“ตุง” ความหมายและความเชื่อ
คลังบทความ

“ตุง” ความหมายและความเชื่อ

 

บทความเรื่อง “ตุง” โดย แสงอรุณ กนกพงศ์ชัย ในคอลัมน์ “พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน” ตีพิมพ์ในวารสารเมืองโบราณ ปีที่ 10 ฉบับที่ 2 (เมษายน-มิถุนายน พ.ศ. 2527)

 

ตุง หรือธุง หรือธง เป็นสิ่งที่ชาวบ้านนำมาถวายเป็นพุทธบูชา ลักษณะโดยทั่วไปเป็นผ้าผืนยาว ประดับตกแต่งด้วยสีสันสดใส งดงาม ตุงนี้ชาวบ้านสร้างถวายเป็นพุทธบูชา เพื่อหวังอานิสงส์ในชาติหน้าหรือเพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์ โดยแขวนไว้เบื้องหน้าเยื้องมาทางด้านข้างของพระประธานในโบสถ์ หรือบางแห่งเขาก็แขวนห้อยไว้ตามที่แจ้งก็มี หรืออาจพบตามโบราณสถานเก่าแก่ ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ วัดทางเหนือที่มีงานบุญเขาก็จะปักหรือแขวนตุงไว้ตามระยะทางเพื่อให้รู้ว่ากำลังมีงานบุญ 

 

ตุงมีตำนานความเป็นมายาวนานมาก นายบุญช่วย ศรีสวัสดิ์ เล่าไว้ในประเพณีไทยภาคเหนือว่าพระภิกษุองค์หนึ่งได้ไปเห็นไม้ตายแห้งท่อนหนึ่ง ลักษณะเป็นไม้ท่อนอันยาว งามมาก จึงมีศรัทธาที่จะเอาไปทำเสาตุงถวายเป็นพุทธบูชา แต่ให้บังเอิญพระภิกษุรูปนั้นถึงแก่มรณภาพเสียก่อนด้วยโรคปัจจุบัน จิตวิญญาณของท่านจึงผูกพันอยู่กับไม้ท่อนนั้น ทำให้ต้องไปบังเกิดเป็นตุ๊กแกอาศัยในท่อนไม้นั้นได้รับทุกขเวทนาเป็นอันมาก ท่านจึงดลใจให้ชาวบ้านทราบเรื่องและขอให้สร้างตุงถวายวัดแทนท่าน ด้วยอานิสงส์แห่งตุงนี้เองทำให้ท่านไปบังเกิดเป็นมนุษย์อีกครั้งหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีตำนานเกี่ยวกับความเชื่อในเรื่องตุงปรากฏอยู่ในตำนานเมืองหิรัญนครเงินยาง ล้วนแสดงอานิสงส์ของการสร้างและถวายตุงเป็นพุทธบูชา ดังเรื่องของพรานใจบาปผู้หนึ่ง ดำรงอาชีพอยู่ด้วยการฆ่าสัตว์มาช้านาน วันหนึ่งได้เที่ยวล่าสัตว์ไปจนถึงวัดศรีครมคำ (น่าจะเป็นวัดเดียวกับวัดศรีโคมคำ) เห็นพระปฏิมาองค์ใหญ่มีตุงแขวนไว้ ลมพัดไหวดูงามตานัก พรานนั้นจึงมีศรัทธาจะทำบ้าง เมื่อกลับมาถึงบ้านจึงจัดแจงหาผ้ามาทำตุง แล้วนำไปบูชาพระปฏิมาองค์ใหญ่นั้น ครั้งตายไป พระยายมราชก็จะจับตัวลงนรก ทันใดนั้นตุงที่พรานเคยทำไว้ ก็มาพันรอบกายเกี่ยวกระหวัดเอาร่างของพรานไว้มิทันตกลงไปในขุมนรกนั้น

 

ตุงที่วัดบ้านเวียง อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง ถ่ายเมื่อเมษายน พ.ศ. 2525

(ที่มา: ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์)  

 

ตุงที่วัดบ้านเวียง อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง ถ่ายเมื่อเมษายน พ.ศ. 2525

(ที่มา: ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์)  

 

ตุงยังมีตำนานข้องเกี่ยวไปถึงสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อีกแห่งหนึ่งของทางเหนือด้วยปรากฏในตำนานพระธาตุดอยตุงว่า เมื่อประมาณ พ.ศ. 642 พระมหากัสสปะเถระได้อัญเชิญพระบรมธาตุมาประดิษฐานไว้บนยอดดอยนี้ แล้วอธิษฐานคันตุงยาวโยชน์หนึ่ง ตัวตุงยาวเจ็ดพันวา กว้างห้าพันวา บูชาพระบรมธาตุนั้น คนทั้งปวงได้เห็นตุงผืนใหญ่โต ก็พากันเรียกดอยนั้นว่า “ดอยตุง” สืบมา

 

หมู่ตุงนอกกำแพงวัดที่วัดป่าแดด อำเภอแม่แจ่ม ถ่ายเมื่อพฤษภาคม พ.ศ. 2521

(ที่มา: ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์)   

 

ตุงใยที่วัดป่าตาล อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ภาพถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2563 

 

ลักษณะรายละเอียดการประดิษฐ์ตกแต่งของตุง ขึ้นอยู่กับแต่ละท้องถิ่น เช่นทางเมืองเหนือบางแห่งนิยมถักทอตรงชายตุงเป็นรูปช้าง ม้า ปราสาท ด้วยฝ้ายสีแดงบนพื้นตุงสีขาว หรือทางอีสานทำเป็นรูปใยมุมหรือใยแมงมุม โดยใช้เส้นฝ้ายมาสานกันให้ได้รูปสี่เหลี่ยมจัตรุัสเป็นหนึ่งใยแล้วนำแต่ละใยนี้มาต่อกันเป็นผืนยาว การทิ้งชายยาวของตุงให้ปลิวไสวไปตามลมขึ้นไปสู่ท้องฟ้า คงเป็นไปได้ตามความเชื่อของชาวบ้านที่จะพาเขาไปสู่สรวงสรรค์เมื่อยามละโลกนี้ไปแล้ว

 

ตุงใยที่ชาวบ้านนำมาถวายเป็นพุทธบูชาที่พระธาตุยาคู เมืองฟ้าแดดสงยาง จังหวัดกาฬสินธุ์ 

 

ร้านขายตุงใยที่พระธาตุยาคู เมืองฟ้าแดดสงยาง จังหวัดกาฬสินธุ์ 

 

อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ 10 ปีแรกวารสารเมืองโบราณ https://www.yumpu.com/xx/document/view/67739016/-10-2 

 


กองบรรณาธิการ

"วารสารเมืองโบราณ" นิยามไทย เข้าใจถิ่น