ภายในเมืองโบราณนครไทย ไม่เพียงพบโบราณสถานสมัยสุโขทัยต่อเนื่องมาจนถึงสมัยอยุธยาเท่านั้น ยังปรากฏโบราณวัตถุหลายชิ้นที่แสดงถึงการมีอยู่ของผู้คนก่อนสมัยสุโขทัย เช่น เสมาหินทรายสมัยทวารวดี ที่วัดหน้าพระธาตุ ด้านหนึ่งสลักรูปสถูป ศิลปะทวารวดีตอนปลาย อีกด้านสลักเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิเพชรเหนือฐานบัว อาจารย์ศรีศักร พบว่ารูปสถูปบนเสมาที่นครไทยนี้มีรูปลักษณ์แบบเดียวกับเสมาหินทรายสลักรูปสถูปที่พบ ณ วัดพระแก้ว เมืองเวียงจันทน์ของลาว สอดคล้องกับการเคลื่อนย้ายของผู้คนจากลาวเข้ามาที่นครไทย
เมืองโบราณนครไทย ตั้งอยู่ในเขตที่ราบหุบเขาของ อ.นครไทย ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของ จ.พิษณุโลก ผังเมืองเป็นรูปวงรีที่ยังปรากฏร่องรอยคูน้ำและกำแพงดิน 3 ชั้น ล้อมรอบตัวเมืองให้เห็นอยู่บ้าง โดยมีแม่น้ำแควน้อยไหลผ่านเข้าสู่ตัวเมืองทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือทำให้นครไทยเป็นเมืองอกแตกครอบคลุมสองฝั่งแม่น้ำ
[1]
นครไทย : เมืองโบราณแห่งลุ่มน้ำน่าน / วิยะดา ทองมิตร
นครไทยเป็นชุมชนที่มีพัฒนาการมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ดังพบหลักฐานภาพสลักหินเป็นลายเส้นและรูปกากบาทบนเขาช้างล้วง คล้ายกับภาพสลักหินที่ภูพาน จังหวัดอุดรธานี นอกจากนี้ยังมีโบราณสถานทั้งในเมืองและนอกเมืองอีกหลายแห่ง ได้แก่ วัดกลางศรีพุทธาราม หรือวัดกลาง วัดหน้าพระธาตุ หรือวัดเหนือ วัดนครไทยวราราม หรือวัดหัวร้อง และวัดคลองจิก เป็นต้น
[2]
นครไทย-บางยาง กับปริศนาที่ยังคลุมเครือ / เกสรบัว อุบลสรรค์
นครไทยเป็นเมืองที่ตั้งบนจุดยุทธศาสตร์สำคัญและแวดล้อมไปด้วยบ่อเกลือกับของป่านานาชนิด ดึงดูดผู้คนมาหาอยู่หากินในเขตเขาสูงโดยรอบตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ กระทั่งเข้าสู่รอยต่อประวัติศาสตร์ก็ปรากฏโบราณวัตถุตั้งแต่สมัยทวารวดีเรื่อยมา ปัจจุบันเรื่องราวของเมืองนครไทยที่เรารู้จักดูเหมือนจะถูกกลบทับด้วยประวัติศาสตร์รัฐชาติกระแสหลัก ดังมีความพยายามผูกสร้าง ผลิตซ้ำ ไปจนถึงตั้งวงถกเถียงทางวิชาการเพื่อค้นหาหลักฐานยืนยันตามสิ่งที่เชื่อสืบกันมาว่า “นครไทยคือเมืองบางยาง?” และ “บางยางคือเมืองของพ่อขุนบางกลางหาว?” ปริศนาเหล่านี้จะจริงหรือเท็จ? ยังเป็นเรื่องที่ต้องตรวจสอบต่อไป แต่ในขณะเดียวกันการศึกษาเมืองนครไทยในแบบที่เป็นจริงก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลยหรือปล่อยผ่านเช่นกัน
[3]
พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของเมืองโบราณในร่องเขานครชุม / ธีระวัฒน์ แสนคำ
ร่องเขานครชุมปรากฏร่องรอยการอยู่อาศัยมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ดังได้พบโบราณวัตถุจำพวกเครื่องมือหินและภาพเขียนสีเหนือเพิงผาสูง ส่วนพื้นที่ตอนกลางเป็นที่ลุ่มสามารถเพาะปลูกได้ดี ทั้งยังมีบ่อเกลือหลายบ่อ ทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้ดึงดูดให้ผู้คนอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แม้กระทั่งหลังภัยสงครามคราวศึกเจ้าอนุวงศ์ก็มีผู้คนทั้งจากตอนบนแถบลุ่มลำน้ำเหือง และตอนล่างในที่ราบนครไทยอพยพเข้ามาอาศัยอยู่เพิ่มเติมด้วย
[4]
พิธีกรรมการเลี้ยงปู่ของชุมชนดั้งเดิมในตำบลนครไทย พิษณุโลก / ดร. ทรงพล อินทำ
ชาวนครไทยเรียกผีที่ทำหน้าที่คุ้มครองปกปักรักษาบ้านเมืองว่า “ปู่” ซึ่งมีทั้งเพศชายและหญิง ทุกชุมชนจะตั้งศาลปู่เป็นที่เคารพสักการะและจัดพิธีกรรมเซ่นไหว้เป็นประจำทุกปีเรียกว่า “การเลี้ยงปู่” โดยมีร่างทรงผู้หญิงซึ่งชาวนครไทยเรียกว่า “นางทรงปู่” เป็นผู้ประกอบพิธีกรรม บทความนี้กล่าวถึงพิธีกรรมการเลี้ยงปู่ของ 4 หมู่บ้านในตำบลนครไทยที่มีนางทรงปู่คนเดียวกัน ได้แก่ “ศาลปู่พระอินทร์” ของชุมชนบ้านเหนือ “ศาลปู่พระนารายณ์” ของชุมชนบ้านนครไทย (บ้านในเมือง) “ศาลปู่โท้” ของชุมชนบ้านหนองน้ำสร้าง และ “ศาลปู่ปากน้ำ” ของชุมชนบ้านหัวร้อง
[5]
พิธีเลี้ยงหอ...รอย (วัฒนธรรม) ลาวที่นครไทย / อภิญญา นนท์นาท
หมู่บ้านหลายแห่งในตำบลยางโกลน บ่อโพธิ์ และนครชุม อำเภอนครไทย มีเรื่องเล่าว่ามีบรรพบุรุษเป็นคนลาวที่อพยพมาจากฝั่งลาว รวมถึงหมู่บ้านต่างๆ แถบลุ่มน้ำเหืองและลุ่มน้ำหมัน คนกลุ่มนี้มีภาษาและวัฒนธรรมประเพณีบางอย่างแตกต่างจากคนนครไทยดั้งเดิม ที่สำคัญคือ “พิธีเลี้ยงหอ” หรือ “เลี้ยงปี” ซึ่งมีกวนจ้ำ (จ้ำ) หรือพ่อกวนเป็นสื่อกลางระหว่างชาวบ้านกับผีบรรพบุรุษ โดยต้องทำพิธีเซ่นไหว้ครั้งใหญ่ปีละ 1 ครั้ง ช่วงเดือน 6 หรือเดือน 8 ในพิธีกรรมจะมีการเชือดหมูและไก่เพื่อเป็นเครื่องเซ่นไหว้ บางแห่งมีนางเทียมซึ่งเป็นร่างทรงเพศหญิงทำการอัญเชิญผีเจ้าปู่มาเข้าร่างด้วย
[6]
ปักธงชัย ปักธงใจ สืบรากสานประเพณีชาวนครไทย / เมธินีย์ ชอุ่มผล
“บุญปักธงชัย” เป็นประเพณีสำคัญของชาวอำเภอนครไทย ประเพณีนี้มีตำนานความเกี่ยวพันกับเรื่องราวของพ่อขุนบางกลางหาวตั้งแต่ก่อนเสด็จไปครองกรุงสุโขทัย การปักธงบนยอดเขาที่ชาวนครไทยปฏิบัติสืบต่อกันมาจึงไม่เพียงเพื่อให้เกิดความสงบสุข และกินดีอยู่ดีเท่านั้น แต่ยังเป็นการรำลึกถึงคุณูปการของพ่อขุนบางกลางหาวด้วย
[7]
ผู้คนและการตั้งถิ่นฐานในนครชุม-นาบัว / ณัฐวิทย์ พิมพ์ทอง
พื้นที่ราบในหุบเขาตำบลนครชุม ตำบลน้ำกุ่ม และที่ราบลุ่มตำบลนาบัว ซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกันและอยู่ทางตอนเหนือของตัวอำเภอนครไทย ถือเป็นถิ่นฐานของผู้คนหลากหลายกลุ่ม กลุ่มสำคัญเคลื่อนย้ายมาจาก สปป.ลาว คนกลุ่มนี้มีหน้าที่หลักในการเสาะหาทรัพยากรต่างๆ เพื่อป้อนสู่เมืองนครไทยและเมืองพิษณุโลก โดยพื้นที่ตำบลนาบัวยังเป็นแหล่งปลูกข้าวและผลิตเครื่องปั้นดินเผาด้วย ถิ่นฐานย่านนี้จึงเป็นแหล่งสะสมผู้คนและทรัพยากรสำคัญมาแต่อดีต
[8]
ครูและบุคลากรผู้ขับเคลื่อนประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมท้องถิ่นนครไทย / จิราพร แซ่เตียว
คณะครูและบุคลากรทางการศึกษาในพื้นที่อำเภอนครไทย คือ พลังสำคัญที่ช่วยสร้างสำนึกทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่นให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่เชื่อต่อกันมาว่า “เมืองนครไทยคือเมืองบางยาง” ที่ปกครองโดย “พ่อขุนบางกลางหาว” ก่อนปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งเมืองสุโขทัย บุคลากรเหล่านี้ยังเป็นผู้ทำงานอนุรักษ์และเผยแพร่วัฒนธรรมท้องถิ่นออกมาในรูปแบบต่างๆ ทั้งวรรณกรรม เพลงพื้นบ้าน และงานบุญประเพณีที่ทำให้นครไทยเป็นที่รู้จักของผู้คนทั่วไป
[9]
ภูมิใจอดีต วาดหวังอนาคต / เมธินีย์ ชอุ่มผล
บทความนี้นำเสนอ “มุมมอง” และ “ความมุ่งมั่น” ของชาวนครไทยรุ่นใหม่ที่ร่วมกันสืบสานภูมิปัญญาด้านภาษาถิ่น ประเพณีวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์เมืองนครไทย พวกเขาให้ความสนใจเรื่องราวของบ้านเกิดเมืองนอนตนเองสะท้อนให้เห็นเสน่ห์ของเมืองนครไทยในแง่มุมต่างๆ
[10]
ช่างแทงหยวกนครไทย / อภิญญา นนท์นาท
ในท้องถิ่นนครไทยพบว่ามีธรรมเนียมการแห่นาคที่เป็นเอกลักษณ์และยังนิยมปฏิบัติกันสืบมาคือ การใช้แลแห่นาค คำว่า “แล” เป็นภาษาถิ่นนครไทยใช้เรียกเสลี่ยงมีหลังคาสำหรับเป็นพาหนะที่ใช้ในการแห่นาคไปยังอุโบสถ การทำแลแห่นาคนิยมประดับด้วยงานแทงหยวก ด้วยเหตุนี้ในอำเภอนครไทยจึงมีการสืบทอดงานช่างแทงหยวกหลายหมู่บ้าน ปัจจุบันช่างแทงหยวกนครไทยที่ยังมีผู้สืบทอดเหลืออยู่ไม่มากนัก หนึ่งในนั้นคือที่บ้านหัวร้อง ตำบลนครไทย ซึ่งยังมีผู้ทำเป็นอาชีพเสริมและมีบทบาทในการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น
[11]
พระร่วงเมืองนครไทย / ศาสตราจารย์กิตติคุณสุกัญญา สุจฉายา
นิทานประจำถิ่นเมืองนครไทยมีหลายเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ “พระร่วง” อาทิ “พระร่วงเล่นว่าว” “พระร่วงกับบ่อเกลือ” และ “พระร่วงกับประเพณีปักธงผ้าขาว” เป็นต้น พระร่วงเป็นชื่อที่ชาวนครไทยใช้เรียกขานแทน“พ่อขุนบางกลางหาว” แม้พระองค์จะเป็นผู้นำในการสร้างบ้านแปงเมือง แต่ก็มีประวัติความเป็นมาไม่แน่ชัด เรื่องราวของพระองค์ที่ถูกเล่าขานต่อกันมาจึงเต็มไปด้วยปาฏิหาริย์ พระองค์เปรียบเสมือนวีรบุรุษในตำนานที่ชาวนครไทยล้วนให้ความเคารพศรัทธาดุจเทพ
[12]
ส่องสองแคว สองฝั่งน้ำเมืองพิษณุโลก / ประภัสสร์ ชูวิเชียร
“เมืองพิษณุโลก” หรือ “สองแคว” ซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำน่าน นับเป็นเมืองสำคัญที่มีบทบาทต่อประวัติศาสตร์ไทยมาอย่างต่อเนื่องหลายยุคสมัย ดังที่ผู้เขียนพยายามนำเสนอผ่านหลักฐานหลายมิติ ทั้งด้านภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ งานศิลปกรรม และงานพุทธศิลป์ ก่อนจะทิ้งท้ายชวนฉุกคิดว่าเราจะเลือกประคับประคองอดีตอันทรงคุณค่าเหล่านี้ท่ามกลางกระแสแห่งความเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันเพื่อส่งต่อสู่ลูกหลานในอนาคตได้อย่างไร?
[13]
“อันอ้อยตาลหวานลิ้นแล้วสิ้นซาก” ความหวานกับวิถีชีวิตไทย / โอฬาร รัตนภักดี
“ความหวาน” ปรากฏทั้งในงานวรรณกรรมและวิถีชีวิตของเราชนิดที่แทบจะแยกจากกันไม่ออก สำหรับคนไทยแล้ว หลังมื้ออาหารคาวจะนิยมรับประทาน “ของหวาน” ไม่ว่าขนมหรือผลไม้ตบท้ายจนเป็นเรื่องปกติ ความหวานจึงแทรกปนอยู่ในอาหารปกติที่เรากินและในงานประเพณีพิธีกรรมที่จัดขึ้นตามวาระสำคัญด้วย
[14]
พิพิธภัณฑ์แนวการสื่อความหมาย (Interpretive Museums) ในญี่ปุ่น / ธนิก เลิศชาญฤทธ์
“การสร้างพิพิธภัณฑ์” นับเป็นแนวทางสำคัญที่ช่วยปลูกฝังให้ประชาชนชาวญี่ปุ่นตระหนักถึงความสำคัญของมรดกทางวัฒนธรรมที่ตนเองมี ดังจะเห็นได้ว่าในปัจจุบันมีพิพิธภัณฑ์ประเภทต่างๆ ที่ญี่ปุ่นกว่า 5,000 แห่ง จากประสบการณ์ที่ผู้เขียนมีโอกาสได้เข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ในญี่ปุ่นราว 20 แห่ง ผู้เขียนได้จัดกลุ่มพิพิธภัณฑ์เหล่านั้นออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มพิพิธภัณฑ์ที่เน้นการสร้างความเข้าใจ กลุ่มพิพิธภัณฑ์ที่เป็นแหล่งเรียนรู้แนวสาระบันเทิง และกลุ่มพิพิธภัณฑ์ที่รักษาจิตวิญญาณดั้งเดิมของสถานที่นั้นๆ ไว้
[15]
ก่อนจะเป็นศรีเทพ ผ่านรอยลูกปัด / นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช
ศรีเทพเป็นเมืองโบราณที่มีพัฒนาการมาแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ โดยที่ผ่านมามีการศึกษาเรื่องราวช่วงประวัติศาสตร์ตอนต้นในหลายมิติ หากแต่การศึกษาประวัติศาสตร์ยุคก่อนหน้านั้นยังมีจำกัด ประการหนึ่งอาจเพราะว่าเรื่องราวของลูกปัดที่พบในเขตเมืองโบราณศรีเทพถูกพบในปริมาณไม่มากนัก และลูกปัดส่วนใหญ่ที่พบก็มีรูปแบบคล้ายกับลูกปัดที่เคยพบจากแหล่งโบราณคดีหลายแห่งในลุ่มน้ำป่าสัก
[16]
12 เดือน ชาวนาไทยท่าเรือ นครนายก / นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว
กิจกรรมในรอบปีของชาวนาในตำบลท่าเรือ อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก คือ “เดือน 5 สงกรานต์ แห่นางแมว เดือน 6 ตกกล้าดำนา ทำบุญวิสาขะ บุญกลางบ้าน เดือน 7 ทำเทือกลงนา ขอขมาเจ้าที่เจ้าทาง เดือน 8 เข้าพรรษา เดือน 9 ทำนา หาปลา จักสาน และรับจ้าง เดือน 10 ข้าวออกรวง บุญสารทไทย ทำบุญให้บรรพบุรุษ เดือน 11 ออกพรรษา ทำขวัญข้าว เรียกแม่โพสพ เดือน 12 บุญลอยกระทง เดือนอ้าย เกี่ยวข้าว ทำข้าวโปง ทำขวัญลาน เดือนยี่ หาปลา ออกหางานทำนอกพื้นที่ เดือน 3 บุญมาฆะ เดือน 4 รับจ้าง วันตรุษไทย”
ติดตามทั้งหมดได้ใน
วารสารเมืองโบราณ 49.3
“นครไทย เมืองอกแตกแห่งลำน้ำแควน้อย”
▸ ราคาเล่มละ 150 บาท
▸ ค่าจัดส่ง (เล่มแรก) 30 บาท
▸ สั่งซื้อ
คลิก https://shop.line.me/@pii6708z/product/1005750285