ภูมิปัญญาไม้กวาดใยโหนด บ้านคันธง นครศรีธรรมราช

ภูมิปัญญาไม้กวาดใยโหนด บ้านคันธง นครศรีธรรมราช

 

ในวันหยุดสุดสัปดาห์หลายคนอาจพักผ่อนอยู่กับบ้าน หรือพาครอบครัวไปเที่ยวชายทะเลหรือป่าเขาเที่ยวชมน้ำตก ผู้เขียนก็เช่นเดียวกัน เนื่องจากมาทำงานในจังหวัดที่ไม่ใช่บ้านเกิด ช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์จึงไม่พลาดที่จะขับรถมอเตอร์ไซค์ลัดเลาะไปตามชุมชนต่างๆ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา ผู้เขียนมีโอกาสได้เดินทางท่องเที่ยวไปกับพี่ชายที่แสนดีคือ คุณปิติ ระวังวงศ์ นักเขียนวรรณกรรม ชาวนครศรีธรรมราช ซึ่งมีโอกาสได้ทำงานร่วมกัน โดยคุณปิติรับหน้าที่เป็นผู้ขับรถ ส่วนผู้เขียนนั่งซ้อนท้ายไป เป้าหมายวันนี้เลือกพื้นที่ตำบลปากนคร ซึ่งอยู่ใกล้กับตัวเมือง มีสภาพพื้นที่เป็นทุ่งนาป่าโหนด (โตนด) และมีป่าจากขึ้นอย่างหนาแน่น วิถีชีวิตของผู้คนที่นี่จึงผูกพันอยู่กับวิถีโหนดและป่าจาก ผู้เขียนต้องการไปตามหาบ้านที่ทำไม้กวาดใยโหนดจากกาบต้นโหนด เนื่องจากคุณปิติได้เล่าว่าไม้กวาดชนิดนี้คนนครนิยมใช้กัน ไม่ว่าจะที่วัดหรือโรงเรียน ซึ่งใช้กันตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เมื่อครั้งที่ผู้เขียนไปสำรวจข้อมูลภาคสนามที่วัดต่างๆ ในนครศรีธรรมราชก็เคยเห็นไม้กวาดใยโหนดอยู่บ่อยๆ รวมถึงร้านค้าในย่านท่าวัง ตัวเมืองนครศรีธรรมราช ก็นำไม้กวาดชนิดนี้มาจำหน่ายอยู่หลายร้าน

 

ต้นโหนดที่คันนา บ้านคันธง สังเกตเห็นว่าไม่มีกาบเพราะชาวบ้านเก็บมาทำไม้กวาดใยโหนด

(ที่มา :สามารถ สาเร็ม)

 

เราสองคนออกเดินทางจากเขตเทศบาลเมืองนครศรีธรรมราชไปยังเขตตำบลปากนคร โดยใช้เส้นทางผ่านวัดโบสถ์ เมื่อมาถึงบริเวณหมู่ 5 บ้านคันธง ตำบลปากนคร อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช สังเกตเห็นว่าทุ่งนาบริเวณนี้เต็มไปด้วยต้นโหนดขึ้นอยู่เรียงรายบนคันนาและหลายต้นไม่มีกาบ เมื่อขับรถเข้าไปในหมู่บ้านได้เจอกับคุณลุงคุณป้านั่งอยู่บนแคร่ใต้ถุนบ้าน จึงถือโอกาสถามทางไปบ้านที่ทำไม้กวาดใยโหนด พวกท่านตอบกลับมาว่าให้เลี้ยวกลับไปอีกทางจนถึงสะพาน แล้วขับตรงไปก็จะเจอ เมื่อเดินทางไปตามข้อมูลที่ได้ พอข้ามสะพานไปแล้วเจอเด็กน้อยสองคนกำลังเดินถือขนมและน้ำอัดลมอยู่ จึงหยุดถามทางอีกครั้ง ได้ความว่าที่บ้านของเด็กๆ ก็ทำไม้กวาด ให้ขับรถตรงไป พอถึงสามแยกก็เลี้ยวเข้าไปได้เลย โชคดีที่แม่ของเด็กน้อยผู้ให้ข้อมูลกำลังจะขับรถกลับบ้านพอดี พวกเราจึงขับรถตามไป เมื่อมาถึงก็พบกับคุณยายกำลังนั่งทำไม้กวาดใยโหนด โดยมีลูกหลานทั้งหญิงชายเป็นลูกมือช่วย ด้วยเป็นช่วงปิดเทอมของเด็กๆ

 

คุณยายอุบล นุชพืช หรือคุณยายเล็ก กำลังเหลาไม้เพื่อใช้ทำไม้กวาดใยโหนด

โดยนั่งทำที่ใต้ถุนบ้าน ด้วยชุมชนแถบนี้อยู่ในที่ลุ่มน้ำท่วมสูงทุกปีจึงต้องสร้างบ้านยกพื้นสูง

(ที่มา : สามารถ สาเร็ม )

 

คุณยายอุบล นุชพืช หรือคุณยายเล็ก ปัจจุบันอายุ 58 ปี ผู้ทำไม้กวาดใยโหนด เกิดและเติบโตขึ้นที่หมู่บ้านแห่งนี้ ไม่เคยย้ายไปอยู่ที่อื่น ได้บอกเล่าถึงความเป็นมาของอาชีพทำไม้กวาดใยโหนดอย่างมีชีวิตชีวาว่า“เกิดมาก็เห็นพ่อแม่ตายายทำไม้กวาดขายกันอยู่แล้ว ยายทำมาตั้งแต่เด็กๆ พอแต่งงานก็ทำขายมาตลอด สมัยก่อนต้องทูนไปขายถึงในเมืองนคร เดินไปถึงวัดพระธาตุ แล้วเดินขายต่อไปเรื่อยๆ จนถึงท่าแพ เส้นทางจากบ้านไม่มีถนน เดินไปตามทุ่งนา บางช่วงมีน้ำต้องเดินบุกไป  เคยไปแค่สองคนกับแม่ ไปแต่ละครั้งต้องขายให้หมด จะไม่เหลือกลับมาเด็ดขาด จึงต้องลดราคาบ้าง ขากลับจะซื้อข้าวสารกับปลา เอาทูนหัวกลับมา ระหว่างทางเจอพืชผัก เช่น บอน ผักหวาน ก็แวะเก็บ... ขายมาตั้งแต่ราคา 2 บาท 3 บาท 6 บาท ขึ้นราคามาเรื่อยๆ จนตอนนี้อันละ 60 บาทแล้ว”

 

คุณยายเล็กสาธิตการทูนไม้กวาดใยโหนด เดินไปขายในเมืองนครศรีธรรมราชสมัยก่อน

ปัจจุบันบรรทุกใส่รถมอเตอร์ไซค์ไปส่งแทน (ที่มา : สามารถ สาเร็ม)

 

วัตถุดิบ แหล่งที่มา และขั้นตอนการทำ

วัตถุดิบสำคัญที่ใช้ในการผลิตไม้กวาดใยโหนด มีดังนี้

1) ใยโหนด ได้มาจากกาบของต้นโหนด ถือเป็นวัตถุดิบหลักที่นำมาทำเส้นใย สามารถหาได้ทั่วไปในหมู่บ้าน คุณยายเล็กเล่าว่าจะให้ลูกชายขึ้นไปเก็บกาบโหนดลงมาให้ โดยขอจากเพื่อนบ้าน ซึ่งโดยมากจะให้กันเปล่าๆ ไม่มีการซื้อหา แต่ก็มีที่ชาวบ้านในหมู่บ้านนำมาขายให้ในราคากาบละ 3 บาท คุณยายเล็กยังเล่าอีกว่า เคยเดินทางไปถึงที่อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา เพื่อไปหากาบโหนด เมื่อไปถึงก็ไปแจ้งจุดประสงค์กับผู้ใหญ่บ้านว่าต้องการมาหากาบโหนดเพื่อไปทำไม้กวาดขาย ผู้ใหญ่บ้านก็อำนวยความสะดวกจัดหาที่นอนให้ คุณยายเล็กและครอบครัวเลือกนอนกันที่ใต้ต้นโหนด กางเต็นท์แบบง่ายๆ ตอนกลางคืนผู้ใหญ่บ้านก็คอยมาดูแลความเรียบร้อยให้ หรือที่ในภาษาใต้ว่า “เหวน” (ตระเวน) ตอนนั้นเก็บกาบโหนดมาได้เต็มคันรถกระบะโดยไม่ต้องเสียเงินแม้แต่บาทเดียว เพราะคนในชุมชนแห่งนี้ใจดี มองว่าเป็นการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน

 

กาบโหนดที่ใต้ต้นโหนด กองรวมไว้รอนำกลับไปทำใยโหนด

 

กาบโหนดแช่น้ำอยู่ในคูน้ำบริเวณบ้าน ที่เห็นทางขวามือเป็นกาบโหนดของใหม่ที่เพิ่งแช่

ส่วนทางซ้ายมือแช่ไว้ประมาณ 1 อาทิตย์แล้ว จึงมีสีสันที่ต่างออกไป (ที่มา : สามารถ สาเร็ม)

 

2) ด้ามไม้กวาด ใช้ไม้ไผ่ที่เรียกว่าไม้ไผ่ผาก เนื่องจากมีน้ำหนักเบา ขนาดไม่ใหญ่มาก มีความคงทนแข็งแรง เหมาะที่จะนำมาทำด้ามไม้กวาด ในอดีตจะไปหาไม้ไผ่ผากที่บ้านบางก้อง อำเภอลานสกา โดยไปขึ้นรถที่สะพานหัวตรุด เที่ยวกลับก็ขนไม้ไผ่ใส่รถกลับมาลงที่สะพานหัวตรุด แล้วเอาไม้ไผ่มามัดต่อกันเป็นแพ คนขึ้นไปนั่งข้างบนได้ แล้วล่องมาตามคลองจนถึงบาง (คลองเล็ก) ที่ไหลไปยังบ้านคันธง ซึ่งเมื่อถึงบางแล้วจะใช้เชือกผูกแพลากเข้าบางทันที เพราะถ้าเลยบางไปแล้วจะต้องลำบากลากแพไม้ไผ่ทวนกระแสน้ำกลับไป ซึ่งต้องใช้แรงหลายคนช่วย

 

ปัจจุบันไปหาไม้ไผ่ผากที่อำเภอพรหมคีรี ส่วนมากไม่ต้องซื้อเพราะไปหาที่บ้านญาติพี่น้องหรือเพื่อนพ้องที่รู้จักสนิทกัน เรียกว่าไปหาที่สวนพรรคพวก แต่ถ้าไม่ได้ไปหาที่สวนพรรคพวกก็จะต้องซื้อ เขาจะตัดมาขาย 10 ลำ ราคา 200 บาท ทุกวันนี้คุณยายเล็กกับสามีจะขับรถมอเตอร์ไซค์ไปกันสองคน แต่ละครั้งจะต้องซื้อมาให้ได้จำนวน 100 ด้าม โดยตัดให้มีขนาดเท่ากับที่ใช้งาน แล้วบรรทุกกลับมาด้วยรถมอเตอร์ไซค์ สามีเป็นคนขับ ส่วนคุณยายเล็กนั่งซ้อนท้าย โดยมีไม้ไผ่อยู่ตรงกลาง

 

ค้อนสำหรับทุบกาบโหนด (ที่มา : สามารถ สาเร็ม)

 

น้องสาวคุณยายอุบล กำลังทุบกาบโหนด ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญ

(ที่มา : สามารถ สาเร็ม) 

 

3) ยางนอกล้อรถจักรยานหรือจักรยานยนต์ สมัยก่อนต้องซื้อ แต่ปัจจุบันร้านซ่อมรถแถวตำบลท่าเรือยกให้ฟรีๆ  

4) สายรัดพลาสติก ถ้าซื้อของใหม่ กิโลกรัมละ 10 บาท แต่ส่วนมากเลือกซื้อของที่ใช้แล้วเพราะช่วยลดต้นทุนลงและยังใช้งานได้ไม่ต่างจากของใหม่ ในอดีตจะใช้หนังลานซึ่งลอกมาจากทางของต้นลาน    

5) ไม้ต้นปอหรือต้นฉำฉา ใช้ทำเป็นไม้แก้ม ทำหน้าที่ช่วยยึดใยโหนดให้แข็งแรง

6) ตะปู

 

ไม้สางแบบมีด้ามจับ (ที่มา : สามารถ สาเร็ม) 

 

ขั้นตอนการทำ

หลังจากจัดเตรียมวัสดุและอุปกรณ์ต่างๆ ไว้พร้อมแล้ว ขั้นตอนแรกเริ่มจากนำกาบโหนดมาแช่น้ำให้มีความชุ่มน้ำ โดยแช่ไว้ที่คูน้ำในบริเวณบ้าน ทิ้งไว้ประมาณ 1 สัปดาห์ จากนั้นนำมาทุบโดยใช้ค้อน มีหินรอง ซึ่งใช้แรงงานคนเป็นหลัก เมื่อทุบจนกาบโหนดแตกออกจากกันแล้วนำมาสางเพื่อแยกส่วนที่เป็นขุยๆ ที่เรียกว่า “ขี้” ออกไป ให้เหลือแค่เส้นใยที่ต้องการ อุปกรณ์ที่ใช้ในการสางเรียกว่า “ไม้สาง” มี 2 แบบคือ แบบที่ตั้งบนพื้น ตอกตะปูให้มีลักษณะเป็นซี่ๆ คล้ายหวี แล้วนำกาบโหนดที่ทุบแล้วมาสาง และแบบที่มีลักษณะเป็นด้ามไม้ แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนด้ามจับกับส่วนที่ตอกตะปูไว้เป็นซี่ๆ คล้ายหวี เวลาใช้งานมือข้างหนึ่งจะถือกาบโหนดที่ทุบแล้วเอาไว้ มืออีกข้างจะถือไม้สาง ทำเหมือนอย่างการหวีผม เมื่อได้เส้นใยแล้วก็จะมัดรวมเป็นจุกตั้งไว้ กาบโหนดหนึ่งอันได้หนึ่งจุก ต้องทำเตรียมไว้จำนวนมากๆ เพราะไม้กวาดหนึ่งอันจะต้องใช้ใยโหนดถึง 12 จุก ทั้งนี้กาบโหนดสดหากไม่แช่น้ำก็สามารถนำมาทุบทำเส้นใยได้ด้วยเช่นกัน แต่จะต้องใช้แรงเยอะและได้เส้นใยจำนวนน้อยกว่ากาบโหนดที่แช่น้ำแล้ว

 

เด็กๆ ช่วยกันขนกาบโหนดนำไปแช่น้ำในคูหน้าบ้าน

(ที่มา : สามารถ สาเร็ม) 

 

หลังจากนั้นตัดไม้ไผ่ทำด้ามจับความยาวประมาณ 50 เซนติเมตร - 1 เมตร คุณยายเล็กจะใช้ข้อศอกของตนเองในการวัดขนาด แล้วนำด้ามมาเหลาให้สวยงาม ด้ามจับฝั่งที่จะใส่ใยโหนดจะผ่าให้มีลักษณะเป็นรูปตัว U ลึกประมาณ 10 เซนติเมตร แล้วนำไม้ปอมาตัดให้มีความยาวประมาณ 10 เซนติเมตร และ 8 เซนติเมตร อย่างละ 1 อัน จากนั้นนำไปใส่ในช่องตัว U ที่ผ่าไว้แล้ว โดยใส่ไม้ปออันเล็กลงไปก่อนให้สุดจนติดกับด้าม แล้วใส่อันใหญ่ไว้ที่ด้านบนสุด ไม้สองชิ้นนี้จะช่วยยึดใยโหนด จากนั้นนำจุกใยโหนดมาตั้งบนไม้ทั้งสอง แล้วนำพลาสติกกว้างประมาณ 2 เซนติเมตร ตั้งข้างบนเรียกว่า “สายรัดพัด” แล้วตอกตะปูลงไป ทำแบบนี้ด้านละ 6 จุก รวมทั้งหมด 12 จุก ทั้งสองด้านจะมีสายรัดพัดช่วยรัดเข้าไว้ด้วยกัน โดยใช้สายรัดพัดเส้นเดิมที่ยาวต่อกัน แล้วนำยางนอกล้อรถมารัดเพิ่มอีกเส้นที่บริเวณไม้อันเล็กที่อยู่ติดกับด้ามที่โผล่ออกมาเรียกว่า “ยางหัว” เสร็จแล้วจะได้ไม้กวาดที่มีลักษณะเหมือนพัด 1 อัน พร้อมนำออกจำหน่าย คุณยายเล็กใช้เวลาทำไม้กวาดหนึ่งอันประมาณ 10 นาที แต่ถ้ารวมขั้นตอนทั้งหมดตั้งแต่การเตรียมวัสดุต่างๆ กว่าจะได้ไม้กวาดแต่ละอันใช้เวลาหลายวัน และมีความเกี่ยวข้องกับคนหลายช่วงวัยและหลายพื้นที่ ส่วนตัวผู้เขียนได้อุดหนุนไม้กวาดใยโหนดกลับมาใช้ที่บ้านด้วย

 

เด็กๆ ช่วยกันขนกาบโหนดนำไปแช่น้ำในคูหน้าบ้าน

(ที่มา : สามารถ สาเร็ม) 

 

ไม้กวาดใยโหนดที่รอต่อลมหายใจ

ไม้กวาดใยโหนดเป็นสินค้าที่คนในเขตอำเภอเมืองนครศรีธรรมราชยังคงใช้งานกันอยู่จนถึงปัจจุบัน ถือเป็นมรดกภูมิปัญญาที่สืบต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ทุกวันนี้คนรุ่นหนุ่มสาวและเด็กๆ ยังสามารถทำไม้กวาดใยโหนดได้ ดังคำกล่าวของคุณยายเล็กว่า “เด็ก ๆ ก็ทำเป็นกันเพราะช่วยผู้ใหญ่ อาชีพนี้ถึงไม่รวยแต่ยายก็เลี้ยงลูกสี่คนโดยไม่เคยเป็นหนี้เป็นสินใครเลย” สะท้อนถึงความนิยมใช้ไม้กวาดใยโหนดของคนนครศรีธรรมราชที่ยังคงอยู่

 

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนมีข้อเสนอแนะว่าหากมีนักวิชาการในสถาบันการศึกษาหรือหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องมาร่วมพัฒนาและประชาสัมพันธ์ เป็นตัวเชื่อมระหว่างชาวบ้านซึ่งเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์กับลูกค้าในพื้นที่อื่นๆ น่าจะเกิดผลดีกับชาวบ้านในท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการขยายตลาดให้กว้างขึ้น ทุกวันนี้ที่ขายกันในพื้นที่ ราคาปลีกอันละ 60 บาท และราคาส่ง 50 บาท นอกจากนี้ถ้ามีการพัฒนารูปลักษณ์ให้สวยงามและคงทนมากขึ้นก็จะยิ่งเป็นผลดีในการต่อยอดภูมิปัญญาการทำไม้กวาดใยโหนดของชาวนครศรีธรรมราชไม่ให้สูญหายไป

 


กองบรรณาธิการ

"วารสารเมืองโบราณ" นิยามไทย เข้าใจถิ่น