ตลาดบางลี่ที่จำได้
ข้างหลังภาพ

ตลาดบางลี่ที่จำได้

 

เมื่อก่อนตลาดบางลี่มีขนาดใหญ่และเจริญทัดเทียมกับตลาดในตัวจังหวัดสุพรรณบุรี อย่างไม่น้อยหน้ากันเลยทีเดียว”

 

ตลาดบางลี่ เป็นตลาดริมคลองสองพี่น้อง ที่แยกสาขามาจากแม่น้ำสุพรรณบุรีหรือแม่น้ำท่าจีน จัดเป็นตลาดใหญ่ที่มีความสำคัญแห่งหนึ่งของอำเภอสองพี่น้อง และอยู่ทางตอนใต้ของตัวเมืองสุพรรณบุรีของจังหวัด ด้วยเป็นตลาดที่เชื่อมโยงระบบการค้ากับพื้นที่ตอนใน ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าเขาและห่างจากแม่น้ำลำคลอง โดยบรรดาพ่อค้าแม่ค้าจากพื้นที่ตอนในจะนำสินค้าของป่า เช่น ไม้เสา ถ่าน สมุนไพร เนื้อสัตว์ หนังสัตว์ ฯลฯ มาขายเพื่อส่งเข้าสู่ตลาดที่ใหญ่กว่า เช่น ตลาดสุพรรณบุรีหรือตลาดในกรุงเทพฯ นอกจากนี้ยังเป็นชุมทางการคมนาคมทางน้ำของคนกาญจนบุรี อู่ทอง และสองพี่น้อง ที่จะเดินทางไปยังตัวเมืองสุพรรณบุรี หรือไม่ก็เดินทางต่อเข้าไปยังกรุงเทพฯ

 

ตลาดบางลี่ตั้งอยู่ในพื้นที่ราบลุ่มแอ่งกระทะของอำเภอสองพี่น้อง ดังนั้นเมื่อถึงฤดูน้ำหลากในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคมของทุกปี น้ำในคลองสองพี่น้องจะไหลเข้าท่วมตลาดบางลี่ และท่วมขังนาน 4-6 เดือน ทำให้บ้านเรือนร้านค้าในตลาดมีลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร คือ เป็นเรือนไม้สองชั้นยาวเรียงติดต่อกันทั้งชั้นล่างและชั้นบน โดยเฉพาะชั้นบนทำเป็นระเบียงเปิดเชื่อมต่อกัน สำหรับใช้เป็นทางเดินไปมาหาสู่กันในหน้าน้ำ เพราะเวลานั้นพ่อค้าแม่ค้าจะยกสินค้าขึ้นไปขายที่ชั้นสองของตัวบ้าน และชั้นสองของโถงตลาดสด ตลาดบางลี่จึงเปลี่ยนเป็นตลาดน้ำในฤดูนี้ ส่วนในหน้าแล้ง ชาวตลาดจะอพยพกลับลงมาค้าขายที่ชั้นล่าง เป็นตลาดบกเหมือนเดิม วนเวียนกันอย่างนี้เป็นประจำทุกปี จนเกิดเป็นลักษณะที่โดดเด่นกว่าตลาดแห่งอื่นๆ จนอาจเรียกได้ว่าเป็น ตลาดน้ำสะเทินน้ำสะเทินบก ที่มีอยู่จริง

 

ภาพถ่ายที่นำเสนอในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของคนบางลี่ที่จะรวบรวมภาพจำและประวัติศาสตร์ของชาวตลาด ให้ชาวสองพี่น้องรุ่นหลังได้รับรู้ถึงความสำคัญของย่านตลาดและการเปลี่ยนแปลงของสภาพบ้านเมืองตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน

 

“วงเวียนน้ำพุ” ปี พ.ศ. 2504

“วงเวียนน้ำพุ” เป็นที่ตั้งของหอกระจายข่าวเทศบาลตำบลสองพี่น้อง บริเวณนี้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวบางลี่ ยามเย็นจะเป็นจุดนัดพบของหนุ่มสาวและเป็นที่ชุมนุมเพื่อร่วมกันทำกิจกรรมในโอกาสต่างๆ ทั้งยังเป็นลานกีฬาพื้นบ้านของเด็กบางลี่ เช่น เล่นตี่จับ กาฟักไข่ ทอยลูกหิน ทอยหนังยาง หมากเก็บ รวมถึงเป็นสนามบอล เมื่อถึงฤดูฝน ในยามค่ำคืนพื้นที่บริเวณนี้จะเป็นลานจับแมงดาที่พากันบินมาเล่นไฟที่ส่องสว่างจากโคมแสงจันทร์

 

 

“ตลาดบกบางลี่” ปี พ.ศ. 2517 

บริเวณด้านหน้าตลาดบางลี่หรือตลาดสดเทศบาลตำบลสองพี่น้องยามหน้าแล้ง การค้าขายจะกลับมาดำเนินตามปกติ คือ วางสินค้าขายในเรือนแถวชั้นล่างและตามถนนทางเดิน โดยพ่อค้าแม่ค้าและชาวบ้านจะร่วมแรงร่วมใจกันขนย้ายสินค้าที่นำขึ้นไปขายบนเรือนแถวชั้นบนในฤดูน้ำ ลงมาค้าขายกันข้างล่าง เป็นความสามัคคีร่วมแรงร่วมใจและพึ่งพาอาศัยกันฉันญาติพี่น้อง เป็นวิถีชีวิตที่มีความสุขของชาวบางลี่ในอดีต

 

 

 

 “ตลาดขณะน้ำกำลังเอ่อท่วม” ปี พ.ศ. 2505 

          ราวเดือนกันยายนซึ่งเป็นช่วงต้นฤดูน้ำหลาก ระดับน้ำในคลองสองพี่น้องจะเอ่อสูงขึ้นเรื่อยๆ จนล้นฝั่ง และหลากเข้าท่วมตัวตลาด ซึ่งจะเปลี่ยนสภาพเป็นตลาดน้ำไปจนถึงเดือนมกราคม ระหว่างที่น้ำกำลังเอ่อท่วม รถเมล์ของบริษัทชาวสองพี่น้องขนส่ง ซึ่งวิ่งระหว่างบางลี่-กรุงเทพฯ จำต้องวิ่งลุยน้ำเข้าออกในตลาด เพราะพี่น้องชาวบางลี่ต้องเดินทางไปจับจ่ายซื้อข้าวของที่กรุงเทพฯ แต่พอน้ำท่วมเต็มที่ ท่ารถโดยสารจะย้ายออกไปอยู่บริเวณหน้าธนาคารออมสินในปัจจุบัน

 

 

 

 

 

*เรียบเรียงจากบทความ “ตลาดสะเทินน้ำสะเทินบกที่บางลี่” ของรัชพล  ฉันทดิลก ใน วารสารเมืองโบราณปีที่ 42 ฉบับที่ 4 (ตุลาคม-ธันวาคม 2559)

 


กองบรรณาธิการ

"วารสารเมืองโบราณ" นิยามไทย เข้าใจถิ่น