วิถีแห่งหมู่เล หมู่ทุ่ง และหมู่เหนือ
หนังสือหนังหา

วิถีแห่งหมู่เล หมู่ทุ่ง และหมู่เหนือ

 

ภายใต้บริบทความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยที่กำลังเคลื่อนไปเรื่อยๆ กลุ่มชุมชนและสังคมที่แม้จะอยู่ห่างไกลจากเมืองหลวงก็เกิดปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน การศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นพัทลุงในหนังสือเล่มนี้เปรียบเสมือนบทบันทึกที่คนในท้องถิ่นช่วยกันร่างไว้ ก่อนที่ผู้คนและความทรงจำเหล่านี้จะค่อยๆ เลือนหายไปพร้อมกัน

 

หนังสือ วิถีแห่งหมู่เล หมู่ทุ่ง และหมู่เหนือ ยุววิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่นภาคใต้ เล่ม 2 พัทลุง 

เลิศชาย ศิริชัย บรรณาธิการ 

กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.), 2555

 

[1]

ตามรอยช้างค่อมทะเลน้อย  

โดย คณะยุววิจัยฯ โรงเรียนสตรีพัทลุง อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง  

 

ปลายศตวรรษที่แล้ว ราวปี 2480 ในพื้นที่ภาคใต้มีผู้พบเห็นช้างขนาดเล็กอาศัยอยู่เป็นโขลงใหญ่ราว 30-40 ตัวในบริเวณทุ่งหญ้าและป่าพรุรอบทะเลสาบสงขลาตอนบน ชาวบ้านต่างเรียกช้างขนาดเล็กนี้ว่า “ช้างค่อม” “ช้างแคระ” “ช้างแกลบ” หรือ “ช้างพรุ” เรื่องราวของช้างค่อมยังคงหลงเหลือในความทรงจำของชาวบ้านรอบๆ ทะเลน้อย โดยเฉพาะใน 3 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช สงขลา และพัทลุง งานวิจัยนี้แบ่งออกเป็น 4 ส่วนด้วยกัน คือ

  1. เราจะตามไปในเรื่องเล่าอันรางเลือน
  2. เบื้องต้นกับช้างค่อมทะเลน้อย
  3. ช้างค่อมทะเลน้อยจากตำนานถึงร่องรอยเมื่อวันวาน
  4. คารวะช้างค่อมในป่าเขียว และอาลัยป่าเขียว

 

พบว่าความทรงจำสุดท้ายเกี่ยวกับช้างค่อมของคนพัทลุงคือ เมื่อเกิดน้ำท่วมใหญ่ในปี พ.ศ. 2505 ช้างในโขลงที่รอดตายครานั้นได้หนีหายเข้าไปในป่าลึกเขตเทือกเขาที่ต่อเนื่องระหว่างพัทลุงกับนครศรีธรรมราช ไม่มีใครได้พบเจออีกเลยจนถึงทุกวันนี้ จะเหลือก็แต่เพียงเรื่องเล่าอันเลือนรางเท่านั้น

 

[2]

เขาแก้วกับประวัติศาสตร์การสู้รบ 

บาดแผลและบทเรียนจากสงครามประชาชน

โดย คณะยุววิจัยฯ โรงเรียนตะแพนพิทยา อำเภอศรีบรรพต จังหวัดพัทลุง

 

“เขาแก้ว” ชื่อค่ายคอมมิวนิสต์ที่ตั้งอยู่บนเขาชื่อเดียวกันในอำเภอศรีบรรพต จังหวัดพัทลุง ค่ายดังกล่าวตั้งขึ้นในช่วงสงครามเย็นที่แนวความคิดเรื่องคอมมิวนิสต์กำลังจับใจประชาชนในห้วงเวลานั้น ทำให้เกิดการต่อสู้ระหว่างรัฐกับประชาชนอยู่เนืองๆ ในหลายพื้นที่ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยได้แทรกซึมอยู่ในพื้นที่นี้เช่นกัน เนื้อเรื่องของงานวิจัยนี้แบ่งออกเป็น 5 ส่วนด้วยกัน ได้แก่

  1. ร่องรอยแห่งความรุนแรง 
  2. เขาแก้วและหมู่บ้านในพื้นที่สู้รบ ก่อนการแตกเสียงปืน
  3. เขาแก้วและหมู่บ้านในพื้นที่สู้รบ ท่ามกลางสงครามประชาชน (พ.ศ.2508-2524)
  4. เขาแก้วและหมู่บ้านในพื้นที่สู้รบ หลังสงครามประชาชน
  5. เราสรุป: บทเรียนจากอดีตสู่อนาคต

 

การบอกเล่าตั้งแต่ต้นกำเนิดของหมู่บ้านท่ายูง หมู่บ้านดั้งเดิมก่อนที่จะมีการตั้งค่ายเขาแก้วขึ้นมา การสัมภาษณ์ประสบการณ์และความทรงจำของคนที่เข้าร่วมกับ พคท. แม้ปัจจุบันค่ายเขาแก้วปิดตัวไปแล้ว แต่แนวคิด-ความทรงจำของผู้คนทั้งที่เคยเป็นสมาชิก พคท. และผู้ที่พานพบกับเหตุการณ์ความรุ่มร้อนในช่วงเวลานั้นยังคงแจ่มชัดเสมอมา

 

[3]

ตลาดนาท่อม บนเส้นทางการเปลี่ยนแปลง

จากยุคสายน้ำและทางพลี ถึงยุคถนนสายเอเชีย

โดย คณะยุววิจัยฯ โรงเรียนประภัสสรรังสิต อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง 

 

“ตลาดนาท่อม” รุ่งเรืองจนถึงขั้นเป็นศูนย์กลางการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างชุมชนโดยรอบ ทั้งคนจากขุนเขาที่เรียกกันว่า “หมู่เหนือ” หรือ “หมู่เขา” กับกลุ่มคนที่อาศัยในที่ราบลุ่ม ทำนาเป็นอาชีพหลัก ซึ่งเพื่อนเรียกกันว่า “หมู่นา” หรือ “หมู่ทุ่ง” คนพัทลุงและใกล้เคียงจำกันได้ว่าตลาดนาท่อมเคยเป็นตลาดนัดใหญ่มากของจังหวัดที่รู้จักกันมานานตั้งแต่ก่อนมีถนนสายเอเชียตัดผ่านมายังจังหวัดพัทลุง กระทั่งเมื่อถนนเอเชียตัดผ่านเข้ามา ทำให้บทบาทของตลาดนาท่อมลดน้อยลง จนปัจจุบันเหลือเพียงโรงเรือนหลังเดี่ยวขนาดเล็ก ไม่มีคนจดจำอีกต่อไป บทความวิจัยนี้ได้แบ่งออกเป็น 6 ส่วน เล่าเรื่องตลาดนาท่อมในความทรงจำ ได้แก่

  1. ภาพปรากฏเบื้องหน้ากับความเป็นมาไกลโพ้น
  2. รู้จักนาท่อมไว้เป็นเบื้องต้น
  3. ตลาดนาท่อมในยุคสายน้ำและทางพลี
  4. ตลาดนาท่อมยุคถนนหนทาง
  5. ตลาดนาท่อมยุคถนนสายเอเชีย
  6. บทสรุป (แด่ความเงียบเหงาเมื่อกลางเดือนตุลาคม 2522)

3 ยุค 3 ช่วงเวลาของตลาดนาท่อมช่างคล้ายกับคำว่า เกิดขึ้น - ตั้งอยู่ - ดับไป ฉันใดฉันนั้น

 

[4]

งานชุมนุมกรีฑาพัทลุง ในความทรงจำ

โดย คณะยุววิจัยฯ โรงเรียนพัทลุง อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง

 

งานชุมนุมกรีฑาจังหวัดพัทลุงเมื่อหลายสิบปีก่อน เคยเป็นงานใหญ่ที่จัดกันอย่างเอิกเกริก ซึ่งคนทั้งจังหวัดรอคอยชมการแข่งขันและเที่ยวชมงาน แม้ว่าในปัจจุบันจะซบเซาลงไปมากจนไม่เป็นที่สนใจอีกแล้วก็ตาม ในบทความงานวิจัยนี้แบ่งเนื้อเรื่องออกเป็น 6 ช่วงด้วยกัน ได้แก่

  1. บทนำ : ความสำคัญ ความพยายาม และความคาดหวัง
  2. ที่มาของงานชุมชนกรีฑาและงานชุมนุมกรีฑาในยุคเริ่มต้น
  3. งานชุมนุมกรีฑายุคลงหลักปักฐาน (ต้นทศวรรษ 2500 - กลาง 2510)
  4. งานชุมนุมกรีฑายุครุ่งเรือง (กลางทศวรรษ 2510 - ปลาย 2530)
  5. งานชุมนุมกรีฑายุคเสื่อมถอย (ตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2540 เป็นต้นมา)
  6. บทสรุป : งานชุมนุมกรีฑาในพื้นที่ความทรงจำ

 

พัฒนาการของงานกรีฑาพัทลุงบ่งบอกถึงการผสมกลมกลืนระหว่าง “ความเป็นท้องถิ่น” และ “ความเป็นสมัยใหม่” โดยเน้นที่สาระสำคัญของงานชุมนุมว่าเป็นพื้นที่ร่วมของคนพัทลุงจากทุกท้องที่ แต่ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้เสมอ เมื่อปัจจัยสำคัญของการเปลี่ยนแปลงนั้นมาจากระบบราชการที่มีระเบียบและขั้นตอนแยกออกจากวิถีชีวิตของท้องถิ่นมากขึ้น นอกจากนี้อีกปัจจัยหนึ่งที่ทีมวิจัยมองเห็นก็คือการเติบโตของตลาดและการพัฒนาแบบใหม่ ที่ทำให้แต่ละครัวเรือนเข้าถึงความบันเทิงแบบทันสมัยมากขึ้น เช่น โทรทัศน์ ทำให้ความบันเทิงที่เคยมีมานานอย่างการเที่ยวชมงานชุมนุมกรีฑากลายเป็นเรื่องเก่าไปเสียแล้ว

 

[5]

ชุมชนตลาดบางแก้ว จากอดีตถึงปัจจุบัน (ทศวรรษ 2460-2550)

โดย คณะยุววิจัยฯ ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) อำเภอป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง

 

เมื่อรถไฟมาถึงพัทลุงเมื่อต้นทศวรรษ 2460 ชุมชนตลาดบางแก้วจึงค่อยๆ ก่อร่างขึ้นจนกลายเป็นชุมชนตลาดบางแก้ว ที่เป็นศูนย์กลางการคมนาคมและตลาดแลกเปลี่ยนซื้อขายผลผลิตและสินค้าที่สำคัญของชุมชนริมทางรถไฟในอีกไม่กี่สิบปีต่อมา ในบทความวิจัยนี้แบ่งเนื้อหาออกเป็น 6 ส่วน ได้แก่

  1. บทนำ บางแก้วในความคาดหวัง
  2. ปลายทางที่บางแก้ว
  3. ชุมชนตลาดบางแก้วยุคก่อตั้ง (ต้นทศวรรษ 2460 - กลางทศวรรษ 2470)
  4. ชุมชนตลาดบางแก้วยุคตลาดมีเจ้าของ (ปลายทศวรรษ 2470 - ปลายทศวรรษ 2490)
  5. ชุมชนตลาดบางแก้วยุคตลาดถาวร (ต้นทศวรรษ 2520-ต้นทศวรรษ 2550
  6. บทสรุป มากับรถไฟ-ไปกับรถยนต์

 

มีปัจจัยหลายอย่างที่เข้ามาประกอบทำให้เกิดการเติบโตและเปลี่ยนแปลงของชุมชนตลาดบางแก้ว รวมถึงยังมีอีกหลายปัจจัยที่ทำให้ชุมชนตลาดบางแก้วที่ยืนอายุมานานเกือบ 100 ปี ต้องซบเซาลง ปัจจุบันชุมชนตลาดบางแก้วที่เคยรุ่งเรืองถึงขีดสุดด้วยการมาถึงของรถไฟ เหลือเพียงชุมชนตลาดบางแก้วที่อยู่กันอย่างสงบเงียบเช่นทุกวันนี้

 

[6]

สับปะรดป่าบาก ของฝากป่าบอน 

เศรษฐกิจของชาวสับปะรดในอำเภอป่าบอน

โดย คณะยุววิจัยฯ จากโรงเรียนป่าบอนพิทยาคม อำเภอป่าบอน จังหวัดพัทลุง

 

จอดรถแอบข้างทางซื้อของฝากป่าบอน ซึ่งเป็นผลิตผลจากคนบ้านป่าบากและหมู่บ้านอื่นๆ ในอำเภอป่าบอน ถือเป็นภาพชินตาของคนที่ขับรถมาตามถนนสายเอเชียช่วงที่ผ่านอำเภอป่าบอนทั้งขาขึ้นและขาล่อง จากที่เคยทำนาสลับกับทำสวนยางของคนในพื้นที่ แต่เมื่อเริ่มมีการทำสวนยางเพิ่มมากขึ้น จึงมีการนำสับปะรดไปปลูกแซมในสวนยาง จนปัจจุบันสับปะรดกลายเป็นพืชเศรษฐกิจนำสวนยาง และเป็นสัญลักษณ์ที่คนจดจำได้ว่าสับปะรดดีของเมืองพัทลุงคือสับปะรดป่าบอน โดยเฉพาะที่บ้านป่าบาก ซึ่งมีทั้งสับปะรดสดและสับปะรดแปรรูป บทความงานวิจัยนี้ได้แบ่งเนื้อหาออกเป็น 5 ส่วน คือ

  1. ตลาดริมทางบ้านป่าบากกับคำถามจากความสงสัย
  2. จาก “สายน้ำ-สนามรบ” เป็นหมู่บ้าน ชุมชน  ตำบล และอำเภอ
  3. จาก “หัวจุกย่าหนัด” ถึง “หน่อพันธุ์สับปะรด”
  4. สับปะรดป่าบาก ของฝากจากป่าบอน (หลังทศวรรษ 2520)
  5. ก่อนถึงบรรทัดสุดท้าย

 

จากการสืบค้นข้อมูลของคณะวิจัยพบว่าสับปะรดที่ป่าบาก อำเภอป่าบอน เริ่มปลูกกันมาตั้งแต่ทศวรรษ 2470 ถือเป็นความทรงจำที่ส่งต่อมาเกือบ 100 ปี เรื่องราวของสับปะรดในวิถีชีวิตของคนบ้านป่าบากและป่าบอนมีหลายแง่มุมที่น่าสนใจ ซึ่งคนในท้องถิ่นควรได้อ่าน  

 

ท่านที่สนใจสามารถหาอ่านหนังสือเล่มนี้ได้ในหอสมุดของสถาบันการศึกษาต่างๆ อาทิ หอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (https://koha.library.tu.ac.th/punsarn/opac/main/) สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยศิลปากร (http://www.l.su.ac.th/) หอสมุดมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (http://opac.library.mju.ac.th/) สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยทักษิณ (http://www.lib.tsu.ac.th/) เป็นต้น

 


เมธินีย์ ชอุ่มผล

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ