รถม้าลำปาง
ข้างหลังภาพ

รถม้าลำปาง

 

รถม้าลือลั่น” คือความตอนหนึ่งในคำขวัญประจำจังหวัดลำปาง บ่งบอกถึงกิจการรถม้าที่เป็นดั่งสัญลักษณ์ของเมือง ซึ่งยังคงให้บริการภายในตัวเมืองลำปางสืบต่อมาถึงปัจจุบัน จากพาหนะของเจ้าขุนมูลนายสู่ขนส่งสาธารณะของคนทั่วไป ก่อนจะกลายเป็นหน้าตาหนึ่งของลำปางในการต้อนรับนักท่องเที่ยว 

 

ความเป็นมาของ “รถม้า” ในประเทศไทย สรศัลย์ แพ่งสภา เจ้าของนามปากกา ฒ. ผู้เฒ่า ได้เรียบเรียงไว้ว่า การใช้รถม้าเริ่มได้รับความนิยมภายหลังจากตัดถนนเจริญกรุงในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยมีทั้งรถรางเทียมม้าและรถม้าโดยสาร แต่รถม้าโดยสารเป็นที่นิยมมากกว่ารถรางเทียมม้าที่ช้ากว่า ทั้งยังต้องหยุดเป็นระยะๆ เพื่อเปลี่ยนม้าอีกด้วย รถม้าโดยสารนั้นมี 2 ประเภทคือ รถกูบและรถเก๋ง มีทั้งเทียมม้าตัวเดียวหรือเทียมคู่   

รถกูบเป็นรถสี่ล้อ โดยสารได้ 4 คน ประทุนพับลงได้ เบาะนั่งนุ่ม เทียมม้าเดี่ยว ส่วนรถเก๋งบรรทุกผู้โดยสารได้ 4 คน หลังคาแข็งติดตั้งตายตัว เบาะนั่งเป็นไม้หรือเป็นเบาะยัดกาบมะพร้าว เทียมม้าเดี่ยว เจ้าของรถมีทั้งไทยและคนจีน… นอกจากนี้ก็มีรถม้าสองล้อแบบเทียมเดี่ยว มีทั้งแบบมีประทุนและไม่มีประทุน ผู้โดยสาร 2 คน ขับเองได้ เรียกว่า ด๊อกคาร์ท

 

รถม้าจอดรอให้บริการอยู่ที่ถนนหน้าวัดบุญวาทย์วิหาร ด้านข้างอาคารศาลากลางจังหวัดลำปาง (ปัจจุบันคือที่ตั้งมิวเซียมลำปาง) 

ภาพถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2518 (ที่มา : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์) 

 

รถม้าจอดรอให้บริการอยู่ที่ถนนหน้าวัดบุญวาทย์วิหาร ด้านหลังเห็นป้ายชื่อโรงเรียนวิสุทธิ์วิทยากร (วัดบุญวาทย์วิหาร) 

ภาพถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2518 (ที่มา : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์) 

 

จนกระทั่งเมื่อมีรถยนต์มากขึ้น รถม้าเหล่านี้เริ่มเสื่อมความนิยมในกรุงเทพฯ และถูกส่งต่อไปยังหัวเมืองต่างๆ เพื่อใช้เป็นพาหนะของเจ้านายหรือข้าราชการผู้มีฐานะ ที่ลำปางมีเรื่องเล่าว่าแรกเริ่มเดิมทีรถม้ามีใช้ในหมู่เจ้านาย ฝรั่งทำไม้ และผู้มีฐานะ บ้างเล่าขานว่ารถม้าคันแรกที่ซื้อมาจากกรุงเทพฯ เป็นของเจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิตย์ ผู้ครองนครลำปาง ต่อมาเมื่อรถไฟมาถึงนครลำปางในปี พ.ศ. 2459  รถม้าที่เดิมใช้เป็นพาหนะสัญจรในระยะทางใกล้ๆ ในตัวเมืองอยู่ก่อน ก็ขยับขยายเพิ่มจำนวนมากขึ้น กลายเป็นรถโดยสารรับจ้างขนส่งผู้คนและสินค้าระหว่างตัวเมืองกับสถานีรถไฟที่ย่านสบตุ๋ย ด้วยสามารถบรรทุกสิ่งของได้มาก อีกทั้งสะดวกรวดเร็วกว่าเกวียน ทำให้รถม้าเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย คุณลุงนิเทศ เจ้าของร้านเอี้ยงง้วนจำหน่ายสินค้าเบ็ดเตล็ดในตัวเมืองลำปาง เล่าถึงการนั่งรถม้าไปซื้อสินค้าที่ร้านค้าส่งย่านสบตุ๋ยในอดีตว่า

สถานีรถไฟที่สบตุ๋ยเป็นย่านธุรกิจ คือเป็นร้านขายส่ง ถ้าในนี้ (ในตัวเมืองใกล้กับตลาดเทศบาลฯ) เป็นร้านขายปลีก ถ้าเราจะเอาสินค้ามาขายต้องไปสั่งซื้อที่สบตุ๋ย สมัยก่อนการบรรทุกของจากสบตุ๋ยเข้ามามีแค่รถม้ากับล้อเกวียนที่ใช้วัวลากเท่านั้น ยังไม่มีรถเลย” 

 

รถม้าจอดรอให้บริการอยู่ใกล้กับศาลากลางจังหวัดลำปางหลังเก่า ปัจจุบันคือที่ตั้งมิวเซียมลำปาง 

ภาพถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2518 (ที่มา : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์) 

 

สารถีรถม้า รุ่นแรกๆ เป็นแขกปาทาน แต่ต่อมาเป็นคนพื้นเมืองโดยส่วนใหญ่ 

ภาพถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2518 (ที่มา : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์) 

 

ในหนังสือ “คนลำปาง ชาติพันธุ์ในชั้นประวัติศาสตร์” โดย ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ กล่าวว่าสารถีรถม้าสมัยเริ่มแรกของลำปางเป็นพวกแขกปาทานที่อพยพเข้ามาในสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ชาวมุสลิมกลุ่มนี้ตั้งชุมชนอยู่ที่บ้านดอนปาน ซึ่งอยู่ระหว่างตัวเมืองเก่ากับย่านใกล้สถานีรถไฟ ต่อมาอาชีพขับรถม้าได้กลายเป็นงานของคนพื้นเมืองไปในที่สุด กระทั่งใน พ.ศ. 2492 จึงมีการก่อตั้งสมาคมล้อเลื่อนจังหวัดลำปางขึ้น และเปลี่ยนชื่อเป็นสมาคมรถม้าจังหวัดลำปา ในเวลาต่อมา โดยมีเจ้าบุญส่ง ณ ลำปาง เป็นนายกสมาคม  ในความทรงจำของคนลำปางหลายต่อหลายคน การนั่งรถม้าถือเป็นเรื่องสนุกสนานโดยเฉพาะในหมู่เด็กๆ ดังเช่นคำบอกเล่าของคุณเบญจมาศ ปรมาราภรกาศ วัย 60 ปี ผู้เกิดและเติบโตขึ้นในตลาดเก๊าจาว--ตลาดเช้าใกล้สถานีรถไฟนครลำปาง ที่ในอดีตเป็นตลาดสดที่คึกคักมากและเป็นสถานีย่อยของพวกสารถีรถม้าที่มาจอดรอให้บริการอยู่จำนวนมาก

 

เมื่อก่อนพี่ยังทันเห็นตลาดเก๊าจาวคึกคักมาก คำว่า คึกคัก ในที่นี้คือคนจากต่างถิ่นมาค้ามาขายที่นี่เยอะมาก และค้าขายได้ดี ตรงลานที่เป็นที่จอดรถเดี๋ยวนี้ เดิมเป็นลานจอดรถม้าและรถเมล์เขียว ชาวบ้านใช้รถม้าสัญจรกันเป็นปกติ ต่างจากเดี๋ยวนี้ที่ลูกค้าเป็นนักท่องเที่ยว เพราะวิถีเปลี่ยนไป เมื่อก่อนจำได้ว่าเมื่อพ่อค้าแม่ค้าขายของเสร็จแล้ว จะขนกระบุงใส่ข้าวของต่างๆ ใส่รถม้ากลับไป โดยกระบุงมัดอยู่ด้านหลังรถม้า ตอนสมัยเป็นเด็กนักเรียนโรงเรียนผดุงวิทย์ฯ ที่อยู่ใกล้ๆ กับวัดศรีบุญเรือง เวลาเดินทางไปโรงเรียน ด้วยความซนจะแอบขึ้นไปนั่งด้านหลังรถม้า พอลุงคนขับรถม้ารู้เข้า เขาจะไล่ให้ลงไป เราก็เดินหรือรอรถม้าคันต่อไปเพราะมีวิ่งไปมาอยู่ตลอด

 

รถม้ารอรับส่งผู้โดยสารที่ย่านตลาดในตัวเมืองลำปาง 

ภาพถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2521 (ที่มา : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์) 

 

 

ตะเกียงรถม้าแบบดั้งเดิมติดตั้งอยู่ที่ด้านข้างตัวรถม้าเพื่อให้แสงสว่างยามค่ำคืน เป็นตะเกียงแก้วนำเข้าจากต่างประเทศ  ใช้น้ำมันก๊าดเป็นเชื้อเพลิง 

ภาพถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2521 (ที่มา : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์) 

 

ต่อมาเมื่อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เข้ามาแพร่หลาย คนลำปางเริ่มโดยสารรถม้าน้อยลง ขณะเดียวกันเมื่อมีการส่งเสริมการท่องเที่ยว รถม้าได้กลายเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของเมืองที่ถูกนำมาใช้ดึงดูดนักท่องเที่ยว ดังปรากฏในงานเทศกาลทางวัฒนธรรมต่างๆ การนั่งรถม้าจึงกลายเป็นกิจกรรมที่นักท่องเที่ยวผู้มาเยือนต้องหาโอกาสมาสัมผัสประสบการณ์การนั่งรถม้าเที่ยวชมย่านเมืองเก่าสักครั้ง มิเช่นนั้นจะถือว่ายังมาไม่ถึงเมืองลำปาง อย่างไรก็ตาม ในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ. 2563 และทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นในขณะนี้ ส่งผลให้เศรษฐกิจการท่องเที่ยวทั่วประเทศหยุดชะงัก กลุ่มคนขับรถม้าที่ก็ได้รับผลกระทบขาดรายได้เช่นกัน ทั้งยังต้องแบกภาระการเลี้ยงดูม้าซึ่งถือเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมากในปัจจุบัน หวังว่าวิกฤตครั้งนี้จะทุเลาเบาบางลง จนสามารถคืนวิถีชีวิตปกติให้แก่ผู้คน รวมถึงกลุ่มสารถีรถม้า ผู้สร้างสีสันบนท้องถนนในย่านเก่าเมืองลำปางเหล่านี้ด้วย

 

รถม้าในขบวนแห่เพื่อโฆษณา  ภาพถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2518 (ที่มา : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์) 

 

รถม้ารอรับส่งผู้โดยสารที่ย่านตลาดในตัวเมืองลำปาง 

ภาพถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2521 (ที่มา : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์) 

 

แหล่งอ้างอิง

สรศัลย์ แพ่งสภา. ของเก่า เรา (ไม่) ลืม. กรุงเทพฯ : สารคดี, 2554.

ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์. คนลำปาง ชาติพันธุ์ในชั้นประวัติศาสตร์. ลำปาง : สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง, 2559.

ชมรมฮักตั๋วเมือง. รถม้าลำปาง : ล้านนาคำเมือง. ใน มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 14 - 20 กรกฎาคม 2560 เข้าถึงจาก https://www.matichonweekly.com/column/article_45358

 

ข้อมูลสัมภาษณ์

คุณนิเทศ เจ้าของร้านเอี้ยงง้วน อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563  

คุณเบญจมาศ ปรมาราภรกาศ สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563    


อภิญญา นนท์นาท

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ