่าว ลำน้ำป่าสักวกไปทางตะวันตกเป็นลำน้ำหันตรา ซึ่งวกลงใต้ไปออกแม่น้ำเจ้าพระยา ณ บริเวณใต้วัดพนัญเชิงลงมา ที่เรียกกันว่า ปากน้ำแม่เบี้ยหรือปากคลองสวนพลู เมืองอโยธยาศรีรามเทพนครเป็นเมืองที่ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำหันตรา และหันหน้าลงสู่แม่น้ำหันตราหรือแม่น้ำป่าสักโดยตรง ร่องรอยของกำแพงเมืองและคูน้ำทางด้านตะวันตกและตะวันออก ยังแลเห็นจากคลองคูขื่อหน้าอันเป็นคูเมืองด้านตะวันตก และแนวลำคลองวัดกุฎีดาวทางด้านตะวันออก รวมทั้งร่องรอยของลำคลองต่างๆ ที่ขุดขึ้นหลายยุคหลายสมัยในบริเวณตัวเมือง โดยเฉพาะคลองกระมังหรือคลองหันตราที่ตัดผ่ากลางเมืองจากคูขื่อหน้าไปยังแม่น้ำหันตราทางตะวันออก และต่อยาวผ่านทุ่งพระอุทัยเป็นคลองบ้านบาตรไปเชื่อมกับลำน้ำป่าสักสายที่เป็นลำน้ำพระแก้วและคลองโพ ซึ่งไปออกแม่น้ำเจ้าพระยาที่เกาะพระ เหนือเกาะบางปะอิน โดยประมาณว่าเมืองอโยธยาเป็นเมืองสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดไล่เลี่ยกับเมืองราชบุรีและสุพรรณภูมิ คือ มีความยาวราว 2 กิโลเมตร และกว้างราว 1 กิโลเมตร
พระเจดีย์แปดเหลี่ยมลดชั้น มีซุ้มพระยืนประดับ ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยม ที่วัดโลกยสุธาราม
ร่วมสมัยกับพระเจดีย์สองพี่น้องและพระเจดีย์รายในเมืองแพรกศรีราชา
ความเป็นเมืองหันหน้าไปทางตะวันออกยังแม่น้ำหันตรา ซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมที่ไหลวกมาออกแม่น้ำเจ้าพระยาที่ปากน้ำแม่เบี้ย ซึ่งการเดินทางขึ้นไปทางเหนือจะขึ้นตามปากน้ำแม่เบี้ยไปลำน้ำหันตราที่กลายมาเป็นลำน้ำป่าสัก เมื่อวกไปทางตะวันตกในเขตตำบลหัวรอซึ่งพบกับแม่น้ำลพบุรี ก่อนขึ้นเหนือผ่านอำเภอนครหลวงไปยังอำเภอท่าเรือ ที่แม่น้ำป่าสักแยกออกเป็น 2 สาย คือ ลำน้ำป่าสักที่กลายเป็นลำน้ำหันตรา กับลำน้ำพระแก้วหรือคลองโพที่ไปออกแม่น้ำเจ้าพระยา ณ บริเวณเกาะพระ เส้นทางระหว่างแม่น้ำป่าสักทั้งสองสายนี้ มีร่องรอยของการขุดคลองและการตั้งถิ่นฐานของบ้านเมืองในนิเวศลุ่มน้ำลำคลองไปจนถึงสระบุรีและลพบุรี ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า เมืองอโยธยาคือเมืองที่เกิดขึ้นเพื่อสัมพันธ์กับบ้านเมืองและการตั้งบ้านแปงเมืองของลุ่มน้ำป่าสักโดยแท้ และพัฒนาขึ้นเป็นเมืองท่าแทนเมืองละโว้ในพุทธศตวรรษที่ 18-19 ความเป็นเมืองหลวงและเมืองท่าดังกล่าวสะท้อนให้เห็นจากบริเวณที่เรือสินค้าและเรือใหญ่ทางทะเลมาจอดทอดสมอตรงบริเวณปากน้ำแม่เบี้ย ที่มีวัดพนัญเชิงและตำนานนางสร้อยดอกหมากเล่าขานถึงความเป็นไปของเมืองอโยธยาศรีรามเทพนคร
พระเจดีย์แปดเหลี่ยมลดชั้น มีซุ้มพระยืนประดับ ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยม ที่วัดโลกยสุธาราม
ร่วมสมัยกับพระเจดีย์สองพี่น้องและพระเจดีย์รายในเมืองแพรกศรีราชา