ชุมชนโบราณบ้านทะเมนชัย จังหวัดบุรีรัมย์

ชุมชนโบราณบ้านทะเมนชัย จังหวัดบุรีรัมย์

 

บ้านทะเมนชัย ตำบลทะเมนชัย อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นชุมชนโบราณผังกลมรี ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 500 เมตร มีคูน้ำล้อมรอบ 3 ชั้น ในอดีตเคยมีห้วยขี้หนูและห้วยผักกาดหญ้าเป็นทางน้ำเชื่อมกับลำปลายมาศทางตะวันตก ซึ่งอยู่ห่างออกไปราว 10 กิโลเมตร เป็นตำแหน่งที่ตั้งของชุมชนโบราณบ้านหนองคู ส่วนทางทิศเหนือมีลำทะเมนชัยไหลไปสบกับลำน้ำมูลซึ่งอยู่ห่างออกไปราว 40 กิโลเมตร ตลอดสองฝั่งน้ำมีชุมชนโบราณกระจายอยู่ เช่น บ้านตลาดโพธิ์ บ้านสนวน บ้านตะก้าย เป็นต้น

 

ชุมชนโบราณบ้านทะเมนชัยอยู่ในผังกลมรี มีคูน้ำล้อมรอบ 3 ชั้น ใกล้กับลำปลายมาศที่ไหลลงสู่ลำน้ำมูล

 

หลักเมืองทะเมนชัย ตั้งอยู่ในจุดสูงสุดกลางชุมชนโบราณ

 

ชุมชนโบราณบ้านทะเมนชัยมีลักษณะทางกายภาพเป็นที่ราบ มีบ้านเรือนราษฎรกระจายอยู่ทั่วไปในเขตคูเมืองโบราณ ส่วนกึ่งกลางของพื้นที่เป็นเนินสูง อันเป็นตำแหน่งที่ตั้งของเสาหลักเมือง มีลักษณะเป็นเสาไม้ยอดมน ส่วนด้านทิศเหนือใกล้กับคูน้ำ เป็นที่ตั้งของวัดอิสาณทะเมนชัย ซึ่งทางฝั่งพุทธาวาสด้านทิศเหนือเป็นที่ตั้งของอุโบสถ มีเสมาหินปักอยู่โดยรอบ นอกจากนี้ยังพบชิ้นส่วนหินทรายที่อาจเป็นส่วนประกอบสถาปัตยธรรมหรือแท่นรูปเคารพและเสาไม้ที่คาดว่าเป็นเสาหลักเมืองหลักเดิมอยู่ใกล้ๆ กัน

 

แผ่นหินทรายปักอยู่โดยรอบอุโบสถวัดอิสาณทะเมนชัย

 

แผ่นหินทรายปักอยู่โดยรอบอุโบสถวัดอิสาณทะเมนชัย

 

สันนิษฐานว่าเป็นชิ้นส่วนอาคารหรือแท่นรูปเคารพหินทราย ถูกวางไว้ด้านข้างกำแพงแก้วอุโบสถ

 

เสาไม้ สันนิษฐานว่าเป็นเสาหลักเมืองทะเมนชัยหลักเดิมที่ชำรุด

 

ด้านข้างอุโบสถมีศาลาขนาดเล็ก ภายในเป็นที่เก็บเศษกระดูกมนุษย์และชิ้นส่วนเครื่องปั้นดินเผาเนื้อดินจำนวนมาก ซึ่งชาวบ้านพบอยู่ในบริเวณชุมชนโบราณแห่งนี้ แล้วนำมาเก็บรวบรวมไว้ที่วัดอิสาณทะเมนชัย สันนิษฐานว่าอาจเป็นโบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์ถึงสมัยประวัติศาสตร์ตอนต้น นอกจากนี้พระครูชัยธรรมคุต เจ้าอาวาสและเจ้าคณะตำบลทะเมนชัยได้รวบรวมโบราณวัตถุอีกส่วนหนึ่งที่ได้รับมาจากชาวบ้าน ประกอบด้วยเครื่องปั้นดินเผาแบบเคลือบซึ่งน่าจะเป็นโบราณวัตถุในวัฒนธรรมเขมรโบราณ ภาชนะดินเผาเนื้อดินประเภทหม้อและไหปลาแดก เป็นต้น

 

ชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์ซึ่งเก็บไว้ภายในศาลาหลังเล็กข้างอุโบสถ

 

ภาชนะดินเผาเนื้อดิน สันนิษฐานว่าพบร่วมกับชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์

 

กระปุกดินเผาเคลือบเป็นโบราณวัตถุที่ชาวบ้านนำมามอบให้กับเจ้าอาวาสเก็บรักษาไว้

 

นอกจากนี้ที่ศาลาวัด 2 ชั้น ที่อยู่ด้านข้างอุโบสถ ยังเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ภายในเก็บรักษาโบราณวัตถุทรงคุณค่าหลายชิ้น ได้แก่ คัมภีร์ใบลานทางพระพุทธศาสนา มีทั้งหมด 44 ผูก จำแนกเป็นการจารด้วยอักษรธรรมอีสานและอักษรขอมไทย เนื้อหาเกี่ยวกับชาดก พระอภิธรรม นิทานพื้นบ้านและนิยายธรรม เป็นต้น พระพุทธรูปไม้แก่นจันทน์ที่สร้างเพื่ออุทิศแด่พระพุทธศาสนา อันเป็นคติความเชื่อเรื่องบุญกุศลของชาวอีสาน ส่วนข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของคนในสมัยก่อนก็มีเก็บรักษาไว้ เช่น ภาชนะดินเผาเนื้อแกร่งเคลือบสีน้ำตาล หม้อเนื้อดินใช้ในการสาวไหม เครื่องมือโลหะที่ใช้ในการตัดไม้ ผ่าฟืน เครื่องครัว เชี่ยนหมาก เครื่องดนตรี เป็นต้น ถือเป็นสมบัติตกทอดของคนในท้องถิ่นที่นำมาจัดแสดงให้ผู้สนใจได้มาศึกษาเรียนรู้

 

หม้อดินเผาเนื้อดินและไหปลาแดก ส่วนบนชำรุดหักหายไป ซึ่งเดิมเป็นไหแบบปากสองชั้น

ชั้นในมีฝาปิด ส่วนชั้นนอกใส่น้ำหล่อกันมดหรือแมลง

 

ภายในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดอิสาณทะเมนชัย แหล่งรวมโบราณวัตถุหลากหลายรูปแบบ

 

พระพุทธรูปไม้แก่นจันทน์

 

จากชุมชนโบราณบ้านทะเมนชัยมาทางทิศใต้ประมาณ 100 เมตร ก่อนถึงสถานีรถไฟทะเมนชัยและย่านตลาดริมทางรถไฟ มีศาลเจ้าพ่อหินตั้ง เป็นแผ่นศิลาปักอยู่บนพื้นดิน ปัจจุบันมีการสร้างอาคารหลังคาคลุมไว้ ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวทะเมนชัยและพื้นที่ใกล้เคียงให้ความเคารพนับถือควบคู่ไปกับวัดอิสาณทะเมนชัย

 

ศาลเจ้าพ่อหินตั้ง ถูกปรับปรุงขึ้นใหม่ด้วยกำลังทรัพย์ของชาวไทยเชื้อสายจีนในตลาดทะเมนชัย

 

หินตั้งหรือเจ้าพ่อหินตั้ง ถูกคลุมไว้ด้วยผ้าและพวงมาลัยจากผู้ที่ศรัทธา

 

เครื่องเซ่นไหว้ต่างๆ ที่ชาวบ้านนำมาถวายเจ้าพ่อหินตั้ง 

 

จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้สรุปได้ว่าชุมชนโบราณบ้านทะเมนชัยมีการอยู่อาศัยมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์หรือสมัยประวัติศาสตร์ตอนต้น ดังปรากฏหลักฐานชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์และภาชนะดินเผาเนื้อดินที่น่าจะเป็นเครื่องอุทิศให้แก่ผู้ตายหรือใช้บรรจุกระดูก นอกจากนี้การพบภาชนะดินเผาเนื้อแกร่งแบบเขมรโบราณก็บ่งบอกถึงการอยู่อาศัยสืบเนื่องเช่นเดียวกับที่พบร่องรอยวัฒนธรรมเขมรอยู่หลายแห่งในจังหวัดบุรีรัมย์และพื้นทื่อื่นๆ ในภาคอีสาน ส่วนชาวบ้านที่อยู่อาศัยในชุมชนบ้านทะเมนชัยปัจจุบันส่วนใหญ่มีเชื้อสายล้านช้าง ซึ่งอาจเป็นผู้ที่เข้ามาลงหลักปักฐานตั้งแต่สมัยอยุธยาถึงต้นรัตนโกสินทร์และอาศัยอยู่สืบเนื่องเรื่อยมา

 

ในส่วนของผู้คนยุคปัจจุบันซึ่งมีเชื้อสายล้านช้าง อาจเป็นผู้ที่เดินทางเข้ามาลงหลักปักฐานในพื้นที่แห่งนี้นับแต่สมัยอยุธยาจนถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ และอาศัยอยู่สืบเนื่องเป็นประชากรหลักของบ้านทะเมนชัยแห่งนี้ โดยมีชาวเขมรถิ่นไทยและชาวไทยเชื้อสายจีนเป็นส่วนประกอบสำคัญของชุมชนแห่งนี้ในปัจจุบัน

 


กองบรรณาธิการ

"วารสารเมืองโบราณ" นิยามไทย เข้าใจถิ่น