“...เมื่อเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์ได้สร้างบ้านเมืองที่มีคูน้ำและคันดินรูปร่างไม่สม่ำเสมอ พร้อมกับวัดวาอารามจำนวนมาก ทั้งที่อยู่ในสภาพหักพังและยังใช้งานอยู่ในปัจจุบัน อาทิ วัดพระธาตุห้วยลึก วัดห้วยพระธาตุ วัดห้วยลึก วัดริมเมย วัดสองห้วย วัดวังต้อม เป็นต้น ซึ่งโบราณสถานและโบราณวัตถุอย่างพระพุทธรูป ภาชนะดินเผา เตาเผา ล้วนมีรูปแบบศิลปกรรมล้านนาในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20-21...”
วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 48 ฉบับที่ 4
เมืองแม่ต้าน ชุมชนการค้าแห่งลุ่มน้ำเมย
พบกับเรื่องราวหลากหลายภายในเล่ม อาทิ
ขุนหลวงวิลังคะ ผู้นำลัวะแห่งบ้านบ่อหลวง / สุดารา สุจฉายา
ตำบลบ่อหลวง จังหวัดเชียงใหม่ นับเป็นที่อยู่อาศัยของชาวลัวะกลุ่มใหญ่ซึ่งมีความเชื่อมั่นอย่างเต็มภาคภูมิว่าพวกตนเป็นชาวลัวะที่สืบเชื้อสายมาจาก “ขุนหลวงวิลังคะ” วีรบุรุษและผู้นำทางวัฒนธรรมคนสำคัญ โดยมี “บ้านบ่อหลวง” เป็นหมู่บ้านลัวะที่เก่าแก่ที่สุด ชาวลัวะในพื้นที่ตำบลบ่อหลวงได้ร่วมแรงร่วมใจกันผลักดันให้เกิด “อนุสาวรีย์ขุนหลวงวิลังคะ” พร้อมทั้งสนับสนุนให้มีการจัดประเพณีบวงสรวงขุนหลวงวิลังคะเป็นประจำทุกปี นอกจากนั้นในอนาคตอันใกล้นี้ ยังมุ่งหวังให้มี “หอศิลป์บ่อหลวง” เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมประวัติศาสตร์ชาวลัวะอีกด้วย
เมืองแม่ต้าน ชุมชนการค้าแห่งลุ่มน้ำเมย / วิยะดา ทองมิตร
แม่ต้านเป็นเมืองโบราณขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่เชิงเขาริมแม่น้ำเมย ทั้งนี้เมื่อพิจารณาจากหลักฐานทางโบราณคดีพบว่ามีร่องรอยการใช้พื้นที่มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์แล้ว กระทั่งเมื่อเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์ก็ได้รับการสันนิษฐานว่าอาจเป็น “เมืองฉอด” ของพ่อขุนสามชน แม้ข้อสรุปยังไม่แน่ชัดแต่จากโบราณสถานและโบราณวัตถุที่ปรากฏก็ทำให้ทราบว่า เมืองแม่ต้านเคยเป็นเมืองสำคัญของอาณาจักรล้านนา ส่วนหนึ่งอาจเพราะตั้งอยู่บนเส้นทางการค้าสำคัญที่สามารถออกสู่ทะเลที่มะละแหม่งได้
เมืองฉอดในประวัติศาสตร์สุโขทัย / ศรีศักร วัลลิโภดม
หลังจากพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ขึ้นครองกรุงสุโขทัยก็ทรงพยายามขยายขอบขันณฑสีมาไปยังลุ่มน้ำปิง จึงทำให้เกิดความขัดแย้งกับขุนสามชน เจ้าเมืองฉอด ซึ่ง “เมืองฉอด” ในขณะนั้น เป็นเพียงรัฐเล็กๆ ริมฝั่งแม่น้ำเมยที่สามารถเดินทางจากแม่น้ำเมยไปยังเมืองเมาะตะมะ หรือจากแม่น้ำเมยไปยังเมืองเชียงทอง ก่อนข้ามลำน้ำไปยังกรุงสุโขทัยได้ ต่อมาในสมัยพ่อขุนรามคำแหง เมืองฉอดจึงถูกผนวกรวมกับกรุงสุโขทัย อย่างไรก็ดี ผู้เขียนเชื่อว่าเมืองฉอดของพ่อขุนสามชนก็คือ “อำเภอแม่สอด” ในปัจจุบันนี้
การสำรวจเมืองโบราณบนฝั่งขวาของลุ่มน้ำสาละวิน จากตากถึงแม่ฮ่องสอน / เกสรบัว อุบลสรรค์
ฝั่งขวาของลุ่มน้ำสาละวินครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่จังหวัดแม่ฮ่องสอนลงมายังฟากตะวันตกของจังหวัดตาก แบ่งเป็นลุ่มน้ำสาขาต่างๆ ได้ 3 กลุ่ม คือ ลุ่มน้ำสาขาปาย ลุ่มน้ำสาขายวม และลุ่มน้ำสาขาเมย โดยแต่ละกลุ่มลุ่มน้ำสาขาได้พบหลักฐานของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์แล้ว กระทั่งเข้าสู่สมัยล้านนาจึงพบว่ามีเมืองสำคัญเกิดขึ้นบนลุ่มน้ำสาขาต่างๆ หลายแห่ง ได้แก่ “เมืองน้อย” ในลุ่มน้ำสาขาปายที่ถูกใช้เป็นเมืองรองรับชนชั้นนำผู้ต้องโทษเนรเทศ “เมืองยวมใต้” ในลุ่มน้ำสาขายวมที่มีสถานะเป็นเมืองหน้าด่านทางฟากตะวันตกตอนล่างของล้านนา และ “เมืองโบราณแม่ต้าน” ในลุ่มน้ำสาขาเมยที่เป็นเมืองศูนย์กลางการค้าสำคัญของล้านนา เป็นต้น
เมืองแม่ต้านเก่าในมิติท้องถิ่นผู้คนท่าสองยาง / ณัฐวิทย์ พิมพ์ทอง
พื้นที่บริเวณเมืองแม่ต้านซึ่งปัจจุบันเป็นตัวอำเภอท่าสองยาง นับเป็นพื้นที่สำคัญมาแต่อดีตเพราะพบร่องรอยเมืองโบราณและโบราณสถานเก่าแก่หลายแห่งซึ่งล้วนแล้วแต่อยู่ในความรับรู้ของชาวแม่ต้านมาโดยตลอด นำมาสู่ความพยายามเข้าไปดูแล สอดส่อง เป็นหูเป็นตาไม่ให้คนภายนอกเข้ามาลักลอบขุดหาของมีค่า และร่วมผลักดันให้เกิดการบูรณะโบราณสถานหลายแห่งในพื้นที่ เช่น “พระธาตุห้วยลึก” และ “วัดสองห้วย (ร้าง)” เป็นต้น
กะเหรี่ยงพรมแดนแม่น้ำเมยในโลกสมัยใหม่ / จิราพร แซ่เตียว
ประชากรกว่าร้อยละ 90 ของอำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก คือ “ปกาเกอะญอ” หรือกะเหรี่ยงซึ่งมีวิถีชีวิตผูกพันกับการทำไร่หมุนเวียนและการนับถือผี แต่ในปัจจุบันด้วยข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ทำกินที่ลดน้อยลงเพราะส่วนใหญ่ถูกประกาศให้เป็นเขตป่าสงวนและอุทยานแห่งชาติ การทำไร่หมุนเวียนบนพื้นที่ที่เหลืออยู่ยังถูกแทนที่ด้วยการปลูกพืชเศรษฐกิจตามทิศทางโลกทุนนิยมสมัยใหม่ ขณะที่ความเชื่อเรื่องการนับถือผีแบบดั้งเดิมก็ถูกแทนที่ด้วยศาสนาคริสต์ที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้น
ท่าสองยาง-แม่ต้าน ชุมชนบนเส้นทางการค้าชายแดน / อภิญญา นนท์นาท
แม่ต้านและท่าสองยาง เป็นชุมชนริมแม่น้ำเมยที่อยู่บนเส้นทางการค้าที่เชื่อมระหว่างมะละแหม่งซึ่งเป็นเมืองท่าทางทะเลของพม่ากับบ้านเมืองที่อยู่ตอนใน โดยที่บ้านแม่ต้านได้พบร่องรอยความเป็นบ้านเมืองมาตั้งแต่สมัยล้านนา ส่วนที่บ้านท่าสองยางซึ่งมีความสำคัญเพราะตั้งอยู่บนตำแหน่งเส้นทางข้ามช่องเขาเข้าสู่ที่ราบในฝั่งพม่า ทั้ง 2 ชุมชนต่างเจริญเติบโตขึ้นโดยมีการค้าชายแดนเป็นตัวขับเคลื่อน
วิถีค้าโคข้ามแดน...ลำน้ำเมย ท่าสองยาง / ณัฐวิทย์ พิมพ์ทอง
การค้าโคกระบือข้ามแดนมีมาตั้งแต่สมัยที่มะละแหม่งเป็นเมืองท่าของอังกฤษ โคกระบือจากหัวเมืองเหนือของสยามถูกส่งไปขายที่มะละแหม่งเช่นเดียวกับสินค้าอื่นๆ เมื่อการค้ารุ่งเรือง คนเมืองก็อพยพโยกย้ายมาตั้งถิ่นฐานบนเส้นทางการค้าตลอด 2 ฟากฝั่งลำน้ำเมย แต่หลังจากตลาดการค้าโคกระบือย้ายมาอยู่ทางภาคเหนือและภาคกลางของไทยตั้งแต่ปลายพุทธศตวรรษที่ 25 เส้นทางการค้าโคกระบือสู่มะละแหม่งก็หมดความสำคัญลงเช่นกัน
“กะลา” อคติทางศาสนา ความพยายามที่จะอยู่ร่วมกันที่แม่สะเรียง / เมธินีย์ ชอุ่มผล
สยามเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากเชื้อสายหลายชาติพันธุ์ ใน “ตำหรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์” ได้กล่าวถึงผู้คนและคำเรียกภาษาต่างๆ ไว้มากมาย เช่น “แขกมั่งกะลี้” หรือ “แขกบังกะหล่า” ต่อมาถูกกร่อนเสียงเหลือเพียง “กะลา” เป็นคำที่คนพม่าและผู้คนแถบชายแดนไทย-พม่าใช้เรียกชาวมุสลิมผู้นับถือศาสนาอิสลาม แต่ในปัจจุบัน คำว่า “กะลา” กลับกลายเป็นคำพูดที่เต็มไปด้วยอคติและความหวาดกลัว ดังนั้น ชาวมุสลิมแม่สะเรียงจึงร่วมกันผลักดันแผนงาน “แลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมอิสลามและชาติพันธุ์มุสลิมล้านนาตะวันตก” เพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคนต่างศาสนาในชุมชนและลดอคติที่คนภายนอกมีต่อพี่น้องชาวมุสลิม
ขุนสามชน เจ้าเมืองฉอดกับศึกยุทธหัตถีที่เมืองตาก / ดร. ธีระวัฒน์ แสนคำ
เหตุการณ์คราว “ขุนสามชน เจ้าเมืองฉอด” ยกทัพมาตีเมืองตากจนพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ซึ่งเป็นแม่ทัพฝ่ายสุโขทัยเพลี่ยงพล้ำ ก่อนที่พ่อขุนรามคำแหงจะพลิกสถานการณ์กลายเป็นผู้ชนะได้นั้น ถูกจารไว้ในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง บางท่านเชื่อว่า “เจดีย์ยุทธหัตถี” ในเขตเมืองตากเก่าคืออนุสรณ์สถานจากชัยชนะในครั้งนั้น แต่ผู้เขียนและนักวิชาการอีกหลายท่านกลับเห็นต่างพร้อมตั้งข้อสังเกตว่า เจดีย์ยุทธหัตถีไม่ได้ตั้งอยู่โดดๆ อย่างอนุสาวรีย์ฝรั่ง โดยพบฐานวิหารอยู่ด้านหน้าเจดีย์ ดังนั้นเจดีย์ยุทธหัตถีจึงน่าจะเป็นศาสนสถานสำคัญประจำเมืองที่สร้างขึ้นหลังสมัยพ่อขุนรามคำแหง
กลิ่นอายสงครามกับภาพจำ ณ วัดอมรินทราราม / สุดารา สุจฉายา
ชาวบ้านที่เคยอยู่ร่วมในเหตุการณ์คราวเครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดทำลายจุดยุทธศาสตร์ฝั่งพระนครและรอบๆ สถานีรถไฟบางกอกน้อยยังคงจดจำบรรยากาศ ความโกลาหล และความสูญเสียที่พบเจอได้เป็นอย่างดี การทิ้งระเบิดอย่างต่อเนื่องในคราวนั้นยังทำให้ “วัดอมรินทราราม” หรือวัดบางหว้าน้อยซึ่งเคยเป็นวัดหลวงเมื่อช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์เหลือเพียงซากปรักหักพังแทบสิ้นสภาพการใช้งาน แต่หลังสงครามยุติและผ่านการตัดแบ่งพื้นที่เพื่อใช้ในกิจกรรมสาธารณประโยชน์ของหน่วยงานราชการ วัดอมรินทรารามก็ได้รับการบูรณะให้กลับมาเป็นศูนย์รวมจิตใจพุทธศาสนิกชนอีกครั้ง
เรือนไม้บ้านท่าสองยาง เรื่องเล่าในความธรรมดา / อภิญญา นนท์นาท
“บ้านท่าสองยาง” หรือ “แม่ตะวอ” ในภาษากะเหรี่ยง เป็นหมู่บ้านริมแม่น้ำเมยที่มีความสำคัญบนเส้นทางการค้าชายแดนไทย-พม่า ในอดีตเคยเป็นที่ตั้งที่ว่าการกิ่งอำเภอท่าสองยางก่อนถูกโยกย้ายออกไป ต่อมาหมู่บ้านขยายใหญ่มากขึ้นโดยเฉพาะในช่วงตลาดมืดราวทศวรรษ 2520 ปัจจุบันเรายังสามารถพบเห็นร่องรอยความรุ่งเรืองเหล่านั้นผ่านหมู่อาคารเรือนไม้หลังเก่าที่ตั้งปะปนกับเรือนสมัยใหม่ แม้ภายนอกจะดูเหมือนเรือนไม้ธรรมดา แต่เรื่องเล่าจากความทรงจำของชาวบ้านที่ถ่ายทอดสู่กันฟังล้วนสะท้อนให้เห็นถึงอดีตอันรุ่งเรืองของหมู่บ้านแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี
เรื่องเล่าจากลำน้ำเมย...เจ้าพ่อเมาะกะละ / ศาสตราจารย์กิตติคุณ สุกัญญา สุจฉายา
ลำน้ำเมยช่วงที่ไหลผ่าน “บ้านห้วยปลากอง” ก่อนสบกับแม่น้ำสาละวินนั้น มีแก่งใหญ่ที่ชาวบ้านเรียกว่า “แก่งเจ้าพ่อ” ใกล้กันมี “ถ้ำเมาะกะละ” หรือ “ถ้ำโมกขละ” ชาวห้วยปลากองซึ่งมีบรรพบุรุษเป็นกะเหรี่ยงปกาเกอะญอจากฝั่งพม่าเชื่อต่อกันมาว่า “เจ้าพ่อโมกขละ” เป็นพี่ชายของ “พะวอ” และถ้ำโมกขละมีทางเชื่อมต่อกับเมืองลับแล ภายในถ้ำยังเต็มไปด้วยทรัพย์สมบัติของมีค่าและถ้วยชามมากมาย และหากล่องเรือแพผ่านหน้าถ้ำในคืนพระจันทร์เต็มดวงก็มักมีผู้ได้ยินเสียงร้องรำทำเพลงแว่วดังออกมาจากในถ้ำเสมอ
พุทธศาสนาและความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมของชาวแม่สะเรียง / วิภาวดี โก๊ะเค้า
พื้นที่บริเวณ “เมืองยวมใต้” ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็น “อำเภอยวมใต้” และ “อำเภอแม่สะเรียง” ตามลำดับนั้น เป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติและผู้คนหลายกลุ่มชาติพันธุ์ ศาสตราจารย์ชาร์ลส์ เอฟ คายส์ (Charles F. Keyes) นักมานุษยวิทยาชาวอเมริกันผู้หลงใหลสังคมชนบทไทยภาคเหนือจึงเดินทางมาเก็บข้อมูลภาคสนามในอำเภอแม่สะเรียงระหว่างปี พ.ศ. 2510-2511 ได้ทำการบันทึกภาพผู้คน ความเป็นอยู่ การหาอยู่หากิน และประเพณีงานบุญของชาวแม่สะเรียงซึ่งสะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตของชาวแม่สะเรียงในสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี
ใช่เหรียญแรกสุดที่ผลิตบนดินแดนสุวรรณภูมิ และใครคือวิษณุวรมัน? / นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช
การค้นพบ “เหรียญทองคำ” ที่แหล่งโบราณคดีคลองท่อม จังหวัดกระบี่ เป็นการค้นพบครั้งสำคัญ เหรียญทองคำดังกล่าวสลักด้านหนึ่งเป็นรูปบุคคลสวมมงกุฎเหนือศีรษะอย่างเหรียญรูปจักรพรรดิโรมัน อีกด้านสลักอักขระพราหมี อ่านว่า “ศรีวิษณุวรมัน” สามารถกำหนดอายุได้ราวคริสต์ศตวรรษที่ 3-5 ผู้เขียนเชื่อว่าชื่อ “ศรีวิษณุวรมัน” มีความเกี่ยวข้องกับทางอินเดียใต้ สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นศูนย์กลางการค้าทางทะเลของคลองท่อมเมื่อช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 1-5 นำมาสู่ข้อสันนิษฐานว่านี่อาจเป็นเหรียญเงินตราจากทองคำที่เก่าแก่ที่สุดบนแผ่นดินสุวรรณภูมิ!
ชาวลัวะทางตอนใต้เมืองเชียงใหม่และแม่ฮ่องสอน / ดร. สราวุธ รูปิน
“ลัวะ” ดูจะเป็นเรื่องคุ้นเคยในหมู่คนล้านนา โดยพบว่าปรากฏทั้งในรูปของนิทานพื้นบ้าน ตำนานพื้นเมือง และหลักฐานทางประวัติศาสตร์หลายฉบับ ในพื้นที่ทางตอนใต้ของเมืองเชียงใหม่และแม่ฮ่องสอนก็พบเรื่องราวเกี่ยวกับ “ลัวะ” ในหลายหมู่บ้าน เช่น “ลัวะ 8 ตระกูล” : ผู้มีหน้าที่ดูแลพระธาตุศรีจอมทอง และ “ลัวะบ้านแปะ” : ผู้สืบทอดอาชญาเจ้าและประเพณีเลี้ยงหลาบเงิน เป็นต้น
ศาลหินปริศนากับชุมชนโบราณบนเส้นทางจันทบุรี-สระแก้ว-พระตะบอง / กำพล จำปาพันธ์ และวริศ อุดมเวช
ริมทางหลวงสาย 317 ในพื้นที่ “บ้านมาบคล้า” อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี เป็นที่ตั้งของ “ศาลเจ้าพ่อหินโม่” หรือ “ศาลหินโม่” ด้านในมีแท่นหินบรรจุวัตถุมงคลสำหรับวางศิลาฤกษ์ศาสนสถาน และฐานโยนีหินทรายที่พบในบริเวณใกล้เคียงตั้งวางบูชาอยู่ บนผิวดินรอบศาลยังมีชิ้นส่วนภาชนะดินเผาเนื้อแกร่งสีดำจากกลุ่มเตาบ้านกรวด และแหล่งเตาในพื้นที่ปะปนกระจัดกระจายอยู่ด้วย อย่างไรก็ดี ผู้เขียนพบว่าพื้นที่บริเวณนี้มีความสำคัญ ดังปรากฏชื่อ “ด่านมะพลา” ตรงตำแหน่งที่ตั้งของ “บ้านมาบคล้า” ในแผนที่แสดงเส้นทางคมนาคมโบราณถึง 2 ฉบับ
วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 48 ฉบับที่ 4 เมืองแม่ต้าน ชุมชนการค้าแห่งลุ่มน้ำเมย
ราคาเล่มละ 150 บาท
ค่าจัดส่ง (เล่มแรก) 30 บาท
สั่งซื้อได้ที่
Line Shop : https://shop.line.me/@sarakadeemag/product/1003908124
Facebook : http://m.me/sarakadeeboranrobroo
สมัครสมาชิก คลิก https://shop.line.me/@sarakadeemag/product/318753714