ขนมมดกับพลพรรคที่ใกล้ชิด
รู้รอบสำรับ

ขนมมดกับพลพรรคที่ใกล้ชิด

 

“ขนมมด” เป็นขนมทอดทำจากแป้งข้าวเหนียว (บดจากข้าวเหนียวขาวหรือข้าวเหนียวดำ) ปัจจุบันบางพื้นที่หันมาใช้แป้งสำเร็จรูปแทน ข้างในมีไส้ทำจากถั่วเขียวหรือมะพร้าว หรือผสมทั้งสองอย่างรวมกัน แล้วนำมาผัดกับน้ำตาลโตนดหรือน้ำตาลทรายให้มีรสชาติหวาน ปั้นเป็นลูกกลมๆ ขนาดราวเหรียญสิบบาท (ขนาดไม่ตายตัวแล้วแต่ความชอบ) โดยทั่วไปจะทอดให้ติดกันเป็นแพประมาณ 5-7 ลูก แต่ผู้เขียนพบว่าที่บ้านท่าเสา ตำบลสทิงหม้อ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ขนมมดของคนแขกผู้นับถือศาสนาอิสลามจะทอดเป็นลูกไม่ติดกันเป็นแพ ขนมชนิดนี้นิยมทำกินทำขายกันทางภาคใต้ของประเทศไทย พบได้ในกลุ่มคนทุกวัฒนธรรมที่มีความแตกต่างทางเชื้อชาติศาสนา ดังนั้นขนมชนิดนี้จึงมีความน่าสนใจในหลากหลายมิติ ซึ่งผู้เขียนจะยกมานำเสนอให้ผู้สนใจได้รับรู้ และลิ้มลองความอร่อยผ่านตัวหนังสือในบทความชิ้นนี้

 

ในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาอันเป็นถิ่นฐานบ้านเกิดของผู้เขียนนั้น พบว่าขนมชนิดนี้เรียกว่า “ขนมมด” แต่เมื่อได้มาทำงานประจำที่จังหวัดนครศรีธรรมราชจึงพบว่ามีชื่อเรียกและรูปลักษณ์ที่หลากหลายมาก แต่มีลักษณะร่วมกันคือมีส่วนผสมและไส้แบบเดียวกัน จากขนมถั่วแปบที่ปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์จึงได้ขนมชื่อใหม่คือเพาะไก่ หรือไข่มด หรือขนมมด

 

คนแขกที่บ้านทุ่งน้ำ ตำบลคลองแห อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา กำลังทอดขนมมด

จะเห็นว่าแป้งมีสองหม้อคือแป้งข้าวเหนียวขาวกับแป้งข้าวเหนียวดำ

ส่วนไส้ทำจากถั่วเขียวปั้นเป็นลูกไว้  ตลาดนี้ขายตอนเช้าวันพุธกับวันอาทิตย์ (ที่มา : สามารถ สาเร็ม)

 

ความหลากหลายของชื่อเรียกและที่มา

ขนมมดเป็นชื่อเรียกที่รู้จักกันโดยทั่วไป จากรูปลักษณ์ของขนมเชื่อว่าท่านผู้อ่านคงสงสัยถึงชื่อเรียกว่ามีความเกี่ยวข้องอย่างไรกับมด สำหรับผู้ที่ใช้ภาษาไทยถิ่นใต้นั้น มีลักษณะการตัดคำให้มีพยางค์สั้นลง ขนมชนิดนี้ก็เช่นเดียวกัน ดั้งเดิมเรียกกันว่า “ขนมไข่มด” เนื่องจากว่าเมื่อทอดขนมจะติดกัน มีลักษณะเหมือนไข่ของมดนั่นเอง ถึงแม้ว่าปัจจุบันในหลายพื้นที่ชื่อเรียกขนมมดจะไม่เป็นที่จดจำกันแล้ว แต่จากการเก็บข้อมูลภาคสนามของผู้เขียนพบว่า บางแห่งยังเรียกด้วยชื่อนี้อยู่ เช่น บ้านควน (เหนือ) หมู่ 7 ตำบลคูเต่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา [1]  บ้านเขาใน ตำบลเชิงแส อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา [2]  และบ้านหัวตรุด ตำบลท่าไร่ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ทั้งนี้อาจารย์แสนประเสริฐ ปานเนียมให้ข้อสังเกตว่า “ขนมมดน่าจะตรงกับขนมชะมดในภาคกลาง ดังนั้นชื่อขนมมดของคนภาคใต้จึงมีความน่าสนใจไม่น้อยว่ากร่อนมาจากคำว่าชะมดด้วยหรือไม่ ซึ่งต้องสืบหาหลักฐานเพิ่มเติม ทั้งนี้คนภาคใต้ไม่ได้เรียกว่าชะมดเหมือนคนทางภาคกลางแต่จะเรียกว่า “มูสัง” (Musang) เป็นคำภาษามลายูกลาง

 

ขนมมดหรือขนมไข่มด ทอดเป็นแพติดกัน ลูกสีขาวทำมาจากแป้งข้าวเหนียวขาว ส่วนลูกสีเข้มทำมาจากแป้งข้าวเหนียวดำ

จากร้านของคนแขกที่บ้านควนเหนือ ตำบลคูเต่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

เจ้านี้จะทอดผสมกันทั้งสองแป้ง (ที่มา : สามารถ สาเร็ม)

 

ขนมหัวล้านทอด

ถ้าเปลี่ยนจากการทอดมาทำให้สุกโดยการนึ่งหรือต้มจะเรียกว่า “ขนมหัวล้าน” มี 2 แบบคือ แบบแห้งมีใบตองรองข้างล่างกับแบบมีน้ำกะทิ (ทำให้สุกโดยการต้ม) ด้วยเหตุนี้ในสังคมคนไทยปักษ์ใต้ หากใครขายขนมมดมักจะถูกแซวกันประมาณว่า “นำขนมหัวล้านที่เหลือเมื่อวานมาทอดขายหรือเปล่า” เป็นเรื่องตลกขบขันที่ไม่ถือสาโกรธเคืองกันแต่อย่างใด  จากการสืบค้นพบว่าคุณไพฑูรย์ ศิริรักษ์ ได้เสนอไว้ว่า “…ขนมมดเป็นขนมที่ทำกินต่อๆ กันมานานแล้ว แต่คงมีหลังจากมีขนมหัวล้านแล้ว เพราะคนชนบทโบราณมักจะนำอาหารที่ใช้นึ่งแล้วมาทอด การทอดต้องใช้น้ำมัน ทำให้กลิ่นและรสชาติดี และขนมเก็บไว้ได้นานกว่า ดังนั้นขนมมดน่าจะมาจากขนมหัวล้าน” [3]

 

ทั้งนี้ที่บ้านควน ตำบลคูเต่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา บ้านเกิดของผู้เขียน มีขนมที่ใช้แป้งและไส้แบบเดียวกับขนมมด แต่ทำให้สุกด้วยการห่อใบตองแล้วนำไปนึ่ง เรียกว่า ขนมค่อม ดังนั้นจะเห็นได้ว่ามีขนมที่ใช้แป้งและไส้แบบเดียวกันนี้ถึง 4 อย่าง แตกต่างกันที่กรรมวิธีที่ทำให้สุก หากนำไปทอดจะเรียกขนมไข่มดหรือขนมมด หากนำไปห่อใบตองแล้วนึ่งจะเรียกว่า ขนมค่อม แต่ถ้านำไปนึ่งโดยไม่ห่อใบตองจะเรียกว่า ขนมหัวล้าน และถ้านำไปต้มในกะทิจะได้ขนมหัวล้านแบบมีน้ำ [4]

 

ขนมถั่วแปบหรือขนมเพาะไก่ใส่ไส้ถั่วเขียว ฝีมือคุณยายนอม บุญคัน บ้านหัวตรุด นครศรีธรรมราช

คุณยายให้ข้อมูลว่าเป็นที่มาของขนมไข่มดหรือขนมมด (ที่มา : สามารถ สาเร็ม)

 

ขนมเพาะไก่

คำว่า “เพาะ” กร่อนมาจากคำว่า “กระเพาะ” ชื่อเรียกขนมนี้มีความน่าสนใจ พบว่าชาวนครศรีธรรมราชบางพื้นที่ เช่น บ้านน้ำแคบ ตำบลอินคีรี อำเภอพระพรหม จะเรียกด้วยชื่อนี้ เพราะมองว่าขนมชนิดนี้มีลักษณะเหมือนกับกระเพาะของไก่นั่นเอง จากการสัมภาษณ์ คุณปิติ ระวังวงษ์ คนไทยพุทธ เป็นนักเขียนและมีแม่ขายขนมหวานที่บ้านน้ำแคบ ตำบลอินคีรี อำเภอพระพรหม ให้ข้อมูลว่า “สำหรับบ้านน้ำแคบจะเรียกว่าขนมเพาะไก่ มีสองรูปลักษณ์คือ ปั้นเป็นลูกกลมๆ ทอดติดกันหรือไม่ติดกันก็ได้ และปั้นเป็นลูกครึ่งวงกลม คล้ายกะหรี่ปั๊บ เชื่อว่าดั้งเดิมนั้นขนมชนิดทำเป็นรูปทรงคล้ายกะหรี่ปั๊บมาก่อนเรียกว่า ถั่วแปบ และภายหลังทำเป็นลูกกลมๆ จึงเรียกว่า เพาะไก่ ปัจจุบันจะนิยมทำเป็นลูกกลมๆ มากกว่า แต่ไม่ว่าจะรูปทรงแบบไหนคนในชุมชนก็นิยมเรียกด้วยทั้งสองชื่อ แล้วแต่ว่าใครจะเรียกชื่อไหน ส่วนชื่อขนมมดหรือไข่มดนั้นที่หมู่บ้านแห่งนี้ไม่รู้จักชื่อนี้” [5] ดังนั้น จะเห็นว่าที่บ้านน้ำแคบ ขนมถั่วแปบมีการพัฒนาโดยเปลี่ยนรูปทรงเป็นลูกกลมๆ แล้วเรียกชื่อใหม่ว่าขนมเพาะไก่

 

คุณยายนอม บุญคัน ที่บ้านหัวตรุด นครศรีธรรมราช ขายขนมทอดหลากหลายชนิดให้ลูกค้าได้เลือกซื้อตามความชอบ

เปิดร้านขายที่ย่านท่าวัง ใกล้กับด้านหลังของวัดวังตะวันตก (ที่มา : สามารถ สาเร็ม)

 

ขนมถั่วแปบ

ผู้เขียนมีโอกาสได้สัมภาษณ์คุณยายนอม บุญคัน ปัจจุบันอายุ 66 ปี อาศัยอยู่ที่บ้านหัวตรุด ตำบลท่าไร่ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งประกอบอาชีพขายขนมทอดหลายอย่าง ได้แก่ ถั่วแปบ หัวมันทอด ข้าวเม่าทอด ถั่วทอด กล้วยทอดและปอเปี๊ยะทอด ร้านของท่านตั้งอยู่ที่ตำบลท่าวัง ซึ่งเป็นย่านเศรษฐกิจของเมืองนครศรีธรรมราช ผู้เขียนก็เป็นหนึ่งในลูกค้าของท่าน ด้วยมีที่พักและที่ทำงานอยู่ใกล้กับร้านของคุณยายนอม จึงมีโอกาสได้อุดหนุนอยู่บ่อยๆ โดยชอบรับประทานขนมถั่วแปบหรือเพาะไก่มากที่สุด เนื่องจากเป็นขนมที่มีรสชาติเหมือนกับขนมมดที่ผู้เขียนรู้จักและรับประทานมาตั้งแต่เด็กๆ ที่สงขลาอันเป็นบ้านเกิดของผู้เขียน ต่างกันเพียงรูปลักษณ์

 

ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของบทสนทนาและได้ข้อมูลเกี่ยวกับขนมถั่วแปบหรือเพาะไก่ของคนนครศรีธรรมราชที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก เพราะเป็นที่มาของขนมมดนั่นเอง คุณยายนอมให้ข้อมูลว่า … ขนมถั่วแปบหรือเพาะไก่ที่ขายนี้เป็นที่มาของขนมไข่มดหรือขนมมด รูปทรงแบบดั้งเดิมเหมือนถั่วแปบคล้ายกะหรี่ปั๊บที่ยายทำขายนี้ ซึ่งจะใช้เวลาทำนานและยากกว่า คนยุคหลังจึงดัดแปลงปั้นเป็นลูกกลมๆ แทน เมื่อทอดลงในกะทะ ขนมติดกันจึงเรียกว่าขนมไข่มดเพราะติดกันเหมือนไข่ของมดนั่นเอง…แต่บางที่ทอดเป็นลูกๆ เรียกเพาะไก่…” [6]

 

ขนมถั่วแปบไส้ถั่วเหลืองของคนมุสลิมมลายูที่บ้านมะม่วงสองต้น ตำบลมะม่วงสองต้น อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช

มีขายอยู่ที่ตลาดนัดข้างศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช (ที่มา : สามารถ สาเร็ม)

 

จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นว่ากรณีบ้านหัวตรุดนั้น ดั้งเดิมทำขนมถั่วแปบเป็นรูปทรงครึ่งวงกลม ซึ่งมีลักษณะเหมือนฝักถั่วแปบที่เป็นพืชตามธรรมชาติ แต่ด้วยความยุ่งยากของการทำรูปทรงถั่วแปบซึ่งต้องใช้เวลานาน จึงเปลี่ยนมาทำเป็นลูกกลมๆ เพราะสะดวกและรวดเร็วกว่า จึงเรียกด้วยชื่อใหม่ว่า ขนมไข่มดหรือขนมมดและขนมเพาะไก่ จึงกล่าวได้ว่าขนมถั่วแปบเป็นที่มาของขนมมดและขนมเพาะไก่นั่นเอง แต่น่าเสียดายที่ปัจจุบันชื่อขนมไข่มดหรือขนมมดไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในพื้นที่นครศรีธรรมราชกันแล้ว ซึ่งแตกต่างจากลุ่มทะเลสาบสงขลาที่ยังคงนิยมเรียกด้วยชื่อขนมมดอย่างกว้างขวางอยู่

 

ถั่วแปบที่เล่ากันว่าเป็นที่มาของชื่อขนมถั่วแปบด้วยมีรูปลักษณะเหมือนกัน

(ที่มา : https://medthai.com/ถั่วแปบ/)

 

ความหลากหลายของไส้และวิธีการทำ

ไส้ขนมมดมีหลากหลาย ที่นิยมทำกัน ได้แก่ ไส้มะพร้าว ทำจากมะพร้าวอ่อนหรือมะพร้าวทึนทึกผัดกับน้ำตาลโตนดหรือน้ำตาลทราย ภาคใต้บางพื้นที่เรียกว่า ไส้กระฉีก หลายพื้นที่ต่างยืนยันว่าเป็นไส้ดั้งเดิมก่อนใช้ใส่ถั่วเขียว ไส้ถั่วเขียว นำมาผัดกับน้ำตาลโตนดหรือน้ำตาลทราย บางพื้นที่จะนำไปต้มหรือนึ่งก่อนนำมาผัด ไส้มะพร้าวผสมถั่วเขียว นำทั้งสองอย่างมาผสมกันแล้วผัดกับน้ำตาลโตนดหรือน้ำตาลทราย ไส้ถั่วเหลือง ทำจากถั่วเหลืองผัดกับน้ำตาลทราย ไส้นี้ผู้เขียนพบว่าในนครศรีธรรมราชหลายเจ้าใช้กัน แต่ในพื้นที่ลุ่มทะเลสาบสงขลาผู้เขียนยังไม่เคยพบการใช้ไส้นี้แต่อย่างใด

 

ส่วนวิธีการทำการห่อไส้นั้น หลังจากเตรียมไส้ตามวิธีการทำข้างต้นแล้ว ส่วนของแป้งบางเจ้ายังใช้การบดแป้งเองโดยใช้ข้าวสารเหนียวขาวหรือข้าวสารเหนียว แต่บางเจ้าหันมาใช้แป้งสำเร็จรูปเพื่อลดขั้นตอนการทำ บางสูตรจะผสมแป้งข้าวเจ้าหรือมะพร้าวทึนทึกด้วย จากนั้นใช้น้ำเปล่าละลายกับแป้งจนสามารถปั้นเป็นลูกได้ โดยหยิบแป้งขึ้นมาปั้นเป็นลูกกลมๆ แล้วบีบให้แบน หยิบไส้ที่ปั้นเป็นลูกไว้แล้วใส่ลงบนแป้ง แล้วพับแป้งปิดไส้ให้มิดชิดและปั้นให้กลมอีกครั้ง มักจะปั้นเตรียมไว้หลายๆ ลูกก่อนแล้วถึงจะนำไปทอดเพราะต้องการให้ติดกันเป็นแพ  บางเจ้าจะใส่ลงไปที่ละลูกซึ่งแป้งจะติดกันเป็นแพเองในกระทะ แต่บางเจ้าจะทำให้ติดกันเป็นแพก่อนแล้วถึงจะเอาลงไปทอดในกระทะ เมื่อขนมสุกก็จะลอยขึ้นมา ช้อนเอาขึ้นและพักไว้ให้สะเด็ดน้ำมันก็พร้อมสำหรับรับประทานหรือจำหน่าย 

 

ขนมเพาะไก่ของคนไทย (นับถือพุทธ) ที่บ้านน้ำแคบ นครศรีธรรมราช ทำจากแป้งข้าวเหนียว

ทำขึ้นเพื่อเลี้ยงแขกที่มาร่วมงานสวดพระอภิธรรมศพคุณแม่สายจิตต์ ระวังวงศ์ มารดาของคุณปิติ ระวังวงศ์ (ที่มา : ปิติ ระวังวงศ์)

 

สรุป

ขนมมดหรือขนมไข่มดมีชื่อเรียกที่หลากหลายแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ เป็นขนมที่มีความใกล้ชิดกับขนมหัวล้านและขนมถั่วแปบหรือเพาะไก่ คือมีส่วนผสมเหมือนกัน แต่เปลี่ยนกรรมวิธีทำให้สุกจากนึ่งเป็นทอด ทำให้ได้ขนมชนิดใหม่ มีรูปลักษณ์และชื่อเรียกใหม่ ทั้งนี้จะเห็นได้ว่า ภายใต้ขนมที่มีรูปลักษณ์แบบเดียวกัน แต่ก็มีชื่อเรียกที่แตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น สะท้อนถึงความคุ้นเคยของผู้คนซึ่งเติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันได้เป็นอย่างดี ดังกรณีขนมถั่วแปบที่มีรูปทรงครึ่งวงกลม บางพื้นที่มองว่าเหมือนถั่วแปบ บางพื้นที่มองว่าเหมือนกระเพาะไก่นั่น หรือขนมมดที่มีลักษณะเป็นลูกกลมๆ บางพื้นที่มองว่าเหมือนไข่มด แต่บางพื้นที่มองว่าเหมือนกระเพาะไก่ เป็นต้น จากข้อมูลที่ยกมานำเสนอนี้ ผู้เขียนสันนิษฐานว่าขนมมดนั้นมีที่มาสองแนวทางด้วยกันคือ 1. มีที่มาจากขนมหัวล้าน และ 2. มีที่มาจากขนมถั่วแปบหรือเพาะไก่ แต่ก็มีความเป็นไปได้เช่นเดียวกันว่าแต่ละพื้นที่อาจคิดค้นขนมชนิดต่างๆ นี้ขึ้นมาเอง

 

ขนมมดของคนแขก (นับถือศาสนาอิสลาม) ที่บ้านท่าเสา ตำบลสทิงหม้อ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา

จะทอดเป็นลูกๆ ไม่ติดกัน ไส้ทำจากถั่วเขียวผสมมะพร้าว ลักษณะของตัวแป้งจะกรอบๆ

คนขายให้ข้อมูลว่ารับสืบทอดต่อมาจากมะ (แม่) ทำแบบนี้มาตั้งแต่ดั้งเดิม (ที่มา : สามารถ สาเร็ม)

 

แม่ค้าขายขนมมดสองคนพี่น้องที่บ้านท่าเสา ตำบลสทิงหม้อ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา กำลังช่วยกันทอดขนมมดโดยแบ่งหน้าที่กัน

คนหนึ่งทำหน้าที่นำไส้ใส่ลงไปในหม้อแป้งแล้วตักลงไปทอด ส่วนอีกคนทำหน้าที่ทอดขนม โดยทอดเป็นลูกๆ ไม่ทำติดกันเป็นแพอย่างที่อื่น  

ทั้งคู่รับสืบทอดการทำขนมมดมาจากมะ (แม่) ซึ่งนับจากรุ่นมะก็ขายมาไม่ต่ำกว่า 30 ปีแล้ว (ที่มา : สามารถ สาเร็ม)

 

จึงพอสรุปได้เบื้องต้นว่าชื่อขนมมดหรือไข่มดเป็นชื่อที่นิยมเรียกกันอย่างกว้างขวางในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลารวมถึงฝั่งทะเลอันดามัน ในขณะที่นครศรีธรรมราชมีชื่อเรียกที่หลากหลายกว่า โดยส่วนใหญ่จะเรียกว่า ถั่วแปบกับเพาะไก่ แต่ก็มีบางพื้นที่เรียกขนมมดหรือไข่มดเช่นเดียวกัน ที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะว่านครศรีธรรมราชเป็นเมืองใหญ่มีพื้นที่กว้างขวาง มีผู้คนหลากหลายวัฒนธรรมที่อาศัยอยู่รวมกัน

 

ขนมมดของคนไทย (นับถือพุทธ) ที่ตลาดนัดวัดคูเต่า

อำเภอบางกล่ำ จังหวัดสงขลา ทอดติดกันเป็นแพ ไส้ใช้ถั่วเขียว (ที่มา : สามารถ สาเร็ม)

 

เชิงอรรถ

[1] ขนมมดของคนแขก (นับถือศาสนาอิสลาม) พี่และบังเจ้าของร้านขายที่บริเวณหน้ามัสยิดบ้านเหนือยังคงเรียกว่า ขนมไข่มด พร้อมให้ข้อมูลว่าคนรุ่นใหม่แทบไม่รู้จักชื่อเดิมกันแล้วเพราะเรียกว่า ขนมมด กัน ทั้งพี่และบังคนขายมีต้นตระกูลดั้งเดิมเป็นคนจากนครศรีธรรมราชเคลื่อนย้ายมาอยู่ที่บ้านควนเหนือมาหลายชั่วคนแล้ว

[2] สัมภาษณ์คุณรุ่งวารี สังข์จินดา คนไทย(นับถือศาสนาพุทธ) บ้านเขาใน หมู่ 2 ตำบลเชิงแส อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565

[3] ไพฑูรย์ ศิริรักษ์, ขนมมดเกิดจากขนมหัวล้าน, บทความออนไลน์: https://bit.ly/3Emr71h

[4] ขนมค่อมที่บ้านควนบ้านของผู้เขียนมี 3 แบบคือ แบบที่ 1 ทำจากแป้งข้าวเหนียวไส้มะพร้าวหรือไส้ถั่วเขียวห่อด้วยใบตอง แบบที่ 2 ใช้แป้งแบบเดียวกับที่ภาคกลางเรียกว่าขนมใส่ไส้ และแบบที่ 3 ขนมค่อมสาคู นำสาคูมาละลายน้ำร้อนให้เหนียวแล้วนำมาใส่ไส้มะพร้าวหรือถั่วเขียวห่อด้วยใบตอง ขนมทั้ง 3 ชนิดนี้ใช้วิธีการนึ่งให้สุก

[5] สัมภาษณ์ คุณปิติ ระวังวงษ์บ้านน้ำแคบ ตำบลอินคีรี อำเภอพระพรหม จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2565

[6] สัมภาษณ์คุณยายนอม บุญคัน คนไทย (นับถือศาสนาพุทธ) บ้านหัวตรุด ตำบลท่าไร่ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช  

 


กองบรรณาธิการ

"วารสารเมืองโบราณ" นิยามไทย เข้าใจถิ่น