ชื่อหนังสือ : British East India Company บริษัทอินเดียตะวันออกอังกฤษ
ผู้เขียน : ดร. ปรีดี หงส์สตัน
สำนักพิมพ์ยิปซี, พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2562
“นิสัยของทุนนั้นคือ ไม่รู้จักเส้นแบ่งเขตประเทศนั้นประเทศนี้ คนศาสนานั้นศาสนานี้ เพศนั้นเพศนี้ หรือชาติพันธุ์นั้นชาติพันธุ์นี้ ทุนนิยมจึงไม่ต้องสนใจว่าใครเป็นเมืองขึ้นหรือไม่แต่อย่างใด”
ดร. ปรีดี หงส์สตัน กล่าวไว้ในคำนำหนังสือ British East India Company บริษัทอินเดียตะวันออกอังกฤษ ถือเป็นคำจำกัดความถึงทุนนิยมที่เข้าใจได้ง่าย และเมื่อมองกลับไปยังประวัติศาสตร์ยุคที่เริ่มมีทุนนิยมสมัยแรกๆ ก็เป็นเช่นนั้นจริง แม้ว่าในยุคนั้นความเป็นชาติยังไม่ถือกำเนิดขึ้นและเข้มข้นเท่าสมัยหลัง
ปกหนังสือ British East India Company บริษัทอินเดียตะวันออกอังกฤษ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ยิปซี
ตั้งแต่ ค.ศ.1453 เป็นต้นมา ถือได้ว่าโลกก้าวเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์สมัยใหม่ ทั้งการปฏิรูปศาสนา การเมือง และเศรษฐกิจ เกิดการขยายตัวของการค้าทางทะเล การแสวงหาดินแดนใหม่ และการปฏิวัติอุตสาหกรรม ก่อนหน้าที่อังกฤษจะหันมาสนใจการค้ากับโลกตะวันออกอย่างจริงจังนั้น ดัตช์และโปรตุเกสมีอิทธิพลทางการค้าอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งรวมถึงการควบคุมเส้นทางการค้าจากยุโรปสู่อินเดียตะวันออก ส่วนการค้าขนาดเล็กลงมาก็มีกลุ่มพ่อค้าท้องถิ่นทำการค้าขายอยู่แล้วเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีฝรั่งเศสที่มีบทบาททางการค้า พื้นที่อินเดียตะวันออกในที่นี้มิใช่เพียงเมืองต่างๆ ในอนุทวีปอินเดียเท่านั้น แต่หมายรวมถึงเมืองต่างๆ ที่อยู่ทางตะวันออกของอินเดียด้วย ซึ่งก็คือดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ด้วยผลตอบแทนและมูลค่าการค้าอันมหาศาลที่ดัตช์ โปรตุเกส รวมถึงฝรั่งเศสได้รับอยู่นั้น ช่างหอมหวานและเย้ายวนให้อังกฤษก้าวลงสู่สนามการค้า ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมา เมื่ออังกฤษเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ส่งผลให้การค้าระหว่างยุโรปกับอินเดียตะวันออกเพิ่มพูนยิ่งกว่าเดิม ค.ศ.1600 สมเด็จพระบรมราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 จึงได้พระราชทานตราตั้งบริษัทอินเดียตะวันออก อังกฤษใช้เวลาร่วมศตวรรษฝึกหัดการเดินเรือ การค้าขาย และค้นหาเมืองท่าของตนเอง รวมทั้งรวบรวมแหล่งสินค้าต่างๆ มาไว้ในมือ กระทั่ง ค.ศ. 1702 เกิดการรวมตัวของบริษัทอินเดียตะวันออกทั้งเดิมและใหม่เข้ากับอีกหลายบริษัท เพื่อทำการค้าทางทะเลในนามสหบริษัทแห่งวาณิชย์อินเดียตะวันออก (United Company of Merchants of England Trading to the East Indies) จากนั้นเป็นต้นมาได้เกิดการแข่งขันทางการค้าอย่างมากระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศส ส่วนดัตช์และโปรตุเกสยังคงมีบทบาททางการค้าอยู่บ้าง ทว่าส่วนแบ่งทางการตลาดน้อยลงไปมาก เนื่องจากความอ่อนแอทางการเมืองที่เกิดขึ้นภายในประเทศ
ภาพ "Sale Room of East India House" โดย Thomas Rowlandson (1756–1827) and Augustus Charles Pugin (1762–1832)
แสดงบรรยากาศการค้าขายภายในบริษัท (ที่มา : https://en.wikipedia.org/wiki/East_India_House)
ภายในเล่มแบ่งเนื้อหาออกเป็นบทๆ เริ่มตั้งแต่ประวัติการก่อตั้งบริษัทและบรรยากาศทางการค้าในสมัยนั้น ตลอดจนเกร็ดความรู้เกี่ยวกับกิจการค้าและวิถีชีวิตของพนักงานที่ประจำอยู่ในที่ต่างๆ เช่น การค้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การค้าในแถบทะเลจีนใต้ ชีวิตประจำวันของลูกจ้างบริษัทในอินเดีย เป็นต้น ซึ่ง ดร. ปรีดีได้เปิดพื้นที่ความรู้ให้เราได้มองเห็นถึงเมืองท่า ตลาดการค้า สินค้า ตลอดจนแหล่งทรัพยากรสำคัญที่อังกฤษหมายมั่นจะเข้าครอบครอง เพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์และความสะดวกทางการค้า จนกลายเป็นการล่าอาณานิคมในที่สุด อังกฤษได้เข้ายึดครองทั้งอินเดีย พม่า ศรีลังกา สิงคโปร์ นอกจากนี้ยังเกิดประเด็นความขัดแย้งกับจีนที่นำมาสู่การเปิดฉากสงครามฝิ่นในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19
ภาพอาคารบริษัทอินเดียตะวันออกอังกฤษโดย Thomas Malton the Younger (1748-1804) จิตรกรชาวอังกฤษ
(ที่มา : Yale Center for British Art, Paul Mellon Collection)
ยกตัวอย่างทรัพยากรสำคัญคือ ฝ้าย จากอินเดียที่ถูกผลิตออกมามากจนกลายเป็นสินค้าส่งออกที่กองเรืออังกฤษนำออกไปขายยังที่ต่างๆ เมื่อขายฝ้ายหมดแล้วก็นำสินค้าจากดินแดนนั้นๆ ขึ้นเรือเร่ขายต่อไปอีก ซึ่งสามารถสร้างกำไรมหาศาลให้กับบริษัท เมืองท่าและที่ตั้งสถานีการค้าของอังกฤษ ได้แก่ เมืองมัทราส บอมเบย์ กัลกัตตา เบงกอล มะละกา ปีนัง สิงคโปร์ เป็นต้น ถึงแม้ว่าต่อมาระบอบการปกครองแบบอาณานิคมล่มสลายไป แต่ยังคงปรากฏร่องรอยของอังกฤษที่เป็นเจ้าอาณานิคมหลงเหลือให้เห็นอยู่ในดินแดนเหล่านี้
หนังสือเล่มนี้ช่วยจุดประกายการศึกษาประวัติศาสตร์โลกในยุคล่าอาณานิคมและการค้าแบบทุนนิยมสมัยเริ่มแรกได้ หากได้อ่านจนจบเล่มแล้ว อาจจะอยากออกเดินทางไปยังเมืองต่างๆ เพื่อตามหาร่องรอยของบริษัทอินเดียตะวันออกที่ยังเหลืออยู่ หรือสนใจค้นคว้าหนังสือ งานวิจัยและบันทึกต่างๆ เพื่อเติมเต็มความรู้และสนุกสนานไปกับประวัติศาสตร์โลก ซึ่งขอแนะนำตัวอย่างหนังสือเล่มอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องและน่าสนใจทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ สำหรับท่านที่ต้องการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม ดังนี้
- การค้าทางเรือสำเภาจีน-สยาม ยุคต้นรัตนโกสินทร์ เขียนโดย Jennifer Wayn Cushman แปลโดย ชื่นจิตต์ อำไพพรรณ
- ประวัติศาสตร์มหาสมุทรอินเดีย โดย ดร. ธิดา สาระยา
- เอกสารประกอบการสัมมนาเรื่อง “การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมบนเส้นทางการค้าทางทะเล” โดย สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ เมื่อวันที่ 8-9 พฤษภาคม 2557
- A history of early Southeast Asia : maritime trade and societal development, 100-1500 โดย Kenneth R. Hall.
- Boundaries and Beyond : China's Maritime Southeast in Late Imperial Times โดย Chin Keong Ng.
- Linking destinies : trade, towns and kin in Asian history โดย Peter Boomgaard, Dick Kooiman and Henk Schulte Nordholt.