หนังสือ : "ชื่อ แซ่ และระบบตระกูลแซ่"
ผู้แต่ง : ถาวร สิกขโกศล
จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์มติชน, สิงหาคม 2559
จำนวน 232 หน้า
ราคา 200 บาท
ชาวจีน เป็นกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งที่มีบทบาทสำคัญมากในไทยนับตั้งแต่อดีต โดยเฉพาะด้านการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ในสมัยที่คนจีนโพ้นทะเลอพยพหนีความแร้นแค้นจากจีนแผ่นดินใหญ่เข้ามายังประเทศไทย มักจะรวมกลุ่มและพึ่งพาอาศัยกันในหมู่ตระกูลแซ่เดียวกัน ซึ่งมักจะสัมพันธ์กับหมู่บ้านหรือมณฑลอันเป็นถิ่นที่อยู่เดิมในประเทศจีน อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปัจจุบันลูกหลานจีนในไทยจะยังคงรักษาอัตลักษณ์ความเป็นจีนผ่านการสืบทอดคติความเชื่อและประเพณีต่างๆ แต่ขณะเดียวกันวัฒนธรรมจีนหลายอย่างค่อยๆ ถูกกลืนกลายหรือลดความสำคัญลง เช่น ความสำคัญของระบบตระกูลแซ่ เนื่องมาจากความนิยมเปลี่ยน “แซ่” แบบจีนมาเป็น “นามสกุล” แบบไทย
ในหนังสือ ชื่อ แซ่ และระบบตระกูลแซ่ อัตลักษณ์สำคัญเบื้องต้นของคนจีน ของ อาจารย์ถาวร สิกขโกศล นักวิชาการทางด้านจีนศึกษา จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน เมื่อปี พ.ศ. 2559 ได้นำเสนอความสำคัญของชื่อ แซ่ และระบบตระกูลแซ่ในวัฒนธรรมจีนว่าเป็นรากฐานเบื้องต้นในการทำความเข้าใจรากเหง้าและวัฒนธรรมของชาวจีน เพราะมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับพัฒนาการทางสังคม การเมือง และคติความเชื่อของชาวจีนตลอดจนคุณธรรมพื้นฐานที่ชาวจีนยึดถือ โดยเฉพาะเรื่องความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ
"การรู้วัฒนธรรมของบรรพชนนับได้ว่าเป็นความกตัญญูอย่างหนึ่ง...หนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นเพื่อช่วยให้ลูกหลานจีนเข้าใจเรื่องชื่อ-แซ่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวที่สุด และเพื่อให้คนทั่วไปเข้าใจวัฒนธรรมจีนด้านนี้ อันจะเป็นพื้นฐานสำคัญในการศึกษาวัฒนธรรมด้านอื่นๆ ของจีน”
อาจารย์ถาวรเขียนเรื่องชื่อ-แซ่ เป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2530 โดยใช้ชื่อเรื่องว่า“แซ่หลีและชื่อกวงหยง” ก่อนที่จะมีการปรับปรุงเพิ่มข้อมูลหลายครั้งและนำเสนอเป็นบทความลงในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม และตีพิมพ์รวมเล่มครั้งแรกกับสำนักพิมพ์มติชนในปี พ.ศ. 2559 ซึ่งข้อเขียนภายในหนังสือเล่มนี้ผ่านการค้นคว้าข้อมูลมาอย่างละเอียดลึกซึ้ง ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลทางประวัติศาสตร์ พงศาวดารจีน วรรณกรรม ตลอดจนงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงความรู้จากประสบการณ์และการเดินทางไปศึกษาวิถีชีวิตของชาวจีน โดยเฉพาะในชนบทของชาวจีนแต้จิ๋ว ซึ่งเนื้อหาภายในหนังสือเล่มแบ่งออกเป็น 3 ประเด็นสำคัญ ดังนี้
แซ่และระบบตระกูลแซ่ของจีน นำเสนอความรู้เบื้องต้นและพัฒนาการ “แซ่” ของชาวจีนตั้งแต่ยุคโบราณ ซึ่งมีความซับซ้อนเป็นอย่างมาก เช่น ความแตกต่างของ “แซ่” (สำเนียงจีนแต้จิ๋ว) และ“สี” (สำเนียงจีนแต้จิ๋ว) หรือ “สื้อ” (สำเนียงจีนกลาง) ซึ่งคำว่า “แซ่” ใช้เป็นคำนำหน้าชื่อสกุล ส่วนคำว่า “สี” หรือ “สื้อ” ใช้เป็นคำต่อท้ายชื่อสกุล ทั้ง 2 คำนี้ในปัจจุบันมีความหมายเดียวกัน แปลว่า “นามสกุล” แต่ในสมัยโบราณใช้ในบริบทต่างกัน
“สมัยราชวงศ์โจวมีจารีตนิยมว่า หญิงต้องใช้แซ่บอกให้รู้โคตรวงศ์ของตนเพื่อกำหนดการมีคู่ครอง ไม่ให้เป็นคนแซ่เดียวกัน ส่วนผู้ชายใช้สื้อเพื่อบ่งบอกสถานะทางสังคม เช่น ยศศักดิ์ หน้าที่การงาน และอวดเกียรติที่สูงต่ำต่างกันตามศักดิ์ของสื้อเหล่านี้ด้วย”
ส่วนในด้านความเป็นมาของแซ่-สื้อ ในหนังสือเล่มนี้ได้แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการตั้งแต่สมัยโบราณที่มีการตั้ง “แซ่” บ่งบอกเชื้อสายวงศ์ตระกูล เพื่อป้องกันการแต่งงานกันเองในหมู่ญาติใกล้ชิดก่อนจะพัฒนาความซับซ้อนขึ้นในยุคราชวงศ์โจวที่สัมพันธ์กับการปกครองด้วยระบบศักดินาสวามิภักดิ์ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของระบบตระกูลแซ่นั้นเกิดขึ้นเรื่อยมาเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองและจารีตประเพณีต่างๆ ในยุคหลังลงมา นอกจากนี้ยังนำเสนอที่มาของชื่อแซ่ เช่น ที่มาจากชื่อแคว้น ราชวงศ์ เมือง เขตการปกครอง ยศฐาบรรดาศักดิ์ ถิ่นที่อยู่ อาชีพ ความสามารถ เป็นต้น และการเปรียบเทียบแซ่กับคำเรียกวงศ์ตระกูลในหมู่คนไท รวมไปถึงเรื่องตระกูลแซ่ต่างๆ ที่พบในประเทศไทย
แซ่และระบบตระกูลแซ่กับการรวมชาติของชาวจีน เช่น การทำให้คนต่างเผ่าพันธุ์กลายเป็นจีนโดยการยินยอมให้คนต่างเผ่ามาใช้แซ่ร่วมกัน เมื่อมีการขยายอำนาจเข้ายึดดินแดนของชนต่างเผ่าได้จะให้คนในท้องถิ่นนั้นๆ เปลี่ยนมาใช้แซ่ของผู้ปกครอง เป็นต้น นอกจากนี้ “แซ่” ยังเกี่ยวพันกับความซับซ้อนในระบบเครือญาติของจีนและเป็นเครื่องมือยึดโยงความสัมพันธ์ในหมู่ตระกูลให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น อีกด้านหนึ่งการยึดถือความสำคัญของตระกูลแซ่ยังอาจส่งผลให้เกิดความขัดแย้งระหว่างตระกูลได้อีกด้วย และด้วยเหตุที่ระบบตระกูลแซ่ของจีนมีความเกี่ยวข้องกับระบบศักดินาทำให้ในช่วงที่จีนเปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นคอมมิวนิสต์ได้มีความพยายามลดความสำคัญของระบบตระกูลแซ่เพื่อสร้างสังคมที่ไร้ชนชั้น
ชื่อบุคคลในวัฒนธรรมจีน นำเสนอคติการเรียกขานชื่อบุคคลในวัฒนธรรมจีน ทั้งที่ปรากฏในประวัติศาสตร์และวรรณกรรม ไม่ว่าจะเป็นการตั้งชื่อตัวบุคคล ชื่อรอง ชื่อเล่น ฉายา สมญานาม เป็นต้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อและสภาพสังคมของชาวจีน นอกจากนี้ ท้ายเล่มยังมีภาคผนวกเรื่อง “บันทึกเรื่องชื่อ“ป๋วย”” ซึ่งเป็นข้อเขียนของอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่บอกเล่าถึงความเป็นมาของชื่อและตระกูลของท่าน ตีพิมพ์เป็นครั้งแรกในนิตยสารวิทยาสาร
หนังสือเรื่อง ชื่อ แซ่ และระบบตระกูลแซ่ อัตลักษณ์สำคัญเบื้องต้นของคนจีน ถือว่าเป็นตำราภาษาไทยที่รวบรวมความรู้เกี่ยวกับระบบตระกูลแซ่ของชาวจีนไว้ได้อย่างลึกซึ้งและมีการแบ่งประเด็นต่างๆ ออกเป็นหมวดหมู่อย่างชัดเจน เหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่สนใจศึกษาวัฒนธรรมจีน ตลอดจนลูกหลานชาวจีนที่ต้องการเรียนรู้ความเป็นมาของชื่อ-แซ่ อันเป็นรากเหง้าของบรรพบุรุษ