"กระยาสารท" ในความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคม
คลังบทความ

"กระยาสารท" ในความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคม

 

วันสารทไทย ซึ่งตรงกับวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 เป็นช่วงเวลาที่ชาวบ้านจะทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับ โดยเฉพาะผู้ที่ยังตกทุกข์ได้ยากอยู่ในสัมปรายภพ ในเทศกาลนี้จะมีการทำ “กระยาสารท” เพื่อนำไปทำบุญตักบาตร  เดิมการทำกระยาสารทเป็นกิจกรรมที่ชาวบ้านจะทำร่วมกัน สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของผู้คนในสังคมเกษตรกรรม  

 

บทความเรื่อง “กระยาสารทกับระบบเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป”  โดย ชนัญ วงษ์วิภาค ใน วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 10 ฉบับที่ 4 (ตุลาคม-ธันวาคม 2527) หน้า 97-103 ได้ทำการศึกษา "ประเพณีการทำกระยาสารท" ของชาวบ้านที่บ้านโคก อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เพื่ออธิบายถึงความเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ทางสังคมในสังคมชนบท ชาวบ้านโคก อำเภออู่ทอง มีเชื้อสายลาวครั่งที่มีบรรพบุรุษมาจากเมืองหลวงพระบาง เดิมมีอาชีพทำนาและหาของป่า เช่น ฟืน ถ่าน ไม้รวก ไม้เนื้อแข็ง หน่อไม้ ฯลฯ เพื่อนำไปแลกเปลี่ยนกับสินค้าจำเป็นอื่นๆ จากพ่อค้าภายนอก ซึ่งรวมถึง “น้ำตาล” ที่ต้องเตรียมไว้ให้เพียงพอสำหรับการกวนกระยาสารท ซึ่งเป็นงานบุญใหญ่ประจำปี

 

วันสารทของชาวบ้านโคก จะมีขึ้นก่อนวันสารทไทย 1 วันพระ คือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ในอดีตการกวนกระยาสารทของชาวบ้าน จะเป็นกิจกรรมที่ญาติพี่น้องและเพื่อนบ้านต้องร่วมมือร่วมใจกัน ตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมวัตถุดิบ การก่อเตาไฟ ไปจนถึงการกวนกระยาสารท จนกระทั่งภายหลัง พ.ศ. 2500 ที่เริ่มเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพเศรษฐกิจและสังคม ได้ส่งผลต่อประเพณีการกวนกระยาสารทและวิถีชีวิตของชาวบ้านโคกด้วยเช่นกัน  

 

ติดตามอ่านบทความฉบับเต็มได้ที่คอลัมน์ “10 ปีแรกวารสารเมืองโบราณ” คลิกที่ https://www.yumpu.com/xx/document/view/67744775/-10-4


กองบรรณาธิการ

"วารสารเมืองโบราณ" นิยามไทย เข้าใจถิ่น