“บ้านคูเมือง” เมืองโบราณทวารวดีที่ชัยภูมิ

“บ้านคูเมือง” เมืองโบราณทวารวดีที่ชัยภูมิ

 

บ้านคูเมือง เป็นเมืองโบราณสมัยทวารวดี ตั้งอยู่ที่ตำบลคูเมือง อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ จากการสำรวจพื้นที่ภายในเขตคูน้ำคันดินที่ล้อมรอบเมืองโบราณแห่งนี้ พบหลักฐานโบราณวัตถุที่แสดงให้เห็นถึงการตั้งชุมชนในยุคโบราณ  และยังมีตำนานความเชื่อที่น่าสนใจของกลุ่มคนไทยอีสานและไทยโคราชที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บริเวณบ้านคูเมืองสืบเนื่องกันมาราว 3 ชั่วคนอีกด้วย  

 

ชื่อบ้านนามเมือง “หนองบัวแดง”  

ครูทองดี ทองก้อน  ปราชญ์ท้องถิ่นแห่งบ้านเหมือดแอ่เล่าว่า ที่มาของชื่อบ้านหนองบัวแดง คือหนองน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ที่มีดอกบัวสีแดงขึ้นอยู่เต็มไปหมด สอดคล้องกับบันทึกในเอกสารประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาคที่กล่าวว่า หนองบัวแดงมีความอุดมสมบูรณ์ เป็นที่อยู่ของสัตว์ป่านานาชนิด หากปีใดฝนแล้ง ไม่มีน้ำให้ทำการเกษตร บัวแดงที่กลางบึงจะไม่ออกดอก แต่ถ้าปีใดน้ำท่าอุดมสมบูรณ์ บัวแดงจะออกดอกให้ได้เห็น ปัจจุบันหนองบัวแดงยังคงอยู่ ทว่าไม่มีดอกบัวแดงดังเช่นอดีตอีกแล้ว ย้อนไปเมื่อราว 100 กว่าปีก่อน ในสมัยที่ พระยาภักดีชุมพล เป็นเจ้าเมืองชัยภูมิได้แต่งตั้งให้ หลวงคลังหน เป็นผู้ดูแลบ้านหนองบัวแดง มีผู้คนมาตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยมากถึง 400-500 ครัวเรือน  

 

สภาพของหนองบัวแดงในปัจจุบัน

 

เมืองโบราณ “บ้านคูเมือง”

อาจารย์ธิดา สาระยาและอาจารย์ศรีศักรวัลลิโภดม กล่าวว่า เมืองโบราณในชัยภูมิเป็นกลุ่มชุมชนโบราณในแอ่งโคราชที่จัดอยู่ในกลุ่มทุ่งสำริด อันได้แก่พื้นที่บริเวณลุ่มน้ำมูลตอนบน แถบโคราช ชัยภูมิ บุรีรัมย์ ซึ่งมีวัฒนธรรมเครื่องปั้นดินเผาเป็นลักษณะเฉพาะของตัวเองที่โดดเด่นคือเครื่องปั้นดินเผาแบบปากแตรและแบบพิมายดำ การเปลี่ยนแปลงของชุมชนโบราณในแอ่งโคราชนั้นมีปัจจัยจากการเกิดชุมชนถลุงเหล็ก การผลิตเกลือ ทำให้ชุมชนหนาแน่นขึ้นเรื่อยๆ และมีการโยกย้ายไปตั้งชุมชนที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ดังจะเห็นว่าเครื่องปั้นดินเผาแบบทุ่งกุลาซึ่งแต่เดิมปรากฏในพื้นที่ตอนล่างของลุ่มแม่น้ำมูล-ชีทางตะวันออกของกลุ่มทุ่งสำริดนั้น ได้กระจายตัวแพร่หลายในบริเวณที่ราบต่ำทางตอนเหนือของลุ่มน้ำมูล-ชี  

 

 

 บริเวณรอบๆ คูเมือง มีคันดินขนาดไม่สูงนักอยู่โดยรอบพื้นที่ราว 1 ตารางกิโลเมตร

 

เมื่อดูจากแผนที่ในปัจจุบัน พื้นที่เมืองโบราณบ้านคูเมืองมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีคูน้ำคันดินชั้นเดียวโดยรอบ มีลำน้ำ 2 สายไหลผ่านคือ ห้วยโป่งและห้วยเมือง ลำห้วยทั้ง 2 สายนี้จะไหลมาสบกันบริเวณด้านตะวันออกเฉียงเหนือของคูเมืองโบราณ แล้วแยกไปทางคูเมืองด้านตะวันตกสายหนึ่ง อีกสายหนึ่งไหลไปทางทิศใต้ผ่านบ้านโนนงิ้วไปออกลุ่มน้ำชี ภายในบ้านคูเมืองมีหนองน้ำใหญ่ 2 แห่งคือ หนองสระที่อยู่บริเวณกลางบ้านคูเมือง และหนองนาใหญ่ที่อยู่บริเวณทิศเหนือของบ้านคูเมือง จากทิศทางการไหลของลำน้ำทั้ง 2 สายเป็นการนำน้ำเข้าสู่คูเมืองเพื่อเก็บไว้สำหรับอุปโภคบริโภคและการระบายน้ำ

 

ลักษณะผังของคูเมืองโบราณแห่งนี้สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเมืองโบราณยุคทวารวดี และมีความสัมพันธ์กับเมืองเกษตรสมบูรณ์ซึ่งมีพื้นที่ต่อเนื่องกัน นอกจากนี้ในพื้นที่ใกล้เคียงยังพบว่ามีเมืองโบราณที่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ ได้แก่ เมืองหามหอก เมืองนครกาหลง เมื่อสำรวจพื้นที่ภายในเขตคูน้ำคันดินของบ้านคูเมือง พบเศษภาชนะดินเผาทั้งแบบเรียบและมีรอยเชือกทาบ หินดุ แวปั่นฝ้าย และชิ้นส่วนกระดูกปะปนอยู่บ้าง นอกจากนี้ชาวบ้านในเขตบ้านคูเมืองยังเล่าว่าเมื่อทำการพลิกหน้าดินเพื่อทำทำไร่นา มักพบลูกปัดสี แหวนทองหรือทองสำริด ชิ้นส่วนเครื่องดินเผาและเศษกระดูกด้วย นอกจากนี้ยังพบชิ้นส่วนภาชนะดินเผา เศษกระดูก และเครื่องทองเหลืองที่บริเวณบ้านโนนงิ้ว ปัจจุบันคือพื้นที่ของโรงเรียนคุรุประชานุกูลครูทองดี ทองก้อนเล่าว่า เมื่อก่อนบริเวณนี้น่าจะเป็นป่าช้าเก่า มีการตั้งศาลเพียงตาขนาดเล็ก เอาไว้ ทำให้ชาวบ้านไม่กล้าเข้ามาทำประโยชน์บนที่ดินบริเวณนี้ ในปี พ.ศ. 2501 เมื่อมีการขุดดินเพื่อฝังเสาอาคารโรงเรียน ปรากฏว่าพบเศษกระดูก หม้อแตก ไหแตก จำนวนมาก

 

โบราณวัตถุที่พบในเขตเมืองโบราณบ้านคูเมือง มีทั้งเศษภาชนะดินเผา แวดินเผา และกำไลสำริด

 

 

โบราณวัตถุที่พบในเขตเมืองโบราณบ้านคูเมือง มีทั้งเศษภาชนะดินเผา แวดินเผา และกำไลสำริด

 

จากคำบอกเล่าของคนในพื้น ส่วนใหญ่ชาวบ้านจะตั้งบ้านเรือนอยู่ทางทิศใต้ของคูเมืองโบราณ ซึ่งก็คือบริเวณ “บ้านโนนงิ้ว” ส่วนบริเวณเมืองโบราณที่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบแห่งนี้เรียกว่า “บ้านคูเมือง” มาแต่เดิม เมื่อมีการจัดตั้งตำบลขึ้นมาใหม่จึงใช้ชื่อว่า “ตำบลคูเมือง” ผู้ที่อาศัยอยู่ในบ้านคูเมืองมีทั้งคนไทยอีสานและคนไทยโคราชที่ยู่อาศัยสืบเนื่องมา 2-3 ชั่วคนแล้ว บางส่วนอพยพมาจากอำเภอเกษตรสมบูรณ์ เข้ามาจับจองที่ทำมาหากินตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่ ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำเกษตรกรรมทั้งนาข้าวหอมมะลิ ไร่มันสำปะหลัง ไร่อ้อย และบางบ้านยังมีการทอผ้าเป็นอาชีพเสริมด้วย  

 

ดอนใบเสมา 

ในบริเวณใกล้เคียงกับบ้านคูเมือง ชาวบ้านเรียกว่า “ดอนใบเสมา” เพราะแต่เดิมมีบ่อน้ำอยู่ตรงกลางและมีใบเสมาหินเป็นแท่งสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ปักไว้โดยรอบ เสมาหินที่พบในพื้นที่ดอนใบเสมาเป็นแผ่นหินขนาดใหญ่ที่มีการโกลนเป็นรูปร่างใบเสมา บางชิ้นเป็นแท่งสี่เหลี่ยมเช่นเดียวกับที่วัดป่าใบเสมาราม อำเภอหนองบัวแดง พบเสมาหินตั้งทำจากหินทรายแดง อาจารย์ศรีศักรวัลลิโภดมอธิบายว่า เมืองโบราณที่พบในแถบนี้ส่วนใหญ่ร่วมสมัยทวารวดีที่ได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมและรูปแบบศิลปกรรมจากภาคกลาง โดยผ่านมาทางเมืองศรีเทพ เพชรบูรณ์ ซึ่งเสมาหินตั้งในวัฒนธรรมแบบนี้มักปักไว้บนเนินดินของศาสนสถาน  

 

“ใบเสมาหิน” ที่วัดป่าใบเสมาราม

 

ชาวบ้านเล่าให้ฟังว่ามีความเชื่อที่สืบมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายายว่าไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวในพื้นที่ดอนเสมา เช่นเดียวกับภายในคูเมืองโบราณที่จะไม่มีการเข้าไปตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัย นอกจากจะใช้เป็นเพียงพื้นที่ทำการเกษตรเท่านั้น เพราะเชื่อกันว่าเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ไม่มีใครกล้าเข้าไปรุกล้ำ เช่นในพื้นที่ดอนใบเสมานั้น แม้แต่การเข้าไปหาหน่อไม้ ชาวบ้านยังไม่กล้ารุกล้ำทั้งยังมีเรื่องเล่าว่าชาวบ้านที่มีที่ดินติดกับดอนเสมาเผลอทำไร่รุกเข้าไปในเขตดอนเสมาเพียงนิดเดียวถูกเจ้าที่เจ้าทางลงโทษผู้เป็นภรรยาถึงกับเสียชีวิต จึงไม่มีใครกล้ารุกล้ำเข้าไปอีก มีเพียงพระอาจารย์บุญมา (ปัจจุบันมรณภาพแล้ว) ที่เข้าไปพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ให้เป็นสำนักสงฆ์จนกลายมาเป็น วัดป่าใบเสมาราม ส่วนเสมาหินที่เดิมเคยปักไว้รอบบ่อน้ำถูกโยกย้ายหลายครั้ง จนเมื่อมีการสร้างศาลาอเนกประสงค์จึงได้นำใบเสมามาปักไว้รอบศาลาทั้ง 8 ทิศ

 

ความศรัทธาใน “ศาลเจ้าพ่อหมื่นก๊วน” 

บริเวณคูเมืองด้านทิศเหนือที่ลำห้วยโป่งกับลำห้วยเมืองมาสบกัน ปรากฏศาลศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านเรียกว่า ศาลเจ้าพ่อหมื่นก๊วน ชาวบ้านโนนงิ้วและบ้านคูเมืองเล่าต่อกันมาว่า หมื่นก๊วนเป็นทหารคนสนิทของพระภักดีชุมพล (แล) ที่ตามมาจากเมืองเวียงจันทน์และเคยช่วยงานเมืองของพระภักดีชุมพลมากมาย  หมื่นก๊วนได้ขออนุญาตมาดูแลเมืองหนองบัวแดง โดยตั้งบ้านเรือนอยู่ในบริเวณคูเมืองและทำหน้าที่เก็บส่วยทองคำส่งให้แก่เจ้าเมืองชัยภูมิ เพื่อส่งให้หลวงต่อไป ในช่วงสงครามสยามกับเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ หมื่นก๊วนถูกนำตัวไปประหารที่เมืองหนองบัวลำภูพร้อมกับพระภักดีชุมพล จึงทำให้บ้านคูเมืองร้างไปอีกครั้งหนึ่ง

 

ชาวบ้านนำเครื่องเซ่นไหว้มาร่วมในพิธีบวงสรวง “ศาลเจ้าพ่อหมื่นก๊วน"

 

ในช่วงเดือน 6 ก่อนเข้าพรรษาที่บ้านคูเมืองจะมีพิธีบวงสรวงเจ้าพ่อหมื่นก๊วนโดยจะตั้งขบวนแห่ออกจากบ้านโนนงิ้วไปที่ดอนใบเสมาภายในวัดป่าใบเสมาราม จากนั้นจะเคลื่อนขบวนแห่ไปทำพิธีที่วิหารวัดป่าศิลามหาธาตุซึ่งอยู่ไม่ไกลกันนัก และวกกลับมาที่ศาลเจ้าพ่อหมื่นก๊วนที่ตั้งอยู่ภายในคูเมืองโบราณ ภายในงานบวงสรวงจะมี แม่ลำดวน พันธุ์ยางซึ่งเป็นขวัญจั้มของบ้านคูเมืองทำหน้าที่เป็นร่างทรงเจ้าพ่อ และมีร่างทรงจากที่อื่นๆ มาร่วมในงานด้วย เครื่องเซ่นไหว้ในพิธีประกอบด้วย เหล้า ไก่ต้ม หมู และเครื่องเซ่นอื่นๆ ตามที่ชาวบ้านจะจัดหามา ถึงแม้ไม่ได้จัดเป็นพิธีบวงสรวงที่ใหญ่โตนัก แต่ก็เป็นประเพณีประจำปีที่สร้างขวัญกำลังใจให้ชาวบ้านโนนงิ้วและบ้านคูเมืองอย่างมาก ด้วยเชื่อว่าเจ้าพ่อหมื่นก๊วนจะช่วยปกปักรักษาให้ร่มเย็นเป็นสุขและดลบันดาลให้เกิดความอุดมสมบูรณ์

 

ภายในพิธีบวงสรวงเจ้าพ่อฯ มีทั้งพิธีทางพระพุทธศาสนาควบคู่ไปกับการเข้าทรงเจ้าพ่อ ตามความเชื่อของชาวบ้านมาแต่เดิม

 

ร่างทรงเจ้าพ่อ” ลุกขึ้นร่ายรำในพิธีบวงสรวง

 

แหล่งอ้างอิง       

ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค จังหวัดชัยภูมิ.ชัยภูมิ : สำนักงานจังหวัดชัยภูมิ, ๒๕๒๖.

ธิดา สาระยา. รัฐโบราณในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้: กำเนิดและพัฒนาการ. กรุงเทพ : เมืองโบราณ, ๒๕๓๗.

ศรีศักร วัลลิโภดม. แอ่งอารยธรรมอีสาน. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, ๒๔๓๓.  

ขอขอบคุณ

ครูทองดี ทองก้อน พ่อหลง หกขุนทด พ่อสวอง มีนา พ่อบุญเหลือ มีนา แม่หนูนา เศรษฐีกุล อบต.บรรจง คงฉนวน แม่ลำดวน พันธุ์ยาง คุณจุฑารัตน์ ยศรุ่งเรือง และคุณชัยวัช ยศรุ่งเรือง


เมธินีย์ ชอุ่มผล

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ