ลุ่มทะเลสาบในวิถีโคจรของดวงจันทร์
หนังสือหนังหา

ลุ่มทะเลสาบในวิถีโคจรของดวงจันทร์

 

 

หาก ‘ลมนอก’ คือผู้สร้างแผ่นดินฝั่งตะวันออกของทะเลสาบ ขณะที่ลมอุกาและสลาตันคือพายุที่คอยทดสอบความแข็งแกร่ง ลมตะเภาก็ย่อมมีนัยแห่ง ‘รากโจด’ [รากเหง้า] ของผู้คนในบริเวณนี้ที่สามารถสาวได้ลึกไกลไปถึงสมัยกาเลนิทานัง”  - - ประมวล มณีโรจน์ “ลมนอกมาแล้ว” ใน ลุ่มทะเลสาบในวิถีโคจรของดวงจันทร์ หน้า 60

 

ลุ่มทะเลสาบในวิถีโคจรของดวงจันทร์  (In the Journey of Our Ancestors)

ประมวล มณีโรจน์, เขียน   สมคิด ทองสง, บรรณาธิการ

จัดพิมพ์โดย ศูนย์ทะเลสาบศึกษา พิมพ์ครั้งแรก ธันวาคม 2563

223 หน้า  ราคา 200 บาท

 

อ. ประมวล มณีโรจน์ อดีตครูและนักเขียนรุ่นใหญ่ที่นักอ่านรุ่นใหม่อาจต้องใช้เวลาทำความคุ้นเคยกับสำนวนและวิธีการเขียนที่มีลักษณะเฉพาะตัว ในหนังสือ ลุ่มทะเลสาบในวิถีโคจรของดวงจันทร์ (In the Journey of Our Ancestors) อ. ประมวลใช้วิธีการเล่าเรื่องตามวิถีการโคจรของดวงจันทร์หรือจันทรคติ โดยเรียงร้อยองค์ความรู้ทั้งในด้านภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ตลอดจนสอดแทรกทัศนะและอารมณ์ความรู้สึกอย่างแนบเนียน

 

เป็นที่รู้กันว่าการโคจรของดวงจันทร์จะขึ้นจากทิศตะวันตกไปยังทิศตะวันออกสวนทางกับพระอาทิตย์ เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้เริ่มจากพื้นที่ลุ่มทะเลสาบสงขลาฝั่งตะวันตกคือพื้นที่ในเขตจังหวัดพัทลุง แล้ววกข้ามตอนบนของทะเลสาบสงขลาไปยังฝั่งตะวันออกซึ่งคาบเกี่ยวพื้นที่ 2 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราชและสงขลา ซึ่งเราเรียกพื้นที่บริเวณนี้ว่า คาบสมุทรสทิงพระ โดยนำเสนอเรื่องราวจากความทรงจำ วิถีชีวิต และวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ผู้เขียนได้พานพบในพื้นที่รอบทะเลสาบสงขลา รวมไปถึงองค์ความรู้ต่างๆ ที่ถ่ายทอดและสั่งสมจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งล้วนแต่เป็นการเรียนรู้ที่จะอยู่กับธรรมชาติอย่างประนีประนอม มิใช่การฝืนหรือหักดิบแบบที่รัฐมักใช้กับท้องถิ่นต่างๆ ทั่วประเทศมาโดยตลอด   

 

นอกจากนี้ยังมีภูมิความรู้ท้องถิ่นที่ปัจจุบันเลือนหายไป ไม่ได้รับการถ่ายทอด เช่น คำเรียกชื่อ “ลม” ที่ส่งผลต่อวิถีชีวิตในแต่ละฤดูกาล ชาวบ้านรอบทะเลสาบสงขลาทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออกเรียนรู้ธรรมชาติของลมเพื่อเข้าใจถึงความเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลที่จะส่งผลต่อวิถีชีวิต เกษตรกรรม และทรัพยากร ซึ่งลมในฤดูกาลต่างๆ ส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงของภูมิประเทศในพื้นที่ลุ่มทะเลสาบ เช่นที่กล่าวว่า “ลมนอกจะหอบทรายมาถม ลมพรัดจะกวาดทรายกลับไป ผลัดเปลี่ยนกัน ‘กะ’ ละครึ่งปี” ชาวบ้านจะรู้ว่าควรปลูกพืชชนิดใด ในฤดูไหน รวมถึงการสังเกตธรรมชาติ เช่น การมาของนกชนิดต่างๆ มีความหมายถึงทรัพยากรใดกำลังจะเกิดขึ้นหรือหมดไปในฤดูกาลนี้

 

สารบัญ

บันทึกสำนักพิมพ์ : คอกควายในโลกออนไลน์

คำสารภาพของคนลืมบ้าน

ตะวันตกของทะเลสาบ - พัทลุง

นกเภาหว่านเห็ด

ฤดูกาลลมพรัด

สู่ตะวันออกของทะเลสาบ - คาบสมุทรสทิงพระ

            บนสันทรายแผ่นดินบก

            ลมนอกมาแล้ว

            ลมนอกระลอกหลัง

            ความทรงจำของชาวนา

            มรสุม 2 ฝั่งทะเล

            กลางทะเลน้ำหวาน

            ทะเลไม่เคยหลับ

            จากภูเขาถึงทะเล [จากทะเลถึงภูเขา]

            การกลับมาของ “โหมเหนือ”

            โอสถแห่งจิตวิญาณ

            สตรีที่โลกลืม

            ปรัชญาป่า

            คำปราศรัยในความทรงจำ

            สร้อยนามนั้นสำคัญไฉน

            เสียงกระซิบจากเพรากาล [หลุมทะเลสาบ 1]

            ปรัมปรากาเลนิทานัง [หลุมทะเลสาบ 2]

 

สอบถามเพิ่มเติม ติดต่อ : สำนักพิมพ์ศูนย์ทะเลสาบศึกษา

 


เมธินีย์ ชอุ่มผล

กองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ