ภาพนี้บันทึกเมื่อราวปี พ.ศ. 2518 ที่บ้านธาตุใกล้กับวัดพระธาตุนารายณ์เจงเวง จังหวัดสกลนคร เด็กๆ กำลังตักน้ำจากบ่อน้ำภายในหมู่บ้านเพื่อนำกลับไปใช้ในบ้าน โดยภาชนะที่ใช้ตักน้ำในภาพนั้น ชาวอีสานเรียกว่า “ครุหรือกะป่อม” เป็นภาชนะทรงกลม สานด้วยไม้ไผ่ ชันยา และมีหูหิ้ว ผูกด้วยเชือกปอถักหรือเชือกไนล่อนสำหรับเหวี่ยงลงไปในบ่อ เพื่อตักน้ำขึ้นมาใส่กระป๋องหรือปีบที่จะหาบกลับบ้าน ในอดีต น้ำกินน้ำใช้ภายในครัวเรือนของคนไทยเกือบทั่วทุกถิ่น ใช้ระบบน้ำบ่อหรือตักน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติภายในหมู่บ้าน ตามห้วย หนอง คลอง บึง หรือแม่น้ำ ส่วนใหญ่ต้องไปตักน้ำมาใส่ในภาชนะกักเก็บให้เพียงพอต่อการใช้ในลักษณะวันต่อวัน
เด็กๆ ตัวโตพอที่จะหาบกระป๋องหรือปีบได้ ไปจนถึงรุ่นหนุ่มรุ่นสาวมักถูกมอบหมายให้ทำหน้าที่รับผิดชอบไปหาบน้ำ บางพื้นที่ต้องออกไปหาบน้ำตั้งแต่หัวรุ่งหรือยังไม่สว่าง หรือบางคนเมื่อกลับจากโรงเรียนในตอนบ่าย ต้องไปหาบน้ำมาใส่ตุ่มใส่โอ่งจนเต็ม ถึงจะออกไปเล่นกับเพื่อนได้ ส่วนใหญ่แหล่งน้ำบ่อภายในหมู่บ้านเกิดจากความร่วมมือของคนในหมู่บ้านช่วยกันขุด เพื่อใช้งานร่วมกัน เวลาที่เด็กๆ หรือผู้ใหญ่พบเจอกันที่บ่อน้ำ จึงเป็นช่วงของการพบปะทักทาย แลกเปลี่ยนข่าวสารระหว่างกัน หรือแม้แต่นินทากันก็มี
ในบางหมู่บ้านจะแยกบ่อน้ำกินกับบ่อน้ำใช้ออกจากกัน อย่างที่บ้านนาแวง อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี บ่อน้ำใช้จะถูกขุดไว้ตามจุดต่างๆ ในหมู่บ้าน หรือบางบ้านอาจขุดไว้ใช้เฉพาะครัวเรือนของตน แต่สำหรับบ่อน้ำกินนั้น มักเป็นน้ำที่รสอร่อยและใสสะอาด จะตั้งอยู่ห่างจากหมู่บ้านออกไปทางทิศใต้ติดกับลำห้วยและทุ่งนา ในฤดูแล้ง ชาวบ้านต้องออกมารอตักน้ำในบ่อตั้งแต่ยังไม่สว่าง ใครมาช้าจะได้น้ำขุ่นกลับไป เพราะน้ำไม่ทันตกตะกอน หรืออาจไม่ได้เลย เพราะน้ำซึมออกจากตาน้ำไม่ทัน จนกระทั่งระบบประปาเข้ามาแทนที่น้ำบ่อ วิถีชีวิตแบบดั้งเดิมจึงเปลี่ยนแปลงไป การขุดบ่อน้ำในหมู่บ้านถือว่ามีความสำคัญ ทั้งในเรื่องของคุณภาพน้ำที่จะนำไปใช้อุปโภคบริโภค และเมื่อขุดบ่อแล้ว
คนในหมู่บ้านต้องให้ความเคารพและช่วยกันดูแล ในบางพื้นที่เชื่อว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือเจ้าที่เจ้าทางคอยปกป้องดูแลบ่อน้ำ เช่น ทางภาคเหนือและภาคใต้มีความเชื่อตั้งแต่ก่อนเริ่มขุดบ่อ ต้องดูทิศทางการขุดว่าควรตั้งอยู่ในบริเวณใดของหมู่บ้านหรือตัวบ้าน การทำพิธีกรรมเพื่อบูชาจนถึงการถมบ่อน้ำมีความสำคัญยิ่งต่อชะตาชีวิตของผู้อยู่อาศัยในหมู่บ้านหรือเจ้าของบ่อ เพราะหากทำผิดประเพณีหรือความเชื่ออาจ “ขึด” หรือที่ในภาคอีสานเรียกว่า “ขะลำหรือคะลำ” ที่ในภาคกลางหมายถึงสิ่งต้องห้ามกระทำ ในอีสานมี “ผญา” ที่กล่าวถึงการห้ามถมบ่อ ถมสระหรือหนอง ว่าดังนี้ “อันหนึ่ง สระหนองนั้น มีมาแต่เซ่นเก่า ก็ดี ถมให้งามฮาบเกลี้ยง ปุกเฮือนสร้างก็บ่ดี แท้แล้ว อันหนึ่ง น้ำบ่อแก้ว ทั้งหมู่ฮูแหลว คันว่า ใผไปถม สร้างเฮือนกวมไว้ ก็จักจิบหายแท้ มินานสิตายจุ่ม ไปแล้ว”
ที่มาภาพ : ศูนย์ข้อมูลเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์