หลักหิน-ใบเสมาในวัฒนธรรมทวารวดีอีสาน
หนังสือหนังหา

หลักหิน-ใบเสมาในวัฒนธรรมทวารวดีอีสาน

 

“วัฒนธรรมทวารวดีในภาคอีสาน” เป็นคำจำกัดความที่ใช้เรียกกลุ่มวัฒนธรรมและรูปแบบศิลปกรรมที่พบอยู่โดยทั่วไปในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 12-16 โดยมีลักษณะที่คล้ายคลึงกับวัฒนธรรมทวารวดีในภาคกลางและแตกต่างกับวัฒนธรรมเขมร ซึ่งวัฒนธรรมทวารวดีในภาคอีสานถือว่ามีอัตลักษณ์ที่โดดเด่นอย่างมากเมื่อเทียบกับกลุ่มวัฒนธรรมทวารดีที่ปรากฏอยู่ในภูมิภาคอื่นๆโดยเฉพาะการสร้าง “ใบเสมา” หรือ “หลักหิน” ที่พบเป็นจำนวนมากทั่วภาคอีสานและสามารถจำแนกเป็นกลุ่มย่อยๆ ของแต่ละท้องถิ่นได้อีกด้วย

 

งานวิจัยเรื่อง หลักหิน-ใบเสมาในวัฒนธรรมทวารวดีภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย (Sema Stones in Dvaravati Art of Northeastern Thailand) ของ รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ถือเป็นงานวิจัยชิ้นสำคัญในปัจจุบันที่กล่าวถึงคติการสร้าง รูปแบบ และการแพร่หลายของการสร้างหลักหิน-ใบเสมาในวัฒนธรรมทวารวดีภาคอีสาน พร้อมทั้งนำเสนอข้อสันนิษฐานใหม่ที่น่าสนใจจากการทบทวนการศึกษาที่ผ่านมา ประกอบกับการลงพื้นที่สำรวจเก็บข้อมูลแหล่งโบราณคดีที่มีการพบหลักหินเพิ่มเติม นำมาสู่การตั้งข้อสังเกตที่จะช่วยเติมเต็มภาพสังคมและวัฒนธรรมทวารวดีในภาคอีสานมากยิ่งขึ้น

 

งานวิจัยดังกล่าวได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยศิลปากร ประจำปี 2555 ซึ่งแล้วเสร็จและนำออกเผยแพร่ในปี 2557 อีกทั้งยังการันตีคุณภาพงานวิชาการอันทรงคุณค่าด้วยรางวัลงานวิจัยระดับดีมาก สาขาปรัชญา จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)ประจำปี 2560 อาจกล่าวได้ว่าคุณค่าและความสำเร็จของงานวิจัยชิ้นนี้เกิดขึ้นจากการตกผลึกความคิดที่ได้จากการสำรวจและศึกษาด้วยความสนใจของผู้วิจัยมาอย่างยาวนาน

 

ความแพร่หลายของการสร้างใบเสมาในวัฒนธรรมทวารวดีอีสานและเอกลักษณ์ของแต่ละพื้นที่  อ.รุ่งโรจน์ได้จัดกลุ่มหลักหิน-ใบเสมาออกตามลุ่มน้ำคือ ลุ่มน้ำมูล ลุ่มน้ำชี และลุ่มน้ำโขง และแบ่งเป็นกลุ่มย่อยตามความยาวของลำน้ำคือ ช่วงต้น กลาง และปลาย เนื่องจากพบว่าแต่ละลุ่มน้ำมีความแพร่หลายมากน้อยแตกต่างกัน อีกทั้งรูปแบบงานศิลปกรรมมีทั้งจุดร่วมและจุดต่างที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละแห่ง ซึ่งมีความสำคัญมากในการทำความเข้าใจลักษณะของวัฒนธรรมทวารวดีในภาคอีสาน

 

“เอกลักษณ์ของหลักหินในแต่ละพื้นที่อาจจะสะท้อนให้เห็นถึงขอบเขตทางวัฒนธรรมย่อยที่แตกต่างกัน และอาจตั้งเป็นข้อสังเกตได้ว่าเมืองในวัฒนธรรมทวารวดีภาคอีสานมีศูนย์กลางทางการเมืองการปกครองหรือศูนย์กลางทางวัฒนธรรมหลายแห่ง” (หน้า 39)

 

ตัวอย่างกลุ่มใบเสมาที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น เช่น กลุ่มลุ่มน้ำชีตอนกลาง ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นแหล่งที่พบมากและมีเอกลักษณ์การสลักภาพเรื่องราวในพระพุทธศาสนาลงบนแผ่นใบเสมา เช่น ใบเสมาที่เมืองฟ้าแดดสงยาง จังหวัดกาฬสินธุ์  กลุ่มลุ่มน้ำชีตอนปลาย ในแถบจังหวัดยโสธร อำนาจเจริญ พบว่ามีความนิยมสลักรูปธรรมจักรตั้งอยู่บนเสาลงบนใบเสมา โดยมีการประดับตกแต่งลวดลายที่งดงามเหนือกว่าอื่นๆ กลุ่มลุ่มน้ำโขงตอนกลาง ในแถบจังหวัดหนองบัวลำภู อุดรธานี บึงกาฬ พบการสลักภาพเล่าเรื่องที่บริเวณโคนหลักหิน โดยมีรูปแบบศิลปกรรมที่ผสานศิลปะเขมร เช่น ที่วัดโนนศิลาอาสน์ บ้านหนองกาลึม อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี เป็นต้น  

 

ชัดเจนว่า บทบาทของหลักหินใบเสมามีความเกี่ยวข้องกับคติความเชื่อในพระพุทธศาสนาอย่างใกล้ชิด ดังจะเห็นได้จาก จารึกและภาพสลักธรรมจักร พุทธประวัติ-ชาดก ซึ่งคติการสร้างใบเสมาน่าจะเป็น การเป็นนิมิตเขตพัทธสีมาของสงฆ์  เพื่อกำหนดพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์และเขตสังฆกรรม ดังจะเห็นได้จากแบบแผนและตำแหน่งการปักหลักหิน โดยนำมาวิเคราะห์ร่วมกับพระวินัยปิฎกและอรรถกถา และจารึกในอีสานที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดเขตพัทธสีมาของสงฆ์  การเป็นวัตถุที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสมบุญกุศล ดังจะเห็นจากการสลักภาพเล่าเรื่องพุทธประวัติและชาดก สอดคล้องกับข้อความในจารึกในอีสานที่กล่าวถึงการสร้างสมบุญกุศล 

 

เช่นเดียวกับการพบการสลักรปธรรมจักรลงบนใบเสมา สะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับคติการบูชาธรรมจักร ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากลุ่มคนในวัฒนธรรมทวารวดีภาคอีสานมีความเข้าใจความหมายและประเพณีการบูชาธรรมจักรเช่นเดียวกับกลุ่มวัฒนธรรมทวารวดีในภาคกลาง ซึ่งเป็นไปได้ทั้งความหมายตรงคือสัญลักษณ์ของพระธรรมคำสอน และความหมายแฝงคือเรื่องแสงสว่างของธรรมจักรที่เกี่ยวข้องกับความหมายดั้งเดิมของจักรที่หมายถึงดวงอาทิตย์ดังเห็นจากการทำรูปแฉกรัศมีโดยรอบธรรมจักร เป็นต้น

 

นอกจากนี้ภาพพุทธประวัติและชาดกบนหลักหิน  ยังเป็นภาพสะท้อนให้เห็นถึงจารีต ประเพณี และทัศนคติของคนในยุคนั้นด้วย ซึ่งภาพที่เห็นอย่างชัดเจนคือบทบาทของสตรีในฐานะมารดา ภรรยา และเทพี ดังปรากฏจากการคัดเลือกความตอนที่ผู้หญิงมีบทบาทสำคัญมานำเสนอและการใช้สัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์ที่มีภาพแทนเป็นสตรี เช่น คชลักษมี ราชยลักษมี เป็นต้น รวมไปถึงคติความเชื่ออื่นๆ ที่อยู่นอกเหนือคติพระพุทธศาสนาที่ถูกนำมาผสมผสานกลมกลืนไปกับความเป็นท้องถิ่น อาทิ คติเรื่องหินตั้ง ความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษ การอัญเชิญหลักหินมาบูชาที่ศาลผีประจำหมู่บ้าน หรือนำมาเป็นหลักบ้านหลักเมือง สะท้อนให้เห็นถึงการผสานกับความเชื่อดั้งเดิมก่อนยอมรับนับถือพระพุทธศาสนาและข้อสังเกตเรื่อง หลักหินในฐานะหลักเขตที่ดิน อาจใช้อธิบายกลุ่มหลักหินที่พบกระจัดกระจายอยู่ตามทุ่งนาต่างๆ  

 

อีกคำอธิบายหนึ่งที่น่าสนใจภายในเล่มนี้คือ การวิเคราะห์ที่มาของการสลักรูป “หม้อต่อกรวย” ซึ่งทำเป็นรูปหม้อด้านบนมียอดกรวยแหลม ว่าอาจมีที่มาจาก “ปูรณกลศ” ซึ่งเป็นเครื่องประกอบในพิธีของพราหมณ์ ซึ่งพบโดยทั่วไปในประเทศอินเดียและแหล่งที่รับอิทธิพลวัฒนธรรมอินเดีย มีลักษณะเป็นหม้อที่ประดับด้วยใบไม้ ลูกมะพร้าว ดอกไม้ หรืออาจจะมีที่มาจากการทำ “บายศรี” ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่พบโดยทั่วไปในบ้านเมืองแถบนี้อยู่แล้ว 

 

งานวิจัยเล่มนี้ถือว่าเป็นความก้าวหน้าอีกก้าวหนึ่งของการศึกษาประวัติศาสตร์และโบราณคดีในสมัยก่อนพุทธศตวรรษที่ 19 ในประเทศไทยและช่วยให้ภาพวัฒนธรรมทวารวดีในภาคอีสานกระจ่างชัดมากยิ่งขึ้น ด้วยการวิเคราะห์และนำเสนอข้อมูลใหม่เรื่องใบเสมา-หลักหิน อันเป็นเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมทวารวดีอีสานในหลากหลายแง่มุมยิ่งขึ้น อีกทั้งเป็นงานวิจัยที่รวบรวมข้อมูลในเรื่องดังกล่าวได้อย่างครบถ้วนและนำเสนออย่างเป็นระบบ ไม่ว่าจะเป็นการจำแนกข้อมูลโดยแบ่งตามลุ่มน้ำเพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจและเห็นข้อแตกต่างของแต่ละท้องถิ่นได้อย่างชัดเจน พร้อมทั้งภาพถ่ายและภาพลายเส้นที่ใช้ประกอบการอธิบายตลอดทั้งเล่ม 

 

ผู้ที่สนใจอ่านงานวิจัยเล่มนี้ฉบับเต็ม สามารถเข้าไปดาวน์โหลดเอกสาร PDF ได้ที่เว็บไซต์รวบรวมข้อมูลทรัพยากรสารสนเทศดิจิทัล หรือ Digital Object Identifier ของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติที่  http://doi.nrct.go.th//ListDoi/listDetail?Resolve_DOI=10.14457/SU.res.2014.2

 

ทิ้งท้าย

บทความอื่นๆ เรื่องวัฒนธรรมทวารวดีในภาคอีสานของ รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง ที่เคยตีพิมพ์ลงวารสารเมืองโบราณ ได้แก่

1) “ธรรมจักรในวัฒนธรรมทวารวดีภาคอีสาน” ใน เมืองโบราณ ปีที่ 32 ฉบับที่ 1 (เมษายน-มิถุนายน 2549), หน้า 72-85  

2)  “ภรรยา มารดา สตรีสูงศักดิ์ และเทพี ว่าด้วยเรื่องของสตรีจากใบเสมาทวารวดีอีสาน” ใน เมืองโบราณ ปีที่ 39 ฉบับที่ 4 (ตุลาคม-ธันวาคม 2556), หน้า 120-131


อภิญญา นนท์นาท

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ