“กว้าน” ใช้ทำอะไร? ที่ริมฝั่งโขง

“กว้าน” ใช้ทำอะไร? ที่ริมฝั่งโขง

 

กว้าน ตามความหมายในพจนานุกรม หมายถึง เครื่องหรืออุปกรณ์ที่ใช้ฉุดหรือดึงของหนัก แต่ในหน้าที่ความเป็นจริงแล้ว กว้านยังสามารถใช้ดึงของเบาและหย่อนของหนักได้อีกด้วย ในพื้นที่ชายแดนตลอดริมฝั่งโขงแถบอำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี เป็นเขตที่มีการค้าชายแดนระหว่างประเทศไทยกับสปป.ลาว ซึ่งโดยมากผู้คนจากฝั่งสปป.ลาว จะนำสินค้าของกินพื้นถิ่นมาขายยังฝั่งไทย รวมถึงข้ามมาซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคหลายชนิด ทั้งที่มีขนาดใหญ่เช่นโต๊ะ ตู้ เก้าอี้และขนาดรองลงมา เช่น อาหารแห้งที่บรรจุลงกล่องหรือถุงขนาดใหญ่ เพื่อนำลงเรือข้ามไปขายยังฝั่งสปป.ลาว

 

แต่ด้วยสภาพตลิ่งลำน้ำโขงในช่วงหน้าแล้งที่มีความสูงและลาดชัน การขนสินค้าลงเรือจำนวนมากหรือที่มีขนาดใหญ่ ต้องอาศัยกว้านยนต์พ่วงรถเข็นเพื่อนำลงไปเทียบกับเรือได้อย่างสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้นการใช้งานกว้านที่เคยเข้าใจแต่เดิมว่าทำหน้าที่ในการฉุดลากของหนักนั้น ปรากฏว่าที่นี่จะใช้หย่อนสินค้าหรือข้าวของที่มีน้ำหนักมากลงไปเทียบกับเรือโดยไม่ต้องเปิดเครื่องยนต์ ผู้ควบคุมกว้านเพียงใช้เพียงการกดคันหยุดเบาๆ เพื่อหย่อนสินค้านั้นลงไป แต่ในขาขึ้นซึ่งเป็นการดึงรถเข็นเปล่าขึ้นมา กลับต้องมีการติดเครื่องยนต์เพื่อดึงรถเข็นนั้นให้ขึ้นมาได้


 

 


Tags

ณัฐวิทย์ พิมพ์ทอง

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ