พลิกหน้าสารบัญ วารสารเมืองโบราณ ฉบับ 45.1

พลิกหน้าสารบัญ วารสารเมืองโบราณ ฉบับ 45.1

 

วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 45 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มีนาคม 2562) "ทุ่งยั้งคือนครสระหลวงในจารึกสุโขทัย" พาคุณผู้อ่านไปทำความรู้จักเมืองโบราณทุ่งยั้ง จังหวัดอุตรดิตถ์ ผ่านบทความและภาพวาดแผนที่ฉบับเมืองโบราณ

 

 

"ทุ่งยั้ง" เป็นเมืองโบราณขนาดใหญ่ ตั้งอยู่บนเนินสูงที่เทลาดมาจากเขาและที่สูงในเขตวัดพระแท่นศิลาอาสน์ทางทิศตะวันตก ทางตอนเหนือและตะวันออกมีเทือกเขาสูงยาวเป็นแนวต่อเนื่องมาจากจังหวัดแพร่และจังหวัดน่าน ลักษณะตัวเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าไม่สม่ำเสมอ อันน่าจะเป็นผลจากการขยายตัวเมืองหลายครั้ง ที่เด่นชัดคือ บริเวณที่เป็นติ่งหรือส่วนต่อกับเมืองทุ่งยั้งทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือของตัวเมืองที่เรียกว่า "เวียงเจ้าเงาะ" นอกจากนี้เมืองโบราณทุ่งยั้งยังมีหนองน้ำขนาดใหญ่สำหรับกักเก็บน้ำกินน้ำใช้ของชาวเมือง คือ หนองพระแลทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ กับหนองพระทัยทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมือง

 

ภายในวารสารเมืองโบราณฉบับ 45.1 "ทุ่งยั้งคือนครสระหลวงในจารึกสุโขทัย" พบกับบทความทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีเมืองทุ่งยั้งและพื้นที่ใกล้เคียง ดังนี้ 

 

“ทุ่งยั้ง : เมืองชนแดนแห่งลุ่มน้ำน่านและพัฒนาการทางประวัติศาสตร์”

/ วิยะดา ทองมิตร และธีระวัฒน์ แสนคำ

ลุ่มแม่น้ำน่านในเขตจังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นพื้นที่สำคัญที่พบร่องรอยการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์เรื่อยมา ดังพบชุมชนและบ้านเมืองสำคัญบนพื้นที่นี้หลายเมือง เช่น เวียงเจ้าเงาะ เมืองทุ่งยั้ง เมืองฝาง เมืองพิชัย เมืองลับแล เมืองตาชูชก เป็นต้น สาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ชุมชนโบราณบนดินแดนนี้เติบโตและมีพัฒนาการสู่บ้านเมืองที่ยิ่งใหญ่ในสมัยหลังก็ด้วยตำแหน่งที่ตั้งซึ่งเสมือนจุดต่อแดนระหว่างบ้านเมืองทางตอนเหนือกับตอนใต้ ที่นี่จึงเป็นศูนย์รวมของสินค้าและวัฒนธรรมจากเหล่าพ่อค้า นักเดินทาง และกองทัพ ที่หมุนเวียนมาหยุดพักชุมนุมกันตั้งแต่สมัยโบราณ

 

“ทุ่งยั้งคือนครสระหลวง”

/ ศรีศักร วัลลิโภดม

บริเวณลุ่มน้ำยม น้ำน่าน ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของภาคกลางตอนบน ประกอบด้วยเมืองสำคัญ 4 เมือง คือ สุโขทัย ศรีสัชนาลัยในลุ่มน้ำยม เมืองพิษณุโลก ทุ่งยั้งในลุ่มน้ำน่าน ในจารึกสุโขทัยตั้งแต่สมัยพระมหาธรรมราชาลิไท ปรากฏชื่อเมืองสำคัญ 4 เมืองเช่นกันคือสุโขทัยและศรีสัชนาลัย ที่ยังคงชื่อเดิมมาจนถึงทุกวันนี้ และสองแควซึ่งเป็นเมืองเก่าทางฝั่งตะวันออกของลำน้ำน่าน ตรงข้ามกับเมืองพิษณุโลก ซึ่งตั้งขึ้นมาแทนที่ในสมัยหลัง อีกเมืองหนึ่งคือ “เมืองสระหลวง” โดยที่ผ่านมามีการตีความหลากหลายกระแส ในที่นี้เสนอว่าคือเมืองทุ่งยั้ง อันเป็นเมืองโบราณที่มีขนาดใหญ่ทัดเทียมกับสุโขทัย ศรีสัชนาลัย และพิษณุโลก ทั้งยังมีโบราณวัตถุสถานที่มีอายุถึงสมัยสุโขทัยยุคต้นด้วยเช่นกัน

 

“ชุมชนก่อนรัฐสุโขทัย : บ้านวังหาดและในเขตภาคเหนือตอนล่าง”

/ วลัยลักษณ์ ทรงศิริ

กว่า 20 ปีที่ผ่านมา ผู้เขียนได้ทำการสำรวจและเก็บข้อมูลบริเวณพื้นที่สูงเหนือบ้านวังหาดในอำเภอบ้านด่านลานหอย จ.สุโขทัย ซึ่งเป็นต้นน้ำแม่ลำพัน ลำน้ำที่มีความสำคัญต่อการถือกำเนิดของอาณาจักรสุโขทัยในสมัยต่อมา เวลาผ่านไปบางแห่งของพื้นที่ที่เคยสำรวจกลายเป็นส่วนหนึ่งของอ่างเก็บน้ำกั้นห้วยแม่กองค่ายและห้วยแม่ลำพัน ในขณะที่โบราณวัตถุต่างๆ ที่ถูกค้นพบทั้งจากการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ และพบในบริเวณใกล้เคียง ถูกรวบรวมและนำไปเก็บรักษาไว้ที่ ‘พิพิธภัณฑ์โบราณคดีชุมชนบ้านวังหาด’ ก่อนจะมีการขุดหลุมทดสอบใกล้อ่างเก็บน้ำเมื่อต้นปี พ.ศ. 2549 การขุดค้นในครั้งนั้นทำให้พบแหล่งฝังศพสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ร่วมกับวัตถุอุทิศหลายรายการ

 

นอกจากเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีของเมืองทุ่งยั้งแล้ว ภายในเล่มยังมีบทความอื่นๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับชีวิตวัฒนธรรมของผู้คนในแถบทุ่งยั้งและลับแล ซึ่งปัจจุบันอยู่ในเขตพื้นที่อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ดังนี้

 

“นบอาสน์พระพุทธเจ้าที่วัดพระแท่นศิลาอาสน์”

/ เกสรบัว อุบลสรรค์

วัดพระแท่นศิลาอาสน์ ตั้งอยู่นอกเมืองทุ่งยั้ง ห่างจาก ‘หนองพระแล’ ลงมาทางทิศใต้ราว 1 กิโลเมตร และจาก ‘วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง’ มาทางทิศตะวันตกราว 1.5 กิโลเมตร วัดแห่งนี้ตั้งอยู่บน ‘เนินเขาเต่า’ ชาวบ้านเชื่อต่อกันมาว่า พระแท่นศิลาสน์ที่อยู่ภายในวิหารของวัด เป็นที่ประทับนั่งของพระพุทธเจ้า แม้จะยังไม่ปรากฏศักราชแรกสร้างที่ชัดเจนแต่วัดแห่งนี้ก็ถูกกล่าวถึงมาตั้งแต่ในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ แห่งกรุงศรีอยุธยา มาแล้ว เป็นอย่างน้อย โดยมี ‘งานนมัสการพระแท่น’ ที่จัดในช่วงวันเพ็ญเดือนสามของทุกปีเป็นงานสำคัญที่จัดต่อเนื่องกันมายาวนาน

 

“ภูเขากินได้ : ชีวิต – เศรษฐกิจในสวนเมืองลับแล”

/ อภิญญา นนท์นาท

ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของผืนแผ่นดินและภูมิปัญญาการทำสวนบนเขตพื้นที่สูงที่สืบทอดกันมายาวนานนับร้อยๆ ปี ส่งผลให้อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นแหล่งสวนผลไม้ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในเขตภาคเหนือตอนล่าง โดยมีผลผลิตสำคัญคือ ลางสาด ลองกอง และทุเรียนพื้นเมืองพันธุ์หลงกับหลิน ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมและมีราคาสูงในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ความเป็นเรือกสวนของเมืองลับแลตั้งแต่อดีต-ปัจจุบันก็มีพัฒนาการอยู่เสมอ สะท้อนถึงสภาพสังคมที่สัมพันธ์กับเศรษฐกิจการเกษตรอย่างใกล้ชิด

 

“ฟ้อนนางโยน ซอลับแลง และฟ้อนดอกเจิงซอ : ศิลปะการแสดงแห่งเมืองลับแล”

/ ภัทรภูมินทร์ ชัยชมภู และดาบฟ้า ไชยลับแลง

“ฟ้อนนางโยน” “ซอลับแลง” และ “ฟ้อนดอกเจิงซอ” เป็นศิลปะการแสดงของคนลับแลงที่สามารถสืบย้อนสายตระกูลผู้สืบสานศิลปวัฒนธรรมเหล่านั้นกลับไปได้ถึงสมัยพระเมืองด้ง ทหารของพระเจ้าติโลกราช การแสดงดังกล่าวได้รับการกล่าวถึงอย่างกว้างขวางอีกครั้ง เมื่อได้รับเลือกให้เป็นการแสดงหน้าพระที่นั่งครั้งในหลวงรัชกาลที่ 5 เสด็จมายังเมืองอุตรดิตถ์ แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ศิลปการแสดงประจำถิ่นก็ได้รับความนิยมลดน้อยลงไปด้วย นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นให้ลูกหลานชาวลับแลงในปัจจุบันพยายามสืบค้นเพื่อสืบทอดและอนุรักษ์การแสดงอันทรงคุณค่าจากบรรพบุรุษสู่คนรุ่นใหม่ต่อไป

 

“จีนอุตรดิตถ์...เจ้าเมือง – พ่อค้า – คหบดี”

/ เมธินีย์ ชอุ่มผล

กลุ่มชาวจีนที่เข้ามาตั้งรกรากในเมืองอุตรดิตถ์แต่สมัยเริ่มแรกจนถึงรุ่นปัจจุบัน สามารถนับย้อนไปได้ราว 3-4 ชั่วอายุคนแล้ว แม้จำนวนชาวจีนในพื้นที่จะเพิ่มมากขึ้นแต่ทั้งหมดก็ยังคงมีความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่น จากการสืบค้นพบว่า ชาวจีนกลุ่มแรกเข้ามาปักหลักที่นี่ในฐานะเจ้าเมือง เป็นนักปกครอง เป็นกลุ่มคนที่วางรากฐานให้เมืองอุตรดิตถ์ ชาวจีนกลุ่มต่อมาเป็นกลุ่มพ่อค้า ทั้งรายเล็กและรายใหญ่ที่เข้ามาทำมาหากินสร้างเนื้อสร้างตัว หลายคนกลายเป็นคหบดีที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้เมืองอุตรดิตถ์เจริญรุ่งเรืองมั่นคง

 

“มองวิถีหมอยาสมุนไพร ผ่านชีวิตหมอแก้ว อินทร”

/ ณัฐวิทย์ พิมพ์ทอง

หมอแก้ว อินทร ชาวบ้านป่ายาง อำเภอลับแล ผู้เกิดในครอบครัวซึ่งมีคุณพ่อเป็น ‘พ่อค้าของป่า’ และคุณแม่ที่เป็น ‘แม่หมอห้วงผ้า’ หมอแก้วจึงมีโอกาสได้เรียนรู้เทคนิคการบำบัดโรค และตัวยาสมุนไพรจากการเดินทางไปหาของป่ากับผู้เป็นบิดาตั้งแต่วัยเยาว์ เข้าสู่วัยหนุ่ม หมอแก้วดำรงชีพด้วยการเป็นพ่อค้าของป่า จัดหาตัวยาสำคัญให้หมอยาพื้นบ้านและร้านยาสมุนไพรในตัวเมืองอุตรดิตถ์หลายร้าน ก่อนจะผันตัวเองเป็นหมอยา โดยอาศัยความรู้ที่ได้ศึกษาด้วยตนเองจากหนังสือและประสบการณ์ที่สั่งสมมาจากบรรพบุรุษ แต่ด้วยกฎเกณฑ์สมัยใหม่ การจะส่งต่อชุดความรู้เหล่านี้สู่คนรุ่นหลังดูจะไม่ใช่เรื่องง่าย วิถีหมอยาสมุนไพรพื้นบ้านจะก้าวสู่ทิศทางใด เป็นเรื่องที่ต้องติดตามต่อไป

 

“วิถีชนบนตำนาน : ตำนานเมืองพระห้าอิริยาบถ ทุ่งยั้งและเวียงเจ้าเงาะ”

/ ศาสตราจารย์สุกัญญา สุจฉายา

ว่ากันว่า ณ “เมืองทุ่งยั้ง” มีตำนานที่บอกเล่าความเป็นมาของสถานที่สำคัญซึ่งเกี่ยวข้องกับองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เช่น ตำนานพระเจ้าเลียบโลกของทางล้านนา ส่วน “เวียงเจ้าเงาะ” เมืองโบราณที่ตั้งอยู่ในเขตเมืองทุ่งยั้งนั้นก็มีตำนานของพื้นที่ที่เกี่ยวกับนิทานเรื่องสังข์ทอง โดยตำนานได้ผูกเอาบ่อแลง และคูน้ำคันดินของเวียงเจ้าเงาะว่าเป็นเมืองท้าวสามล และกระท่อมปลายนาของเจ้าเงาะ เป็นต้น

 

“สร้างบ้านสร้างเรือน : เรือนลับแลงที่ลับแล”

/ ดาบฟ้า ไชยลับแลง และภัทรภูมินทร์ ชัยชมภู

บ้านเรือนหลายหลังยังคงเป็นเรือนแบบเก่า เรือนไม้ยกพื้นสูงบางหลังเป็นเรือนสรไน บางหลังก็มีลักษณะเป็นเรือนกาแล มีการแบ่งพื้นที่ใช้สอยในบ้านอย่างชัดเจน ทั้งยุ้งข้าว เรือนนอน เรือนครัว และหอลม ในบทความนี้จะช่วยแสดงภาพตัวอย่างของบ้านเรือนอย่างลับแลง ทั้งอธิบายประโยชน์ใช้สอย ตลอดจนความเชื่อและภูมิปัญญาที่แฝงอยู่

 

ดูสารบัญทั้งหมด คลิก >> วารสารเมืองโบราณ ฉบับ 45.1

 

 

สนใจสั่งซื้อวารสารเมืองโบราณ >> 

1. ร้านหนังสือริมขอบฟ้า อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 10.00-19.00 น. โทร 02 622 3510 / E-mail : rimkhobfabooks@gmail.com / Facebook : RimkhobfaBookstore

2.  ฝ่ายสมาชิกสารคดี-เมืองโบราณ บริษัทวิริยะธุรกิจ จำกัด โทร 02 547 2700 ต่อ 111-113 / E-mail : memberskd@gmail.com / Line ID : 0815835040 / Facebook : สารคดี-เมืองโบราณ-นายรอบรู้

3.  ทำรายการสั่งซื้อด้วยตนเองผ่านเว็ปไซด์ : ร้านหนังสือออนไลน์มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ คลิก http://www.lek-prapaibookstoreonline.com/…/วารสารเมืองโบราณ…

 

รายละเอียดการสมัครสมาชิก-ต่ออายุสมาชิก >>  

คลิก >> www.muangboranjournal.com/สมัครสมาชิก 

หรือติดต่อโดยตรงที่ ฝ่ายสมาชิกสารคดี-เมืองโบราณ บริษัทวิริยะธุรกิจ จำกัด

โทร 02 547 2700 ต่อ 111-113

E-mail : memberskd@gmail.com

Line ID : 0815835040

 


กองบรรณาธิการ

"วารสารเมืองโบราณ" นิยามไทย เข้าใจถิ่น