สระมรกตเป็นส่วนหนึ่งของแหล่งโบราณคดีสระมรกต ตั้งอยู่นอกคันดินคูเมืองศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี มีลักษณะเป็นสระน้ำรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 115 เมตร ยาว 214 เมตร ลึก 3.50 เมตร ขอบสระล้อมรอบด้วยคันดินกว้างประมาณ 4 - 5 เมตร ข้อมูลจากกรมศิลปากร ระบุว่า สภาพเดิมของแหล่งโบราณคดีสระมรกตเป็นเนินดินขนาดใหญ่ 2 เนิน มีสระน้ำ 2 สระ คือ สระมรกต ทางทิศตะวันออก และสระบัวล้า ทางทิศเหนือ ทั้ง 2 สระ มีขนาดใกล้เคียงกัน นอกจากนั้นยังมีเนินโบราณสถานขนาดเล็กอีกเนินหนึ่ง เป็นเนินทรงกลม อยู่ทางทิศตะวันออกของสระมรกต เรียกกันว่า เนินพระเจดีย์
สระมรกตในปัจจุบันเป็นสระน้ำขนาดใหญ่ อยู่ทางทิศตะวันออกของแหล่งโบราณคดีสระมรกต
แผนผังแหล่งโบราณคดีสระมรกต
ทั้งนี้ จากการขุดค้นทางโบราณคดี ณ แหล่งโบราณคดีสระมรกต ระหว่างปี พ.ศ. 2529-2530 สามารถจำแนกอายุสมัยของแหล่งโบราณคดีสระมรกตจากโบราณวัตถุที่พบได้เป็น 2 สมัย
สมัยที่ 1 ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 17-19 เป็นชุมชนขนาดใหญ่ โบราณวัตถุที่พบมีปริมาณมากขึ้น มีเทคนิควิธีที่ซับซ้อน หลากหลายกว่าในสมัยแรก เช่น พบชิ้นส่วนภาชนะดินเผาที่ตกแต่งด้วยลายเส้นทแยง ลายเส้นประ ลายปั้นแปะ นอกจากนั้นยังพบชิ้นส่วนเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ซ้องหรือซุ่ง ได้แก่ เครื่องถ้วยหลงฉวน มณฑลเจ้อเจียง เครื่องเคลือบขาวแบบเต๋อหัว มณฑลฟูเจี้ยน และเครื่องถ้วยชิงไป๋จากมณฑลเจียงซี กำหนดอายุเครื่องถ้วยจีนดังกล่าวได้ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16-19 ชุมชนโบราณ ณ แหล่งโบราณคดีสระมรกตในสมัยนี้จึงมีการติดต่อกับชุมชนภายนอกอย่างเข้มข้น โดยได้รับอิทธิพลด้านศิลปกรรมจากเขมรซึ่งแผ่ขยายเข้าครอบคลุมพื้นที่ในบริเวณนี้ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 17-18
บ่อน้ำภายในบริเวณแหล่งโบราณคดีสระมรกต
สมัยที่ 2 พุทธศตวรรษที่ 14-16 ชุมชนระยะแรก มีขนาดเล็ก ตั้งถิ่นฐานอยู่ทางทิศใต้และทิศตะวันออกไม่ไกลไปกว่าสระมรกต โบราณวัตถุที่พบ ได้แก่ แวดินเผา ชิ้นส่วนกระดูกเผาไฟ ทั้งกระดูกสัตว์ป่าและสัตว์เลี้ยง ถ่าน เครื่องมือเหล็ก ชิ้นส่วนสำริด หินลับ ชิ้นส่วนภาชนะดินเผาขึ้นรูปด้วยมือ ตกแต่งด้วยลายเชือกทาบ ลายขูดขีด ลายกดประทับ และกดลายด้วยนิ้วมือ บางชิ้นมีร่องรอยของฟางและแกลบข้าวผสมอยู่ด้วย นอกจากนั้นยังพบชิ้นส่วนเครื่องถ้วยเปอร์เซียอันแสดงให้เห็นว่า ชุมชนโบราณระยะแรกที่แหล่งโบราณคดีสระมรกตมีการตั้งถิ่นฐานและมีการติดต่อกับชุมชนอื่นทั้งภายในและภายนอกประเทศแล้ว
ร่องรอยกลุ่มโบราณสถานภายในบริเวณแหล่งโบราณคดีสระมรกต
สำหรับชื่อของสระมรกต สระน้ำใหญ่ทางทิศตะวันออกของแหล่งโบราณคดีสระมรกตนั้น สันนิษฐานว่ามาจาก 2 แหล่งที่มา ดังนี้
1. สันนิษฐานว่าเป็นชื่อเก่าแก่ที่มีความเกี่ยวข้องกับตำนานคาถากระทะน้ำมัน (เตลกฏาหคาถา) ซึ่งเป็นคาถาเก่าแก่ดังปรากฏในจารึกเนินสระบัว เป็นจารึกหินทราย จารด้วยอักษรอินเดียใต้สมัยหลังปัลลวะ ภาษาขอมและบาลี ระบุปีมหาศักราช 1304 เป็นจารึกเพียงหลักเดียวที่พบภายในเมืองโบราณศรีมโหสถ โดยที่บริเวณสระบัวล้า คาถาบทนี้กล่าวว่า “...ให้ตั้งกระทะน้ำมันให้เดือด แล้วทิ้งพระอรหันต์ลงไป แต่ด้วยปาฏิหาริย์ พระอรหันต์ท่านไม่เป็นอันตรายแต่ตั้งอยู่เหนือน้ำมัน ดั่งราชสีห์ที่ลอยอยู่ในอ่างมรกต...”
แผนผังแสดงตำแหน่งที่พบจารึกเนินสระบัว
2. คนเก่าคนแก่ที่อาศัยอยู่ที่นี่มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า “สมัยก่อน มีผู้พบดวงไฟสีเขียวสุกใสขนาดเท่าบาตรพระ ลอยอยู่เหนือสระน้ำนี้ จึงขนานนามสระน้ำแห่งนี้ว่า สระมรกต ตั้งแต่นั้นมา"
ร่องรอยกลุ่มโบราณสถานและบ่อน้ำภายในบริเวณแหล่งโบราณคดีสระมรกต
กรมศิลปากรสันนิษฐานว่าสระมรกตเป็นสระน้ำสำคัญมาตั้งแต่สมัยทวารวดีเป็นอย่างน้อย ต่อมาเมื่ออิทธิพลเขมรแพร่เข้ามา สระน้ำนี้ก็ถูกดัดแปลงให้เป็นส่วนหนึ่งของโบราณสถานสระมรกตซึ่งเป็นอโรคยศาลดังปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน
แหล่งอ้างอิง
ศิลปากร,กรม. รายงานการขุดค้นและขุดแต่งโบราณสถานสระมรกต ตำบลโคกไทย อำเภอโคกปีบ จังหวัดปราจีนบุรี. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สมาพันธ์, 2534.