พระธาตุพนมถล่ม 2518
ข้างหลังภาพ

พระธาตุพนมถล่ม 2518

 

"น้ำตาหล่นเสียแล้วละคนอีสาน เมื่อสมบัติคู่บ้านของชาวอีสานมาถล่ม

สุดแสนเสียดายองค์พระธาตุพนม ก่อนนี้เคยกราบก้มกลับมาถล่มจมพสุธา" 

(เนื้อเพลง อาลัยพระธาตุพนม  คำร้อง/ทำนอง เทพพร เพชรอุบล)

 

 

3_1620-02-72  

 

เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2518 เวลาราว 19.38 น. หลังจากที่ฝนตกอย่างรุนแรงหลายวัน องค์พระธาตุที่ชำรุดและมีรอยร้าวอยู่บ้างแล้ว เนื่องมาจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อเดือนมีนาคม 2518 ทำให้องค์พระธาตุชำรุดเสียหายมากยิ่งขึ้น จนถล่มลงมาในที่สุด สร้างความตระหนกตกใจและเสียขวัญให้กับพี่น้องชาวนครพนมและชาวอีสานในจังหวัดอื่นๆ รวมทั้งพี่น้องฝั่งลาวที่เคารพศรัทธาในองค์พระธาตุสืบเนื่องมาอย่างยาวนาน หลังจากข่าวองค์พระธาตุพนมล้มได้แพร่สะพัดทั้งปากต่อปาก ออกข่าวทางหนังสือพิมพ์ วิทยุและโทรทัศน์ ชาวบ้านมากมายต่างพากันเดินทางมาเพื่อพิสูจน์ให้เห็นกับตาว่าองค์พระธาตุที่พวกเขาเคารพศรัทธานั้นได้พังลงจริงหรือไม่

 

  4_1620-01-72  

 

หลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้น กรมศิลปากรได้เข้าตรวจสอบ และทำการรื้อถอนซากปรักหักพังขององค์พระธาตุ ในระหว่างการรื้อถอนได้พบของมีค่าบรรจุอยู่ภายในองค์พระธาตุจำนวนมาก รวมถึงพระอุรังคธาตุจำนวน 8 องค์ ที่บรรจุไว้ผอบรูปร่างคล้ายรูปหัวใจหุ้มด้วยทอง  

 

5_1460-08-72  

 

ในวันที่ 26 ธันวาคม 2518 ทางวัดพระธาตุพนมได้จัดพิธีสมโภชพระอุรังคธาตุยาวนานถึง 7 วัน 7 คืน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ได้เสด็จพระราชดำเนินเป็นประธานในพิธี และสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ทรงเป็นประธานเจริญพระพุทธมนต์  หลังจากนั้นจึงเริ่มมีการบูรณะและสร้างองค์พระธาตุใหม่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2519 จนแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2523  

 

2_1460-12-72

 

1_1460-03-72  

 

ตำนานอุรังคธาตุและเรื่องเล่าเกี่ยวกับพระธาตุพนม เป็นเรื่องที่เชื่อถือกันอย่างแพร่หลายในดินแดนภาคอีสานทั้งสองฝั่งโขง ในตำนานอุรังคธาตุมีความเกี่ยวข้องกับดินแดนในภาคอีสาน โดยเฉพาะบริเวณแอ่งที่ราบสกลนคร รวมไปถึงอีกฟากหนึ่งของแม่น้ำโขงด้วย ศูนย์กลางของดินแดนแถบนี้คือบริเวณภูกำพร้า ซึ่งเป็นที่ตั้งขององค์พระธาตุพนมนั่นเอง  คนภาคอีสานเชื่อว่าพระธาตุพนมมีอายุราว 2500 ปี ในสมัยต้นพุทธกาลหลังการเสด็จปรินิพพานขององค์สัมมาสัมพุทธพุทธเจ้า พระมหากัสสปะได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุส่วนของพระอุระมาประดิษฐานไว้ที่ภูกำพร้า ช่วงใกล้วันเพ็ญเดือน 3 ซึ่งตรงกับวันมาฆบูชาของทุกปี ประชาชนทั้งไทยและลาวจะเดินทางมานมัสการองค์พระธาตุพนมกันอย่างไม่ขาดสาย


เมธินีย์ ชอุ่มผล

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ