พระอัจฉริยภาพด้านวัฒนธรรม : ในหลวงกับชนกลุ่มน้อยในสยามประเทศ
โดย ศ.ดร. ศรีศักร วัลลิโภดม
ตีพิมพ์ในหนังสือ "ตามรอยพระเจ้าอยู่หัว"
ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ บรรณาธิการ
สำนักพิมพ์ซัคเซส มีเดีย พิมพ์ครั้งที่ 1 กันยายน 2555
ประเทศไทยเป็นชื่อใหม่ของสยามประเทศ เกิดขึ้นจากความเชื่อในเรื่องเชื้อชาตินิยมสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี แท้จริงความเป็นคนไทยหาได้เป็นเชื้อชาติไม่ หากเป็นชื่อของคนกลุ่มใหญ่ในแผ่นดินสยามประเทศ ที่เกิดจากการผสมผสานของคนในกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่เคลื่อนย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานในสยามประเทศเป็นระยะ ๆ มากว่าพันปีที่ผ่านมา การอยู่อย่างสืบเนื่องมาช้านานได้ทำให้คนเหล่านี้มีวัฒนธรรมร่วมกัน เช่น การมีภาษาไทยเป็นสื่อกลางร่วมกัน มีขนบธรรมเนียม ประเพณี ศาสนา ความเชื่อ ระบบเศรษฐกิจ การเมืองการปกครอง ร่วมกัน จนเกิดสำนึกในความเป็นชนกลุ่มใหญ่ที่เรียกว่า คนไทย ร่วมกันอยู่ในประเทศและบ้านเมืองเดียวกัน
ความชัดเจนในเรื่องชนกลุ่มใหญ่ของสยามประเทศที่เรียกตนเองว่าเป็น คนไทย นั้น มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์มาแต่พุทธศตวรรษที่ 21 แต่สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถของกรุงศรีอยุธยา ดังปรากฏในวรรณคดี ลิลิตยวนพ่าย ที่กวีในราชสำนักแต่งขึ้นเยินยอพระเกียรติของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถในการทำสงครามกับพระเจ้าติโลกราชแห่งเชียงใหม่ ครั้งนั้นคนกรุงศรีอยุธยาเรียกตนเองว่าเป็นคนไทย และเรียกคนของรัฐล้านนาว่าลาว เกิดคำใหม่ ๆ ที่แสดงให้เห็นความเป็นรัฐ เช่น คำว่า..กรุงลาว และ กรุงไทย ขึ้น ในบันทึกของลาลูแบร์ที่เป็นราชทูตฝรั่งเศสเข้ามาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ระบุว่า พระมหากษัตริย์ทรงบอกว่า พระองค์เป็นคนไทย ทำให้แลเห็นความแตกต่างกับคนกลุ่มอื่นที่มาจากดินแดนอื่น เช่น คนฝรั่ง คนมลายู คนเขมร คนญวน เป็นต้น ท้ายสุดในวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นก็เรียกคนเชียงใหม่ว่า เป็นคนลาวและคนกรุงศรีอยุธยาเป็นคนไทย ทั้งคนไทยและคนลาวหรือตลอดไปจนคนเขมร คนญวน ก็คือคนกลุ่มใหญ่ของแต่ละรัฐแต่ละประเทศนั่นเอง
คนกลุ่มใหญ่ของแต่ละรัฐแต่ละประเทศนั้น ก็หาได้เกิดจากการเป็นคนที่มีชาติพันธุ์เดียวกันไม่ หากเป็นคนที่มีชาติภูมิเดียวกัน อันเกิดจากกลไกทางการเมืองและสังคมที่สามารถบูรณาการคนหลายชาติพันธุ์แต่ละยุคแต่ละสมัยที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในดินแดนหรือประเทศให้เป็นคนกลุ่มเดียวกันโดยมีสำนึกในแผ่นดินที่เกิดและที่อยู่อาศัยร่วมกัน โดยยังความเป็นคนไทยก็คือ คนที่มีสำนึกในชาติภูมิ หรือแผ่นดินเกิดร่วมกัน กลไกในการทำให้เกิดบูรณาการทางสังคมและวัฒนธรรม นั่นคือ สถาบันศาสนาและสถาบันกษัตริย์ที่มีศูนย์รวมกันที่องค์พระมหากษัตริย์เป็นสำคัญ ดังเห็นได้ว่าในอดีตสมัยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง แผ่นดินทุกตารางนิ้วในประเทศเป็นของพระมหากษัตริย์ จึงเรียกว่าเป็นของพระเจ้าแผ่นดิน หรืออีกอย่างหนึ่งว่าเป็นของหลวง แต่เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว แผ่นดินดังกล่าวก็กลายเป็นของรัฐในปัจจุบันไป ในอดีตพระมหากษัตริย์ทรงใช้สิทธิ์และพระราชอำนาจในการพระราชทานที่ดินให้เป็นที่อยู่อาศัย และที่ทำกินของประชาราษฎร์ โดยไม่ให้กรรมสิทธิ์ เมื่อผู้ใดไม่อยู่ไม่ทำกินก็ต้องคืนให้เป็นของหลวงเช่นเดิม สำหรับคนต่างชาติต่างเผ่าพันธุ์ที่เข้ามาอยู่ในพระราชอาณาจักร เช่น พ่อค้าวานิชที่เข้ามาค้าขาย ผู้อพยพลี้ภัยเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร หรือแม้แต่บรรดาผู้คนจากบ้านเมืองอื่นที่ถูกกวาดต้อนเป็นเชลยสงครามเข้ามานั้น พระมหากษัตริย์หาได้ทรงให้อยู่ในสภาพที่ถูกกดขี่และบังคับใช้เยี่ยงทาสไม่ หากทรงมีพระบรมราโชบายที่จะทำให้คนเหล่านั้นที่ต่างชาติ ศาสนา และเผ่าพันธุ์เป็นพลเมือง หรือเป็นคนไทยเช่นเดียวกันกับผู้คนในประเทศ เช่น พระราชทานที่ดินให้ผู้คนเหล่านั้นอยู่เป็นหมู่เหล่าเป็นชุมชน โดยให้มีการปกครองดูแลกันเอง โดยให้ผู้ที่เป็นผู้นำหรือหัวหน้าชุมชนรับผิดชอบกับทางรัฐ ผู้นำเหล่านี้มักจะถูกแต่งตั้งให้เป็นข้าราชการมีตำแหน่งฐานะและยศศักดิ์ในระบบศักดินา ผู้ที่เป็นหัวหน้าชุมชนนั้นคือผู้รับผิดชอบในเรื่องชีวิตความเป็นอยู่และพฤติกรรมของคนในชุมชนต่อทางรัฐ แต่ว่าความเป็นชุมชนนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับบุคคลที่เป็นหัวหน้าแต่เพียงอย่างเดียว หากขึ้นอยู่กับวัด หรือโบสถ์ หรือมัสยิด อันแสดงให้เห็นของความแตกต่างกันทางศาสนา พระมหากษัตริย์ทรงเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภกแห่งราชอาณาจักรที่หาได้ทรงอุปถัมภ์แต่เพียงวัดในทางพระพุทธศาสนาอย่างเดียวไม่ หากทรงปฏิบัติแก่ศาสนาอื่น ๆ ของผู้คนในประเทศอย่างเสมอภาค ดังเห็นได้จากการกัลปนาที่ดินให้มีการสร้างศาสนสถาน เช่น วัดทางพุทธศาสนา โบสถ์ในคริสตศาสนา หรือมัสยิดของคนในศาสนาอิสลามให้เป็นศูนย์กลางของชุมชน และกำหนดให้คนในชุมชนตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่กัลปนาให้กับศาสนสถาน ซึ่งก็ทำให้คนในชุมชนกลายเป็นข้าพระที่ไม่มีกรรมสิทธิ์ในเรื่องที่ดินเฉพาะคน หากตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่ของศาสนสถานเป็นสำคัญ ลักษณะเช่นนี้สะท้อนให้เห็นจากชื่อบ้านนามเมืองของชุมชนและวัดเป็นชื่อเดียวกัน วัดในทางพุทธ โบสถ์ในทางคริสต์ หรือมัสยิดของคนมุสลิมคือศูนย์รวมของสำนึกร่วมในความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของชุมชน ตามที่กล่าวมาทั้งหมดนี้คือวิธีการและพระราชปฏิบัติของพระมหากษัตริย์ในการบูรณาการทางสังคมและวัฒนธรรม ที่ทำให้คนกลุ่มน้อยอันมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์และศาสนาที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในสยามประเทศกลายเป็นคนไทย หรือจากคนกลุ่มน้อยกลายเป็นคนกลุ่มใหญ่ในสังคมท้องถิ่นในภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศ เป็นคนไทยท้องถิ่นที่เป็นพหุลักษณ์ในทางวัฒนธรรม
หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว การทำให้คนกลุ่มน้อยที่หลากหลายทางชาติพันธุ์และศาสนาเป็นคนกลุ่มใหญ่เป็นเรื่องของการให้สิทธิ์ในการเป็นพลเมือง (citizenship) โดยทางกฎหมายรัฐธรรมนูญแบบอย่างประเทศทางตะวันตก ซึ่งเป็นการให้สิทธิ์เฉพาะบุคคลในลักษณะปัจเจก หาเป็นชุมชนอย่างแต่เดิมไม่ บทบาทของพระมหากษัตริย์จึงหมดไปในการบูรณาการทางสังคมและวัฒนธรรมให้คนหลายชาติพันธุ์และต่างศาสนา อันเป็นคนกลุ่มน้อยกลายมาเป็นคนไทยอย่างที่เคยมีมา แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้ก็หาได้ทรงเลิกล้มพระราชภารกิจที่เคยมีมาแต่ก่อนไม่ กลับทรงช่วยทางราชการของรัฐโดยอ้อมในการพัฒนาชีวิตของคนกลุ่มน้อยและคนชายขอบให้มีความเป็นอยู่ที่ดีด้วยตนเองได้ ประเทศไทยในยุคพัฒนานั้นเริ่มต้นแต่สมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นต้นมา เป็นการเริ่มต้นของการพัฒนาประเทศเข้าสู่สังคมอุตสาหกรรมแบบอย่างตะวันตก แต่การพัฒนาของรัฐบาลในยุคนี้เป็นการพัฒนาทางเศรษฐกิจและการเมืองจากข้างบนลงล่าง ที่ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นการสั่งการและริเริ่มโดยรัฐจากศูนย์กลาง ซึ่งดูคล้าย ๆ กันกับการพัฒนาแบบบังคับเปลี่ยน (forced change) แบบประเทศสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ หาได้เป็นการพัฒนาแบบวางแผน (planned change) แบบประเทศที่เป็นประชาธิปไตยไม่ แต่ความดีของรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นั้นอยู่ที่การเชิดชูรู้คุณของพระมหากษัตริย์ ต่างกับสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่มีลักษณะกีดกันและแบ่งบารมี ความต่างกันของการพัฒนาประเทศตามแนวทางของรัฐบาลกับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็คือ ของทางรัฐบาลนั้นมีลักษณะสั่งการจากข้างบนและจากศูนย์กลาง หาเข้าถึงประชาชนไม่ แต่แนวทางของในหลวงนั้นคือ การเข้าถึงประชาชนในลักษณะที่เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมคือมุ่งที่คนไม่ใช่เศรษฐกิจ ดังจะเห็นได้ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบรมราชชนนี และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ มักเสด็จออกไปเยี่ยมทุกข์และบำรุงสุขของประชาชนในท้องถิ่นต่าง ๆ ทุกภูมิภาค ทรงเห็นประเทศไทยทั้งในลักษณะกายภาพ เช่น ภูมิศาสตร์ ภูมิประเทศ ดินฟ้าอากาศ และในทางสังคมวัฒนธรรมท้องถิ่น ทำให้แนวทางพัฒนาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นไปตามแบบที่ทรงรับสั่งว่า “เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา” ซึ่งก็ตรงกับตำราการพัฒนาสังคมทางมานุษยวิทยาที่ข้าพเจ้าเคยเรียนมาว่า “To Know is to understand, To understand is to control”
จากประสบการณ์ของข้าพเจ้าคิดว่า ประชาชนกลุ่มแรกที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนาก็คือ กลุ่มชาติพันธุ์บนที่สูงทางภาคเหนือที่เรียกกันว่า ชาวเขา ที่มีหลายชาติพันธุ์อันได้แก่ ม้ง เย้า อีก้อ ลีซอ และมูเซอที่เคลื่อนย้ายมาจากที่สูงทางภาคใต้ของประเทศจีนเข้ามาตั้งหลักแหล่งถิ่นฐานบนที่สูงในเขตภูเขาที่คนทั่วไปไม่อยู่อาศัยกันจากประเทศลาวและเวียดนามเข้ามาในประเทศไทย เป็นกลุ่มคนที่ไม่มีสัญชาติ ทำให้ต้องเคลื่อนย้ายอยู่ตลอดเวลา เพราะมักถูกผลักดันโดยทางราชการของแต่ละประเทศ การเป็นกลุ่มคนที่ต้องเคลื่อนย้ายทำให้การทำมาหากินบนที่สูงเป็นการทำเกษตรกรรมแบบไร่เลื่อนลอย (slash and burn cultivation) ทำให้พื้นที่เป็นป่าเป็นเขาอันเป็นแหล่งต้นน้ำที่อุดมสมบูรณ์หมดไป ยิ่งกว่านั้นคนเหล่านี้ชอบเพาะปลูกฝิ่นเป็นพืชเศรษฐกิจ ที่ทำให้มีรายได้ดีแต่เป็นภัยต่อมนุษยชาติอย่างมหาศาล ส่อให้เกิดการซื้อขายและการผลิตยาเสพติด อันเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ยิ่งกว่านั้นในช่วงเวลาที่คนเหล่านี้เข้ามาตั้งถิ่นฐานก็เป็นยุคสงครามเย็นที่โลกแบ่งออกเป็นค่ายคอมมิวนิสต์ และด้วยประชาธิปไตยจึงทำให้การตั้งถิ่นฐานของกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง เย้า ลีซอ มูเซอ และอีก้อเป็นพื้นที่ชายขอบที่เป็นที่รวมของขบวนการค้ายาเสพติดและการก่อการร้ายแบ่งแยกดินแดน ครั้งนั้นรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์และรัฐบาลในยุคต่อ ๆ มาที่เป็นฝ่ายประชาธิปไตย อันมีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำ ต้องจัดการให้มีการพัฒนาให้คนกลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้อยู่เป็นหลักแหล่ง ซึ่งก็มีทั้งการรับเอาไว้ในเขตแดนประเทศและผลักดันให้ออกไป แต่ที่สำคัญก็คือ การปราบปรามให้เลิกการทำเกษตรกรรมแบบไร่เลื่อนลอยและการปลูกฝิ่น เป็นเหตุให้มีการร่วมมือกันของทั้งทางราชการไทยและต่างประเทศ เช่น อเมริกาและเครือข่ายพันธมิตรในการก่อตั้งสถาบันการศึกษาทางชาติพันธุ์และหน่วยงานต่างๆ ในการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของคนเหล่านี้
ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย แต่หาได้มาเกี่ยวด้วยในเรื่องทางเศรษฐกิจและการเมือง อันเป็นเรื่องของรัฐบาลไม่ หากทรงเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยในด้านมนุษยธรรม เพื่อให้คนกลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้อยู่กันเป็นหลักแหล่งเป็นชุมชน และกลายเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศชาติ โดยการทำให้คนเหล่านั้นกลายเป็นคนไทย ดังเช่นคนต่างด้าวท้าวต่างแดนที่เคยมีมาแต่โบราณกาล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงบำเพ็ญเมตตาบารมีในการช่วยเหลือคนเหล่านี้ อีกทั้งคนกลุ่มน้อยและคนชายขอบที่มีอยู่แล้วในประเทศ เพราะตั้งแต่ขึ้นครองราชย์เรื่อยมาได้เสด็จออกมาพร้อมด้วยพระบรมราชชนนี พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลป์ยาณิวัฒนา ทรงเยี่ยมเยือนราษฎรตามท้องถิ่นต่างๆ ทั่วประเทศ ทรงศึกษาให้เข้าใจคนที่ด้อยโอกาสเหล่านั้นในเรื่องหลักแหล่งการตั้งที่อยู่อาศัย และการทำมาหากินให้เป็นชุมชนทางเกษตรกรรมที่มีเศรษฐกิจแบบพอเพียงเป็นพื้นฐานในการดำรงอยู่ร่วมกันทางสังคม เป็นระบบเศรษฐกิจที่มุ่งให้คนในชุมชนช่วยตนเองแบบพึ่งพิงพึ่งพากัน โดยไม่ต้องเรียกร้องอะไรต่ออะไรจากการช่วยเหลือแบบประชานิยมของทางรัฐบาล ดังเห็นได้จากการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จลงพื้นที่และพบประชาชนด้วยพระองค์เอง ทรงศึกษาและตรวจสภาพภูมิประเทศกำหนดแหล่งน้ำทั้งเพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตรให้เป็นแหล่งที่พึ่งของชุมชน อย่างเช่นในโครงการพระราชดำริที่ขอแรงสนับสนุนจากหน่วยงานของรัฐบาล ซึ่งบรรดาแหล่งกักเก็บน้ำต่างๆ ที่ทรงแนะนำและสนับสนุนนั้น ล้วนเป็นโครงการขนาดเล็กเพื่อการเกษตรของชุมชนท้องถิ่นเป็นส่วนใหญ่ จากนั้นก็ทรงแนะนำให้ความรู้ทั้งทางวิชาการและทางเทคนิคแก่ชาวบ้าน เพื่อให้ทำมาหาเลี้ยงได้ด้วยตนเอง ดูเหมือนการเสด็จลงไปทรงช่วยเหลือพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของคนกลุ่มน้อยที่โดดเด่นในระยะแรกๆ ก็คือ การเสด็จไปช่วยกลุ่มชาติพันธุ์บนที่สูงในเขตจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดเชียงราย ที่เชียงใหม่ทรงมีพระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ ซึ่งนับเป็นสถานที่แปรพระราชฐานเป็นแห่งแรก ได้กลายเป็นที่ประทับสำคัญในการเสด็จไปช่วยพัฒนาชนกลุ่มน้อยบนที่สูง การเสด็จลงไปพบปะและแนะนำด้วยพระองค์เองนั้นประสบผลสำเร็จอย่างมหาศาล เพราะสามารถทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ที่อพยพเร่ร่อนปักหลักได้ เปลี่ยนการทำเกษตรแบบไร่เลื่อนลอยมาแป็นการเพาะปลูกพืชพันธุ์ที่ทั้งกินได้ ขายได้ หยุดการปลูกฝิ่น อันเป็นสิ่งผิดกฎหมายและกลับมาปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น ผลไม้ ดอกไม้ และผักเมืองหนาว ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแนะนำให้นำเข้ามา ผลการพัฒนาทำให้คนบนที่สูงไม่ได้อยู่โดดเดี่ยว มีการสัมพันธ์กับคนเมือง ทั้งในการลงมาพบปะผสมผสานกันในทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเรื่องของการท่องเที่ยวที่ให้ประโยชน์ทั้งแก่คนเมืองและคนบนภูเขา
พื้นที่บนภูเขาอันเป็นแหล่งที่กลุ่มชาติพันธุ์บนที่สูงเคลื่อนเข้ามามากมายหลายเผ่าพันธุ์ที่สุด เห็นจะได้แก่ พื้นที่ในเขตจังหวัดเชียงราย โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณดอยตุงที่ติดต่อกับประเทศพม่า และพื้นที่ภูเขาในบริเวณสบรวก อันเป็นบริเวณลำน้ำรวกที่ไหลไปออกแม่น้ำโขง เป็นพื้นที่ต่อแดนระหว่างพม่า ลาว และไทย ที่ปัจจุบันเรียกว่า สามเหลี่ยมทองคำ พื้นที่ทั้งสองบริเวณนี้กลุ่มชาติพันธุ์บนที่สูงเคลื่อนเข้ามาอยู่มากมาย ทำไร่เลื่อนลอยและปลูกฝิ่น เกิดเป็นแหล่งการค้าฝิ่นและค้ายาเสพติดระดับโลก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมราชชนนีได้ทรงใช้บริเวณดอยตุงให้เป็นแหล่งสำคัญในการพัฒนา หยุดการทำไร่เลื่อนลอย เลิกการปลูกฝิ่น สนับสนุนและอบรมให้กลุ่มชาวเขาเหล่านี้ปักหลักอยู่กับที่ เลิกการเคลื่อนย้ายหันมาปลูกพืชเศรษฐกิจแบบเมืองหนาว ซึ่งนับว่าได้ผลดีเป็นอย่างยิ่ง ทำให้พระบรมราชชนนีเสด็จมาสร้างตำหนักเป็นที่ประทับที่รู้จักกันในนามพระตำหนักแม่ฟ้าหลวง ที่ในปัจจุบันนี้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัด กลุ่มคนบนที่สูง กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ อยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุขและลงมาสังสรรค์ทางเศรษฐกิจและสังคมกับคนบนที่ราบ
นับเวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบรมราชชนนี สมเด็จพระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา เสด็จลงมาปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มชนเผ่าต่างๆ ทั้งที่เชียงใหม่และเชียงรายนั้น นับได้ร่วมถึงศตวรรษที่เป็นเวลาคาบเกี่ยวของอายุคนถึง 3 รุ่น คือ ปู่ย่าตายาย พ่อแม่ รวมถึงลูกหลาน ปัจจุบันนี้ดูเหมือนว่าความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่เรียกว่าชนเผ่าที่ต่างคนต่างอยู่นั้นหมดไป มีการผสมผสานกันทั้งระหว่างคนบนที่สูงและที่ราบ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ของชนเผ่านั้นได้รับการศึกษาอย่างทัดเทียมกับคนไทยอันเป็นคนกลุ่มใหญ่ โดยทั่วไปลูกหลานของชนเผ่าเป็นจำนวนมากจบการศึกษาระดับปริญญาเอกและโท เข้ารับราชการเป็นครูบาอาจารย์และทำงานในภาคธุรกิจเอกชนอย่างไม่มีการรังเกียจเดียดฉันท์อันใด ลูกหลานของคนบนที่สูงเหล่านี้มีสำนึกในความเป็นคนไทยที่เรียกว่า คนไทยภูเขา ดังเช่นคนไทยมุสลิมในภาคใต้ การเกิดคำว่าคนไทยภูเขาหรือคนไทยบนที่สูงนี้ ข้าพเจ้าแลเห็นพัฒนาการมาก่อนประเทศลาวที่ภายหลังการเข้ามามีอำนาจของรัฐบาลคอมมิวนิสต์ของท่านไกรสอนพรหมวิหาร มีการบูรณาการทางสังคมวัฒนธรรมให้เกิดคนลาวลุ่ม ลาวเทิง และลาวสูงขึ้นมา ลาวสูงก็คือกลุ่มชาติพันธุ์บนที่สูง ดังเช่นคนไทยภูเขาของประเทศไทยนั่นเอง
เหนืออื่นใดในสำนึกของคนไทยภูเขาในทุกวันนี้ ยังมองและเทิดทูนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมราชชนนีในลักษณะเป็นที่พึ่งอันยิ่งใหญ่ของเขาอยู่เสมอ ทุกครั้งในยามเดือดร้อนก็มักจะเรียกหาพระบารมีของพ่อหลวงและแม่ฟ้าหลวงหรือสมเด็จย่าเป็นสรณะ