พระพุทธศาสนาและระบอบราชามหากษัตริย์ในสุวรรณภูมิ
ศรีศักรทัศน์

พระพุทธศาสนาและระบอบราชามหากษัตริย์ในสุวรรณภูมิ

 

“...สุวรรณภูมิ หรือดินแดนโพ้นทะเลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่คนอินเดียโบราณขนานนามนั้น เป็นดินแดนที่มีชุมชน เมือง และรัฐแรกเริ่มมาแต่สมัยเหล็กตอนปลาย หรือราว 500  ปีก่อนคริสตกาล ก่อนการเข้ามาของพุทธศาสนาในสมัยพระเจ้าอโศก ชุมชนโบราณบนดินแดนสุวรรณภูมิมีการติดต่อปะทะสังสรรค์และแลกเปลี่ยนสินค้าในรูปแบบของกำนัลจำพวกเครื่องประดับมีค่าหายากกับกลุ่มพ่อค้านักเดินทางชาวอินเดียที่มีบางส่วนลงหลักปักฐานตั้งชุมชนช่างฝีมือ แต่งงานอยู่กินกับคนพื้นเมือง เกิดการรับปรับเปลี่ยนศิลปวิทยาการจากอินเดียจนเป็นรูปแบบเฉพาะถิ่น กระทั่งต่อมาได้รับความเชื่อในพุทธศาสนาและแนวคิดเรื่องการปกครองแบบราชามหากษัตริย์จากบรรดาพ่อค้า สมณพราหมณ์และนักบวชที่เดินทางเข้ามาในช่วงเผยแผ่พระพุทธศาสนาด้วย...”

 

ชื่อบทความ     การเข้ามาของพระพุทธศาสนาและระบอบราชามหากษัตริย์ในสุวรรณภูมิ

ผู้เขียน              อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม

คอลัมน์            บทบรรณาธิการ

ปีที่พิมพ์           วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 45 ฉบับที่ 4 (ตุลาคม-ธันวาคม 2562)

“ตะนาวศรี : ชุมทางการค้าบนฝั่งอันดามันของอยุธยา”

 

 

ารเข้ามาของพระพุทธศาสนา

และระบอบราชามหากษัตริย์ในสุวรรณภูมิ

คนอินเดียโบราณรู้จักภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีทั้งหมู่เกาะ คาบสมุทร และแผ่นดินใหญ่ ว่าเป็นดินแดนโพ้นทะเลที่เรียกว่า สุวรรณภูมิ เป็นภูมิภาคที่มีผู้คนอยู่แล้ว เป็นบ้าน (village) เป็นเมือง (town) และรัฐ (early state) มาแต่สมัยยุคเหล็กตอนปลาย คือราว 500  ปีก่อนคริสตกาลลงมา เป็นดินแดนแห่งความมั่งคั่งด้วยทรัพยากรแร่ธาตุและของป่านานาชนิด ที่พ่อค้าชาวอินเดียแล่นเรือข้ามมหาสมุทรอินเดียเข้ามาค้าขายกับคนพื้นเมือง ดังปรากฏกล่าวถึงในเอกสารโบราณ เช่นคัมภีร์อรรถศาสตร์ อันเป็นตำราการปกครองบ้านเมืองของอาณาจักรมคธครั้งพระเจ้าอโศกมหาราช และบรรดาคัมภีร์ทางศาสนาและตำนานชาดกอันเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวกับการปกครองบ้านเมืองของราชามหากษัตริย์ ที่พระพุทธเจ้ายังบำเพ็ญบารมีเสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์ในพระชาติต่างๆ การเข้ามาค้าขายของคนอินเดียกับคนพื้นเมืองของสุวรรณภูมิแต่ครั้งนั้น คือการปะทะสังสรรค์ระหว่างกันในทางเศรษฐกิจและสังคมของคนในสมัยประวัติศาสตร์ ที่มีอารยธรรมเป็นบ้านเป็นเมืองและรัฐราว 1,000  ปีก่อนคริสตกาล กับคนพื้นเมืองในภูมิภาคสุวรรณภูมิ ที่ความเจริญเติบโตทางสังคมจากชุมชนบ้านและเมืองมาเป็นรัฐแรกเริ่มที่เป็นรัฐเล็กๆ อยู่ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่บรรดานักโบราณคดีเรียกว่า ยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย หรืออีกนัยหนึ่งสมัยเหล็กตอนปลายราว 500  ปีก่อนคริสตกาล

 

สินค้าทางเกียรติภูมิกับการค้าแบบแลกเปลี่ยนของกำนัล

            การปะทะสังสรรค์อันเนื่องจากการติดต่อค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าทางเศรษฐกิจ อันเป็นเรื่องของทางวัตถุที่มีผลไปถึงความสัมพันธ์ทางสังคมและวัฒนธรรมของกลุ่มคนที่มีระดับความเจริญทางวัฒนธรรมต่างกัน คือระหว่างคนอินเดียที่มีอารยธรรม (civilization) กับคนพื้นเมืองที่มีความเจริญในระดับวัฒนธรรมท้องถิ่น (local culture) ของสังคม มีพัฒนาการเป็นบ้านเมืองและรัฐแรกเริ่มเท่านั้น จึงเป็นผลที่ทำให้เกิดการรับวัฒนธรรม (culture contact) ของคนอินเดียที่เจริญกว่าเข้ามาปรับใช้และเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมดั้งเดิม (folk culture) ของผู้คนแต่ละรัฐและบ้านเมืองที่มีมาแต่เดิม นับเป็นการเปลี่ยนแปลงสังคม วัฒนธรรมของกลุ่มคนพื้นเมือง จากสังคมที่ไม่มีอักษรและภาษา (nonliterate society) เข้าสู่ความเป็นสังคมที่มีลายลักษณ์ (literate society) ที่มีภาษาบาลี-สันสกฤต ศิลปวัฒนธรรม และวิทยาการจากอินเดียเข้ามา สิ่งสำคัญของอารยธรรมอินเดีย (India culture) ที่ข้าพเจ้าจะพูดในที่นี้เป็นสถาบันทางสังคม คือศาสนาและการปกครอง ที่นักวิชาการยุคอาณานิคมคิดว่าลอกแบบอย่างจากอินเดีย (Indianization) ชนิดที่ก๊อปปี้มาก็ว่าได้ จึงมักให้ความเห็นที่ดูถูกสติปัญญาความเป็นคนในดินแดนสุวรรณภูมิ ที่พัฒนาตัวเองจนเกิดเป็นบ้านเมืองและรัฐซึ่งมีผู้นำปกครองในลักษณะพ่อบ้านพ่อเมืองแล้ว เพียงแต่ยังไม่เปลี่ยนไปเรียกบรรดาพ่อบ้านพ่อเมืองและหัวหน้าเผ่าพันธุ์เหล่านั้นว่า เป็นราชามหากษัตริย์อย่างอินเดีย หากเป็นการรับเข้ามาบางส่วนและปรับให้เข้ากันกับวัฒนธรรมของท้องถิ่นได้ สิ่งเหล่านี้นักมานุษยวิทยาเรียกว่า การปรับปรนให้เข้าเป็นของท้องถิ่น (localization of cultural elements) ซึ่งเรื่องนี้นักประวัติศาสตร์ที่ข้าพเจ้าเคารพเป็นครูคือ ศาสตราจารย์ โอ. ดับเบิลยู. วอลเตอร์ส (Prof. O. W. Wolters) ใช้ในการปลดล็อคคำว่า Indianization of Southeast Asia ที่คิดเห็นโดยศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ (Prof. George Coedès) นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศสในยุคอาณานิคม

 

ยิ่งกว่านั้นในแนวคิดทฤษฎีของนักมานุษยวิทยาที่ได้รับการอบรมมาในเรื่องการแพร่วัฒนธรรมจากสังคมหนึ่งไปยังอีกสังคมหนึ่ง เช่นจากอินเดียมายังสุวรรณภูมิเป็นเรื่องที่ไม่แพร่เข้ามาทั้งหมด คือทั้งรูปแบบ (form) และเนื้อหา (content) แต่เป็นเพียงบางอย่างที่ผู้รับเข้ามานำไปปรับปรนให้เกิดเป็นวัฒนธรรมของตนเอง และในการติดต่อระหว่างกันในกระบวนการค้าขายข้ามมหาสมุทรจากอินเดียมาสุวรรณภูมินั้น หาได้เป็นการแลกเปลี่ยนค้าขายด้วยระบบตลาดแบบเงินตราตอบแทนอย่างในปัจจุบัน  หากเป็นความสัมพันธ์ทางสังคมของกลุ่มผู้ซื้อและผู้ขายในรูปแบบการแลกเปลี่ยนของกำนัล (gift exchange) เพื่อสร้างสัมพันธไมตรีต่อกัน เป็นพื้นฐานก่อนที่จะมีการแลกเปลี่ยนสิ่งของในการค้าขาย ดังตัวอย่างการแลกเปลี่ยนของชาวเกาะโทรเบียนด์ (Trobiand Islanders) ในหมู่เกาะทะเลใต้ ที่โบรนิสลอว์ มาลินอฟสกี้ (Bronislaw Malinowski) นักมานุษยวิทยาคนสำคัญได้ศึกษาไว้ ว่าเริ่มต้นจากการผูกมิตร ด้วยการนำเอาเปลือกหอยทะเลที่เป็นของหายากมาร้อยเป็นสร้อยคล้ายกับลูกปัด แล้วนำไปเป็นของกำนัลระหว่างกลุ่มผู้ซื้อขาย

 

สร้อยเปลือกหอยนี้จึงเรียกได้ว่าเป็นสินค้าทางเกียรติภูมิ (prestige goods) เป็นเรื่องที่นำมาเปรียบเทียบกับการแลกเปลี่ยนสินค้าของสังคมที่เป็นบ้านเป็นเมืองซึ่งมีผู้นำเป็นหัวหน้าเผ่าพันธุ์ เป็นพ่อเมืองและกษัตริย์ เช่นการค้าระหว่างรัฐในเมืองไทยครั้งกรุงศรีอยุธยากับจีนในสมัยราชวงศ์หมิง ซึ่งเรียกกันว่าระบบจิ้มก้องหรือบรรณาการ ความสำคัญของระบบนี้มี 2 ขั้นตอน คือ พ่อค้าหรือผู้ที่จะมาทำการค้านำของมากำนัลแก่บุคคลที่เป็นผู้นำของบ้านเมือง นับเป็นขั้นตอนของการนำมาให้ (distribution) หลังจากนั้นผู้ที่รับของขวัญซึ่งเป็นผู้นำของบ้านเมืองจะทำการแจกจ่ายเป็นของกำนัลให้บรรดาบุคคลที่อยู่ในแวดวง ( entourage) ใต้อำนาจของตน ดังเช่นกษัตริย์ปูนบำเหน็จให้กับขุนนางข้าราชการที่อยู่ในฐานะและตำแหน่งลดหลั่นลงไป ลักษณะการแจกจ่ายหรือส่งต่อของผู้นำดังกล่าวเรียกว่า redistribution เพื่อต้องการความจงรักภักดีเป็นการตอบแทน

 

 

ตุ้มหูทองคำสมัยราชวงศ์สุงคะของราชามหากษัตริย์ในอินเดีย (ที่มา : สุธีรัตนามูลนิธิ)

 

ารยธรรมอินเดียกับรัฐแรกเริ่มในสุวรรณภูมิ

ในการศึกษาหลักฐานทางโบราณคดีตามแนวคิดของนักมานุษยวิทยานั้น ข้าพเจ้าเห็นว่าโบราณวัตถุที่เป็นเครื่องประดับซึ่งทำจากของหายาก เช่น แก้วหินสีทอง เงิน และโลหะผสม ที่มีรูปแบบและลวดลายเป็นสัญลักษณ์นั้น คือสินค้ามีค่าที่เป็นของกำนัลตามกระบวนการที่กล่าวมาแล้ว ดังเช่นลูกปัดที่พบตามแหล่งโบราณคดีในท้องถิ่นต่างๆ ซึ่งแรกทีเดียวข้าพเจ้าคิดว่าเป็นเพียงเครื่องประดับเพื่อความสวยงาม พบตามผิวดินตั้งแต่สมัยทวารวดีลงมา ของพวกนี้อาจบอกได้ถึงที่มา อายุ และประโยชน์ใช้สอยซึ่งเป็นทั้งเครื่องประดับและเครื่องเซ่นศพ เป็นสิ่งแลกเปลี่ยนแทนเงินตราในสังคมเผ่าพันธุ์แบบดั้งเดิม แต่ในระยะหลังที่มีการขุดแหล่งโบราณคดีเพื่อหาลูกปัดจากแหล่งฝังศพและหลุมศพที่มีอายุสมัยก่อนประวัติศาสตร์ขึ้นไป พบบรรดาลูกปัดและเครื่องประดับที่ล้วนเป็นของเซ่นศพที่มีรูปแบบ ขนาด ลวดลาย สัญลักษณ์ และการแต่งสีบนผิวหินมีค่าและแก้ว รวมทั้งพบดวงตราที่มีอักษรจารึกและเครื่องประดับที่เป็นทองคำ เช่นที่เมืองอู่ทองและบ้านดอนตาเพชร ข้าพเจ้าได้ความรู้เพิ่มขึ้นว่า บรรดาโบราณวัตถุจำนวนมากจากหลุมศพเหล่านี้มาจากต่างประเทศ ตั้งแต่สมัยฟูนันขึ้นไปจนถึงสมัยสุวรรณภูมิ โดยเฉพาะการขุดค้นแหล่งฝังศพที่บ้านดอนตาเพชรนั้น พบลูกปัดและเครื่องประดับทำด้วยหินและแก้วที่มาจากทั้งทางตะวันออกในเวียดนามโบราณ กับมาจากทางตะวันตกของอินเดีย มีอายุแต่พุทธศตวรรษที่ 3 ในส่วนของข้าพเจ้าให้ความสำคัญกับขันสำริดที่บรรจุลูกปัดและเครื่องประดับ รวมทั้งมวลสารอื่นที่ยังไม่ทราบผลว่าเป็นชิ้นส่วนของอัฐิหรืออังคารของผู้ตาย แต่รอบขันมีลวดลายสลักเป็นรูปสัตว์และคนสวมเครื่องแต่งกาย ทรงผม และสรีระแบบชาวอินเดีย ขันสำริดดังกล่าวคือภาชนะบรรจุสิ่งของที่เป็นสมบัติของคนตาย สะท้อนให้เห็นว่าเป็นประเพณีฝังศพครั้งที่ 2 ที่น่าจะสัมพันธ์กับการเผาศพที่เป็นประเพณีของผู้นับถือพุทธศาสนาหรือศาสนาฮินดูแล้ว และบริเวณที่พบคงเป็นเนินดินเพื่อประกอบพิธีกรรมการทำศพของชนชั้นนำ เพราะพบขันบรรจุสิ่งของคนตายหลายหลุมในบริเวณเดียวกัน ต่างไปจากบริเวณรอบนอกเนินดินที่พบหลุมศพที่ฝังทั้งโครง ซึ่งน่าจะเป็นคนธรรมดาทั่วไป

 

จากตำแหน่งของแหล่งฝังศพที่บ้านดอนตาเพชรตามที่กล่าวมา เมื่อนำมาเชื่อมโยงกับแหล่งโบราณคดีอื่นๆ ที่พบลูกปัดและเครื่องประดับแบบเดียวกัน อันนับเนื่องในภูมิวัฒนธรรมเดียวกับบริเวณเมืองอู่ทองแล้ว ข้าพเจ้าเข้าใจว่าแหล่งโบราณคดีที่บ้านดอนตาเพชร คือชุมชนเมืองในระยะรัฐแรกเริ่ม (early state) ที่มีอายุแต่ 500  ปีก่อนคริสตกาลลงมา เป็นเมืองที่ได้รับอารยธรรมอินเดีย และเป็นศูนย์กลางของชุมชนในท้องถิ่นต้นลำน้ำจรเข้สามพัน ความเป็นเมืองในยุคนี้เป็นเพียงชุมชนบ้านขนาดใหญ่ (village writ large) ที่มีความซับซ้อนทางโครงสร้างสังคมและวัฒนธรรมมากกว่าชุมชนบ้านธรรมดา ต่อมาในสมัยฟูนันคือราวพุทธศตวรรษที่ 7 -8  ลงมา จึงเกิดเมืองอู่ทองเป็นเมืองท่าภายในขึ้นที่ปลายลุ่มน้ำจรเข้สามพัน และเป็นนครรัฐที่นับถือพุทธศาสนา มีการปกครองแบบราชามหากษัตริย์ เป็นเมืองที่มีศาสนสถานทั้งของศาสนาฮินดูและพุทธศาสนาอยู่ด้วยกัน แสดงว่าตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 7 -8  ลงมาที่ข้าพเจ้าเรียกว่า สมัยฟูนัน นั้น เป็นยุคที่ความเป็นบ้านเมืองนอกจากจะมีการสร้างเมืองให้มีคูน้ำและกำแพงล้อมรอบแล้ว ยังมีการจัดการผังบริเวณทั้งภายในและภายนอกของเมือง กำหนดพื้นที่อยู่อาศัยของผู้คนในเมืองให้เป็นหมู่เหล่า มีการจัดการน้ำทั้งน้ำกินน้ำใช้ และน้ำที่ใช้ในการเกษตรกรรมอย่างมีระเบียบ สร้างพื้นที่ความเป็นเมือง (urban area) อย่างเด่นชัด ชุมชนภายในเมืองและรอบเมืองล้วนอยู่เป็นหมู่เหล่าที่มีศาสนสถานเป็นศูนย์กลางและสัญลักษณ์ทางจักรวาล โดยชุมชนที่นับถือศาสนาฮินดูมีเทวาลัยเป็นศูนย์กลางอยู่ทางตะวันตกของเมือง มีลำน้ำลำห้วยไหลลงจากเขาพุหางนาคผ่านมาลงลำน้ำจรเข้สามพัน เป็นบริเวณที่นอกจากมีเทวาลัยแล้ว ยังมีการสร้างอ่างเก็บน้ำแบบบารายซึ่งท้องถิ่นปัจจุบันเข้าใจว่าเป็นคอกช้าง ศาสนสถานและศาสนวัตถุมีลักษณะเช่นเดียวกันกับที่พบในรัฐตามพรลิงค์ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช และแหล่งโบราณคดีของฟูนันที่ลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างในเขตประเทศเวียดนาม ส่วนแหล่งชุมชนที่อยู่อาศัยของคนที่นับถือพุทธศาสนาอยู่ทั้งภายในเมืองและรอบเมือง โดยมีพัฒนาการจากแหล่งชุมชนเดิมที่มีมาแต่สมัยสุวรรณภูมิขึ้นเป็นชุมชนในพุทธศาสนาที่มีพระสถูปเจดีย์เป็นศูนย์กลาง ชุมชนเหล่านี้อยู่ต่อเนื่องมาจนถึงสมัยทวารวดีแต่พุทธศตวรรษที่ 12 ลงมาจนถึงพุทธศตวรรษที่ 18   เมืองอู่ทองทั้งในเขตเมืองและนอกเมืองที่เป็นชุมชนมาแต่สมัยสุวรรณภูมิ หรือสมัยก่อนประวัติศาสตร์นั้น พบลูกปัดหินสีและแก้วสี รวมทั้งเครื่องประดับ ดวงตราสัญลักษณ์ ที่มีจารึกอักษรอินเดียโบราณ มีทั้งที่นำเข้ามาจากภายนอกและเป็นแหล่งผลิตเพื่อส่งต่อไปยังที่อื่น หนึ่งในบรรดาลูกปัดหินสีที่เป็นสัญลักษณ์ตรีรัตนะหรือนันทิยาวัตตะ อันเป็นสัญลักษณ์ทางพุทธศาสนาแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราชลงมา พบในเขตเมืองอู่ทองนี้

 

วงแหวนศิลาสมัยราชวงศ์สุงคะ พบที่เขาสามแก้ว 

ลวดลายบุคคลและสัตว์คล้ายกับหินอินเดีย (ที่มา : สุธีรัตนามูลนิธิ)

 

ลูกปัดตรีรัตนะที่เมืองอู่ทองอยู่ในการครอบครองของนายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช ซึ่งได้มาจากชาวบ้านในเขตเมืองอู่ทอง เป็นของที่ไม่ใคร่พบในบรรดาเมืองโบราณในภาคกลางและภาคอื่นๆ ในฝั่งทะเลอ่าวไทย ยกเว้นบริเวณคาบสมุทร ตั้งแต่จังหวัดชุมพร ระนอง ลงไปถึงสุราษฎร์ธานีและพังงา อันเป็นบริเวณที่มีเส้นทางข้ามคาบสมุทรสมัยสุวรรณภูมิ ตามที่ข้าพเจ้าเคยเขียนบทความเสนอไว้ในวารสารเมืองโบราณปีที่ 44 ฉบับที่ 4 ลูกปัดตรีรัตนะที่พบทางฝั่งอ่าวไทย ที่สำคัญก็คือแหล่งโบราณคดีเขาสามแก้วในจังหวัดชุมพร ซึ่งมีการขุดค้นทางโบราณคดี พิสูจน์ได้ว่าเป็นเมืองท่าขนส่งสินค้าข้ามคาบสมุทรมายังชุมชนท่าจอดเรือ (entrepot) ในเขตจังหวัดระนอง ที่มีการขุดค้นทางโบราณคดีแล้ว เช่นที่ภูเขาทองและบางกล้วยในเขตจังหวัดระนอง แต่แหล่งสำคัญที่ข้าพเจ้าไปพบเห็นมา คือบริเวณคลองหนูและขะเมายี้บนเกาะสองในเขตพม่าที่นายแพทย์บัญชาค้นพบ ข้าพเจ้าได้มีโอกาสร่วมสำรวจและเขียนบทความเรื่องความก้าวหน้าเรื่องสุวรรณภูมิ เสนอไว้ในวารสารเมืองโบราณ ปีที่ 44 ฉบับที่ 2 คลองหนูริมอ่าวใหญ่คือบริเวณท่าเรือจอด แต่ขะเมายี้ที่ห่างขึ้นไปทางตะวันออกเฉียงเหนือราว 8  กิโลเมตร คือตำแหน่งเมืองท่า (Emporium) เช่นเดียวกับเขาสามแก้ว เป็นแหล่งเมืองท่าแลกเปลี่ยนสินค้า ขณะเดียวกันก็เป็นแหล่งผลิตสินค้า เครื่องใช้ เครื่องประดับ ลูกปัด แก้วแหวนเงินทองที่นำรูปแบบมาจากอินเดีย กรีก โรมัน เปอร์เซีย และอาหรับ ส่งต่อออกไปในรูปสินค้ามีค่า (prestige goods) ดังเช่นลูกปัดตรีรัตนะและลูกปัดอื่นๆ ซึ่งมีทั้งทำด้วยหินสี แก้ว ทองคำ ที่มีจารึกหรือลวดลายสัญลักษณ์ที่มาจากอินเดียแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 3 ลงมา เช่นสมัยโมริยะและสุงคะ เป็นต้น การพบทั้งแหล่งท่าจอดเรือและเมืองท่าดังกล่าว ทำให้ข้าพเจ้าเข้าใจเรื่องราวในเอกสารโบราณที่ว่าบรรดาพ่อค้าซึ่งข้ามทะเลมายังสุวรรณภูมินั้น ไม่ได้แล่นเรือมาแลกเปลี่ยนสินค้าแล้วกลับ หากมีคนบางกลุ่มเข้ามาด้วย อาจมาอยู่ชั่วคราวเพื่อรอเวลากลับตามฤดูมรสุม หรือตั้งถิ่นฐานอยู่อย่างถาวร เช่นพวกที่มีฝีมือในการช่างเพื่อผลิตสินค้ามีค่า ดังหลักฐานทางเอกสารกล่าวถึงการตั้งกิลด์ (guild)  ซึ่งมีลักษณะเป็นชุมชนของช่างฝีมือ งานฝีมือเหล่านี้มีลักษณะเป็นงานอุตสาหกรรมที่อาจอยู่รวมกันในบริเวณเมืองท่า เช่น เขาสามแก้วและขะเมายี้ และกระจายอยู่ตามถิ่นอื่นๆ ในลักษณะที่เป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือน (cottage industries) ที่สะท้อนให้เห็นจากแหล่งลูกปัดที่นายแพทย์บัญชาไปพบเห็นมา

 

การเผยแผ่พุทธศาสนากับคติจักรวาทิน

ณ เมืองขะเมายี้ ข้าพเจ้าได้เข้าไปสำรวจและศึกษาร่วมกับนายแพทย์บัญชา นอกจากจะได้พบเห็นบรรดาลูกปัดมีค่าที่มีรูปแบบและลวดลายทางศิลปวัฒนธรรมมากมาย อันเป็นของเคลื่อนย้ายได้แล้ว  ยังพบโบราณวัตถุที่เป็นชิ้นส่วนของสิ่งที่เป็นโครงสร้างซึ่งอยู่ติดที่ มีลวดลายแกะสลักและจารึกเช่นเดียวกันกับลูกปัด ในบรรดาสิ่งที่พบเห็นเหล่านี้ ข้าพเจ้าไม่พบพระพุทธรูปและพระพิมพ์ ทำให้ขณะนี้ข้าพเจ้าตีความได้ว่า แหล่งโบราณคดีขะเมายี้อยู่ในยุคสมัยก่อนการมีพระพุทธรูปซึ่งเกิดในพุทธศตวรรษที่ 6 -7  ลงมา แต่เหนืออื่นใดในบรรดาโบราณวัตถุทางสัญลักษณ์ที่นายแพทย์บัญชาพบและรวบรวมไว้ ก็คือชิ้นส่วนของผอบที่บรรจุพระธาตุกับตุ้มหูทองคำ มีลวดลายรูปช้างและสตรี อันเป็นสัญลักษณ์ช้างแก้วและนางแก้ว ซึ่งเป็นแก้ว 7  ประการของจักรวาทินหรือพระจักรพรรดิราช ชิ้นส่วนของผอบที่พบที่ขะเมายี้ เมื่อนำไปประกอบเพื่อหารูปเต็มพบว่าเป็นแบบเดียวกันกับของที่พบที่เมืองกบิลพัสดุ์และเมืองตักศิลา แต่สมัยพระเจ้าอโศกลงมา ในขณะที่ตุ้มหูทองคำ ผู้เชี่ยวชาญโบราณคดีของอินเดียบอกว่าเป็นแบบเดียวกันกับตุ้มหูของภาพสลักจักรวาทินที่เมืองอมราวดีในพุทธศตวรรษที่ 5

 

ทั้งชิ้นส่วนผอบบรรจุพระธาตุและตุ้มหูทองคำที่พบที่ขะเมายี้ คือสิ่งที่ทำให้ข้าพเจ้าถึงบางอ้อในเรื่องราวการเข้ามาของพระพุทธศาสนาและการปกครองแบบราชามหากษัตริย์ในดินแดนสุวรรณภูมิ  ว่าเป็นเรื่องที่เข้ามาจากการค้าทางทะเลข้ามมหาสมุทรอินเดีย จากฝั่งตะวันออกของอินเดียมายังฝั่งทะเลอันดามันของคาบสมุทรสยาม หรืออีกนัยหนึ่งคาบสมุทรไทย การเข้ามาดังกล่าวน่าจะเกิดขึ้นภายหลังการส่งพระสมณทูตโสณะและอุตตระเข้ามาเผยแผ่พระพุทธศาสนาในรัชกาลพระเจ้าอโศก สอดคล้องกันกับบรรดาโบราณวัตถุ เช่น ตรีรัตนะ ตุ้มหูทองคำ และขันสำริด ที่มีลวดลายสัญลักษณ์รูปคนและสตรี ซึ่งพบที่บ้านดอนตาเพชรและเขาสามแก้ว มีอายุราวสมัยราชวงศ์โมริยะ-สุงคะลงมา ที่คลองหนูอันเป็นท่าจอดเรือและที่ขะเมายี้ พบพระสถูปจำลองเล็กๆ คล้ายกันกับบรรดาสถูปดินเผาที่พบร่วมกับพระพิมพ์ในสมัยศรีวิชัยราวพุทธศตวรรษที่ 13 ลงมา แต่มีขนาดใหญ่กว่า คงเป็นวัตถุเคารพที่มากับชาวเรือและผู้คนในชุมชนสมัยก่อนที่มีการสร้างพระพุทธรูป ส่วนตรีรัตนะนั้นเป็นสัญลักษณ์ของการหมุนธรรมจักร อันหมายถึงมรรคมีองค์ 8  ในอริยสัจ 4 เป็นสัญลักษณ์และวัตถุมงคลที่มีมาจนราวพุทธศตวรรษที่ 5-6  จึงค่อยๆ หมดไป และไม่ค่อยแพร่หลายออกไปจากบริเวณคาบสมุทรในสมัยต่อมา ดังเห็นได้จากทางดินแดนภายใน เช่นที่เมืองอู่ทองและลพบุรี แต่ทั้งตรีรัตนะและวัตถุสัญลักษณ์ต่างๆ ไม่เท่ากับความนิยมนำพระธาตุเข้ามากับเรือค้าขาย ได้ถูกส่งต่อและผลิตในชุมชนท้องถิ่นต่างๆ ที่ห่างออกไปจากบริเวณคาบสมุทร ในลักษณะที่เป็นลัทธิบูชาที่มีการประกอบพิธีกรรมและสอนศาสนา  ทำให้เกิดการสร้างพระสถูปขึ้นเป็นศูนย์กลางทางจักรวาลของชุมชนบ้านเมืองและรัฐในเวลาต่อมา เกิดวัดวาอารามขึ้นมาในพื้นที่สาธารณะของชุมชน เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่มีพระสถูปบรรจุพระธาตุเป็นศูนย์กลางในการประกอบพิธีกรรม และเป็นสำนักที่อยู่ของบรรดาสมณชีพราหมณ์ที่เผยแผ่ความรู้ทางพุทธศาสนาและการประกอบพิธีกรรมในเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ และบรรดาผู้นำของบ้านเมือง รวมทั้งเข้ามาเป็นพราหมณ์ปุโรหิตให้แก่บรรดาผู้นำที่ตั้งตัวเป็นราชามหากษัตริย์ตามแบบอย่างของคนอินเดีย

 

ชิ้นส่วนผอบพระธาตุแบบต่างๆ ที่ทำด้วยหิน พบที่ตอนล่างสุดของเมียนมา บริเวณคอคอดกระ (ที่มา : สุธีรัตนามูลนิธิ)

 

จึงพอสรุปได้ว่า ในสมัยสุวรรณภูมิราวพุทธศตวรรษที่ 1-2 ก่อนสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชนั้น การเดินทางข้ามมหาสมุทรอินเดียมายังสุวรรณภูมิมีมาก่อนแล้ว และเป็นการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้ากับผู้คนในดินแดนที่มีพัฒนาการเป็นบ้านเมืองและรัฐแล้ว การเดินทางเข้ามาค้าขายสินค้าจึงไม่เป็นไปในลักษณะไปแล้วกลับ หากต้องสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างกัน พร้อมกันกับการเข้ามาตั้งหลักแหล่งเป็นชุมชนสถานีการค้า เพราะการเดินทางไปกลับนั้นกินเวลาตามฤดูมรสุมอย่างน้อยเกือบขวบปี ทำให้คนอินเดียบางกลุ่มที่มากับเรือสินค้าตั้งหลักแหล่งบ้านเรือนและแต่งงานกินดองกับคนพื้นเมือง โดยเฉพาะบรรดาผู้ที่เป็นช่างฝีมือต่างๆ ที่เข้ามาผลิตสินค้ามีค่าได้นำเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาด้วย เกิดแหล่งอุตสาหกรรมขึ้นในชุมชนของพวกพ่อค้า แล้วเผยแพร่ความรู้ออกไปให้กับคนท้องถิ่น แต่สิ่งที่มากับพวกพ่อค้าอีกอย่างหนึ่งในการตั้งหลักแหล่งก็คือความเชื่อทางศาสนาและอำนาจเหนือธรรมชาติ โดยเฉพาะความเชื่อทางพุทธศาสนาซึ่งถือเป็นศาสนาสำคัญของบรรดาพ่อค้าวานิช ไม่แปลกอันใดที่การเดินทางเข้ามาค้าขายจะมีผู้คนที่เป็นสมณชีพราหมณ์ร่วมมาด้วย และคนเหล่านี้คือผู้เผยแผ่ศาสนาและการปกครองแบบราชามหากษัตริย์ให้ชนชั้นนำและประชาชนในท้องถิ่น

 

การเข้ามาเผยแผ่พุทธศาสนาของพระสมณทูตอย่างเป็นทางการสมัยพระเจ้าอโศกในพุทธศตวรรษที่ 3 นั้น น่าจะติดตามมาด้วยการบูชาพระธาตุที่มีผลไปถึงการค้าพระธาตุ และการสร้างพระสถูปบรรจุพระธาตุให้เป็นศูนย์กลางจักรวาลของชุมชนบ้านและเมือง นอกเหนือไปจากการเผยแผ่พุทธศาสนาก็คือการรับแนวคิดในเรื่องการปกครองแบบราชามหากษัตริย์ เพราะชาวพุทธถือว่าพระมหากษัตริย์คือองค์อัครศาสนูปถัมภกเช่นเดียวกันกับพระเจ้าอโศกมหาราช จึงเกิดคติในเรื่องจักรวาทินหรือพระจักรพรรดิราชขึ้นมา และสัญลักษณ์ที่สำคัญของจักรวาทินก็คือธรรมจักร ที่เป็นเสมือนจักรแก้ว อันเป็นหนึ่งในแก้ว 7  ประการของพระจักรพรรดิ ในปลายสมัยสุวรรณภูมิ คือราวพุทธศตวรรษที่ 5-6  ได้เกิดรูปแบบศิลปกรรมอันเป็นสัญลักษณ์ของจักรวาทินขึ้นในลักษณะที่พระเจ้าอโศกทรงผลักเคลื่อนพระธรรมจักร และภาพสลักนูนต่ำของจักรวาทินในศิลปะแบบอมราวดีที่มหาสถูปจักกะยะเปตะ (jaggayyapeta) และเนื้อแท้ของพระธรรมจักรก็คืออริยสัจ 4 และมรรค 8  ที่สัมพันธ์กับกงล้อธรรมจักรของพระพุทธเจ้าในการปฐมเทศนาที่สารนาถ และสัญลักษณ์ที่เรียก นันทิยาวัตตะ บนลูกปัดและเครื่องประดับที่คนทั่วไปเรียก ตรีรัตนะ

 

ชิ้นส่วนภาชนะศิลาจำหลักรูปผู้หญิงใส่เครื่องประดับแบบชนชั้นสูงที่ได้จากคลองหนู ฝั่งขวาของปากคลองกระ (ที่มา : สุธีรัตนามูลนิธิ)

 

อย่างไรก็ตาม การรับอารยธรรมจากอินเดียในเรื่องการนับถือพระพุทธศาสนาและการปกครองแบบราชามหากษัตริย์มายังบ้านเมืองและรัฐแรกเริ่มในดินแดนสุวรรณภูมิดังกล่าว ยังแลไม่เห็นร่องรอยของบ้านเมืองที่มีผังเมือง คูน้ำ กำแพงล้อมรอบ มีโครงสร้างทางสถาปัตยกรรม ศิลปวัฒนธรรม มีวัดและเวียงเรียงรายทั้งบริเวณที่อยู่อาศัยของคนเมืองได้ชัดเจน จนกระทั่งสมัยฟูนันราวพุทธศตวรรษที่ 8 -9 ลงมาจึงค่อยปรากฏ ดังเช่นเมืองอู่ทองที่กลายเป็นเมืองท่าภายในของเส้นทางข้ามคาบสมุทรที่มีมาแต่สมัยสุวรรณภูมิ นอกจากการมีหลักฐานทางโบราณคดีตามที่กล่าวมา ยังมีหลักฐานทางเอกสารของจีนที่บันทึกโดยพระภิกษุจีนที่เดินทางผ่านไปอินเดีย เช่น บันทึกในสมัยราชวงศ์เหลียง กล่าวถึงรัฐหรืออาณาจักรฟูนัน พันพัน เซี้ยะโท้ว กิมหลิน ที่บรรยายถึงบ้านเมืองในสมัยนั้นว่ามีวัด วัง กษัตริย์ ขุนนาง ข้าราชการ พราหมณ์ปุโรหิต และพระสงฆ์ ดังเช่นบ้านเมืองทางอินเดีย